วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556
การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ผู้แบ่งปัน นางสาวสุนทรี พลพงษ์ นักวิชาการคลังปฏิบัติการ
สำนักกำกับและพัฒนาระบบ GFMIS
หลักสูตรฝึกอบรม การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
หน่วยงานผู้จัด ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC คืออะไร
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations : ASEAN) หรือ ประชาคมอาเซียน เป็นเป้าหมายการรวมตัวกันของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย พม่า ลาว เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และ บรูไน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองและขีดความสามารถการแข่งขันของอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงให้อาเซียนมีความแข็งแกร่ง มีภูมิต้านทานที่ดี ในการรับมือกับปัญหาใหม่ๆ ระดับโลก
ประชาคมอาเซียน เปรียบกับการเป็นครอบครัวเดียวกันของประเทศสมาชิกอาเซียน ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2546 พร้อมกับมีการร่วมลงนามในปฏิญญาให้เป็นประชาคมเดียวกันให้สำเร็จภายใน พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) พร้อมกับมีการแบ่งประชาคมย่อยออกเป็น 3 ประชาคม หรือ 3 เสาหลัก ได้แก่
ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political and Security Community – APSC)
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economics Community – AEC)
ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (Asean Socio-Cultural Community – ASCC
เป้าหมายสำคัญของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC มี 4 ด้าน คือ
1. เป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน (Single Market and Production Base)
2. สร้างขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ (High Competitive Economic Region)
3. สร้างความเท่าเทียมในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Equitable Economic Development)
4. การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก (Fully Integrated into Global Economy)
ทั้งนี้ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 10 ทุกประเทศย้ำความสำคัญของการดำเนินการต่างๆ เพื่อนำไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนภายในปี 2563 (ค.ศ. 2020) ซึ่งฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดการรวมตัวของอาเซียนให้เร็วขึ้น โดยอาจให้สำเร็จภายในปี 2555 (ค.ศ. 2012) และได้เสนอแนวทางต่างๆ เพื่อช่วยเร่งรัด การรวมตัว เช่น การใช้วิธีการ Two plus X ซึ่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้เคยเสนอความจำเป็น และแนวทางนี้มาแล้วเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2546 ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 9 ที่บาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ก็ได้สนับสนุนข้อเสนอแนะของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีของไทย ที่ให้เร่งรัดการจัดตั้ง AEC ด้วย
การรวมกลุ่มสินค้าและบริการ 11 สาขานำร่อง
การรวมกลุ่มสินค้าและบริการ 11 สาขานำร่อง ถือว่าเป็นการเปิดเสรีด้านการค้าและบริการ
เพื่อส่งเสริมการแบ่งงานกันผลิตสินค้าและบริการภายในอาเซียนด้วยกัน โดยจะเน้นใช้วัตถุดิบภายในอาเซียนเป็นหลัก ตามความถนัด เนื่องจากแต่ละประเทศมีวัตถุดิบที่ไม่เหมือนกัน ถ้าจะให้ผลิตทุกอย่าง จะเป็นการเพิ่มต้นทุนสินค้าแบบเสียเปล่าสำหรับ 11 สาขานำร่องมี ดังนี้
1. สาขาผลิตภัณฑ์เกษตร 7. สาขาอิเล็กทรอนิกส์
2. สาขาประมง 8. สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ
3. สาขาผลิตภัณฑ์ยาง 9. สาขาสุขภาพ
4. สาขาสิ่งทอ 10. สาขาท่องเที่ยว
5. สาขายานยนต์ 11. สาขาการบิน
6. สาขาผลิตภัณฑ์ไม้
อย่างไรก็ตาม ภายหลังได้เพิ่มสาขาที่ 12 ได้แก่ สาขาโลจิสติกส์ เพื่อทำให้การขนส่งวัตถุดิบต่าง ๆ ทำได้สะดวกมากขึ้น
เมื่อแบ่งทั้ง 12 สาขา ตามประเทศที่รับผิดชอบ สามารถแบ่งได้ ดังนี้
1. พม่า สาขาผลิตภัณฑ์เกษตร และสาขาประมง
2. มาเลเซีย สาขาผลิตภัณฑ์ยาง และสาขาสิ่งทอ
3. อินโดนีเซีย สาขายานยนต์ และสาขาผลิตภัณฑ์ไม้
4. ฟิลิปปินส์ สาขาอิเล็กทรอนิกส์
5. สิงคโปร์ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ และสาขาสุขภาพ
6. ไทย สาขาการท่องเที่ยวและสาขาการบิน
7. เวียดนาม สาขาโลจิสติกส์
ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC
1. ขยายการส่งออกและโอกาสทางการค้าจากการยกเลิกอุปสรรคภาษีและที่มิใช่ภาษีจะเปิดโอกาสให้สินค้า เคลื่อนย้ายเสรี
2. คาดว่าการส่งออกไทยไปอาเซียนจะสามารถขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 18 - 20% ต่อปี
3. เปิดโอกาสการค้าบริการ ในสาขาที่ไทยมีความเข้มแข็ง เช่น ท่องเที่ยว โรงแรมและร้านอาหาร สุขภาพ ทำให้ไทยมีรายได้จากการค้าบริการไปต่างประเทศเพิ่มขึ้น
4. สร้างเสริมโอกาสการลงทุน เมื่อมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้เสรียิ่งขึ้น อุปสรรคการลงทุนระหว่างอาเซียน จะลดลง อาเซียนจะเป็นเขตการลงทุนที่น่าสนใจทัดเทียมจีนและอินเดีย
5. เพิ่มพูนขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย เมื่อมีการใช้ทรัพยากรการผลิตร่วมกัน/เป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกับอาเซียนอื่น ทำให้เกิดความได้เปรียบเชิงแข่งขัน (Comparative Advantage) และลดต้นทุนการผลิต
6. เพิ่มอำนาจการต่อรองของไทยในเวทีการค้าโลก สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาคมโลก
7. ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ ผลการศึกษาแสดงว่า AEC จะทำให้รายได้ ทีแท้จริงของอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 หรือคิดเป็นมูลค่า 69 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ผลกระทบของประเทศไทยจากการเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC
1. การเปิดตลาดเสรีการค้าและบริการย่อมจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันต่ำ
2. อุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในประเทศต้องเร่งปรับตัว
ข้อเสนอแนะในการเตรียมตัวของไทยสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC
แนวทางที่ประเทศไทยควรเตรียมพร้อมเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากมีการรวมตัว เป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC คือ ภาครัฐเองไม่ได้นิ่งนอนใจต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะกิจการ/อุตสาหกรรมที่ไม่มีความพร้อมในการแข่งขัน โดยแผนงานรองรับผลกระทบที่ได้มี การดำเนินงานมาแล้ว ได้แก่
1. การจัดตั้งกองทุนเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรี ทางการค้า (ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2550) เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ผลิต และผู้ประกอบการสินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าอุตสาหกรรม และบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าให้สามารถปรับตัวหรือปรับเปลี่ยนให้สามารถแข่งขันได้
2. มาตรการป้องกันผลกระทบก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอจัดทำกฎหมายซึ่งได้ผ่าน สภานิติบัญญัติออกมาเป็น พรบ. มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measure) ซึ่งหากการดำเนินการตาม AEC Blueprint ก่อให้เกิดผลกระทบก็สามารถนำกฎหมายนี้มาใช้ได้
3. การจัดตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินการตามแผนงานไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ตามคำสั่ง กนศ. ที่ 1/2550 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2550) เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนงานและเตรียมการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในการดำเนินงานไปสู่การเป็น AEC โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น