วันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2557

การใช้ Microsoft PowerPoint 2010

ผู้เล่าเรื่อง  : นาย เอกรัตน์  อัครปรัชญานันท์
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง  :  นักวิชาการคลังปฏิบัติการ
หน่วยงาน : สำนักมาตรฐานค่าตอบแทนและสวัสดิการ
หลักสูตรฝึกอบรม  : การใช้ Microsoft PowerPoint 2010
หน่วยงานผู้จัด  : สำนักปลัดกระทรวงการคลัง

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร / โครงการฝึกอบรม
1. ผู้อบรมสามารถบอกความสามารถและหน้าที่ของ Microsoft PowerPoint 2010 ได้
2. ผู้อบรมสามารถสร้าง/จัดรูปแบบ งานนำเสนอในรูปแบบต่างๆ ได้
3. ผู้อบรมสามารถทำแอนนิเมชั่นให้กับงานนำเสนอได้
4. ผู้อบรมสามารถใช้เครื่องมือต่างๆ และใช้เทคนิคต่างๆ ช่วยในการนำเสนอได้ อย่างมีประสิทธิภาพ

ในยุคปัจจุบันการนำเสนองานด้วยพรีเซนเทชั่นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสูง ซึ่งจะเห็นว่าการประชุม สัมมนา ของหน่วยงานราชการ บริษัทเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษา จึงต้องมีการสร้างสรรค์ข้อมูลที่จะนำเสนอให้น่าสนใจมากขึ้น อาจจะต้องมีทั้งภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหว หรือวิดีโอ เพื่อให้การนำเสนอเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งโปรแกรมที่ใช้สำหรับสร้างภาพพรีเซนเทชั่นที่นิยมกันมาที่สุดคือ โปรแกรม Microsoft PowerPoint

ตั้งแต่ PowerPoint 2007 จนมาถึง PowerPoint 2010 การสร้างพรีเซนเทชั่นดูจะเป็นเรื่องที่ง่ายมากขึ้น เพราะความสามารถใหม่ๆ ที่เพิ่มเข้ามามากมาย เริ่มตั้งแต่การทำงานเบื้องต้นที่ใช้ระบบ Ribbon เข้ามาแทนที่ Menu และ Toolbar แบบเดิม แถมยังปรับเมนู File ให้เป็นการทำงานแบบ BackStage View ที่ให้คุณทำงานและจัดการกับไพล์ในที่เดียว เช่น สร้าง แชร์ จัดเก็บ สั่งพิมพ์ รวมถึงการแปลงสไลด์เป็นไฟล์ Video นอกจากนี้ยังเพิ่มเอฟเฟ็คต์แบบใหม่ในแท็บ Transition ให้คุณเปลี่ยนแผ่นสไลด์ให้ดูน่าสนใจได้จากรอบทิศทาง รวมถึงการสร้าง Animation ให้กับออบเจ็คได้แบบตื่นตาตื่นใจทำให้ภาพเคลื่อนไหวมีชีวิตชีวามากขึ้น การใส่ภาพวิดีโอคลิป (Video) ที่ทำได้ง่ายแถมยังปรับแต่งตัดต่อ ใส่เอ็ฟเฟ็คต์ให้วิดีโอได้อีกด้วย และที่สำคัญคือสามารถดึงวิดีโอจาก Youtube มาแสดงบนหน้าสไลด์ได้แบบอินเทรนด์

ส่วนประกอบของโปรแกรม PowerPoint 2010
พื้นที่การทำงานหลักของ PowerPoint 2010 จะมีองค์ประกอบต่างๆ ดังนี้
แถบ Quick Access Toolbar แถบคำสั่งด่วน เก็บปุ่มคำสั่งที่ใช้งานบ่อยๆ เอาไว้
แถบ Title bar แสดงชื่อโปรแกรมและชื่อไฟล์งานนำเสนอที่ทำงานอยู่
แท็บ Contextual tabs แท็บคำสั่งพิเศษที่จะแสดงเมื่อมีการใช้คำสั่งบางอย่าง เช่น แทรกภาพ แทรกตาราง สร้างกราฟ หรือใส่ SmartArt เป็นต้น
แถบ Status bar แถบแสดงสถานการณ์ทำงานต่างๆ เช่น จำนวนสไลด์ ชื่อเทมเพลต ภาษาของแป้นพิมพ์ ปุ่มเปลี่ยนมุมมองสไลด์ และเปอร์เซ็นต์การปรับย่อ – ขยายมุมมอง เป็นต้น
พื้นที่ว่างที่อยู่รอบๆ สไลด์สามารถใช้เป็นที่พักวางข้อความหรือออบเจ็คที่ยังไม่ใช้ในสไลด์ได้ซึ่งจะไม่ปรากฏเมื่อสไลด์โชว์หรือสั่งพิมพ์
แท็บสลับมุมมอง ใช้สลับการแสดงตัวอย่างสไลด์แบบย่อและแสดงข้อความเค้าร่างในสไลด์แต่ละแผ่น

แถบ Ribbon เป็นกลุ่มของคำสั่งที่ถูกออกแบบมาแทนที่ Menu และ Toolbar แบบเดิม โดยการนำเอาคำสั่งที่ใช้งานมาแบ่งออกเป็น แท็บ(Tab) ต่างๆ เช่น แท็บ Home, Insert, Design, Animations และอื่นๆ ในแต่ละแท็บนั่นจะเก็บคำสั่งที่ใช้งานในลักษณะเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน เช่น แท็บ Insert ก็จะมีคำสั่งที่ใช้สำหรับแทรกองค์ประกอบต่างๆ ลงไปในเอกสาร และจะแบ่งกลุ่มคำสั่งออกเป็นกลุ่มย่อยๆ 


BackStage View ทำงานและจัดการกับไพล์ในที่เดียว เช่น สร้าง แชร์ จัดเก็บ สั่งพิมพ์ รวมถึงการแปลงสไลด์เป็นไฟล์ Video


การค้นหาและนำแม่แบบไปใช้
PowerPoint 2010 ทำให้คุณสามารถนำแม่แบบที่มีอยู่แล้วภายในหรือแม่แบบที่คุณกำหนดเองไปใช้ได้ ตลอดจนค้นหาแม่แบบที่หลากหลายได้จากแม่แบบของนักออกแบบที่มีอยู่บน Office.com
เมื่อต้องการค้นหาแม่แบบใน PowerPoint 2010 ให้ทำดังต่อไปนี้
1. บนแท็บ แฟ้ม ให้คลิก สร้าง
2. ภายใต้ แม่แบบและชุดรูปแบบที่พร้อมใช้งาน ให้เลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
เมื่อต้องการนำแม่แบบที่คุณได้ใช้ล่าสุดไปใช้ใหม่ ให้คลิก แม่แบบล่าสุด คลิกแม่แบบที่คุณต้องการ แล้วคลิก สร้าง
เมื่อต้องการใช้แม่แบบที่คุณได้ติดตั้งไว้แล้ว ให้คลิก แม่แบบของฉัน จากนั้นเลือกแม่แบบที่คุณต้องการ แล้วคลิก ตกลง
เมื่อต้องการใช้แม่แบบที่มีอยู่แล้วภายในแม่แบบใดแม่แบบหนึ่งที่ติดตั้งด้วย PowerPoint ให้คลิก แม่แบบตัวอย่าง คลิกแม่แบบที่คุณต้องการ แล้วคลิก สร้าง
เมื่อต้องการค้นหาแม่แบบบน Office.com ภายใต้ แม่แบบ Office.com ให้คลิกประเภทแม่แบบ แล้วเลือกแม่แบบที่คุณต้องการ จากนั้นคลิก ดาวน์โหลด เพื่อดาวน์โหลดแม่แบบจาก Office.com ลงในคอมพิวเตอร์ของคุณ


การแทรกภาพนิ่งใหม่
เมื่อต้องการแทรกภาพนิ่งใหม่ในงานนำเสนอของคุณ ให้ทำดังต่อไปนี้
บนแท็บ หน้าแรก ในกลุ่ม ภาพนิ่ง ให้คลิกลูกศรด้านล่าง สร้างภาพนิ่ง จากนั้นคลิกที่เค้าโครงภาพนิ่งที่คุณต้องการ


