วันอังคารที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2556

จากการศึกษาดูงานโครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์


ผู้เล่าเรื่อง  :  นางสาวศิริเพ็ญ  สวัสดิ์พิพัฒน์
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง  :  นักวิชาการเงินและบัญชีปฏิบัติการ
หน่วยงาน :  สำนักงานคลังจังหวัดสมุทรสาคร
การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ : จากการศึกษาดูงานโครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์
ปราชญ์ชุมชน  สืบสานภูมิปัญญาจากอดีต   พัฒนาจากรุ่นสู่รุ่น  เกิดเป็นองค์ความรู้ระดับท้องถิ่น

โครงการ อัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์
“จุดบรรจบระหว่างการพัฒนาและอนุรักษ์”
แนวทางการดำเนินงาน
1. อนุรักษ์วัฒนธรรมวิถีชีวิตชุมชนอัมพวา
2. ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน
3. เชื่อมโยงพื้นที่ท่องเที่ยว
4. ชุมชนมีส่วนร่วม
เป็นโครงการฯ มุ่งเน้นดำเนินงานด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมวิถีชีวิตชาวชุมชนอัมพวา  โดยเล็งเห็นว่า การจะพัฒนาใดๆ นั้น  ควรจะพัฒนาจากฐานทุนทางสังคมที่ชุมชนนั้นมี   การอนุรักษ์วัฒนธรรมชุมชนจะกระทำผ่านการเรียนรู้  พร้อมทั้งรักษา ส่งเสริมกิจกรรม ก่อเกิดเป็นคุณค่าขึ้นในสังคม   เมื่อชุมชนเข้าใจในตัวตน  เข้าใจในรากฐานการก่อเกิดของท้องถิ่น รู้ซึ้งในคุณค่าของชุมชนตนเอง  และร่วมกันรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่มีอยู่แล้ว จึงต่อยอดคุณค่าที่มีนั้นให้เป็นมูลค่า  เศรษฐกิจชุมชน  จึงเป็นงานที่ทางโครงการฯ  ได้ดำเนินการส่งเสริม โดยเห็นว่าคุณค่าในทางวัฒนธรรมจะไม่ก่อเกิดประโยชน์ใดๆ ในการพัฒนาเลย   หากไม่สามารถทำให้เกิดเป็นมูลค่า หรือไม่สามารถประกอบเป็นอาชีพ  เกิด
เป็นรายได้ที่สามารถหล่อเลี้ยงประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ หรือกล่าวได้ว่า ประชาชนโดยทั่วไปอาจมิได้เห็นความสำคัญของการอนุรักษาวัฒนธรรม   เพราะไม่สามารถเกิดประโยชน์ในการหล่อเลี้ยงชีวิตพวกเขาได้
เห็นถึงความสำคัญ  "ต้องเปลี่ยนคุณค่าให้เป็นมูลค่าให้ได้"
คุณค่าทางวัฒนธรรมที่ผ่านการเรียนรู้และรักษา หากถูกเปลี่ยนเป็นมูลค่า นั่นมิได้หมายถึง    "การขายวัฒนธรรม"  หรือมุ่งเห็นแก่เงินทองและรายได้   เพราะชุมชนเองจะรู้ว่า อาชีพที่เขาควรจะทำนั้นควรจะเป็นอย่างไร  อาชีพไหนที่มีรายได้ที่มั่นคงยั่งยืน  สามารถแข่งขันในโลกแห่งความเป็นจริงใบนี้ได้ ชาวสวนที่อัมพวาคงไม่ขายสวนทิ้งเพื่อให้นายทุนสร้างเป็นรีสอร์ทเสียหมด  หรือถมสวนเปลี่ยนเป็นที่จอดรถ  เพราะหากเปลี่ยนแปลงไปเช่นนั้น   สภาพของชุมชนชาวสวนอัมพวาที่เป็นเสน่ห์ดึงดูดใจนักท่องเที่ยว  เมื่อไม่เหลือสิ่งเหล่านี้ ความนิยมของนักท่องเที่ยวที่มาอัมพวาย่อมลดน้อยลง  รายได้ของชุมชนจึงอาจลดน้อยลงไปด้วย หากย้อนขึ้นไปเมื่อก่อน ๕ ปีมานี้  ตลาดน้ำที่นี่ได้วายไปแล้ว สภาพชุมชนอาจเปรียบได้กับเมืองร้าง  เยาวชน วัยรุ่น วัยทำงาน ต่างมุ่งกันเข้าเมืองใหญ่ เพื่อเรียนและทำงาน เหลือทิ้งไว้แต่คนสูงอายุหรือคนหลังวัยทำงาน   ตลาดน้ำที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่โดยเทศบาลตำบลอัมพวา และชุมชนแห่งนี้  จึงอาจมีหน้าตาที่แตกต่างไปจากในอดีต  แต่ก็มิได้ขาดเอกลักษณ์ที่ในอดีตเคยมี
- เรือพายได้ถูกนำกลับมาใช้เพิ่มมากขึ้น ทำให้ยังคงมีเรือพายจำนวนมาก แสดงเอกลักษณ์ของชาวชุมชนภาคกลางได้เป็นอย่างดี
- บ้านริมน้ำสถาปัตยกรรมเรือนไทยพื้นถิ่น ได้รับการซ่องแซมให้มั่นคงแข็งแรงเหมาะสมแก่การอยู่อาศัย
- ผลผลิตจากในสวนผลไม้น้ำกร่อยแห่งนี้ อันเป็นที่ถูกอกถูกใจทั้งคนไทยและคนต่างชาติในอดีต จนมีคำกล่าวกันติดปากว่า “สวนในบางกอก สวนนอกบางช้าง” สวนผลไม้อีกแห่งที่รสชาติดีไม่แพ้สวนรอบพระนคร (Bangkok) ผลไม้จากในสวนปัจจุบัน ได้ถูกลำเลียงออกมาจำหน่ายยังตลาดน้ำเช่นในอดีต
- และ สำคัญที่สุด คนซึ่งเป็นต้นกำเนิดก่อเกิดทางวัฒนธรรม ชาวอัมพวายังคงดำรงชีวิต  ยังคงสามารถ
ประกอบอาชีพอยู่ในชุมชนแห่งนี้ พ่อแม่ ลูกหลาน ปู่ยาตายาย ได้กลับมาอยู่อาศัย ประกอบอาชีพร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง
แนวทางการพัฒนาชุมชนทางวัฒนธรรมแห่งนี้  นั้น  ทางโครงการเห็นว่า 4 เรื่องหลักนี้  น่าที่จะเป็นเอกลักษณ์ที่ควรรักษา มากกว่าที่จะมุ่งเน้นถามหาถึงคำว่า “ดั้งเดิม” ไปเสียทั้งหมด เพราะมิเช่นนั้นหากย้อนมองไปเมื่อ  ๕ ปีที่ผ่านมา  ก่อนรื้อฟื้นตลาดน้ำที่ได้วายหรือตายไปแล้ว  ซึ่งก็ควรจะกล่าวได้ว่าคือความดั้งเดิม  เราคงต้องยอมรับว่าตลาดในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไป   แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อการรื้อฟื้น  และรักษาเอกลักษณ์ในอดีตที่เคยมีอยู่
ปัจจุบันตลาดน้ำอัมพวาได้มีคนจากภายนอกเข้ามาประกอบธุรกิจเป็นจำนวนมาก ทางโครงการเห็นว่ามิใช่เรื่องแปลก แต่อย่างใด เพียงแต่ในทางการปกครองดูแลของชุมชน คงต้องพยายามทำอย่างไรที่จะให้คนภายนอกกับคนภายในหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน มีความเคารพในสภาพชุมชน ร่วมกันพัฒนา และรักษาชุมชนแห่งนี้ ทางโครงการเห็นว่า  ความเชื่อ  ภูมิปัญญาของคนในอดีต  คือสิ่งที่คนในอดีตปฏิบัติกันอย่างเช่น  การบูชาศาลเจ้าหรือศาลปู่ต่างๆ  คำบอกกล่าวให้เคารพสิ่งนั้นสิ่งนี้ น่าจะเป็นภูมิปัญญาที่แฝงเร้นให้คนนอกรักษาชุมชน  เมื่อเข้ามาหลอมรวมกันเป็นคนชุมชนเดียวกันได้ในที่สุด  
บนหลักการอนุรักษ์วัฒนธรรม  ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน  และเชื่อมโยงพื้นที่ทางการท่องเที่ยวนั้น แนวทางการดำเนินงานที่สำคัญที่สุดด้วย  คือ ต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน  อาจจะเป็นร่วมเสนอแนะแสดงความคิดเห็น หรือร่วมกันกระทำมากน้อยแตกต่างไป  แล้วแต่โอกาสแล้วแต่กิจกรรม ทั้งนี้เพราะประชาชนในชุมชนคือผู้ได้รับผลลัพธ์ที่เกิดจากการพัฒนา  เขาควรได้มีโอกาสรับรู้   เรียนรู้   หรือกระทำในสิ่งที่เขาจะต้องได้รับผลกระทบนั้น  การมีส่วนรวมของชุมชนนี้จะเป็นบทสรุปให้การพัฒนาชุมชนสามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืนได้ในที่สุด






