วันอังคารที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2556

จากการศึกษาดูงานโครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์


ผู้เล่าเรื่อง  :  นางสาวศิริเพ็ญ  สวัสดิ์พิพัฒน์
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง  :  นักวิชาการเงินและบัญชีปฏิบัติการ
หน่วยงาน :  สำนักงานคลังจังหวัดสมุทรสาคร
การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ : จากการศึกษาดูงานโครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์
ปราชญ์ชุมชน  สืบสานภูมิปัญญาจากอดีต   พัฒนาจากรุ่นสู่รุ่น  เกิดเป็นองค์ความรู้ระดับท้องถิ่น

โครงการ อัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์
“จุดบรรจบระหว่างการพัฒนาและอนุรักษ์”
แนวทางการดำเนินงาน
1. อนุรักษ์วัฒนธรรมวิถีชีวิตชุมชนอัมพวา
2. ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน
3. เชื่อมโยงพื้นที่ท่องเที่ยว
4. ชุมชนมีส่วนร่วม
เป็นโครงการฯ มุ่งเน้นดำเนินงานด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมวิถีชีวิตชาวชุมชนอัมพวา  โดยเล็งเห็นว่า การจะพัฒนาใดๆ นั้น  ควรจะพัฒนาจากฐานทุนทางสังคมที่ชุมชนนั้นมี   การอนุรักษ์วัฒนธรรมชุมชนจะกระทำผ่านการเรียนรู้  พร้อมทั้งรักษา ส่งเสริมกิจกรรม ก่อเกิดเป็นคุณค่าขึ้นในสังคม   เมื่อชุมชนเข้าใจในตัวตน  เข้าใจในรากฐานการก่อเกิดของท้องถิ่น รู้ซึ้งในคุณค่าของชุมชนตนเอง  และร่วมกันรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่มีอยู่แล้ว จึงต่อยอดคุณค่าที่มีนั้นให้เป็นมูลค่า  เศรษฐกิจชุมชน  จึงเป็นงานที่ทางโครงการฯ  ได้ดำเนินการส่งเสริม โดยเห็นว่าคุณค่าในทางวัฒนธรรมจะไม่ก่อเกิดประโยชน์ใดๆ ในการพัฒนาเลย   หากไม่สามารถทำให้เกิดเป็นมูลค่า หรือไม่สามารถประกอบเป็นอาชีพ  เกิด
เป็นรายได้ที่สามารถหล่อเลี้ยงประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ หรือกล่าวได้ว่า ประชาชนโดยทั่วไปอาจมิได้เห็นความสำคัญของการอนุรักษาวัฒนธรรม   เพราะไม่สามารถเกิดประโยชน์ในการหล่อเลี้ยงชีวิตพวกเขาได้
เห็นถึงความสำคัญ  "ต้องเปลี่ยนคุณค่าให้เป็นมูลค่าให้ได้"
คุณค่าทางวัฒนธรรมที่ผ่านการเรียนรู้และรักษา หากถูกเปลี่ยนเป็นมูลค่า นั่นมิได้หมายถึง    "การขายวัฒนธรรม"  หรือมุ่งเห็นแก่เงินทองและรายได้   เพราะชุมชนเองจะรู้ว่า อาชีพที่เขาควรจะทำนั้นควรจะเป็นอย่างไร  อาชีพไหนที่มีรายได้ที่มั่นคงยั่งยืน  สามารถแข่งขันในโลกแห่งความเป็นจริงใบนี้ได้ ชาวสวนที่อัมพวาคงไม่ขายสวนทิ้งเพื่อให้นายทุนสร้างเป็นรีสอร์ทเสียหมด  หรือถมสวนเปลี่ยนเป็นที่จอดรถ  เพราะหากเปลี่ยนแปลงไปเช่นนั้น   สภาพของชุมชนชาวสวนอัมพวาที่เป็นเสน่ห์ดึงดูดใจนักท่องเที่ยว  เมื่อไม่เหลือสิ่งเหล่านี้ ความนิยมของนักท่องเที่ยวที่มาอัมพวาย่อมลดน้อยลง  รายได้ของชุมชนจึงอาจลดน้อยลงไปด้วย หากย้อนขึ้นไปเมื่อก่อน ๕ ปีมานี้  ตลาดน้ำที่นี่ได้วายไปแล้ว สภาพชุมชนอาจเปรียบได้กับเมืองร้าง  เยาวชน วัยรุ่น วัยทำงาน ต่างมุ่งกันเข้าเมืองใหญ่ เพื่อเรียนและทำงาน เหลือทิ้งไว้แต่คนสูงอายุหรือคนหลังวัยทำงาน   ตลาดน้ำที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่โดยเทศบาลตำบลอัมพวา และชุมชนแห่งนี้  จึงอาจมีหน้าตาที่แตกต่างไปจากในอดีต  แต่ก็มิได้ขาดเอกลักษณ์ที่ในอดีตเคยมี