การดูการนำเสนอภาพนิ่ง
เมื่อต้องการดูงานนำเสนอของคุณในมุมมองการนำเสนอภาพนิ่งตั้งแต่ภาพนิ่งแรก ให้ทำดังต่อไปนี้
บนแท็บ การนำเสนอภาพนิ่ง ในกลุ่ม เริ่มการนำเสนอภาพนิ่ง ให้คลิก ตั้งแต่ต้น


เมื่อต้องการดูงานนำเสนอของคุณในมุมมองการนำเสนอภาพนิ่งตั้งแต่ภาพนิ่งปัจจุบัน ให้ทำดังต่อไปนี้
บนแท็บ การนำเสนอภาพนิ่ง ในกลุ่ม เริ่มการนำเสนอภาพนิ่ง คลิก จากภาพนิ่งปัจจุบัน
การพิมพ์งานนำเสนอ
1. คลิกแท็บ แฟ้ม แล้วคลิก พิมพ์
2. ภายใต้ สิ่งที่พิมพ์ ให้เลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
เมื่อต้องการพิมพ์ภาพนิ่งทั้งหมด ให้คลิก ทั้งหมด
เมื่อต้องการพิมพ์เฉพาะภาพนิ่งซึ่งแสดงในปัจจุบันเท่านั้น ให้คลิกที่ ภาพนิ่งปัจจุบัน
เมื่อต้องการพิมพ์ภาพนิ่งเฉพาะบางหน้า ให้คลิก ช่วงของภาพนิ่งแบบกำหนดเอง จากนั้นป้อนรายการภาพนิ่งแต่ละภาพ ช่วง หรือทั้งสองอย่าง
**หมายเหตุ**ใช้เครื่องหมายจุลภาคคั่นระหว่างตัวเลขโดยไม่ต้องเว้นวรรค ตัวอย่างเช่น 1,3,5-12
3. ภายใต้ การตั้งค่าอื่นๆ ให้คลิกรายการ สี และเลือกการตั้งค่าที่คุณต้องการ
4. เมื่อคุณทำการเลือกเรียบร้อยแล้ว ให้คลิก พิมพ์

รู้ไว้ก่อนเริ่มสร้างงานนำเสนอ

การนำเสนออย่างมีประสิทธิภาพนั้นจะนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย อาจใช้กระบวนการ 4 ขั้นตอนที่ได้มีการพิสูจน์มาแล้วว่าสามารถช่วยให้คุณวางแผนก่อนที่จะเริ่มลงมือสร้างงานนำเสนอ ดังนี้
Plan (วางแผน) คือการวางแผนรายละเอียดเกี่ยวกับกลุ่มผู้ฟังและกำหนดวัตถุประสงค์ของคุณที่ว่าต้องการนำเสนออะไร ให้ใครดูหรือฟัง
Perpare (เตรียมการ) คือการเตรียมการทางด้านแนวคิด ข้อมูล วางโครงสร้าง เวลาที่จะใช้ในการนำเสนอ หรือสิ่งจำเป็นต่างๆ ที่คุณคิดว่าต้องการนำเสนอ
Practice (ฝึกฝน) ทบทวนเนื้อหา ทดสอบเอฟเฟ็คต์ ทดสอบการนำเสนอ และขอความคิดเห็นเกี่ยวกับการนำเสนอของคุณ เพื่อสร้างความมั่นใจในการนำเสนอ
Present (นำเสนอ) มุ่งมั่น ชัดเจนกับหัวข้อที่กำลังพูดและสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับผู้ฟังด้วยการดึงความสนใจของผู้ฟังให้เข้าสู่เนื้อหาที่คุณกำลังนำเสนอได้อย่างกลมกลืน

เคล็ดลับสำหรับการสร้างงานนำเสนอที่มีประสิทธิผล
พิจารณาเคล็ดลับต่อไปนี้เพื่อใช้สร้างงานนำเสนอที่โดดเด่นและดึงดูดผู้ชมของคุณ
ใช้ภาพนิ่งจำนวนน้อยๆ
เมื่อต้องการให้ข้อความมีความชัดเจนและทำให้ผู้ชมติดตามและตรึงความสนใจของผู้ชม ให้ใช้จำนวนภาพนิ่งในงานนำเสนอของคุณให้น้อยที่สุด
เลือกขนาดแบบอักษรที่ผู้ชมอ่านได้ง่าย
การเลือกขนาดแบบอักษรที่เหมาะสมจะช่วยให้การสื่อสารข้อความของคุณได้ผลมากยิ่งขึ้น โปรดระลึกไว้อยู่เสมอว่า ผู้ชมต้องสามารถอ่านภาพนิ่งของคุณจากระยะไกลได้ โดยทั่วไป ขนาดแบบอักษรที่เล็กกว่า 30 อาจทำให้มองเห็นได้ยาก
ข้อความในภาพนิ่งของคุณควรเรียบง่าย
คุณต้องการให้ผู้ชมฟังการนำเสนอข้อมูลของคุณแทนที่จะอ่านจากหน้าจอ ใช้สัญลักษณ์แสดงหัวข้อย่อยหรือประโยคแบบสั้น และพยายามให้แต่ละประโยคอยู่ในบรรทัดเดียวกันโดยไม่มีการตัดข้อความ
เครื่องฉายภาพบางเครื่องจะครอบตัดภาพนิ่งที่ขอบ ทำให้ประโยคยาวๆ อาจถูกครอบตัดไปด้วย
ใช้ภาพเพื่อช่วยในการสื่อถึงข้อความของคุณ
รูปภาพ แผนภูมิ กราฟ และ กราฟิก SmartArt ช่วยในด้านการสื่อสารด้วยภาพที่ทำให้ผู้ชมของคุณสามารถจดจำได้ง่าย เพิ่มภาพที่มีความหมายเพื่อส่งเสริมเนื้อหาและข้อความบนภาพนิ่งของคุณ
อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับข้อความ ควรหลีกเลี่ยงการใช้สื่อด้านภาพจำนวนมากเกินไปในภาพนิ่งของคุณ
สร้างป้ายชื่อสำหรับแผนภูมิและกราฟที่เข้าใจได้ง่าย
ใช้ข้อความที่มีความยาวพอเหมาะที่ทำให้สามารถเข้าใจถึงองค์ประกอบป้ายชื่อในแผนภูมิหรือกราฟได้
ใช้พื้นหลังของภาพนิ่งที่เฉียบคมและสอดคล้อง
เลือกแม่แบบหรือชุดรูปแบบที่ดึงดูดและกลมกลืนกันโดยที่ไม่สะดุดตาเกินไป เนื่องจากคุณคงไม่ต้องการให้พื้นหลังหรือการออกแบบดึงความสนใจไปจากข้อความของคุณ
อย่างไรก็ตาม คุณควรเลือกสีของพื้นหลังและสีของข้อความที่ตัดกัน ชุดรูปแบบที่มีอยู่แล้วภายใน PowerPoint 2010 ตั้งค่าความคมชัดระหว่างพื้นหลังสีอ่อนและข้อความสีเข้ม หรือพื้นหลังสีเข้มและข้อความสีอ่อนโดยอัตโนมัติ
ตรวจสอบการสะกดคำและไวยากรณ์
เพื่อให้ได้การยอมรับนับถือจากผู้ชม ให้ตรวจสอบการสะกดและไวยากรณ์ในงานนำเสนอของคุณเสมอ

วันสิทธิมนุษยชน 10 ธันวาคม ประจำปี 2557

ผู้เล่าเรื่อง  :  นางสาวน้ำเพชร  วงษ์ประทีป
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง  :  นักบัญชีชำนาญการ
หน่วยงาน :  สำนกกำกับและพัฒนาการตรวจสอบภาครัฐ
ชื่อโครงการ / ประชุม / สัมมนา /หลักสูตร  : ร่วมงานวันสิทธิมนุษยชน 10 ธันวาคม ประจำปี 2557
หน่วยงานผู้จัด  :  สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

วัตถุประสงค์ของโครงการ / ประชุม / สัมมนา / หลักสูตร มีดังนี้
 เนื่องในโอกาสวันสิทธิมนุษยชนสากล 10 ธันวาคม ประจำปี 2557 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และองค์กรเครือข่ายได้ร่วมกันจัดงานวันสิทธิมนุษยชนสากลขึ้น  ในวันดังกล่าว หัวข้อ “ปฏิรูปประเทศไทย ต้องเข้าใจสิทธิมนุษยชน”เพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ เรื่องสิทธิมนุษยชนให้ประชาชนได้รับรู้ และเรียนรู้ร่วมกันในวงกว้าง พร้อมทั้งกระตุ้นให้เกิดกระแสสังคมให้ประชาชนสนใจและตระหนักถึงเรื่องสิทธิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน ตลอดจนเพื่อมอบรางวัลให้เป็นขวัญและกำลังใจแก่บุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่น ด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคมสืบไป

การแสดงนิทรรศการของหน่วยงานและองค์กรเครือข่าย มากกว่า 40 หน่วยงาน  อาทิเช่น สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กรมคุ้มครองสิทธิ ศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน สำนักงานศาลปกครอง สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน กรมสุขภาพจิต ฯลฯ  ซึ่งขอรับเอกสารเผยแพร่ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการในภารกิจของหน่วยงานได้ตามอัธยาศัย

เอกสารที่เผยแพร่ในงานด้งกล่าวมีจำนวนมากมาย ซึ่งได้ขอรับและมอบไว้ที่ห้องสมุดกรมบัญชีกลางเพื่อประโยชน์ต่อหน่วยงานในการค้นคว้าอ้างอิงต่อไป ได้แก่
1. วีดีทัศน์ความรู้เชิงสารคดี เรื่องพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551
2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
3. คู่มือผู้บริโภค สคบ.
4. คู่มือการติดต่อหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม
5. คู่มือสิทธิของประชาชนในคดีอาญา
6. พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544
7. พระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ. 2553
8. รวมกฎหมายพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551
9. ศัพท์สิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2555
10. ประมวลศัพท์และความรู้สิทธิมนุษยชน เล่ม 2 ศัพท์สิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนศึกษา
11. หลักกฎหมายระหว่างประเทศทั่วไปเกี่ยวกับสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน “อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี”
12. หลักกฎหมายระหว่างประเทศทั่วไปเกี่ยวกับสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน “อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกประติบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ”
13. หลักกฎหมายระหว่างประเทศทั่วไปเกี่ยวกับสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน “กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง”
14. คู่มือปกป้องสิทธิเสรีภาพ เรื่องจริงที่กรรมสิทธิ์ฯ เล่ม 1 เมื่อ “ฉัน”ถูกละเมิดสิทธิการต่อสู้เพื่อสิทธิจากการเกิดจนถึงตาย
15. คู่มือปกป้องสิทธิเสรีภาพ เรื่องจริงที่กรรมสิทธิ์ฯ เล่ม 2 เมื่อ “ชุมชน” ถูกละเมินสิทธิการต่อสู้เพื่อสิทธิจากชุมชนเล็กถึงชุมชนใหญ่
16. 10 เรื่องเด่นสิทธิมนุษยชนด้านกฎหมายและการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
17. ศาลรัฐธรรมนูญ รายงานประจำปี 2555

โครงการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงแก้ไขคู่มือการบังคับคดี

ผู้เล่าเรื่อง  :  1. นางสาวชลธิชา  นวลน้อย
                    2. นางมนัญญา ธัชแก้วกรพินธุ์
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง  : นิติกรชำนาญการ
หน่วยงาน :  สำนักความรับผิดทางแพ่ง
หลักสูตรฝึกอบรม  :  โครงการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงแก้ไขคู่มือการบังคับคดี
หน่วยงานผู้จัด  :  สำนักงานอัยการสูงสุด

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร / โครงการฝึกอบรม
สำนักงานอัยการสูงสุดได้จัดทำคู่มือการบังคับคดีโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกระบวนงานมาตรฐาน ด้านการบังคับคดีแพ่ง คดีปกครอง และคดีอาญาเฉพาะในส่วนของการยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับตามคำพิพากษา สำหรับใช้เป็นคู่มือของพนักงานอัยการและผู้ปฏิบัติงานชั้นบังคับคดี ทั้งของสำนักงานอัยการสูงสุดและหน่วยงานของรัฐที่เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และเผยแพร่คู่มือดังกล่าวให้แก่หน่วยงานสำนักงานอัยการสูงสุดและหน่วยงานตัวความทั่วประเทศ นับถึงปัจจุบันเป็นเวลา 2 ปีแล้ว จึงได้ดำเนินการจัดโครงการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงแก้ไขคู่มือการบังคับคดี

การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ : โครงการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงแก้ไขคู่มือการบังคับคดี
ประเด็นปัญหาที่สำคัญในการบังคับคดีและข้อเสนอแนะจากสำนักงานอัยการสูงสุดอาจสรุปได้ดังนี้
1. ในขั้นตอนการคัดเลือกผู้เสนอราคาในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ นั้น หน่วยงานของรัฐควรให้ความสำคัญในการตรวจสอบสถานะที่แท้จริงของนิติบุคคลผู้เสนอราคา หากนิติบุคคลผู้เสนอราคาไม่ใช่ผู้รับจ้างที่รับงานเป็นประจำกับทางราชการ ควรตระหนักและตรวจสอบว่า นิติบุคคลดังกล่าวมีตัวตนจริงหรือไม่ เนื่องจากปัญหาที่พบเป็นส่วนใหญ่ในชั้นของการบังคับคดีมักจะตรวจสอบพบว่า นิติบุคคลผู้รับจ้างไม่มีตัวตนอยู่จริง หรือบางกรณีอาคารที่ตั้งสำนักงานเป็นเพียงอาคารเช่า แต่กลับได้รับการคัดเลือกให้ชนะการเสนอราคาในวงเงินงบประมาณเป็นจำนวนมากเกือบหมื่นล้านบาท ดังเช่น ที่ปรากฏตามข่าวคดีจ้างก่อสร้างโรงพักตำรวจ เป็นต้น ซึ่งเมื่อถึงชั้นการบังคับคดีนิติบุคคลเหล่านี้มักจะไม่มีทรัพย์สินให้ดำเนินการยึด อายัด ซึ่งจะสร้างความเสียหายแก่หน่วยงานเป็นเงินจำนวนมาก
2. ในการยึดที่ดิน นั้น หน่วยงานของรัฐควรถ่ายรูปสภาพที่ดิน จัดทำแผนที่ที่ตั้งของที่ดิน ประสานงานกับสำนักงานที่ดินเพื่อขอภาพถ่ายสัญญาจำนองประกอบด้วย ซึ่งในกรณีที่ที่ดินมีเจ้าหนี้รายอื่นยึดไว้แล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งสามารถร้องขอเฉลี่ยทรัพย์พร้อมทั้งขอสวมสิทธิการบังคับคดีไว้ด้วย หากมีกรณีเจ้าหนี้รายอื่นถอนการยึดในภายหลัง แล้วหน่วยงานไม่ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์พร้อมทั้งขอสวมสิทธิการบังคับคดีไว้อาจทำให้ไม่มีคดีเฉลี่ยทรัพย์ได้ ดังนั้น หน่วยงานในฐานะเจ้าหนี้จึงควรแจ้งพนักงานอัยการให้ยื่นคำร้องดังกล่าวข้างต้นไว้ด้วย
3. หน่วยงานของรัฐควรให้ความสำคัญกับการพิจารณาคำขอผ่อนชำระหนี้ของลูกหนี้ เนื่องจากการพิจารณาอนุมัติให้ลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้ย่อมเป็นหนทางที่ดีกว่าการฟ้องคดีและดำเนินคดีในชั้นศาล ปัจจุบันกระทรวงการคลังมีหลักเกณฑ์ที่กำหนดเกี่ยวกับการผ่อนชำระหนี้ไว้เป็นจำนวนมาก เช่น ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการผ่อนชำระหนี้ของเจ้าหน้าที่ แจ้งตามหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0406.3/ว 115 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2545 เป็นต้น และหากหน่วยงานของรัฐไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ยังสามารถขอทำความตกลงกับกระทรวงการคลังเป็นกรณีพิเศษได้ด้วย
4. เมื่อหน่วยงานของรัฐชนะคดีและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว กระทรวงการคลังกำหนดให้ต้องดำเนินการรายงานผลการสืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้ให้ทราบทุกระยะ 3 เดือน และสืบหาทรัพย์สินตามแนวทางที่กระทรวงการคลังกำหนด
(หนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค 0503.7/ว 107 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2544 และ ที่ กค 0406.2/ว 46 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2546) หากสืบหาทรัพย์สินแล้ว ปรากฏว่า ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินและอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะฟ้องคดีล้มละลายได้ หน่วยงานของรัฐควรส่งเรื่องให้สำนักงานการบังคับคดีก่อนครบกำหนด 10 ปี (ส่งในปีที่ 9) พร้อมหลักฐานการสืบหาทรัพย์สินเพื่อพนักงานอัยการจะรีบดำเนินการฟ้องล้มละลายต่อไป
5. กรณีหน่วยงานสืบหาทรัพย์สินแล้ว พบทรัพย์สินของลูกหนี้ เช่น รถยนต์ หน่วยงานของรัฐอาจจะมีหนังสือแจ้งไปยังลูกหนี้ให้ทราบว่า ทางราชการตรวจสอบพบทรัพย์สินของลูกหนี้ที่อาจนำมาบังคับคดีได้เพื่อขอให้ลูกหนี้เข้ามาพบเจ้าหน้าที่ และดำเนินการเจรจาเกี่ยวกับการขอผ่อนชำระหนี้ ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้ได้ทรัพย์สินซึ่งย่อมดีกว่าการตั้งเรื่องเพื่อดำเนินการบังคับคดี ซึ่งจะทำให้ต้องเสียค่าธรรมเนียม และหากลูกหนี้ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินลูกหนี้ก็จะมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้อันเป็นกฎหมายที่ควบคุมลูกหนี้ไว้อีกทางหนึ่งด้วย
6. กรณีผู้รับจ้างเป็นผู้ทิ้งงานจะมีแนวทางในการตรวจสอบคุณสมบัติอย่างไรนั้น เนื่องจากการทิ้งงานเป็นเหตุการณ์ ในอนาคตที่ไม่อาจคาดหมายได้ ดังนั้น เบื้องต้นจึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่ต้องตรวจสอบโดยละเอียดตั้งแต่ขั้นตอนการเสนอราคาว่า ผู้เสนอราคาเคยมีผลงานก่อสร้างกับทางราชการบ้างหรือไม่และอยู่ในรายชื่อเป็นผู้ทิ้งงานหรือไม่ นอกจากนี้ยังควรต้องตรวจสอบสถานประกอบการ ที่ตั้ง ผู้ถือหุ้น และให้ระมัดระวังเป็นพิเศษในกรณีบริษัทข้ามชาติ ที่มักจะประสบปัญหาไม่สามารถบังคับคดีได้
7. กรณีสืบหาทรัพย์สินแล้วพบที่ดินติดภาระจำนอง หน่วยงานควรดำเนินการอย่างไรนั้น แนวทางดำเนินการเบื้องต้นควรมีหนังสือถึงธนาคารผู้รับจำนองเพื่อขอทราบภาระจำนอง ตรวจสอบราคาประเมินที่ดิน เพื่อให้ทราบว่าจะคุ้มกับค่าใช้จ่ายในการบังคับคดีหรือไม่ จากนั้นจึงเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป

วันจันทร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

โครงการฝึกอบรมวิชาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงการคลัง : เรียนรู้ทำความเข้าใจแนวคิด การจัดการความรู้

ผู้เล่าเรื่อง  :  นางธีรนุช  ทองชิว
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง  :  นักวิชาการคลังชำนาญการพิเศษ
หน่วยงาน : กลุ่มงานพัฒนาค่าตอบแทนและสวัสดิการ สำนักมาตรฐานค่าตอบแทนและสวัสดิการ
หลักสูตรฝึกอบรม  : โครงการฝึกอบรมวิชาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงการคลัง : เรียนรู้ทำความเข้าใจแนวคิด การจัดการความรู้
หน่วยงานผู้จัด : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร/โครงการฝึกอบรม
1.เพื่อเข้าใจแนวคิดการบริหารจัดการความรู้อย่างมืออาชีพ
2.เข้าใจหลักการและขั้นตอนการจัดการความรู้
3.เข้าใจถึงปัญหาและปัจจัยสู่ความสำเร็จ
4.เข้าใจถึงการคัดเลือกผู้ที่จะมาบริหารจัดการความรู้
5.เข้าใจการวางแผนที่จะนำการจัดการความรู้มาใช้ในองค์กร
การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ :
1. ความรู้ ชนิดของความรู้ การจัดการความรู้และคุณสมบัติของคนที่จะมาจัดการความรู้
1.1 ความรู้ ควรมีลักษณะดังต่อไปนี้
- บทสรุปของความเข้าใจซึ่งสั้น กระชับ บอกเล่าให้กับผู้อื่นให้เข้าใจและรับทราบได้
- เนื้อหาเป็นความจริงที่ผ่านการพิสูจน์และทดลอง
- สามารถนำไปตั้งเป็นกฎ นำไปปฏิบัติงานได้จริง
- สามารถนำไปประกอบการตัดสินใจ
- สามารถทำนายผลลัพธ์ได้
1.2 ชนิดของความรู้ แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ประกอบด้วย
1) Tacit Knowledge เป็นความรู้ที่มีอยู่ในแต่ละบุคคล เขียนอธิบายได้ยาก เช่น ประสบการณ์ ทักษะหรือความสามารถส่วนตัว
2) Embedded Knowledge ความรู้ที่ฝังอยู่ภายในองค์กร
3) Explicit Knowledge ความรู้ที่สามารถเขียนอธิบายได้ง่าย เช่น คู่มือการปฏิบัติงาน วิธีการใช้เครื่องมือต่างๆ
1.3 การจัดการความรู้ ควรมีลักษณะดังต่อไปนี้
- การรวบรวม การจัดเก็บ การจัดระบบ การเข้าถึงข้อมูล การแบ่งปัน
- ความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ
- ดำเนินการในลักษณะบูรณาการอยู่ในกิจกรรมหรืองานประจำ
- ต้องไม่ทำให้สมาชิกในองค์กรรู้สึกว่ามีภาระเพิ่มขึ้น
1.4 คุณสมบัติของคนที่จะมาจัดการความรู้ ควรมีลักษณะต่อไปนี้ รักการเรียนรู้
ใฝ่เรียนรู้ เปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีทัศนะคติที่ดี และถูกต้อง คิดอย่างเป็นระบบและสามารถทำงานเป็นทีมได้