การใช้โปรแกรมสำเร็จรูป 2010 (Word, PowerPoint, Excel)


ผู้เล่าเรื่อง  :  นางสุนทรีย์ คล้อยใหญ่
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง  :  นักวิชาการคลังชำนาญการ
หน่วยงาน :  สำนักบริหารการรับ-จ่ายเงินภาครัฐ ส่วนบริหารการจ่ายเงิน 3
การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ : การใช้โปรแกรมสำเร็จรูป 2010 (Word, PowerPoint, Excel)

โปรแกรม Word 2010
1. Word 2010 มีชุดเครื่องมือใหม่และที่ได้รับการปรับปรุงขึ้นเพื่อช่วยให้ออกแบบเนื้อหาสำคัญให้โดดเด่นได้โดยเพิ่มลักษณะพิเศษการจัดรูปแบบที่น่าประทับใจ เช่น สีเติมไล่ระดับและการสะท้อน ลงในข้อความภายในเอกสารได้โดยตรง สามารถนำลักษณะพิเศษที่อาจใช้กับรูปภาพ แผนภูมิ และกราฟิก SmartArt อยู่แล้ว ไปใช้กับข้อความและรูปร่างได้
2.ใช้เครื่องมือการแก้ไขรูปภาพใหม่ที่มีการปรับปรุง ซึ่งรวมถึง ลักษณะพิเศษแนวศิลป์ที่หลากหลายและเครื่องมือการแก้ไข สี และการครอบตัดขั้นสูง เพื่อปรับแต่งรูปภาพทุกรูป ในเอกสารให้ดูดีที่สุด
3.ชุดรูปแบบ Office ที่สามารถกำหนดเองได้มีให้เลือกมากขึ้น เพื่อให้สี แบบอักษร และคุณลักษณะพิเศษการจัดรูปแบบกราฟิกในเอกสารดูกลมกลืนกันทั้งเอกสาร กำหนดชุดรูปแบบเองให้ใช้ตราสินค้าธุรกิจหรือสัญลักษณ์ส่วนบุคคล Microsoft PowerPoint และ Excel 2010 จะมีชุดรูปแบบ Office ที่เหมือนกัน ดังนั้นจึงทำให้เอกสารทั้งหมดมีลักษณะแบบมืออาชีพและสอดคล้องกันได้อย่างง่ายดาย
4.สื่อสารความประสงค์ของคุณด้วยกราฟิก Smart Art ที่มีให้เลือกหลากหลาย ซึ่งประกอบด้วยเค้าโครงใหม่มากมายสำหรับแผนผังองค์กรและไดอะแกรมรูปภาพ เพื่อสร้างกราฟิกที่น่าประทับใจได้ง่ายๆ ไม่ต่างจากการพิมพ์รายการสัญลักษณ์แสดงหัวข้อย่อย กราฟิก Smart Art จะปรับเข้ากับชุดรูปแบบเอกสารที่เลือกโดยอัตโนมัติ ดังนั้นการจัดรูปแบบเนื้อหาเอกสารทั้งหมดให้สวยงามนั้นจึงทำได้ด้วยการคลิกเพียงไม่กี่ครั้ง
5.ค้นหาสิ่งที่ต้องการได้ด้วยเครื่องมือ บานหน้าต่างนำทาง และ ค้นหา ที่ปรับปรุงใหม่ การปรับปรุงใหม่เหล่านี้ทำให้การเรียกดู ค้นหา และแม้แต่จัดระเบียบเนื้อหาเอกสารใหม่เป็นเรื่องง่ายกว่าเดิมโดยสามารถทำได้โดยตรงจากบานหน้าต่างเดียวที่ใช้งานง่าย
6.กู้คืนรุ่นแบบร่างของแฟ้มที่ปิดลงโดยไม่ได้บันทึก ถูกต้อง คุณลักษณะการกู้คืนรุ่นเป็นเพียงหนึ่งในหลายคุณลักษณะใหม่ๆ ที่มีในมุมมอง Microsoft Office Backstage™ ใหม่ มุมมอง Backstage จะแทนที่เมนู แฟ้ม แบบดั้งเดิมในโปรแกรมประยุกต์ Office 2010 ทั้งหมด เพื่อให้มีพื้นที่ที่ได้รับการจัดระเบียบและเป็นศูนย์กลางสำหรับงานการจัดการเอกสารทั้งหมด
7.กำหนด Ribbon ที่ได้รับการปรับปรุงได้เองอย่างง่ายดาย ทำให้สามารถเข้าถึงคำสั่งที่คุณต้องการได้เกือบทั้งหมด สร้างแทบแบบกำหนดเองหรือกระทั่งกำหนดแทบที่มีอยู่แล้วภายในเอง
โปรแกรม PowerPoint 2010
1.ฝังและแก้ไขวิดีโอจากภายใน PowerPoint ขณะนี้สามารถเพิ่มการเลือน ลักษณะพิเศษการจัดรูปแบบ ฉากที่คั่นหน้า และตัดแต่งวิดีโอเพื่อให้งานนำเสนอเป็นประสบการณ์มัลติมีเดียแบบมืออาชีพ และเนื่องจากวิดีโอที่ฝังตัวได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของงานนำเสนอ PowerPoint จึงไม่จำเป็นต้องจัดการแฟ้มเพิ่มเติมเมื่อใช้งานร่วมกับผู้อื่น
2.ใช้เครื่องมือการแก้ไขรูปภาพใหม่ที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น รวมทั้ง ลักษณะพิเศษแนวศิลป์ที่หลากหลายและการแก้ไขขั้นสูง สี และเครื่องมือการครอบตัดภาพ เพื่อปรับแต่งรูปภาพทุกรูป ในงานนำเสนอเพื่อให้ดูดีที่สุด
3.เพิ่มการเปลี่ยนภาพนิ่งสามมิติแบบไดนามิก และลักษณะพิเศษการเคลื่อนไหวที่เหมือนจริงยิ่งขึ้น เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ชม จัดการงานนำเสนอด้วยเครื่องมือที่ช่วยประหยัดเวลาและลดความซับซ้อนของงาน สร้างและจัดการงานนำเสนอได้ง่ายยิ่งขึ้นเมื่อสามารถทำงานได้ในแบบที่ต้องการ
4.บีบอัดเสียงและวิดีโอในงานนำเสนอเพื่อลดขนาดแฟ้มสำหรับการใช้งานร่วมกันได้อย่างง่ายดายและประสิทธิภาพในการเล่นที่ได้รับการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ตัวเลือก เพื่อบีบอัดสื่อเป็นเพียงหนึ่งในหลายคุณลักษณะใหม่จากมุมมอง Microsoft Office Backstage™ ใหม่ มุมมอง Backstage จะแทนที่เมนูแฟ้มดั้งเดิมในโปรแกรมประยุกต์ Office 2010 ทั้งหมดเพื่อให้มีพื้นที่ที่ได้รับการจัดระเบียบและเป็นศูนย์กลางสำหรับงานการจัดการงานนำเสนอทั้งหมด
5.กำหนด Ribbon ที่ได้รับการปรับปรุงเองได้อย่างง่ายดาย เพื่อให้คุณสามารถเข้าถึงคำสั่งที่ใช้บ่อยๆ ได้ สร้างแท็บแบบกำหนดเองหรือกระทั่งกำหนดแท็บที่มีอยู่แล้วภายในเอง ด้วย PowerPoint 2010 สามารถควบคุมได้ทุกอย่าง
โปรแกรม Excel 2010
1.รับการสรุปข้อมูลแบบเป็นภาพโดยใช้แผนภูมิขนาดเล็กที่อยู่ภายในเซลล์ควบคู่กับข้อมูลข้อความพร้อมด้วยเส้นแบบประกายไฟแบบใหม่
2.กรองข้อมูลจำนวนมากได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายโดยใช้หน้าที่การใช้งานของตัวแบ่งส่วนข้อมูลแบบใหม่ และเพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์แบบเป็นภาพด้วย PivotTable และ PivotChart 
3.ใช้ตัวกรองการค้นหาแบบใหม่เพื่อจำกัดตัวเลือกการกรองในตาราง PivotTable และมุมมอง PivotChart ได้อย่างรวดเร็ว ค้นพบสิ่งที่คุณต้องการจากรายการเป็นล้านๆ รายการได้ทันที
4.PowerPivot สำหรับ Excel 2010 ซึ่งเป็น Add-in ที่ไม่มีค่าใช้จ่าย ทำให้การจัดการชุดข้อมูลขนาดใหญ่ (บ่อยครั้งที่มีขนาดเป็นล้านๆ แถว) เป็นไปอย่างรวดเร็ว และการรวมข้อมูลมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังสามารถให้ผู้อื่นใช้การวิเคราะห์ร่วมกันได้อย่างสะดวกผ่านทาง SharePoint Server 2010
5.ทำงานกับข้อมูลขนาดใหญ่ได้มากกว่า 2 กิกะไบต์ และทำให้การลงทุนฮาร์ดแวร์ใหม่และที่มีอยู่คุ้มค่าสูงสุดโดยการใช้ Office 2010 รุ่น 64 บิต 3 ประหยัดเวลา ลดความซับซ้อนของงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน สร้างและจัดการสมุดงานได้ง่ายดายยิ่งขึ้น 
6.กู้คืนรุ่นที่ไม่ได้บันทึกของแฟ้มที่ได้ปิดลงโดยไม่ได้บันทึก! ถูกต้อง คุณลักษณะการกู้คืนรุ่นเป็นเพียงหนึ่งในหลายคุณลักษณะใหม่ๆ ที่มีในมุมมอง Microsoft Office Backstage™ ใหม่ มุมมอง Backstage จะแทนที่เมนู แฟ้ม แบบดั้งเดิมในโปรแกรมประยุกต์ Office 2010 ทั้งหมด เพื่อให้เป็นพื้นที่ส่วนกลางที่จัดอย่างเป็นระเบียบสำหรับงานการจัดการสมุดงานทั้งหมด
7.กำหนด Ribbon ที่ได้รับการปรับปรุงเองได้อย่างง่ายดาย เพื่อให้สามารถเข้าถึงคำสั่งที่ใช้บ่อยๆ ได้ สร้างแท็บแบบกำหนดเองหรือกระทั่งกำหนดแท็บที่มีอยู่แล้วภายในเอง ด้วย Excel 2010 สามารถควบคุมได้ทุกอย่าง


