ผู้แบ่งปัน นายชวยศ จุยประเสริฐ นักทรัพยากรบุคคลปฏิบัติการ
กองการเจ้าหน้าที่
เรื่อง การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขยายผลระบบการบริหารจัดการกำลังคนคุณภาพ สำหรับข้าราชการไทย (ระบบข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง)
หน่วยงานผู้จัด สำนักงาน ก.พ.
ระบบข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง หรือ HiPPs (Performance & Potential system) เป็นระบบบริหารทรัพยากรบุคคลที่สำนักงาน ก.พ. พัฒนาขึ้นเพื่อสร้างความพร้อมให้กับข้าราชการ ผู้มีศักยภาพสูงอย่างเป็นระบบ โดยเน้นที่การเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง (Workplace Learning) พร้อมกลไกการสับเปลี่ยนหมุนเวียนงาน การสอนงาน และการเรียนรู้ผ่านการฝึกอบรม เพื่อให้ข้าราชการกลุ่มดังกล่าวได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ ส่งผลให้สามารถดำรงตำแหน่งในระดับสูงได้อย่างมีคุณภาพ ในเวลาที่เหมาะสม โดยระบบ HiPPs เป็นระบบที่มุ่งพัฒนาข้าราชการในระดับปฏิบัติการ (ระดับ 4 – 5 เดิม) ให้เป็นข้าราชการระดับชำนาญการพิเศษ (ระดับ 8 เดิม) ที่มีคุณภาพสูง ได้ในเวลาเพียง 7 – 8 ปี โดยกำหนดระบบที่มีกลไกการคัดกรองอย่างเข้มข้น ซึ่งข้าราชการผู้สมัครเข้าสู่ระบบนี้จะต้องผ่านการคัดเลือกจากส่วนราชการต้นสังกัด และสำนักงาน ก.พ. เพื่อให้มั่นใจได้ว่าข้าราชการผู้นั้นมีคุณภาพ และคุณสมบัติของข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูงได้ ทั้งนี้ส่วนราชการแห่งหนึ่งจะมีข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูงได้ไม่เกิน ร้อยละ 1 ของจำนวนข้าราชการทั้งหมด
วัตถุประสงค์หลักของระบบ HiPPs โดยหลักมีดังนี้
1. เพื่อดึงดูด และรักษาคนดี คนเก่งมีผลงานเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะให้อยู่ในส่วนราชการ
2. เพื่อพัฒนาข้าราชการพลเรือนให้เป็นผู้มีศักยภาพสูงอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ
3. เพื่อเตรียมผู้นำที่มีคุณภาพ และประสบการณ์ในจำนวนที่เพียงพอสำหรับการเป็นนักบริหารระดับสูง
โดยระบบ HiPPs มีเครื่องมือสำคัญที่ช่วยกำหนดแนวทางการพัฒนา คือ กรอบการสั่งสมประสบการณ์ (Experience Accumulation Framework : EAF) โดยเครื่องมือดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้น เพื่อช่วยกำหนดแนวทางการพัฒนา การสับเปลี่ยนหมุนเวียนงาน การมอบหมายงาน และกำหนดเส้นทางอาชีพไว้อย่างกว้างๆ ซึ่ง EAF จะกำหนดงานและภารกิจที่สำคัญขององค์กร ที่ข้าราชการในระบบ HiPPs จำเป็นต้องเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม และเชื่อมโยงกับสมรรถนะ ทักษะที่ข้าราชการในระบบ HiPPs จะต้องพัฒนาควบคู่กันไประหว่างปฏิบัติราชการตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย โดยอาจจะกล่าวได้ว่ากรอบการสั่งสมประสบการณ์ หรือ EAF นั้น เป็นเสมือนกับเข็มทิศในการพัฒนาบุคลากรที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไปในแต่ละองค์กร
ในส่วนของขั้นตอนการดำเนินของระบบ HiPPs ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนโดยหลัก ดังนี้
1. ขั้นตอนการเตรียมการ และการทบทวนระบบ HiPPs ของส่วนราชการ ในขั้นนี้ ส่วนราชการจะดำเนินการทบทวนผลการดำเนินการในปีที่ผ่านมา และพิจารณาว่าจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนในรายละเอียดของกรอบการดำเนินการภายใต้ระบบ HiPPs และกรอบการสั่งสมประสบการณ์หรือไม่
2. ขั้นตอนการคัดเลือกเข้าสู่ระบบ HiPPs ขั้นตอนนี้ เป็นการคัดเลือกข้าราชการเพื่อเข้าสู่ระบบ HiPPs โดยส่วนราชการ จะดำเนินการคัดเลือกในเบื้องต้นและเสนอรายชื่อข้าราชการผู้ผ่านการคัดเลือกไปยังสำนักงาน ก.พ. เพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกในขั้นตอนสุดท้ายต่อไป