2. ปัจจัยที่ส่งเสริมและประโยชน์ของการจัดการความรู้
2.1 ปัจจัยที่ส่งเสริมการจัดการความรู้ ได้แก่ วัฒนธรรมและพฤติกรรมของคนในองค์กร ผู้นำและการสร้างกลยุทธ์ เทคโนโลยี การวัดผลและการนำไปใช้
2.2 ประโยชน์ของการจัดการความรู้ ได้แก่ การป้องกันความรู้สูญหาย เพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจ ความสามารถในการปรับตัวและยืดหยุ่น ความได้เปรียบในการแข่งขัน การลงทุนทางทรัพยากรบุคคล และเพิ่มศักยภาพขององค์กร
3. การจัดการความรู้ทำอย่างไร และองค์ประกอบของการจัดการความรู้
3.1 การจัดการความรู้ ต้องเริ่มต้นจากการกำหนดองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการแข่งขันและความอยู่รอดขององค์กร การสร้างและการจัดการต้องทำเป็นทีม มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ และมีการใช้องค์ความรู้ให้เป็นประโยชน์ต่อองค์กร
3.2 องค์ประกอบของการจัดการความรู้ ประกอบด้วย คน กระบวนการและเทคโนโลยี
4. การจัดตั้ง KM ทีม
4.1 การประกาศแต่งตั้งโครงสร้างทีมงาน KM โดยให้ระบุถึง ชื่อ-นามสกุล ตำแหน่งงาน หน่วยงานที่สังกัด รายละเอียดหน้าที่และความรับผิดชอบ
4.2 ตั้งหน่วยงาน KM มีการแบ่งงานและหน้าที่ภายในทีมงานเพื่อเป็นหน่วยงานหนึ่งของแผนผังโดยรวมขององค์กร
4.3 การพิจารณาโครงสร้างทีมงาน KM เพื่อจะมีบุคลากรที่ต้องเกี่ยวข้องและมีส่วน
ที่ต้องสนับสนุนต่อการดำเนินการตามเป้าหมายมีกลุ่มบุคลากรที่ควรพิจารณาดังนี้
1) ผู้บริหารระดับสูงสุดควรจะมีส่วนร่วมในการกำหนดโครงสร้างทีมงาน KM
2) หน่วยงานที่เป็นเจ้าของกระบวนงาน KM ควรประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานนั้นๆ และผู้รับผิดชอบกระบวนงานนั้นๆ
3) หน่วยงานข้ามสายที่ต้องเกี่ยวข้อง และมีส่วนสนับสนุนต่อการดำเนินการตามเป้าหมาย KM เช่น หน่วยงานไอที ทรัพยากรบุคคล ประชาสัมพันธ์ ฝ่ายจัดซื้อ เป็นต้น ควรประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานนั้นๆ
4) หน่วยงาน/บุคคลอื่นที่เหมาะสมและผู้บริหารระดับสูงสุดต้องการมอบหมาย
4.4 กรณีที่การจัดการความรู้ขององค์กรมีความจำเป็นและสามารถจะจัดสรรงบประมาณได้ เพื่อจะนำเทคโนโลยีด้านไอทีมาใช้ควรจะมีหน่วยงานด้านไอทีเข้าร่วมทีมงาน KM ด้วย
5. กระบวนการจัดการความรู้ 8 ขั้นตอน ประกอบด้วย
5.1 การบ่งชี้ความรู้ (Knowledge Identification)
5.2 การสร้างและแสวงหาความรู้ (Knowledge Creation & Acquisition)
5.3 การจัดการความรู้ให้เป็นระบบ (Knowledge Organization)
5.4 การประมวลและกลั่นกรองความรู้ (Knowledge Codification & Refinement)
5.5 การเข้าถึงความรู้ (Knowledge Access)
5.6 การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ (Knowledge Sharing)
5.7 การเรียนรู้ (Learning)
5.8 การยกย่องชมเชย (Recognition Reward)
6. วงจรการบริหารจัดการความรู้ ประกอบด้วย
6.1 Sharing : การสื่อสารแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างบุคคล (Tacit)
6.2 Capture : การรวบรวมความรู้ต่างๆ ที่ได้รับมา (Collaboration) แล้วกลายเป็นความรู้ใหม่ของตนเอง และเขียนอธิบายออกมาได้
6.3 Classification : การนำความรู้ที่ได้มาเขียนอธิบาย (Explicit) แพร่สู่องค์กรแบ่งกลุ่มความรู้ชัดเจน และกระจายความรู้ถูกกลุ่มเป้าหมาย
6.4 Understanding : การที่คนในองค์กรได้รับความรู้แล้วนำไปปฏิบัติจนเข้าใจและนำไปแลกเปลี่ยนความรู้ (Sharing) นำไปสู่การเกิดความรู้ (Discovery)
7. กระบวนการบริหารความเปลี่ยนแปลง (Change Management Process) ประกอบด้วย
6 ขั้นตอน ได้แก่
7.1 การเตรียมการ/ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Transition & Behavior) : การมีส่วนร่วม การได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหาร การตั้งทีม และมีระบบติดตามผล
7.2 การสื่อสาร (Communications) : ทำให้บุคลากรเข้าใจถึงสิ่งที่องค์กรจะทำ
7.3 กระบวนการและเครื่องมือ (Process & Tools) : เพื่อช่วยในการค้นหา เข้าถึง ถ่ายทอดและเปลี่ยนความรู้ได้สะดวกรวดเร็ว
7.4 การเรียนรู้ (Learning) : เพื่อสร้างความเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญ
7.5 การวัดผล (Measurements) : เพื่อให้ทราบว่าการดำเนินการได้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ นำผลการวัดมาปรับปรุงแผนแลการดำเนินการให้ดีขึ้น
7.6 การยกย่องชมเชยและให้รางวัล (Recognition Reward) : เป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการมีส่วนร่วม
8. การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ ต้องจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยต้องชัดในประเด็นที่อยากรู้ ชัดในประเด็นที่จะแลกเปลี่ยน ต้องมีความแตกต่างในเรื่องเดียวกันในวิธีปฏิบัติ และต้องเจาะลึกเพื่อให้เข้าใจบริบท วิธีคิด เทคนิค วิธีการ และผลลัพธ์
9. เทคนิคการประชุมระดมความคิดแลกเปลี่ยนความรู้ฝังลึก (Story telling)
9.1 เป้าหมาย ให้ผู้มีความรู้จากการปฏิบัติปลดปล่อยความรู้ที่ฝังลึกอยู่ภายในออกมาเป็นคำพูดและท่าทาง จากส่วนลึกของจิตใจ (ความเชื่อ) จากส่วนลึกของสมอง (ความคิด) และจากส่วนลึกของร่างกาย (การปฏิบัติ)

ภาพ “โมเดลปลาทู”
9.2 วิธีการและขั้นตอนการเล่าเรื่อง Story telling
1) กำหนด “หัวปลา” หมายถึง ประเด็นเป้าหมายของการประชุมแลกเปลี่ยน
2) กลุ่มเล็ก ไม่เกิน 10 คน และสมาชิกในกลุ่มเป็นผู้ปฏิบัติ
3) เลือกประธาน ดำเนินการประชุมและสรุปประเด็นเป็นระยะๆ
4) เลือกเลขานุการกลุ่ม จดประเด็นและบันทึก “ขุมทรัพย์ความรู้” เพื่อการบรรลุหัวปลา
5) สมาชิกเล่าเรื่องเกี่ยวกับความสำเร็จของตนเองตาม “หัวปลา”
6) สมาชิกกลุ่มอื่นช่วยกัน “สกัด”หรือ “ถอด” ความรู้ เพื่อการบรรลุหัวปลา รวมถึงเขียนภาพเชื่อมโยงแสดงให้ทุกคนเห็นและปรับแก้ไขร่วมกันได้ง่าย
9.3 วิธีเล่าเรื่อง เล่าเพียงประเด็นเดียวต่อ 1 เรื่อง ใช้เวลา 2-3 นาที และเล่าเรื่องตามความเป็นจริง ให้ข้อมูลดิบในประเด็น การกระทำ ความคิด ความเชื่อ ความสัมพันธ์ เห็นภาพ และไม่ตีความ
9.4 วิธีสกัดความรู้จากการปฏิบัติงาน เมื่อแต่ละคนเล่าเรื่องเสร็จ ประธานกลุ่มขอให้สมาชิกตีความว่า เรื่องดังกล่าวบอกอะไรเกี่ยวกับความรู้เพื่อการบรรลุ “หัวปลา” ที่เป็นความรู้เพื่อการปฏิบัติ

การใช้ Dreamweaver สร้าง Mobile Application

เล่าเรื่อง  :  นางสาวอัญชลี มีพรเจริญกิจ
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง  :  นักวิชาการคลังชำนาญการ
หน่วยงาน :  สำนักบริหารการรับ-จ่ายเงินภาครัฐ ส่วนบริหารการจ่ายเงิน 3
หลักสูตรฝึกอบรม  :  การใช้ Dreamweaver สร้าง Mobile Application
หน่วยงานผู้จัด  :  กระทรวงการคลัง

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร / โครงการฝึกอบรม
หลักสูตรนี้มุ่งเน้นให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ ความเข้าใจ ในการสร้าง Mobile Application โดยใช้ จากโปรแกรม Dreamweaver ซึ่งจะแนะนาเครื่องมือพื้นฐานต่างๆ รวมถึงแพ็คเกจและการติดตั้งเว็บ Mobile Application เพื่อนาไปใช้ในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการพัฒนาระบบของหน่วยงานในอนาคตต่อไป

การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ :
Native Application and Hybrid Application
Native Application หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า Native App คือ Application ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาด้วย Library หรือ SDK ของ OS นั้นๆ เช่น Android SDK หรือ Object C ของ iOS ซึ่งหากต้องการพัฒนา App ขึ้นมาซักตัวหนึ่งแบบ Native App นั่นหมายถึงเราต้องทำควบคู่กันไปทั้ง Android และ iOS หรือพัฒนาแค่ตัวใดตัวหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการเสียเวลาและทรัพยากรมาก
Native App มีข้อดีคือ ใช้ความสามารถได้เต็มที่ เช่น กล้อง, เข็มทิศ
มีข้อเสีย คือ ต้องทำแยกแต่ละ OS Ex ต้องทำบน IOS หรือต้องทำบน Androi ต้องทำคนละครั้ง

Hybrid Application หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า Hybrid App คือ App ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้สามารถทำงานได้บน OS ทั้งหมดโดยพัฒนาแค่ App เดียว โดยจำเป็นต้องผ่าน Framework ต่างๆ เพื่อให้สามารถทำงานบน OS นั้น ๆ ได้เช่น PhoneGap ซึ่งเป็น Open source framework ฟรี ด้วยการพัฒนา App ด้วยเทคโนโลยีเว็บ HTML, CSS และ JavaScript เป็นต้น