การสร้าง Interactive และเว็บ Animation ด้วยเทคโนโลยี HTML5 (รุ่นที่ 1)


ผู้เล่าเรื่อง  :  ส.อ.พิทยา พุ่มพวง..
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง  :  นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการ
หน่วยงาน :  ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ กรมบัญชีกลาง
หลักสูตรฝึกอบรม  :  การสร้าง Interactive และเว็บ Animation ด้วยเทคโนโลยี HTML5 (รุ่นที่ 1) 
การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ : 

คำว่า  “Interactive” หมายถึง การที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการตอบสนองต่อการกระทำหรือสิ่งเร้าบางอย่างที่ได้รับในรูปแบบต่างๆ 
ในบริบทดั้งเดิมของคอมพิวเตอร์ คำว่า Interactive program มักเกี่ยวข้องกับความสามารถของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถูกพัฒนาขึ้นให้สามารถทำงานได้ตาม input massage ที่โปรแกรมนั้นได้รับในรูปแบบต่างๆ โดยทั่วไปจะอยู่ในลักษณะ text parameter หรือ ไม่ก็ text command ซึ่งอาจมาจากโปรแกรมอื่น หรือเกิดจากการสั่งงานโดยผู้ใช้ 
ดังนั้น การพัฒนา Web Application ซึ่งเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ประเภทหนึ่งที่ผู้ใช้สามารถใช้งาน
ได้บน internet ก็สามารถถูกพัฒนาให้สามารถโต้ตอบกับ massage ภายนอกได้เช่นกัน ดังนั้น จึงสามารถกล่าวได้ว่า   เป็น Interactive Web Application. 
ด้วยความก้าวหน้า ทางด้าน  Internet Technology ปัจจุบันได้มีการนำเอาเครื่องมือ และเทคโนโลยีต่างๆ เช่น HTML5, Adobe Photoshop และอื่นๆ รวมทั้ง Adobe Animate Edge มาผสมผสานเพื่อใช้ร่วมกันในการพัฒนา Web Application ให้มีลักษณะที่เป็น dynamic ที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น  ลักษณะนี้เองทำให้เกิดแนวคิดในการที่จะพัฒนาเว็บให้มีลักษณะที่สามารถโต้ตอบกับผู้ใช้ได้อย่าง dynamic สามารถประมวลผล massage ที่มีลักษณะหลากหลายมากมากยิ่งขึ้น  รวมทั้งลักษณะการตอบสนองต่อ massage ต่างๆ สามารถทำได้ทั้งในลักษณะของสิ่งที่เป็นข้อความนิ่งๆ ธรรมดา  และตอบสนองด้วยสิ่งที่มีการเคลื่อนไหว ที่เราเรียกว่า Animation ซึ่งช่วยให้การใช้งาน Web Application ทำได้สะดวกมากขึ้น และดึงดูดให้ดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปัจจุบัน การใช้งานดังกล่าวไม่ได้ถูกจำกัดให้ใช้งานผ่าน Browser ที่อยู่บนเครื่อง PC หรือ Laptop เท่านั้น ผู้ใช้ยังสามารถใช้งานผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่อื่นๆ  เช่น Smart Phone , Tablet ได้ด้วย
การอบรมหลักสูตรดังกล่าว เป็นเพียงหลักสูตรเบื้องต้นให้เรียนรู้เครื่องมือที่จะนำมาใช้ร่วมกันระหว่าง  HTML5,CSS, Adobe Photoshop และ Adobe Animate Edge เท่านั้น ซึ่ง Software ในตระกูล Adobe ทั้งหมด     มีให้ทดลองใช้ฟรี 30 วัน ซึ่งสามารถเข้าไปลงทะเบียนใช้งาน software ต่างๆ ได้ ที่ http://www.adobe.com
 

วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556

การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน


ผู้แบ่งปัน  นางสาวสุนทรี พลพงษ์  นักวิชาการคลังปฏิบัติการ                                                      
สำนักกำกับและพัฒนาระบบ GFMIS
หลักสูตรฝึกอบรม  การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
หน่วยงานผู้จัด  ศูนย์อาเซียนศึกษา  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC คืออะไร
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations : ASEAN) หรือ ประชาคมอาเซียน เป็นเป้าหมายการรวมตัวกันของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย  พม่า ลาว เวียดนาม  มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และ บรูไน  เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองและขีดความสามารถการแข่งขันของอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงให้อาเซียนมีความแข็งแกร่ง มีภูมิต้านทานที่ดี ในการรับมือกับปัญหาใหม่ๆ ระดับโลก
ประชาคมอาเซียน เปรียบกับการเป็นครอบครัวเดียวกันของประเทศสมาชิกอาเซียน ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2546 พร้อมกับมีการร่วมลงนามในปฏิญญาให้เป็นประชาคมเดียวกันให้สำเร็จภายใน พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) พร้อมกับมีการแบ่งประชาคมย่อยออกเป็น  3 ประชาคม หรือ 3 เสาหลัก ได้แก่
ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political and Security Community – APSC)
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economics Community – AEC)
ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (Asean Socio-Cultural Community – ASCC
เป้าหมายสำคัญของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC มี 4 ด้าน คือ
1. เป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน  (Single Market and Production Base)
2. สร้างขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ (High Competitive Economic Region)
3. สร้างความเท่าเทียมในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Equitable Economic Development)
4. การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก (Fully  Integrated  into  Global Economy)
 ทั้งนี้ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 10 ทุกประเทศย้ำความสำคัญของการดำเนินการต่างๆ เพื่อนำไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนภายในปี 2563 (ค.ศ. 2020) ซึ่งฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดการรวมตัวของอาเซียนให้เร็วขึ้น โดยอาจให้สำเร็จภายในปี 2555 (ค.ศ. 2012) และได้เสนอแนวทางต่างๆ เพื่อช่วยเร่งรัด  การรวมตัว เช่น การใช้วิธีการ Two plus X ซึ่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้เคยเสนอความจำเป็น และแนวทางนี้มาแล้วเมื่อวันที่  7 ตุลาคม 2546 ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 9 ที่บาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ก็ได้สนับสนุนข้อเสนอแนะของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีของไทย ที่ให้เร่งรัดการจัดตั้ง AEC ด้วย
การรวมกลุ่มสินค้าและบริการ 11 สาขานำร่อง
การรวมกลุ่มสินค้าและบริการ 11 สาขานำร่อง ถือว่าเป็นการเปิดเสรีด้านการค้าและบริการ
เพื่อส่งเสริมการแบ่งงานกันผลิตสินค้าและบริการภายในอาเซียนด้วยกัน โดยจะเน้นใช้วัตถุดิบภายในอาเซียนเป็นหลัก ตามความถนัด เนื่องจากแต่ละประเทศมีวัตถุดิบที่ไม่เหมือนกัน ถ้าจะให้ผลิตทุกอย่าง จะเป็นการเพิ่มต้นทุนสินค้าแบบเสียเปล่าสำหรับ 11 สาขานำร่องมี ดังนี้
1. สาขาผลิตภัณฑ์เกษตร      7. สาขาอิเล็กทรอนิกส์
2. สาขาประมง                      8. สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ
3. สาขาผลิตภัณฑ์ยาง          9. สาขาสุขภาพ
4. สาขาสิ่งทอ                      10. สาขาท่องเที่ยว
5. สาขายานยนต์                  11. สาขาการบิน
6. สาขาผลิตภัณฑ์ไม้
อย่างไรก็ตาม ภายหลังได้เพิ่มสาขาที่ 12 ได้แก่ สาขาโลจิสติกส์ เพื่อทำให้การขนส่งวัตถุดิบต่าง ๆ ทำได้สะดวกมากขึ้น
เมื่อแบ่งทั้ง 12 สาขา ตามประเทศที่รับผิดชอบ สามารถแบ่งได้ ดังนี้
1. พม่า สาขาผลิตภัณฑ์เกษตร และสาขาประมง
2. มาเลเซีย สาขาผลิตภัณฑ์ยาง และสาขาสิ่งทอ
3. อินโดนีเซีย สาขายานยนต์ และสาขาผลิตภัณฑ์ไม้
4. ฟิลิปปินส์ สาขาอิเล็กทรอนิกส์
5. สิงคโปร์ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ และสาขาสุขภาพ
6. ไทย สาขาการท่องเที่ยวและสาขาการบิน
7. เวียดนาม สาขาโลจิสติกส์
ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC
1. ขยายการส่งออกและโอกาสทางการค้าจากการยกเลิกอุปสรรคภาษีและที่มิใช่ภาษีจะเปิดโอกาสให้สินค้า  เคลื่อนย้ายเสรี
2. คาดว่าการส่งออกไทยไปอาเซียนจะสามารถขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 18 - 20% ต่อปี
3. เปิดโอกาสการค้าบริการ  ในสาขาที่ไทยมีความเข้มแข็ง  เช่น ท่องเที่ยว โรงแรมและร้านอาหาร  สุขภาพ  ทำให้ไทยมีรายได้จากการค้าบริการไปต่างประเทศเพิ่มขึ้น
4. สร้างเสริมโอกาสการลงทุน เมื่อมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้เสรียิ่งขึ้น อุปสรรคการลงทุนระหว่างอาเซียน จะลดลง อาเซียนจะเป็นเขตการลงทุนที่น่าสนใจทัดเทียมจีนและอินเดีย
5. เพิ่มพูนขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย เมื่อมีการใช้ทรัพยากรการผลิตร่วมกัน/เป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกับอาเซียนอื่น ทำให้เกิดความได้เปรียบเชิงแข่งขัน (Comparative Advantage) และลดต้นทุนการผลิต
6. เพิ่มอำนาจการต่อรองของไทยในเวทีการค้าโลก สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาคมโลก
7. ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ ผลการศึกษาแสดงว่า AEC จะทำให้รายได้ ทีแท้จริงของอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3  หรือคิดเป็นมูลค่า 69 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ผลกระทบของประเทศไทยจากการเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC
1. การเปิดตลาดเสรีการค้าและบริการย่อมจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันต่ำ
2. อุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในประเทศต้องเร่งปรับตัว
ข้อเสนอแนะในการเตรียมตัวของไทยสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC
แนวทางที่ประเทศไทยควรเตรียมพร้อมเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากมีการรวมตัว เป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC คือ ภาครัฐเองไม่ได้นิ่งนอนใจต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะกิจการ/อุตสาหกรรมที่ไม่มีความพร้อมในการแข่งขัน โดยแผนงานรองรับผลกระทบที่ได้มี การดำเนินงานมาแล้ว  ได้แก่
1. การจัดตั้งกองทุนเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรี ทางการค้า (ตามมติคณะรัฐมนตรี  เมื่อวันที่  8  พฤษภาคม  2550)  เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ผลิต และผู้ประกอบการสินค้าเกษตรแปรรูป  สินค้าอุตสาหกรรม  และบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าให้สามารถปรับตัวหรือปรับเปลี่ยนให้สามารถแข่งขันได้
2. มาตรการป้องกันผลกระทบก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอจัดทำกฎหมายซึ่งได้ผ่าน สภานิติบัญญัติออกมาเป็น พรบ. มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard  Measure)  ซึ่งหากการดำเนินการตาม AEC Blueprint  ก่อให้เกิดผลกระทบก็สามารถนำกฎหมายนี้มาใช้ได้
3. การจัดตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินการตามแผนงานไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ตามคำสั่ง กนศ. ที่ 1/2550  ลงวันที่  14  มิถุนายน  2550)  เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนงานและเตรียมการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในการดำเนินงานไปสู่การเป็น AEC โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน

ที่ปรึกษาสร้างองค์กรแห่งความสุขด้วย Happy Workplace โครงการสร้างเสริมสุขภาวะองค์กร


