ผู้เล่าเรื่อง : นายโสภณ พวงคุ้ม
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง : นิติกรชำนาญการ
หน่วยงาน : สำนักมาตรฐานค่าตอบแทนและสวัสดิการ
หลักสูตรฝึกอบรม : การร่างกฎหมายการให้ความเห็นทางกฎหมายและดำเนินคดีปกครอง รุ่นที่ 9
หน่วยงานผู้จัด : สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร / โครงการฝึกอบรม
1) เพิ่มพูนความรู้ ทักษะด้านการยกร่างกฎหมายแก่นักกฎหมายของรัฐ
2) เพิ่มพูนความรู้ ทักษะด้านการให้ความเห็นทางกฎหมายแก่นักกฎหมายของรัฐ
การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ : ระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งในการฟ้องคดี
ในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองนั้น มีเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งที่ผู้ฟ้องคดีจะต้องให้ความสำคัญ เพราะอาจมีผลทำให้ศาลปกครองรับหรือไม่รับคดีนั้นไว้พิจารณา เงื่อนไขสำคัญดังกล่าวนั้นคือ ระยะเวลาในการฟ้องคดี
การฟ้องคดีต่อศาลปกครอง มีระยะเวลาในการฟ้องคดีที่แตกต่างกันจำแนกตามประเภทคดีได้ดังนี้ คือ
1. คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือกระทำการอื่นใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น กรณีผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเจ้าพนักงานท้องถิ่นปฏิเสธไม่ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือกรณีผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้บังคับบัญชามีคำสั่งลงโทษทางวินัยโดยไม่เป็นธรรม
ผู้ฟ้องคดีต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี
2. คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล้าเกินสมควร เช่นกรณีเจ้าพนักงานท้องถิ่นละเลยต่อหน้าที่ ไม่ตรวจตราและออกคำสั่งให้เจ้าของอาคารรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างหรือต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาต
ในกรณีที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่หน่วยงานละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร กรณีเช่นนี้จะเริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีตั้งแต่วันที่พ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงาน
หรือหากผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือชี้แจงจากหน่วยงานแต่เห็นว่าเป็นคำชี้แจงที่ไม่มีเหตุผล กรณีเช่นนี้จะเริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีตั้งแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือชี้แจง
3. คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่ง หรือจากการละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร เช่น การที่เจ้าพนักงานที่ดินออกคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายดังกล่าว หรือการฟ้องเรียกค่าทดแทนการเวนคืน หรือการรอนสิทธิจากการวางท่อประปา หรือตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูง เป็นต้น
ผู้ฟ้องคดีต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ระยะเวลา 1 ปีนั้น จะต้องไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี และจะต้องฟ้องภายในระยะเวลา 10 ปีนั้น
4. คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง เช่น ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างเอกชนก่อสร้างถนน สะพาน อาคารเรียน หรือ ข้อพิพาทเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าสัมปทานตามสัญญาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลน เป็นต้น
ผู้ฟ้องคดีต้องยื่นฟ้องภายใน 5 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีแต่ระยะเวลา 5 ปีนั้น จะต้องไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี และจะต้องฟ้องภายในระยะเวลา 10 ปีนั้น
5. คดีพิพาทเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เช่น การฟ้องคดี ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับหนองน้ำสาธารณะ
6. คดีพิพาทเกี่ยวกับสถานะของบุคคล เช่น การฟ้องคดีเกี่ยวกับสัญชาติของบุคคล
กรณี 5 และ 6 กฎหมายกำหนดไว้ว่าผู้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองเมื่อใดก็ได้
7. การฟ้องคดีปกครองที่ยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนดการฟ้องคดีแล้วถ้าศาลปกครองเห็นว่าคดีที่ยื่นฟ้องนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่น ศาลปกครองอาจรับไว้พิจารณาก็ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น