Responsive web Design หมายถึง เว็บไซต์ที่ตอบสนองการดู web ไม่ว่าจะลด/ขยายหน้าจออย่างไร ก็แปรเปลี่ยนไปตามขนาดของ web ได้ และสามารถตอบสนองการดู web ในแต่ละ Device โดยต้องใช้ CSS ในการจัดเท่านั้น

Xampp เป็นโปรแกรมที่จำลองเครื่องให้เป็น Server
Local host เป็นการ test ว่าเครื่องเราได้รับการติดตั้ง Xampp ถูกต้องแล้ว

Dreamweaver Csb เป็นตัวสร้าง
โดยเข้าไปที่ site เลือก New site
การสร้างหน้า web 1 หน้า ต้องสร้าง 1 Site

View ในการดูมี 3 แบบ 1. Design 2. Code 3. Split
ใช้ภาษา html ในการเขียน web
<head>---เรียกว่า tag เปิด
</head>---เรียกว่า tag ปิด
โครงสร้าง tag  ใน html 5 ประกอบด้วย
Tag html
Head
Meta charset= “utf-8”
Title
Body
 File รูปภาพที่สามารถใช้ได้ ได้แก่
.jpg รูปถ่าย  (สีเยอะ ขนาดใหญ่)
.gif สีน้อย ภาพการ์ตูน (ขนาดไฟล์เล็ก)
.png สีเยอะ  โปร่งใสได้

CSS Stylesheet ใช้สำหรับการจัดรูปแบบ
Type มี 4 ลักษณะ
1. Class  .
2. ID #
3. Tag
4. compound
tag a หมายถึง link ซึ่งสามารถสร้างให้ชี้ลิงค์ไปโดยกำหนดให้มีเส้นหรือไม่มีเส้นก็ได้

View port คือการแสดงผลของหน้า web ถ้าไม่กำหนดจะแสดงเต็มรูปแบบเสมอ เช่น แสดงใน iphone, ipad เครื่องจะเปลี่ยนรูปแบบการแสดงให้เอง

Framework เป็นเครื่องมือที่เข้ามาช่วยในการทำ Responsive web ให้ง่ายขึ้น
Adobe Phone Gap ช่วยนำไป Run บน Mobile App ได้

วันพุธที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2557

นักบริหารระดับต้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผู้เล่าเรื่อง  :  นายวีระ   หนูบูรณ์
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง  : นักวิชาการคลังชำนาญการ
หน่วยงาน :  สำนักงานคลังจังหวัดนราธิวาส
หลักสูตรฝึกอบรม  :  นักบริหารระดับต้น
หน่วยงานผู้จัด  :  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร / โครงการฝึกอบรม
1) เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในฐานะผู้บังคับบัญชาและมีความพร้อมที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้างาน หรือนักบริหารระดับต้น
2) พัฒนาความรู้ และทักษะด้านการบริหารของการเป็นนักบริหาร หรือผู้กำลังจะเป็นนักบริหารให้มีความพร้อมสามารถปฏิบัติงานได้ตามบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบที่เปลี่ยนแปลง หรือกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3) เสริมสร้างความสามัคคี สามารถที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่นในลักษณะที่เป็นทีมงานมีความสามารถในการคิดและทำงานอย่างเป็นระบบ เพื่อให้งานบรรลุผลตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของหน่วยงาน
4) เสริมสร้างประสบการณ์ให้มีความสามารถปกครองบังคับบัญชาผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยหลักการบริหารที่เหมาะสมและมีทัศนคติที่ดีในการปฏิบัติงาน ตลอดจนเป็นนักบริหารที่มีคุณธรรม

การที่จะเป็นนักบริหารที่ดีนั้น ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และต้องกล้ายืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นคุณสมบัติ 1 ใน 10 ข้อของนักบริหารที่ดี ซึ่งประกอบด้วย
1.ต้องรอบรู้
2.โปร่งใส
3.เป็นผู้นำ
4.เสียสละ อดทน
5.มีมนุษยสัมพันธ์
6.มีความเห็นใจผู้น้อย
7.เที่ยงธรรม
8.ทำงานร่วมกัน
9.รับผิดชอบ
10.กล้ายืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง
โดยนักบริหารจะต้องปฏิบัติงานภายใต้หลักธรรมาภิบาลหรือการบริการกิจการบ้านเมืองที่ดี  (Good Governance) ซึ่งมีหลักสำคัญอยู่ 6 ประการ คือ
1.หลักนิติธรรม (Equity)
2.หลักคุณธรรม (Integrity)
3.หลักความโปร่งใส (Transparency)
4.หลักความมีส่วนร่วม (Participation)
5.หลักความรับผิดชอบ (Accountabillity)
6.หลักความคุ้มค่า (Efficiency)

ความหมายของคำว่า คอร์รัปชั่น
การคอร์รัปชั่น คือ การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อบิดเบือนนโยบาย หรือเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ เพื่อประโยชน์ต่อตนเองหรือพวกพ้อง  โดยแบ่งความหมายของ การคอร์รัปชั่น ได้ดังนี้
1.การคอร์รัปชั่นขนาดใหญ่ (Grand corruption) เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงเพื่อบิดเบือนนโยบายหรือใช้อำนาจรัฐในทางมิชอบ เพื่อให้ผู้นำหรือผู้บริหารประเทศได้รับผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรของชาติ
2.การคอร์รัปชั่นขนาดเล็ก (Petty corruption) เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับกลาง ระดับล่าง ต่อประชาชนทั่วไป โดยการใช้อำนาจที่ได้รับมอบหมายในทางมิชอบ
3.การติดสินบน (Bribery) เป็นการเสนอให้ สัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์ในรูปของเงิน สิ่งของ และสิ่งตอบแทนต่าง ๆ เพื่อจูงใจให้เกิดการกระทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี
4.การยักยอก (Embezzlement) คือ นำเงินหรือสิ่งของที่ได้รับมอบหมายให้ใช้ในราชการ มาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือกิจกรรมอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง
5.การอุปถัมภ์ (Patronage) การเล่นพรรคเล่นพวก ด้วยการคัดเลือกบุคคลจากสายสัมพันธ์ทางการเมือง (connection) เพื่อเข้ามาทำงานหรือเพื่อให้รับประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงคุณสมบัติและความเหมาะสม
6.การเลือกที่รักมักที่ชัง (Nepotism) เป็นรูปแบบการเล่นพรรคเล่นพวก โดยจะใช้อำนาจที่มีในการให้ผลประโยชน์หรือให้เจ้าหน้าที่การงานแก่เพื่อน ครอบครัว หรือบุคคลใกล้ชิด โดยไม่คำนึงถึงคุณสมบัติและความเหมาะสม
7.ผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest) คือการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวม
รูปแบบของการคอร์รัปชั่น
1.การรับสินบน
2.การใช้อิทธิพลส่วนตัว
3.การใช้ข้อมูลลับ
4.การรับของขวัญ
5.การทำงานนอกเวลา
6.การทำงานหลังพ้นตำแหน่ง
7.การเกี่ยวพันทางเครือญาติ
การเกิดขึ้นของคอร์รัปชั่น
การเกิดขึ้นของคอร์รัปชั่นเกิดจากช่องว่างของอำนาจ กับ การตรวจสอบ กล่าวคือถ้าอำนาจมีมากกว่าการตรวจสอบก็จะส่งผลให้เกิดการคอร์รัปชั่นสูง ในทางกลับกัน หาก อำนาจมีน้อยกว่า การตรวจสอบ ก็จะส่งผลให้คอร์รัปชั่นน้อยลง เมื่อกล่าวถึงการคอร์รัปชั่นโดยใช้อำนาจนั้นเป็นการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ซึ่งมีการใช้อำนาจในทางที่ผิด กล่าวคือใช้อำนาจสูงสุดของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเชิงนโยบายหรือรัฐธรรมนูญ และกระทำการโดยมิได้มุ่งหวังประโยชน์สาธารณะแต่มุ่งหวังประโยชน์ส่วนบุคคลเป็นหลัก เป็นการกระทำเพื่อก่อให้เกิดการทำลายระบบการปกครอง ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม
สาเหตุแห่งการทำผิดของข้าราชการ
สาเหตุแห่งการกระทำผิดของข้าราชการ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
1.เพราะไม่รู้
2.เพราะความจำเป็น
2.1 เพื่อประโยชน์ทางราชการ
2.2 เกรงกลัวอิทธิพลของผู้บังคับบัญชา
3.ทุจริต
การทุจริตต่อหน้าที่ คือ การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งนี้เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย
การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย คือ การกระทำความผิดทางกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของตนเองหรือพวกพ้อง
การตรวจสอบ
การตรวจสอบอำนาจการบริหาร จำเป็นจะต้องตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอกและภายใน เช่น หน่วยงานภายนอก ยกตัวอย่างเช่น สภา พนักงานสอบสวน องค์กรอิสระ ภาคประชาชน  หน่วยงานภายใน ยกตัวอย่างเช่น ผู้บังคับบัญชา ผู้ตรวจสอบภายใน เป็นต้น
กฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน
กฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานด้านการคอร์รัปชั่นของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ ดังนี้
1.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (เฉพาะมาตราที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต)
2.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2) พ.ศ. 2554
3.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542
4.พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542
5.พระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543
มาตรการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 19 คระกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(11) เสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล หรือ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม
(13) ดำเนินการเพื่อป้องกันการทุจริตและเสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งดำเนินการให้ประชาชนหรือกลุ่มบุคคลมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
จากพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่งผลให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีภารกิจดำเนินให้ประชาชนหรือกลุ่มบุคคลมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตรวมถึงการเสริมสร้างทัศนคติค่านิยมเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต เช่น การยกย่องผู้ประพฤติตนที่ชอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริต การเสริมสร้างค่านิยมในความซื่อสัตย์สุจริต รวมถึงการจัดเวที เสวนาเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช. กับสื่อมวลชน นักวิชาการ หรือกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ส่งเสริมให้ข้าราชการ มีจริยธรรมในการปฏิบัติงาน

การศึกษารายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมของภาครัฐและเอกชนในภาพรวมของประเทศ

ผู้เล่าเรื่อง  :  น.ส.เฉลิมรัตน์ เรืองวราคม
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง  :  นักวิชาการคลังชำนาญการ
หน่วยงาน :  กลุ่มงานสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ
ชื่อโครงการ / ประชุม / สัมมนา / หลักสูตร  :  การศึกษารายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมของภาครัฐและเอกชนในภาพรวมของประเทศ
หน่วยงานผู้จัด  :  คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ หาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วัตถุประสงค์ของโครงการ / ประชุม / สัมมนา / หลักสูตร
1) เพื่อศึกษาและวิเคราะห์รายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมที่ดำเนินการโดยรัฐ องค์การเอกชน อาสาสมัคร เปรียบเทียบต่อ GDP โดยเปรียบเทียบในแต่ละปี
2) เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดนโยบาย และวางแผนการจัดสรรงบประมาณด้านการจัดสวัสดิการสังคม ให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนโดยแท้จริง

ความรู้ที่แบ่งปันในเรื่อง : การศึกษารายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมของภาครัฐและเอกชนในภาพรวมของประเทศ
1. ความเป็นมา
เป็นการศึกษาในเบื้องต้นเกี่ยวกับรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมของภาครัฐและเอกชนในภาพรวมของประเทศ โดยพิจารณาถึงสภาพเศรษฐกิจและประชากรของประเทศ และสถานการณ์งบประมาณรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมของประเทศ ซึ่งรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมข้างต้นสามารถแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้
(1) สวัสดิการด้านการศึกษา
(2) สวัสดิการด้านสุขภาพ
(3) สวัสดิการเด็ก เด็กด้อยโอกาส และครอบครัว
(4) สวัสดิการคนพิการ
(5) สวัสดิการผู้สูงอายุ
(6) สวัสดิการที่อยู่อาศัย
(7) สวัสดิการประกันสังคม
(8) สวัสดิการด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน
(9) สวัสดิการขับเคลื่อนสวัสดิการสังคมผ่านกองทุนด้านสังคม 5 กองทุน ได้แก่ กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม กองทุนคุ้มครองเด็ก กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กองทุนผู้สูงอายุ และกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
รวมทั้งประเมินผลการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายดังกล่าว ทั้งในภาพรวมระดับประเทศและระดับจังหวัด เพื่อพิจารณาว่าการจัดสรรงบประมาณมีความเหมาะสม ต่อเนื่อง ครอบคลุม และคุ้มค่า หรือไม่อย่างไร

2. วิธีการศึกษา
ผู้ศึกษาได้ดำเนินการวิจัยเรื่องดังกล่าวโดยใช้การสอบถามข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ (เทคนิคเดลฟาย) โดยให้ผู้เชี่ยวชาญกรอกข้อมูลรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมของภาครัฐและเอกชนในภาพรวม รวมทั้งการประมาณการแนวโน้มรายจ่ายฯ ในระบบปัจจุบัน และระหว่างปี 2557 – 2560 พร้อมทั้งตั้งสมมติฐานประกอบการประมาณการค่าใช้จ่าย

3. ผลการศึกษา
ผลการประเมินผลการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมของภาครัฐและเอกชนในภาพรวมของประเทศ ในเบื้องต้นพบว่าแนวโน้มการจัดสรรงบประมาณไม่สอดคล้องกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เกิดการกระจุกตัวของงบประมาณอยู่ในภาคกลาง และการจัดสรรงบประมาณมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เด็ก ซึ่งขัดแย้งกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศ อีกทั้งการจัดสรรงบประมาณยังขาดความต่อเนื่องและยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และเมื่อพิจารณารายละเอียดของรายจ่ายฯ แต่ละด้าน ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า
(1) สวัสดิการด้านการศึกษา ควรคงจำนวนรายจ่ายดังกล่าวไว้เท่าเดิมแต่เน้นเพิ่มประสิทธิภาพ และควรปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรทางการศึกษา
(2) สวัสดิการด้านสุขภาพ เนื่องจากอัตราการใช้บริการเพิ่มขึ้นมากในกลุ่มผู้ป่วยเฉพาะโรค เช่น ไตวายเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน หัวใจ และโรคมะเร็ง จึงต้องปรับเพิ่มงบประมาณรายจ่ายนี้ ซึ่งคาดว่าประมาณ 200,000 ล้านบาท ในปี 2560
(3) สวัสดิการเด็ก เด็กด้อยโอกาส และครอบครัว ไม่มีสมมติฐานแต่อย่างใด
(4) สวัสดิการคนพิการ ไม่มีสมมติฐานแต่อย่างใด
(5) สวัสดิการผู้สูงอายุ ไม่มีสมมติฐานแต่อย่างใด
(6) สวัสดิการที่อยู่อาศัย ไม่มีสมมติฐานแต่อย่างใด
(7) สวัสดิการประกันสังคม ควรปรับเพิ่มรายจ่ายเกี่ยวกับกรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพและพิการ สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และกรณีว่างงาน และควรขยายรายจ่ายไปยังแรงงานที่อยู่นอกระบบด้วย
(8) สวัสดิการด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน ไม่มีสมมติฐานแต่อย่างใด
(9) สวัสดิการขับเคลื่อนสวัสดิการสังคมผ่านกองทุนด้านสังคม 5 กองทุน ไม่มีสมมติฐานแต่อย่างใด

4. ข้อเสนอแนะ
ผู้ศึกษามีข้อเสนอแนะต่อการปรับปรุง/พัฒนารายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมของภาครัฐและเอกชนในภาพรวม ดังนี้
(1) ควรมีการประเมินเกี่ยวกับประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า ของการลงทุนรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคม
(2) ควรสร้างเกณฑ์การประเมินประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของรายจ่าย โดยพิจารณาถึง
- ความยั่งยืนของโครงการ
- ความครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย
- ความสอดคล้องกับนโยบาย สภาวการณ์ทางสังคมในปัจจุบันและอนาคต
(3) ภาครัฐควรเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษา ด้านบริการสังคมทั้งงบบุคลากรและงบอุดหนุนต่างๆ
(4) ภาครัฐควรส่งเสริมระบบการสมทบงบประมาณการจัดสวัสดิการสังคม โดยเน้นให้ภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนจัดบริการต่างๆ เพิ่มขึ้น

วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2557

การปรับปรุงระบบเกษียณอายุของข้าราชการพลเรือนสามัญ



ผู้เล่าเรื่อง  :  นางสาวนภัสภรณ์  มากจริง
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง  :  นิติกรชำนาญการ
หน่วยงาน :  สำนักกฎหมาย
หลักสูตรฝึกอบรม  :  การปรับปรุงระบบเกษียณอายุของข้าราชการพลเรือนสามัญ
หน่วยงานผู้จัด  :  สำนักงาน ก.พ.