ผู้แบ่งปัน    นางสาวรัตน์วดี  ภัทรวิศรุต  นักจัดการงานทั่วไปปฏิบัติการ
สำนักงานคลังเขต 1
เรื่อง ที่ปรึกษาสร้างองค์กรแห่งความสุขด้วย Happy Workplace โครงการสร้างเสริมสุขภาวะองค์กร
หน่วยงานผู้จัด   สภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
การสร้างองค์กรแห่งความสุขและสร้างทีมที่เข้มแข็งด้วย Happy Workplace องค์กรแห่งความสุข
แนวปฏิบัติและหลักการสร้างองค์กรแห่งความสุข
ความจริงวันนี้ ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมที่ยากจะควบคุม รวมทั้งความก้าวหน้าใน การสื่อสารทำให้โลกแคบลงเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายต่อการดำเนินธุรกิจขององค์กร องค์กรวันนี้จึงเหมือนกับภูเขาน้ำแข็งกลางทะเลที่ถูกความรุนแรงของคลื่นลมและกระแสน้ำ กัดเซาะตลอดเวลา ทำให้ภูเขาน้ำแข็งไม่ว่าจะใหญ่โตเพียงใด ก็ย่อมหนีความจริงของธรรมชาติไม่พ้นคือ ค่อยๆ ละลายลงและสูญสลายไปในที่สุด จึงไม่มีองค์กรที่ยิ่งใหญ่ค้ำฟ้า ไม่มีองค์กรอมตะ ดังนั้น เพื่อที่องค์กรจะต้องอยู่ได้นานที่สุด จึงต้องปรับตัวให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่เผชิญอยู่และที่จะเข้ามาในอนาคต องค์กรจึงต้องมุ่งสู่การสร้างความเข้มแข็งขององค์กรผ่านการทำงานด้วยความสุข
องค์กรแห่งความสุขเพราะคนมีความสุขและรักองค์กร
เรื่องความสุขของคนทำงาน ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ วิจัยพบว่าพนักงานส่วนใหญ่ ยังรู้สึกว่าตัวเองความมีสุขในการทำงาน แต่เมื่อเทียบระหว่างความสุขในการทำงานกับความสุขนอกที่ทำงาน พบว่าความสุขนอกที่ทำงานมากกว่าในที่ทำงาน แต่ที่มากกว่านั้น พบว่าวันนี้พนักงานส่วนใหญ่รู้สึกว่า ตนเองมีความสุขที่ยังมีงานทำ มีความก้าวหน้าในการทำงาน มีเพื่อนร่วมงาน และมีหัวหน้างาน มากกว่าความสุขที่ได้ทำงานในองค์กรนี้ องค์กรทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้น องค์กรมีธรรมาภิบาล และมีความรับผิดชอบต่อสังคม หมายความว่าวันนี้พนักงานหรือคนในองค์กรส่วนใหญ่ยัง "รักตนเองมากกว่าองค์กร"นี่คือความท้าทายอย่างยิ่งในการดำเนินการสร้างองค์กรแห่งความสุขจากพื้นฐานของคนมีความสุข ทำอย่างไรให้คนรักองค์กร เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรและมุ่งมั่นไปกับองค์กร เพราะองค์กรเปรียบเหมือนบ้านหลังที่ 2 ของทุกคน องค์กรถึงจะเป็นองค์กรแห่งความสุขอย่างแท้จริง
การสร้างความเป็นเลิศให้องค์กร
องค์กรแห่งความเป็นเลิศ ของ Lawrence M. Miller จากบัญญัติ 8 ประการ มีอยู่ 3 ประการ ที่สำคัญ คือ
1. คุณต้องมีความเชื่อใจในการทำงานร่วมกัน (Happy)
2. คุณต้องมีความรู้ใหม่ๆ ในการทำงานร่วมกัน (Creativity)
3. คุณต้องมีกระบวนการทำงานเป็นทีมร่วมกัน (Teamwork)
องค์กรแห่งความเป็นเลิศเป็นการสร้างองค์กรเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดของการดำเนินธุรกิจขององค์กร แต่การจะเป็นเลิศที่แท้จริงได้ล้วนมาจากคนที่ร่วมกันเป็นทีมมุ่งมั่นร่วมกัน เป็นทีมที่มีความสุขและ มีพลังในการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้คือหัวใจขององค์กรแห่งความสุข
Happy workplace = Teamwork + Happy + Creativity
เพื่อสร้างองค์กรแห่งความสุข จึงต้องมีระบบการจัดการคนเพื่อให้เกิดทีมในฝัน (Dream Team) คือทีม  ที่มีคนทำงานด้วยความสุขมีความมุ่งมั่น สวยงามเป็นระเบียบ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความก้าวหน้าและพัฒนาขององค์กรอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่องค์กรแห่งความสุขอย่างแท้จริง ซึ่งประกอบด้วยบัญญัติสามประการ คือ
1. เป็นองค์กรที่มีการทำงานเป็นระบบทีม (Teamwork)
2. เป็นองค์กรที่มีความสุขในการทำงานร่วมกัน (Happy 8)
3. เป็นองค์กรที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการอยู่ร่วมกันและมีการพัฒนาร่วมกัน (Creativity)
คนสำคัญ จุดเริ่มต้นขององค์กรแห่งความสุข
จุดเริ่มต้นขององค์กรแห่งความสุข คือการเพิ่มคุณค่าของคนให้เป็นคนสำคัญ เมื่อคนมีคุณค่ามากขึ้นเป็นคนสำคัญขององค์การ การพัฒนาคนจึงต้องสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กร กระบวนการทั้งหมดเราเรียกว่า กระบวนการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในองค์กร สิ่งแรกที่องค์กรต้องทำคือต้องปรับทัศนคติ เปลี่ยนมุมมองต่อคนขององค์กร เพื่อให้เกิดความคิดใหม่ๆ ในการอยู่ร่วมกัน และการพัฒนาองค์กร ให้มีความสุขจากการมาทำงาน
โดยการสร้างกระบวนการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานที่เหมาะสมกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจของ   แต่ละองค์กร เพื่อที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการอยู่ร่วมกันของคนในองค์กร นำไปสู่การเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจขององค์กร ทำให้องค์กรมีความสามารถพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทั้งหมดนี้  ก็คือ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรของตนเอง เพื่อให้เป็นองค์กรที่มีความยั่งยืน เป็นองค์กรที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นองค์กรแห่งความสุขที่แท้จริง
Happy workplace องค์กรแห่งความสุข
Happy workplace หรือองค์กรแห่งความสุข ก็คือกระบวนการพัฒนาคนในองค์กรอย่างมีเป้าหมาย และยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กรเพื่อให้องค์กรมีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงนำพาองค์กรไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
องค์กรแห่งความสุข “คนทำงานมีความสุข ที่ทำงานน่าอยู่ ชุมชนสมานฉันท์"
Happy People - Happy home - Happy teamwork
คนทำงานมีความสุข Happy people คือ ต้องรู้ว่าคนเป็นบุคลากรที่สำคัญขององค์กร มีความเป็น    มืออาชีพ มีความเป็นอยู่ มีครอบครัวที่อบอุ่น มีศีลธรรมอันดีงาม และเอื้ออาทรต่อตนเองและสังคม คนทำงานมีความสุข เพราะมีสุขภาพกายและจิตใจที่ดี มีความมั่นคงในชีวิต ด้านการงาน เศรษฐกิจ และสังคม และนำไปสู่ความสุขในการทำงาน
ที่ทำงานน่าอยู่ Happy Home (House+Human(คน)+ Happy(ความสุข) = Home) ก็ต้องทำให้ที่ทำงานเป็นเหมือนบ้านหลังสองของพนักงาน ปัญหาความขัดแย้งเรื่องงานลดลง มีความรักและสามัคคี          ในองค์กร
ชุมชนสมานฉันท์ Happy Team work ต้องมีความสามัคคีในการทำงานเป็นทีม ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และเอื้ออาทรกับสังคมรอบข้าง
งาน HR วันนี้ต้องมุ่งทำให้คนมีความสุขในการทำงานร่วมกัน
การจัดการทรัพยากรมนุษย์ไม่จำกัดแต่เรื่องการคัดคนการจัดคนต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่“Human Relationship to Happy Relationship” คือ มุ่งสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของคนในองค์กรนำไปสู่การอยู่ร่วมกันทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข งานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงต้องใช้ความคิดสร้างสวรรค์ในการทำงานมากขึ้น นำไปสู่ทุกคนต้องมี “HR Mind” คือมีความตระหนักและสามารถในการบริหารจัดการคนได้
“สมดุลของชีวิต” จุดเปลี่ยนสู่องค์กรแห่งความสุข
การจัดการทรัพยากรมนุษย์ต้องสามารถทำให้คนในองค์กรเข้าใจคำว่า “สมดุลของชีวิต” เพราะมนุษย์ไม่ได้เก่งอย่างเดียว แล้วจะสามารถทำงานได้ดี จะต้องมี “Work Skill” คือทักษะการทำงานที่ดี และจะต้องมี “Life skill” คือ ทักษะการใช้ชีวิตที่ดี ควบคู่กันไป พูดง่ายๆ คือมี IQ และ EQ สมดุลกัน ทำให้สามารถบริหารความสามารถในการทำงานและการชีวิตของตนเองได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น องค์กรต้องเพิ่มคุณค่าของคนให้เกิดความสามัคคีทำงานเป็นทีม มุ่งให้เกิดความสุขในการอยู่ร่วมกัน มีความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานร่วมกัน  เป็นองค์กรที่มีการทำงานเป็นระบบทีม (Teamwork) เป็นองค์กรที่มีความสุขในการทำงานร่วมกัน (Happy B) และเป็นองค์กรที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการอยู่ร่วมกัน และมีการพัฒนาร่วมกัน (Creativity)
วัฒนธรรมองค์กรแห่งความสุข
การให้ความสำคัญกับคน มีนโยบายและกิจกรรมสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่แท้จริง นำไปสู่องค์กรแห่งความสุขจากพื้นฐานให้ .”คนเป็นคนสำคัญ” และมีขบวนการหรือรูปแบบ   ที่เหมาะสมกับองค์กรของตนเอง ให้เกิดการทำงานเป็นทีมและมีความสุขในการทำงาน ให้คิดถึงองค์กรและส่วนรวม เกิดเป็น Teamwork, Happy และ Creativity
บทบาทหน้าที่ของคนในองค์กรกับการสร้างองค์กรแห่งความสุข
ผู้บริหารจะต้องรับรู้ เข้าใจ และสนับสนุนหัวหน้างานขึ้นไปต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถปฏิบัติได้ พนักงานจะต้องรับรู้ เข้าใจ ในการเปลี่ยนแปลงขององค์กรและ มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
เมื่อเป็นผู้นำของทีมแล้วทุกคนจะต้องมี “HR Mind” คือ มีความรู้ความเข้าใจพร้อมที่จะบริหารจัดการคนในทีม ดูแลคนในทีมได้ และบริหารตนเองได้ โดยองค์กรต้องสร้างรูปแบบผู้นำให้เหมาะสมสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กรเพื่อสร้างความยั่งยืนของการพัฒนาคนในองค์กรนำไปสู่องค์กรเข้มแข็งและมีความสุขอย่างแท้จริง สร้างสายใยของวัฒนธรรมขององค์กรและสร้างจุดเชื่อมต่อวัฒนธรรมที่มีความสุข ให้เกิดวัฒนธรรมแห่งความสุข
ดังนั้นกิจกรรมต่างๆ ที่องค์กรทำอยู่ก็เพื่อสร้างความสุขให้กับทุกคนในองค์กร และจะกลายเป็นองค์กรที่มีความสุขอย่างแท้จริง โดยสร้างความเป็นหนึ่ง การรวมกันให้เป็นทีมเดียวกัน จะทำให้เกิด Team work และเป็น Team work ที่มีความสุข และมีความคิดสร้างสรรค์ที่ทำให้เกิดองค์กรพัฒนาและยั่งยืน




การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขยายผลระบบการบริหารจัดการกำลังคนคุณภาพ สำหรับข้าราชการไทย (ระบบข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง)


ผู้แบ่งปัน   นายชวยศ  จุยประเสริฐ  นักทรัพยากรบุคคลปฏิบัติการ   
กองการเจ้าหน้าที่
เรื่อง  การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขยายผลระบบการบริหารจัดการกำลังคนคุณภาพ  สำหรับข้าราชการไทย (ระบบข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง)
หน่วยงานผู้จัด  สำนักงาน ก.พ. 

