โครงการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ชาวกรมบัญชีกลาง (CoP : Community of
Practice)
กิจกรรมที่ ๓ : เล่าเรื่องเร้าพลังชาวกรมบัญชีกลาง
(Storytelling) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๖
ผู้เล่าเรื่อง : นายวรสิทธิ์ ประจันพล
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง : นักวิชาการคลังชำนาญการ
หน่วยงาน : กลุ่มงานพัฒนาระบบบริหารเศรษฐกิจการคลังจังหวัด
สำนักการเงินการคลัง
หลักสูตรฝึกอบรม
: “การใช้งานแบบจำลองดุลยภาพทั่วไปเพื่อการวิเคราะห์ผลกระทบของ
นโยบายหรือการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม”
หน่วยงานผู้จัด : สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร /
โครงการฝึกอบรม
เพื่อให้เข้าใจกลไกการทำงานของระบบเศรษฐกิจในบริบทของดุลยภาพทั่วไป จากแบบจำลองดุลยภาพทั่วไป (Computable General Equilibrium : CGE) มาใช้เป็นเครื่องมือผ่านโปรแกรมคำนวณ GEMPACK
มาใช้ในการวิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญๆ
ในเบื้องต้น พร้อมทั้งแปลผลลัพธ์จากแบบจำลอง CGE
ได้อย่างถูกต้อง
การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ :
แบบจำลองดุลยภาพทั่วไป
(Computable General Equilibrium : CGE) เป็นเครื่องมือที่นำแนวความคิดดุลยภาพทั่วไปของระบบเศรษฐกิจภายใต้ข้อสมมติอิงตามทฤษฎี
กล่าวไว้ว่า ระบบเศรษฐกิจโดยทั่วไปจะอยู่ในสภาวะสมดุลเสมอ
หากเศรษฐกิจส่วนหนึ่งส่วนใด เกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้ไม่อยู่ในภาวะสมดุล
ภาคเศรษฐกิจที่ไม่อยู่ภาวะสมดุล จะมีการปรับตัวตามพฤติกรรมของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งเข้าสู่ภาวะสมดุล
หรือภาวะดุลยภาพทั่วไป
และเมื่อระบบเศรษฐกิจอยู่ในภาวะสมดุลแล้ว หากปัจจัยทางเศรษฐกิจภายนอกเปลี่ยนแปลง
จะส่งผลกระทบเชื่อมโยงถึงภายในระบบเศรษฐกิจ
และตามพฤติกรรมของเศรษฐกิจในส่วนต่าง ๆ เพื่อเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ โดยที่ระบบสมการในแบบจำลองดุลยภาพทั่วไป
แสดงถึงความสัมพันธ์ของตัวแปรและพฤติกรรมทางเศรษฐกิจมหาภาคในรูปเชิงคณิตศาสตร์
และมีการวัดออกมาเป็นในเชิงปริมาณ
ทั้งนี้แบบจำลอง CGE นำมาประยุกต์ใช้เพื่อตอบโจทย์ปัญหาทางเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างกว้างขวาง และหลากหลาย
เนื่องจากได้จำลองพฤติกรรมของกิจกรรมสำคัญๆ ทางเศรษฐกิจไว้ในแบบจำลองอย่างครบถ้วน
เช่น การผลิต การบริโภค การลงทุน การส่งออก การนำเข้า การเก็บภาษี
การใช้จ่ายของรัฐบาล เป็นต้น
โดยมีการเชื่อมโยงระหว่างกิจกรรมเหล่านั้นอย่างเป็นระบบ
และสามารถให้คำตอบในเชิงปริมาณซึ่งทำให้ได้ข้อสรุปของทิศทางผลกระทบที่ชัดเจน
ไม่ว่าผลกระทบทั้งทางตรง ทางอ้อม และผลกระทบย้อนกลับระหว่างหน่วยเศรษฐกิจต่างๆ
แบบจำลอง CGE มีอยู่หลายประเภท ได้แก่ แบบจำลอง MONASH/ ORANI-G (วิเคราะห์เศรษฐกิจมหาภาค) แบบจำลอง A-K
(วิเคราะห์นโยบายสวัสดิการ) แบบจำลอง CAMGEM แบบจำลอง GEMTAP (วิเคราะห์นโยบายภาษี) แบบจำลอง GTAP (วิเคราะห์ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก)
แบบจำลอง LINKAGE และแบบจำลอง G-Cubed (วิเคราะห์สิ่งแวดล้อม)
ขอบเขตของการใช้งานแบบจำลอง CGE เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบด้านนโยบายที่จะกำหนดขึ้น
(Policy Impact analysis)
และวิเคราะห์ผลกระทบของการดำเนินนโยบายที่ผ่านมา (Evaluating Policies
analysis) รวมไปถึงการพยากรณ์ไปในอนาคต
(Forecasting)
และการที่จะทำให้นโยบายเกิดผลและมีประสิทธิภาพมากที่สุด (Policy
Optimization) ซึ่งที่ผ่านมาแบบจำลอง CGE