- เรือพายได้ถูกนำกลับมาใช้เพิ่มมากขึ้น ทำให้ยังคงมีเรือพายจำนวนมาก แสดงเอกลักษณ์ของชาวชุมชนภาคกลางได้เป็นอย่างดี
- บ้านริมน้ำสถาปัตยกรรมเรือนไทยพื้นถิ่น ได้รับการซ่องแซมให้มั่นคงแข็งแรงเหมาะสมแก่การอยู่อาศัย
- ผลผลิตจากในสวนผลไม้น้ำกร่อยแห่งนี้ อันเป็นที่ถูกอกถูกใจทั้งคนไทยและคนต่างชาติในอดีต จนมีคำกล่าวกันติดปากว่า “สวนในบางกอก สวนนอกบางช้าง” สวนผลไม้อีกแห่งที่รสชาติดีไม่แพ้สวนรอบพระนคร (Bangkok) ผลไม้จากในสวนปัจจุบัน ได้ถูกลำเลียงออกมาจำหน่ายยังตลาดน้ำเช่นในอดีต
- และ สำคัญที่สุด คนซึ่งเป็นต้นกำเนิดก่อเกิดทางวัฒนธรรม ชาวอัมพวายังคงดำรงชีวิต  ยังคงสามารถ
ประกอบอาชีพอยู่ในชุมชนแห่งนี้ พ่อแม่ ลูกหลาน ปู่ยาตายาย ได้กลับมาอยู่อาศัย ประกอบอาชีพร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง
แนวทางการพัฒนาชุมชนทางวัฒนธรรมแห่งนี้  นั้น  ทางโครงการเห็นว่า 4 เรื่องหลักนี้  น่าที่จะเป็นเอกลักษณ์ที่ควรรักษา มากกว่าที่จะมุ่งเน้นถามหาถึงคำว่า “ดั้งเดิม” ไปเสียทั้งหมด เพราะมิเช่นนั้นหากย้อนมองไปเมื่อ  ๕ ปีที่ผ่านมา  ก่อนรื้อฟื้นตลาดน้ำที่ได้วายหรือตายไปแล้ว  ซึ่งก็ควรจะกล่าวได้ว่าคือความดั้งเดิม  เราคงต้องยอมรับว่าตลาดในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไป   แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อการรื้อฟื้น  และรักษาเอกลักษณ์ในอดีตที่เคยมีอยู่
ปัจจุบันตลาดน้ำอัมพวาได้มีคนจากภายนอกเข้ามาประกอบธุรกิจเป็นจำนวนมาก ทางโครงการเห็นว่ามิใช่เรื่องแปลก แต่อย่างใด เพียงแต่ในทางการปกครองดูแลของชุมชน คงต้องพยายามทำอย่างไรที่จะให้คนภายนอกกับคนภายในหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน มีความเคารพในสภาพชุมชน ร่วมกันพัฒนา และรักษาชุมชนแห่งนี้ ทางโครงการเห็นว่า  ความเชื่อ  ภูมิปัญญาของคนในอดีต  คือสิ่งที่คนในอดีตปฏิบัติกันอย่างเช่น  การบูชาศาลเจ้าหรือศาลปู่ต่างๆ  คำบอกกล่าวให้เคารพสิ่งนั้นสิ่งนี้ น่าจะเป็นภูมิปัญญาที่แฝงเร้นให้คนนอกรักษาชุมชน  เมื่อเข้ามาหลอมรวมกันเป็นคนชุมชนเดียวกันได้ในที่สุด  
บนหลักการอนุรักษ์วัฒนธรรม  ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน  และเชื่อมโยงพื้นที่ทางการท่องเที่ยวนั้น แนวทางการดำเนินงานที่สำคัญที่สุดด้วย  คือ ต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน  อาจจะเป็นร่วมเสนอแนะแสดงความคิดเห็น หรือร่วมกันกระทำมากน้อยแตกต่างไป  แล้วแต่โอกาสแล้วแต่กิจกรรม ทั้งนี้เพราะประชาชนในชุมชนคือผู้ได้รับผลลัพธ์ที่เกิดจากการพัฒนา  เขาควรได้มีโอกาสรับรู้   เรียนรู้   หรือกระทำในสิ่งที่เขาจะต้องได้รับผลกระทบนั้น  การมีส่วนรวมของชุมชนนี้จะเป็นบทสรุปให้การพัฒนาชุมชนสามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืนได้ในที่สุด






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น