ระบบข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง หรือ HiPPs (Performance & Potential system)   เป็นระบบบริหารทรัพยากรบุคคลที่สำนักงาน ก.พ. พัฒนาขึ้นเพื่อสร้างความพร้อมให้กับข้าราชการ  ผู้มีศักยภาพสูงอย่างเป็นระบบ โดยเน้นที่การเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง (Workplace Learning) พร้อมกลไกการสับเปลี่ยนหมุนเวียนงาน การสอนงาน และการเรียนรู้ผ่านการฝึกอบรม เพื่อให้ข้าราชการกลุ่มดังกล่าวได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ ส่งผลให้สามารถดำรงตำแหน่งในระดับสูงได้อย่างมีคุณภาพ   ในเวลาที่เหมาะสม โดยระบบ HiPPs เป็นระบบที่มุ่งพัฒนาข้าราชการในระดับปฏิบัติการ (ระดับ 4 – 5 เดิม) ให้เป็นข้าราชการระดับชำนาญการพิเศษ (ระดับ 8 เดิม) ที่มีคุณภาพสูง ได้ในเวลาเพียง 7 – 8 ปี โดยกำหนดระบบที่มีกลไกการคัดกรองอย่างเข้มข้น ซึ่งข้าราชการผู้สมัครเข้าสู่ระบบนี้จะต้องผ่านการคัดเลือกจากส่วนราชการต้นสังกัด และสำนักงาน ก.พ. เพื่อให้มั่นใจได้ว่าข้าราชการผู้นั้นมีคุณภาพ และคุณสมบัติของข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูงได้ ทั้งนี้ส่วนราชการแห่งหนึ่งจะมีข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูงได้ไม่เกิน   ร้อยละ 1 ของจำนวนข้าราชการทั้งหมด
วัตถุประสงค์หลักของระบบ HiPPs โดยหลักมีดังนี้
1. เพื่อดึงดูด และรักษาคนดี คนเก่งมีผลงานเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะให้อยู่ในส่วนราชการ
2. เพื่อพัฒนาข้าราชการพลเรือนให้เป็นผู้มีศักยภาพสูงอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ
3. เพื่อเตรียมผู้นำที่มีคุณภาพ และประสบการณ์ในจำนวนที่เพียงพอสำหรับการเป็นนักบริหารระดับสูง
โดยระบบ HiPPs มีเครื่องมือสำคัญที่ช่วยกำหนดแนวทางการพัฒนา คือ กรอบการสั่งสมประสบการณ์ (Experience Accumulation Framework : EAF) โดยเครื่องมือดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้น   เพื่อช่วยกำหนดแนวทางการพัฒนา การสับเปลี่ยนหมุนเวียนงาน การมอบหมายงาน และกำหนดเส้นทางอาชีพไว้อย่างกว้างๆ ซึ่ง EAF จะกำหนดงานและภารกิจที่สำคัญขององค์กร ที่ข้าราชการในระบบ HiPPs จำเป็นต้องเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม และเชื่อมโยงกับสมรรถนะ ทักษะที่ข้าราชการในระบบ HiPPs จะต้องพัฒนาควบคู่กันไประหว่างปฏิบัติราชการตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย โดยอาจจะกล่าวได้ว่ากรอบการสั่งสมประสบการณ์ หรือ EAF นั้น เป็นเสมือนกับเข็มทิศในการพัฒนาบุคลากรที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไปในแต่ละองค์กร
ในส่วนของขั้นตอนการดำเนินของระบบ HiPPs ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนโดยหลัก ดังนี้
1. ขั้นตอนการเตรียมการ และการทบทวนระบบ HiPPs ของส่วนราชการ ในขั้นนี้ ส่วนราชการจะดำเนินการทบทวนผลการดำเนินการในปีที่ผ่านมา และพิจารณาว่าจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนในรายละเอียดของกรอบการดำเนินการภายใต้ระบบ HiPPs และกรอบการสั่งสมประสบการณ์หรือไม่
2. ขั้นตอนการคัดเลือกเข้าสู่ระบบ HiPPs  ขั้นตอนนี้ เป็นการคัดเลือกข้าราชการเพื่อเข้าสู่ระบบ HiPPs โดยส่วนราชการ  จะดำเนินการคัดเลือกในเบื้องต้นและเสนอรายชื่อข้าราชการผู้ผ่านการคัดเลือกไปยังสำนักงาน ก.พ. เพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกในขั้นตอนสุดท้ายต่อไป
3. ขั้นตอนการพัฒนา  เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด โดยข้าราชการที่เข้าสู่ระบบ HiPPs จะถูกมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในกรอบสั่งสมประสบการณ์ และเสริมด้วยกลไกการพัฒนาอื่นๆ ซึ่งถูกจัดทำเป็นแผนพัฒนาเฉพาะรายบุคคล (Individual Development)
โอกาสในการพัฒนาของข้าราชการที่ได้รับคัดเลือกเข้าสู่ระบบ HiPPs 
1. โอกาสการพัฒนาและเส้นทางความก้าวหน้าที่กำหนดเอาไว้อย่างชัดเจน ภายใต้กรอบการสั่งสมประสบการณ์ โดยข้าราชการระดับปฏิบัติการ (ระดับ 4 เดิม) จะสามารถเลื่อนเพื่อดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการพิเศษ (ระดับ 8 เดิม) ได้ในระยะประมาณ 7 – 8 ปี 
2. โอกาสในการได้รับมอบหมายงานที่มีความท้าทายและเหมาะสมกับศักยภาพ  และการสร้างเครือข่าย (Networking)
3. โอกาสในการพัฒนาเพิ่มเติมทักษะ ความรู้ ความสามารถ ในหลากหลายรูปแบบ  เช่น การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) การพัฒนาตนเองตามแนวทางที่กำหนด (Self directed Development) และการฝึกอบรมที่ดำเนินการโดยสำนักงาน ก.พ. และส่วนราชการต่างๆ  และคณะทำงานพิเศษ เป็นต้น
4. โอกาสในการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษ ด้วยโควตากลางที่  คณะรัฐมนตรีอนุมัติ
ในส่วนของกรมบัญชีกลางได้ดำเนินการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกไว้ ดังนี้
1. เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการหรือระดับชำนาญการ
1.1 กรณีบรรจุและแต่งตั้งด้วยคุณวุฒิปริญญาตรีหรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกัน ต้องมีอายุราชการไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือ
1.2 กรณีบรรจุและแต่งตั้งด้วยคุณวุฒิปริญญาโทหรือปริญญาเอก หรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกัน ต้องมีอายุราชการไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือ
1.3 กรณีได้รับคุณวุฒิปริญญาโทหรือปริญญาเอกที่ตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งเพิ่มขึ้น ต้องมีอายุราชการไม่น้อยกว่า 1 ปี
2. ต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการในกรมบัญชีกลางอย่างน้อย 1 ปี
3. มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ เป็นที่ยอมรับของผู้บังคับบัญชา และเพื่อนร่วมงาน และมีผลการปฏิบัติราชการ โดยเฉลี่ยในระดับดีมากขึ้นไป
4. มีความรู้ และทักษะทางภาษาอังกฤษในระดับดีมาก และทางคอมพิวเตอร์ในระดับที่ใช้งานได้ดี 
5. เป็นผู้ที่มีศักยภาพที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนา
6. เป็นผู้มีความประพฤติดี ปฏิบัติตนอยู่ในจรรยาและระเบียบวินัย
ทั้งนี้ จะต้องผ่านการทดสอบภาษาอังกฤษ ซึ่งมีผลคะแนนดังนี้
-  ผลคะแนนภาษาอังกฤษ CU-TEP จากศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ไม่ต่ำกว่า ๖๐ คะแนน หรือ
-  ผลคะแนนภาษาอังกฤษ TOEFL ไม่ต่ำกว่า 500 คะแนน (paper-based) หรือ ๑๗๓ คะแนน (Computer- based) หรือ ๖๑ คะแนน (internet- based) หรือ
-  ผลคะแนนภาษาอังกฤษ IELTS ไม่ต่ำกว่าระดับ 6 หรือ
-  ผลคะแนนภาษาอังกฤษของสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ (DVIFA) ประเภท Practical Test ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60
ซึ่งผลคะแนนข้างต้น  จะต้องมีอายุไม่เกิน 2 ปี นับถึงวันที่สมัครเข้ารับการคัดเลือกเข้าสู่ระบบ HiPPs
ประกอบกับการทดสอบสมรรถนะและความรู้ความสามารถพื้นฐาน ด้วยการนำเสนอผลงานในงานที่ตนเองปฏิบัติเพื่อเชื่อมโยงแผนยุทธศาสตร์ของหน่วยงาน และสัมภาษณ์ โดยคณะกรรมการ   จะพิจารณาประเมินศักยภาพ สมรรถนะจากประวัติในใบสมัครและเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง 
ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นกระบวนการคัดเลือกข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูงของกรมบัญชีกลางที่ดำเนินการคัดเลือกภายในอย่างเข้มข้น ก่อนส่งผลการคัดเลือกข้าราชการที่ผ่านเกณฑ์เบื้องต้นไปยังสำนักงาน ก.พ. เพื่อทดสอบสมรรถนะ และความรู้ ความสามารถในระดับสูงต่อไป

วันพุธที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2556

Microsoft Access ๒๐๐๗

โครงการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ชาวกรมบัญชีกลาง (CoP : Community of Practice)