3. ขั้นตอนการพัฒนา เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด โดยข้าราชการที่เข้าสู่ระบบ HiPPs จะถูกมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในกรอบสั่งสมประสบการณ์ และเสริมด้วยกลไกการพัฒนาอื่นๆ ซึ่งถูกจัดทำเป็นแผนพัฒนาเฉพาะรายบุคคล (Individual Development)
โอกาสในการพัฒนาของข้าราชการที่ได้รับคัดเลือกเข้าสู่ระบบ HiPPs
1. โอกาสการพัฒนาและเส้นทางความก้าวหน้าที่กำหนดเอาไว้อย่างชัดเจน ภายใต้กรอบการสั่งสมประสบการณ์ โดยข้าราชการระดับปฏิบัติการ (ระดับ 4 เดิม) จะสามารถเลื่อนเพื่อดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการพิเศษ (ระดับ 8 เดิม) ได้ในระยะประมาณ 7 – 8 ปี
2. โอกาสในการได้รับมอบหมายงานที่มีความท้าทายและเหมาะสมกับศักยภาพ และการสร้างเครือข่าย (Networking)
3. โอกาสในการพัฒนาเพิ่มเติมทักษะ ความรู้ ความสามารถ ในหลากหลายรูปแบบ เช่น การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) การพัฒนาตนเองตามแนวทางที่กำหนด (Self directed Development) และการฝึกอบรมที่ดำเนินการโดยสำนักงาน ก.พ. และส่วนราชการต่างๆ และคณะทำงานพิเศษ เป็นต้น
4. โอกาสในการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษ ด้วยโควตากลางที่ คณะรัฐมนตรีอนุมัติ
ในส่วนของกรมบัญชีกลางได้ดำเนินการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกไว้ ดังนี้
1. เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการหรือระดับชำนาญการ
1.1 กรณีบรรจุและแต่งตั้งด้วยคุณวุฒิปริญญาตรีหรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกัน ต้องมีอายุราชการไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือ
1.2 กรณีบรรจุและแต่งตั้งด้วยคุณวุฒิปริญญาโทหรือปริญญาเอก หรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกัน ต้องมีอายุราชการไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือ
1.3 กรณีได้รับคุณวุฒิปริญญาโทหรือปริญญาเอกที่ตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งเพิ่มขึ้น ต้องมีอายุราชการไม่น้อยกว่า 1 ปี
2. ต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการในกรมบัญชีกลางอย่างน้อย 1 ปี
3. มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ เป็นที่ยอมรับของผู้บังคับบัญชา และเพื่อนร่วมงาน และมีผลการปฏิบัติราชการ โดยเฉลี่ยในระดับดีมากขึ้นไป
4. มีความรู้ และทักษะทางภาษาอังกฤษในระดับดีมาก และทางคอมพิวเตอร์ในระดับที่ใช้งานได้ดี
5. เป็นผู้ที่มีศักยภาพที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนา
6. เป็นผู้มีความประพฤติดี ปฏิบัติตนอยู่ในจรรยาและระเบียบวินัย
ทั้งนี้ จะต้องผ่านการทดสอบภาษาอังกฤษ ซึ่งมีผลคะแนนดังนี้
- ผลคะแนนภาษาอังกฤษ CU-TEP จากศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ต่ำกว่า ๖๐ คะแนน หรือ
- ผลคะแนนภาษาอังกฤษ TOEFL ไม่ต่ำกว่า 500 คะแนน (paper-based) หรือ ๑๗๓ คะแนน (Computer- based) หรือ ๖๑ คะแนน (internet- based) หรือ
- ผลคะแนนภาษาอังกฤษ IELTS ไม่ต่ำกว่าระดับ 6 หรือ
- ผลคะแนนภาษาอังกฤษของสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ (DVIFA) ประเภท Practical Test ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60
ซึ่งผลคะแนนข้างต้น จะต้องมีอายุไม่เกิน 2 ปี นับถึงวันที่สมัครเข้ารับการคัดเลือกเข้าสู่ระบบ HiPPs
ประกอบกับการทดสอบสมรรถนะและความรู้ความสามารถพื้นฐาน ด้วยการนำเสนอผลงานในงานที่ตนเองปฏิบัติเพื่อเชื่อมโยงแผนยุทธศาสตร์ของหน่วยงาน และสัมภาษณ์ โดยคณะกรรมการ จะพิจารณาประเมินศักยภาพ สมรรถนะจากประวัติในใบสมัครและเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นกระบวนการคัดเลือกข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูงของกรมบัญชีกลางที่ดำเนินการคัดเลือกภายในอย่างเข้มข้น ก่อนส่งผลการคัดเลือกข้าราชการที่ผ่านเกณฑ์เบื้องต้นไปยังสำนักงาน ก.พ. เพื่อทดสอบสมรรถนะ และความรู้ ความสามารถในระดับสูงต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น