ได้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในการประเมินผลกระทบของนโยบายและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ อาทิ
1. การปรับโครงสร้างภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
เพิ่มขีดความสามารถในการ แข่งขัน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
2. การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างค่าใช้จ่ายภาครัฐ
3. การเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมัน
4. การเปลี่ยนแปลงของอัตราค่าจ้างแรงงาน
5. การเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน
6. การเปิดเสรีทางการค้าผลกระทบของสังคมผู้สูงอายุ
แบบจำลอง CGE ที่ใช้ในการอบรมครั้งนี้ คือ แบบจำลอง ORANI-G ซึ่งมีความสามารถในการวิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายหรือการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในขอบเขตที่กว้างขวางมากขึ้น
เช่น การวิเคราะห์เชิงพลวัต (Dynamic) การวิเคราะห์ภายใต้สภาวะตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์
(Imperfect Competition) การแบ่งพื้นที่เศรษฐกิจของประเทศออกเป็นหลายพื้นที่
การวิเคราะห์การกระจายรายได้ การวิเคราะห์นโยบายพลังงาน เป็นต้น
โครงสร้างแบบจำลอง ORANI-G ประกอบด้วย การผลิต การลงทุน
การบริโภคของครัวเรือน อุปสงค์การส่งออก การใช้จ่ายภาครัฐ การสะสมสินค้าคงคลัง
อุปสงค์ต่อสินค้าเหลื่อม (margin demand) สมการเกลี่ยตลาด (Market
clearing equation) สมการราคา การเก็บภาษี สมการมหาภาคและดัชนี
และตลาดแรงงาน
เครื่องมือที่ใช้ในการคำนวณผลลัพธ์ของแบบจำลอง
คือ โปรแกรม GEMPACK
เป็นโปรแกรมที่มีความสามารถในการแก้ปัญหาระบบสมการแบบไม่เชิงเส้น (Non-linear) ขนาดใหญ่ ซึ่งโปรแกรม GEMPACK
ใช้วิธีแก้ระบบสมการแบบไม่เชิงเส้นโดยการแปลงระบบสมการให้อยู่ในรูปสมการเชิงเส้นแล้วใช้เทคนิคการลดความผิดพลาดจากการแปลงเป็นเชิงเส้น
(Linearization Error)
เพื่อให้ได้คำตอบของประมวลผลสมการที่แท้จริง
ดังนั้น แบบจำลอง CGE ประเภทแบบจำลอง
ORANI-G ที่ทำบนโปรแกรม GEMPACK จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้สามารถประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจสังคมได้ด้วยตนเองในเบื้องต้นได้อย่างรวดเร็วและมีต้นทุนต่ำ
และทำให้เข้าใจกลไกการทำงานของระบบเศรษฐกิจในภาพรวม
รวมทั้งสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้ไปใช้กับแบบจำลอง CGE
ประเภทอื่นได้
ความรู้เกี่ยวกับแบบจำลอง CGE ประเภทแบบจำลอง ORANI-G ที่ทำบนโปรแกรม GEMPACK
ที่ใช้วิเคราะห์ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
โดยเป็นการวิเคราะห์ในลักษณะที่ให้ตัวแปรต่างๆ
ในระบบเศรษฐกิจสามารถผันแปรได้อย่างอิสระตามผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
จึงเป็นวิธีที่สามารถศึกษาหรือวิเคราะห์ผลกระทบทางตรง ทางอ้อม
และผลกระทบย้อนกลับระหว่างหน่วยเศรษฐกิจต่างๆ ได้อย่างละเอียด
และตอบคำถามของตัวแปรเศรษฐกิจทั้งในระดับมหาภาคไปจนถึงระดับหน่วยเศรษฐกิจต่างๆ
ในระบบเศรษฐกิจ
จากความรู้ดังกล่าวสามารถนำกลับมาปรับใช้กับงานด้านการสนับสนุนการวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค
โดยนำโปรแกรม GEMPACK มาใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายและการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคม ที่ผ่านกลไกระหว่างภาคเศรษฐกิจต่างๆ
เพื่อให้การกำหนดนโยบาย และประมาณการเศรษฐกิจจังหวัด มีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น