กิจกรรมที่ ๓ : เล่าเรื่องเร้าพลังชาวกรมบัญชีกลาง (Storytelling) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๖
โครงการฝึกอบรม  เรื่อง Microsoft Access ๒๐๐๗
ผู้เล่าเรื่อง : นายสุจิตร ชุมชัย
             นักวิชาการคลังปฏิบัติการ
สำนักกำกับและพัฒนาระบบการบริการการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์
การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ
                   โปรแกรม Microsoft Access ๒๐๐๗เป็นโปรแกรมจัดการฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์ สำหรับจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ให้เป็นหมวดหมู่ เรียกว่า ฐานข้อมูล จากนั้นจึงจะนำเอาข้อมูลสร้างเป็นแบบฟอร์ม เพื่อช่วยในการค้นหาข้อมูลให้สะดวกและง่ายขึ้นออกมาเป็นรายงานที่สวยงามเป็นระเบียบ และอื่นๆ อีกมากโดยการใช้งาน Access นั้นต้องมีการเกี่ยวข้องกับเรื่องฐานข้อมูล ดังนั้นก่อนที่จะใช้งานของ Access ต้องมีความเข้าใจในฐานข้อมูลก่อน ซึ่งฐานข้อมูล (Database)  คือ การเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่รายละเอียดของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งถูกนำมาใช้ในงานด้านต่าง ๆ ข้อมูลจะถูกจัดเก็บไว้อย่างมีระบบ  และมีความสัมพันธ์กัน  เพื่อประโยชน์ในการจัดการและรียกใช้ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
         ๑.      การสร้างตารางข้อมูล
ให้คลิกเลือกแท็บCreate แล้วเลือกคำสั่งสร้างในกลุ่ม Tables ซึ่งมีวิธีการสร้าง ๔ แบบ
๑.      Datasheet View เป็นการสร้างจากการป้อนข้อมูลบนตาราง
๒.      Design View เป็นการสร้างด้วยมุมมองออกแบบ
๓.      Table Template  เป็นการสร้างด้วยต้นแบบที่มากับโปรแกรม Microsoft Access
๔.      Share Point Lists เป็นตารางข้อมูลเชื่อมดยงกับ Share Point
๒.     ฟอร์ม ฟอร์มสามารถแบ่งออกเป็น ๕ แบบ
๑.      ฟอร์มเดี่ยว (Single Form) เป็นฟอร์มแสดงข้อมูล ๑ เรคคอร์ดต่อ ๑ เพจ
๒.      ฟอร์มต่อเนื่อง (Continue form) เป็นฟอร์มแสดงเรคคอร์ด
๓.      ฟอร์มแผ่นตาราง (Datasheet form) เป็นฟอร์มแสดงรายการเรคคอร์ดของมุมมองแผ่นตาราง
๔.      ฟอร์ม Pivot Table เป็นฟอร์มแสดงข้อมูลแบบ Pivot Table
๕.      ฟอร์ม Pivot Chart เป็นฟอร์มแสดงกราฟข้อมูลในแบบ Pivot Chart
การสร้างฟอร์ม ในการสร้างฟอร์มตามปกติจะต้องเลือกตารางข้อมูลหรือคิวรี่เป็นลำดับแรก
ยกเว้นถ้าต้องการนำฟอร์มไปใช้ในลักษณะอื่นๆ ที่ไม่ต้องการใช้ข้อมูลใดๆเลย ให้ทำการสร้างโดยไม่ต้องเลือกตารางข้อมูลและคิวรี่
          ฟอร์มสามารถสร้างได้ ๓ วิธีหลัก คือ เครื่องมือสร้างฟอร์ม Form wizard และมุมมองออกแบบ Form design)
          ๓.     การรายงาน รายงานสามารถแบ่งออกเป็น ๓รูปแบบ
๑.      รายงานคอลัมน์(Columnar report)เป็นรายงานแบบ ๑ เรคคอร์ดต่อ ๑ หน้ารายงาน
๒.      รายงานตาราง(Tubular report)เป็นรายงานแบบแถวและคอลัมน์ (Row-column Format)
๓.      รายงานป้ายชื่อ(Label report)เป็นรายงานสำหรับการพิมพ์ป้าย (Label) 
การสร้างรายงานสามารถทำได้ ๓ วิธี
-          เครื่องมือสร้างรายงาน
-          Report Wizard คำสั่งสร้างด้วย Wizard
-          Report Design คำสั่งสร้างรายงานเปล่าในมุมมองออกแบบ
๔.      มาโคร ประเภทมาโครมี ๒ ประเภท คือ
๑.      Standalone macro มาโครประเภทเป็นแบบ Public สร้างขึ้นแล้วจะเก็บอยู่ใน Category ของมาโครใน Navigator pane อ๊อบเจคต่างๆ สามารถนำมาใช้ได้
๒.   Embedded macro มาโครประเภทนี้จะฝังอยู่ฟอร์มหรือรายงานที่สร้างมาโครงสำหรับการตอบสนอง Event ซึ่งเริ่มใช้ในเว่อร์ชัน ๒๐๐๗
การสร้างมาโครสามารถสร้างได้จากคำสั่งในกลุ่ม Others [ocmU [ Create หรือใช้  Macro Builder

เครือข่ายวัฒนธรรมนนท์ เยินยลวัฒนธรรมอาเซียน

โครงการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ชาวกรมบัญชีกลาง (CoP : Community of Practice)
กิจกรรมที่ ๓ : เล่าเรื่องเร้าพลังชาวกรมบัญชีกลาง (Storytelling) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๖

การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ :
โครงการฝึกอบรม  เรื่อง การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ :
โครงการฝึกอบรม  เรื่อง เครือข่ายวัฒนธรรมนนท์ เยินยลวัฒนธรรมอาเซียน
ผู้เล่าเรื่อง :  นางสาวจันทิมา ตันติกุลวัฒนา
               นักวิชาการเงินและบัญชีชำนาญการ
               สำนักงานคลังจังหวัดนนทบุรี

การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ :
ประเด็นสำคัญจากการเปลี่ยนแปลงทั่วโลกที่คนไทย
ควรรู้ ควรเข้าใจ ก่อนจะรวมกันเป็นประชาคมอาเซียน  คือ
๑. การเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย
- การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง                              
- การเปลี่ยนแปลงด้านสังคม
- การเปลี่ยนแปลงด้านลม ฟ้า อากาศ และสิ่งแวดล้อม 
- การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ
- การเปลี่ยนแปลงด้านการบริหารจัดการประเทศ
๒.  การเปลี่ยนแปลงภายนอกประเทศ
แนวคิดเรื่องประชาคมอาเซียนด้านสังคมวัฒนธรรม (ASCC)
๑.      ประชาคมอาเซียนกับเสาหลัก ๓ เสา
นอกจากประเทศสมาชิก ๑๐ ประเทศ ยังมีคู่เจรจาอีก ๓ + ๓ คือ จีน เกาหลี  ญี่ปุ่น อินเดีย
ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งการรวมตัวกันเพื่อเสริมสร้างความเข็มแข้งของกลุ่มในประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ให้มากยิ่งขึ้น โดยให้อยู่บนเสาหลัก ๓ เสา คือ ความเป็นปึกแผ่นทางเศรษฐกิจ ความเข้มแข็งด้านการเมืองและความมั่นคง และความเข้มแข็งทางสังคมและวัฒนธรรม
๒.      กฎบัตรอาเซียน คือ ธรรมนูญของอาเซียนในยุคใหม่ เป็นเอกสารทางกฎหมายระหว่างประเทศ
ที่เขียนขึ้นมาจาก ข้างบน คือ เขียนโดยผู้ที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกัน เพื่อส่งให้ คนข้างล่าง คือหน่วยงานและองคาพายพในทุกประเทศ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้
มุมมองการทำงานของคนไทยที่ชาวต่างชาติมอง
๑.      ชอบยึดติดแบบเดิมๆ ไม่เปลี่ยนแปลง มักรู้สึกสร้างปัญหา น่ารำคาญ
๒.      การโต้แย้ง คนไทยไม่กล้าโต้แย้งยอมรับความเสียเปรียบขี้เกรงใจ
๓.      ไม่พูดสิ่งที่ควรพูด ไม่อยากมีปัญหา ไม่อย่างเรื่องมาก มักเก็บความสามารถเอาไว้
๔.      ความรับผิดชอบ มักไม่ค่อยกำหนดระยะเวลาการทำงาน ชอบสะสมงานไว้
๕.      วิธีการแก้ปัญหา ไม่วางแผนเผื่อไว้ ชอบแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่สนใจอดีตและอนาคตไม่คิดเอง ต้องรอคำสั่ง
๖.      บอกแต่ข่าวดี ไม่ค่อยบอกปัญหาเจ้านาย จนปัญหาหมักหมมไว้แก้ไขยาก
๗.      ชอบคำพูดว่า ไม่เป็นไร ทำให้มีปัญหาไม่สามารถหาคนรับผิดชอบได้
๘.      ทักษะในการทำงาน ทำงานเป็นทีมไม่ได้ ไม่มีทักษะในการทำงาน
๙.      ความซื่อสัตย์  คนไทยชอบโกหกเล็กๆ น้อยๆ  เช่น มาสายเพราะรถติด
๑๐.  ระบบพวกพ้อง  ให้ประโยชน์ ช่วยเหลือเพื่อน ทำให้เกิดปัญหากับบริษัท
๑๑.  คนไทยแยกไม่ออกระหว่างเรื่องานกะเรื่องส่วนตัว  ออกแนวข่าวลือ นินทา ทำให้งานไม่ดี
จากบทความดังกล่าว เราในฐานะประชาชนคนไทยต้องร่วมมือร่วมใจสานสัมพันธ์เพื่อลดความขัดแย้ง
ทางสังคม และพัฒนาทักษะทางด้านภาษา ฝีมือแรงงาน และทักษะในด้านต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อม การก้าวสู่ AEC และวัฒนธรรมที่หลากหลายที่จะเข้ามาสู่ประเทศไทย 

การใช้งานแบบจำลองดุลยภาพทั่วไปเพื่อการวิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายหรือการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม

โครงการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ชาวกรมบัญชีกลาง (CoP : Community of Practice)

กิจกรรมที่ ๓ : เล่าเรื่องเร้าพลังชาวกรมบัญชีกลาง (Storytelling) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๖
ผู้เล่าเรื่อง  :  นายวรสิทธิ์   ประจันพล
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง  :  นักวิชาการคลังชำนาญการ
หน่วยงาน :  กลุ่มงานพัฒนาระบบบริหารเศรษฐกิจการคลังจังหวัด สำนักการเงินการคลัง
หลักสูตรฝึกอบรม  :  “การใช้งานแบบจำลองดุลยภาพทั่วไปเพื่อการวิเคราะห์ผลกระทบของ 
                           นโยบายหรือการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม”
หน่วยงานผู้จัด  :  สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร / โครงการฝึกอบรม
                        เพื่อให้เข้าใจกลไกการทำงานของระบบเศรษฐกิจในบริบทของดุลยภาพทั่วไป    จากแบบจำลองดุลยภาพทั่วไป (Computable General Equilibrium : CGE) มาใช้เป็นเครื่องมือผ่านโปรแกรมคำนวณ GEMPACK มาใช้ในการวิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญๆ ในเบื้องต้น พร้อมทั้งแปลผลลัพธ์จากแบบจำลอง CGE ได้อย่างถูกต้อง

การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ :
แบบจำลองดุลยภาพทั่วไป (Computable General Equilibrium : CGE) เป็นเครื่องมือที่นำแนวความคิดดุลยภาพทั่วไปของระบบเศรษฐกิจภายใต้ข้อสมมติอิงตามทฤษฎี กล่าวไว้ว่า ระบบเศรษฐกิจโดยทั่วไปจะอยู่ในสภาวะสมดุลเสมอ หากเศรษฐกิจส่วนหนึ่งส่วนใด เกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้ไม่อยู่ในภาวะสมดุล ภาคเศรษฐกิจที่ไม่อยู่ภาวะสมดุล จะมีการปรับตัวตามพฤติกรรมของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งเข้าสู่ภาวะสมดุล หรือภาวะดุลยภาพทั่วไป และเมื่อระบบเศรษฐกิจอยู่ในภาวะสมดุลแล้ว หากปัจจัยทางเศรษฐกิจภายนอกเปลี่ยนแปลง จะส่งผลกระทบเชื่อมโยงถึงภายในระบบเศรษฐกิจ และตามพฤติกรรมของเศรษฐกิจในส่วนต่าง ๆ เพื่อเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ โดยที่ระบบสมการในแบบจำลองดุลยภาพทั่วไป แสดงถึงความสัมพันธ์ของตัวแปรและพฤติกรรมทางเศรษฐกิจมหาภาคในรูปเชิงคณิตศาสตร์ และมีการวัดออกมาเป็นในเชิงปริมาณ
ทั้งนี้แบบจำลอง CGE นำมาประยุกต์ใช้เพื่อตอบโจทย์ปัญหาทางเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างกว้างขวาง และหลากหลาย เนื่องจากได้จำลองพฤติกรรมของกิจกรรมสำคัญๆ ทางเศรษฐกิจไว้ในแบบจำลองอย่างครบถ้วน เช่น การผลิต การบริโภค การลงทุน การส่งออก การนำเข้า การเก็บภาษี การใช้จ่ายของรัฐบาล เป็นต้น โดยมีการเชื่อมโยงระหว่างกิจกรรมเหล่านั้นอย่างเป็นระบบ และสามารถให้คำตอบในเชิงปริมาณซึ่งทำให้ได้ข้อสรุปของทิศทางผลกระทบที่ชัดเจน ไม่ว่าผลกระทบทั้งทางตรง ทางอ้อม และผลกระทบย้อนกลับระหว่างหน่วยเศรษฐกิจต่างๆ
แบบจำลอง CGE มีอยู่หลายประเภท ได้แก่ แบบจำลอง MONASH/ ORANI-G (วิเคราะห์เศรษฐกิจมหาภาค) แบบจำลอง A-K (วิเคราะห์นโยบายสวัสดิการ) แบบจำลอง CAMGEM  แบบจำลอง GEMTAP (วิเคราะห์นโยบายภาษี) แบบจำลอง GTAP (วิเคราะห์ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก) แบบจำลอง LINKAGE และแบบจำลอง G-Cubed (วิเคราะห์สิ่งแวดล้อม)
ขอบเขตของการใช้งานแบบจำลอง CGE เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบด้านนโยบายที่จะกำหนดขึ้น (Policy Impact analysis) และวิเคราะห์ผลกระทบของการดำเนินนโยบายที่ผ่านมา (Evaluating Policies analysis) รวมไปถึงการพยากรณ์ไปในอนาคต (Forecasting) และการที่จะทำให้นโยบายเกิดผลและมีประสิทธิภาพมากที่สุด (Policy Optimization) ซึ่งที่ผ่านมาแบบจำลอง CGE ได้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในการประเมินผลกระทบของนโยบายและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ   อาทิ
1. การปรับโครงสร้างภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มขีดความสามารถในการ  แข่งขัน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
2. การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างค่าใช้จ่ายภาครัฐ
3. การเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมัน
4. การเปลี่ยนแปลงของอัตราค่าจ้างแรงงาน
5. การเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน
6. การเปิดเสรีทางการค้าผลกระทบของสังคมผู้สูงอายุ
แบบจำลอง CGE ที่ใช้ในการอบรมครั้งนี้ คือ แบบจำลอง ORANI-G ซึ่งมีความสามารถในการวิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายหรือการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในขอบเขตที่กว้างขวางมากขึ้น เช่น การวิเคราะห์เชิงพลวัต (Dynamic) การวิเคราะห์ภายใต้สภาวะตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์ (Imperfect Competition) การแบ่งพื้นที่เศรษฐกิจของประเทศออกเป็นหลายพื้นที่ การวิเคราะห์การกระจายรายได้ การวิเคราะห์นโยบายพลังงาน เป็นต้น
โครงสร้างแบบจำลอง ORANI-G ประกอบด้วย การผลิต การลงทุน การบริโภคของครัวเรือน อุปสงค์การส่งออก การใช้จ่ายภาครัฐ การสะสมสินค้าคงคลัง อุปสงค์ต่อสินค้าเหลื่อม (margin demand) สมการเกลี่ยตลาด (Market clearing equation) สมการราคา การเก็บภาษี สมการมหาภาคและดัชนี และตลาดแรงงาน
เครื่องมือที่ใช้ในการคำนวณผลลัพธ์ของแบบจำลอง คือ โปรแกรม GEMPACK เป็นโปรแกรมที่มีความสามารถในการแก้ปัญหาระบบสมการแบบไม่เชิงเส้น (Non-linear) ขนาดใหญ่ ซึ่งโปรแกรม GEMPACK ใช้วิธีแก้ระบบสมการแบบไม่เชิงเส้นโดยการแปลงระบบสมการให้อยู่ในรูปสมการเชิงเส้นแล้วใช้เทคนิคการลดความผิดพลาดจากการแปลงเป็นเชิงเส้น (Linearization Error) เพื่อให้ได้คำตอบของประมวลผลสมการที่แท้จริง
ดังนั้น แบบจำลอง CGE ประเภทแบบจำลอง ORANI-G ที่ทำบนโปรแกรม GEMPACK จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้สามารถประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจสังคมได้ด้วยตนเองในเบื้องต้นได้อย่างรวดเร็วและมีต้นทุนต่ำ และทำให้เข้าใจกลไกการทำงานของระบบเศรษฐกิจในภาพรวม รวมทั้งสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้ไปใช้กับแบบจำลอง CGE ประเภทอื่นได้
ความรู้เกี่ยวกับแบบจำลอง CGE ประเภทแบบจำลอง ORANI-G ที่ทำบนโปรแกรม GEMPACK ที่ใช้วิเคราะห์ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ โดยเป็นการวิเคราะห์ในลักษณะที่ให้ตัวแปรต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจสามารถผันแปรได้อย่างอิสระตามผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ จึงเป็นวิธีที่สามารถศึกษาหรือวิเคราะห์ผลกระทบทางตรง ทางอ้อม และผลกระทบย้อนกลับระหว่างหน่วยเศรษฐกิจต่างๆ ได้อย่างละเอียด และตอบคำถามของตัวแปรเศรษฐกิจทั้งในระดับมหาภาคไปจนถึงระดับหน่วยเศรษฐกิจต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจ
จากความรู้ดังกล่าวสามารถนำกลับมาปรับใช้กับงานด้านการสนับสนุนการวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค โดยนำโปรแกรม GEMPACK มาใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายและการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคม ที่ผ่านกลไกระหว่างภาคเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อให้การกำหนดนโยบาย และประมาณการเศรษฐกิจจังหวัด มีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น