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร / โครงการฝึกอบรม
เพื่อศึกษาหาความจำเป็นในการปรับปรุงระบบเกษียณอายุของข้าราชการและจัดทำข้อเสนอทางเลือกเกี่ยวกับการปรับปรุงระบบเกษียณอายุของข้าราชการเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและแนวโน้มการขาดแคลนกำลังคนในอนาคต
เนื้อหาและหัวข้อวิชาของหลักสูตรการฝึกอบรม  มีดังนี้ 
1)ความจำเป็นของการขยายอายุเกษียณในภาพรวม
2)ภาคราชการควรขยายหรือไม่ควรขยายอายุเกษียณ เพราะเหตุใด
3)หากจำเป็นต้องขยายอายุเกษียณควรกำหนดแนวทางการขยายอายุเกษียณและรูปแบบการขยายอายุเกษียณอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร

1.สถานการณ์โครงสร้างประชากรโลกและประเทศไทยสำหรับกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นเกณฑ์อายุที่ได้รับการนิยามให้เป็นผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งที่เป็นจำนวนโดยรวมและที่เป็นสัดส่วoเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรทั้งหมดประกอบกับสถานการณ์การลดลงของจำนวนประชากรในวัยเด็กและวัยทำงาน ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการที่จะมาทดแทนประชากรผู้สูงอายุดังกล่าวต่อไปนั้นเป็นลักษณะของโครงสร้างกำลังคนที่ประเทศต่าง ๆในโลกได้เริ่มวางมาตรการเพื่อรองรับแนวโน้มของกำลังคนดังกล่าว โดยประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2547 – 2548 คือ มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 10ของจำนวนประชากรทั้งหมด และสัดส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังพบว่าอายุคาดเฉลี่ยของประชากรไทยมีอายุเพิ่มสูงขึ้นหรือมีอายุยืนขึ้น โดยอายุคาดเฉลี่ยของประชากรไทยที่เกิดในปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป จะมีอายุยืนถึง 72.9 ปี ในขณะที่เมื่อ 50 ปีก่อน (พ.ศ. 2502) จะมีอายุเพียงแค่ 58.4 ปี

2.เมื่อพิจารณาสภาพโครงสร้างอายุข้าราชการในระบบราชการไทยพบว่า ส่วนราชการหลายแห่ง   มีอายุเฉลี่ยของข้าราชการสูงขึ้น โดยมี 8 กระทรวงที่มีอายุข้าราชการเฉลี่ยสูงสุด (45 ปี) ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากนี้ภายในระยะเวลาอีก 10 ปี ข้างหน้าจะมีจำนวนข้าราชการเกษียณอายุประมาณ 88,072 คน คิดเป็นร้อยละ 24 ของจำนวน ข้าราชการในปัจจุบัน จึงควรมีการศึกษาวิจัยเพื่อปรับปรุงระบบอายุเกษียณใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และแนวโน้มการขาดแคลนกำลังคน รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากกำลังคนให้เกิดประสิทธิภาพ

วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2557

คุณธรรมตามรอยพระยุคลบาท

             

ผู้เล่าเรื่อง  : นางสาวสุจริยา จิรธรรม นิติกรชำนาญการ
                    นายสุรเชษฐ สุขจิตร นิติกรปฏิบัติการ
หน่วยงาน :  สำนักความรับผิดทางแพ่ง

หลักสูตรฝึกอบรม  :  คุณธรรมตามรอยพระยุคลบาท
หน่วยงานผู้จัด  :  สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร / โครงการฝึกอบรม
เพื่อให้ข้าราชการได้เรียนรู้และเข้าใจบทบาทหน้าที่ของการเป็นข้าราชการที่ดีมีจิตสำนึกใน
พระมหากรุณาธิคุณ และปฏิบัติราชการอย่างมีคุณธรรมและจริยธรรมตามแนวพระราชดำริ
การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ : เส้นทางสู่ความสำเร็จในชีวิต
1.จงเป็นตัวของตัวเอง อย่าเลียนแบบใคร
2.ค้นหาตัวเองให้พบ เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องและนำคุณสมบัติที่ดีในตัวมาใช้ประโยชน์
3.สร้างนิสัยที่ดีงามในการทำงาน
4. ขจัดความเบื่อหน่าย ความเครียด ความวิตกกังวลและความหงุดหงิด
5.พักผ่อนให้เพียงพอ
6.พอใจงานที่ทำและมีความสุข-สนุกกับงาน

วันจันทร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เข้าวัดปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะ

ผู้เล่าเรื่อง  :  น.ส.สุคนธา  ชื่นเปรม
ดำรงตำแหน่ง  :  เจ้าพนักงานธุรการ ชำนาญงาน
หน่วยงาน : ฝ่ายสารบรรณ  สำนักงานเลขานุการกรม
หลักสูตรฝึกอบรม  :  เข้าวัดปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะ
หน่วยงานผู้จัด  กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร / โครงการฝึกอบรม
๑) .เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่มีโอกาสได้เข้าร่วมประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาและเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติในพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวและปฏิบัติไม่ยาก
๒) เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้พุทธศาสนิกชนทั่วไปได้ประพฤติตาม และเป็นการปฏิบัติเพื่อถวายเป็พระราชกุศลต่อสถาบันกษัตริย์และบรรพบุรุษในอดีต

วันธรรมสวนะ
          วันโกน( เป็นภาษาพูด) หมายถึง วันก่อนวันพระ 1 วัน ได้แก่ วันขึ้น 7 ค่ำกับ 14 ค่ำ และวันแรม 7 ค่ำกับ 14 ค่ำ ของทุกเดือน (หรือ วันแรม 13 ค่ำ หากตรงกับเดือนขาด)ซึ่งเป็นวันก่อนวันพระ1 วัน

           วันพระ หรือ วันธรรมสวนะ หมายถึง วันประชุมถือศีลฟังธรรมในพุทธศาสนา (ธรรมสวนะ หมายถึง การฟังธรรม) กำหนดเดือนทางจันทรคติละ 4 วัน ได้แก่
วันขึ้น 8 ค่ำ
วันขึ้น 15 ค่ำ (วันเพ็ญ)
วันแรม 8 ค่ำ
วันแรม 15 ค่ำ (หากเดือนใดเป็นเดือนขาด ถือเอาวันแรม 14 ค่ำ)

ประวัติความเป็นมา
           ในสมัย พุทธกาล พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์ผู้ครองแคว้นมคธ ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าซึ่งประทับอยู่ที่ เขาคิชกูฏ ใกล้เมืองราชคฤห์ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้น พระเจ้าพิมพิสารได้กราบทูลว่า นักบวชในศาสนาอื่นมีวันประชุมสนทนาเกี่ยวกับหลักธรรมคำสอนในศาสนาของเขา แต่พระพุทธศาสนานั้นยังไม่มี พระพุทธเจ้าจึงทรงอณุญาตให้พระสงฆ์ประชุมสนทนาธรรมและแสดงพระธรรมเทศนาแก่ ประชาชนตามคำขออนุญาตของพระเจ้าพิมพิสาร และเมื่อพระพุทธศาสานาได้เผยแผ่เข้ามาในประเทศไทย พุทธศาสนิกชนจึงถือเอาวันดังกล่าวมาเป็นวันธรรมสวนะเพื่อถือศีล ปฏิบัติธรรม ประกอบบุญกุศล และกระทำกิจของสงฆ์มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
           ในวันพระ พุทธศาสนิกชนถือเป็นวันสำคัญ ควรไปวัดเพื่อทำบุญ ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ และฟังธรรม สำหรับผู้ที่เคร่งครัดในศาสนาอาจถือศีลแปดในวันพระด้วย นอกจากนี้ชาวพุทธยังถือว่าวันพระไม่ควรทำบาปใดๆ การทำบาปหรือไม่ถือศีลห้าในวันพระถือว่าเป็นบาปยิ่งในวันอื่น
ข้อควรปฏิบัติสำหรับชาวพุทธในวันธรรมสวนะและวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
1. ทำบุญตักบาตรในตอนเช้า รักษาศีล ฟังเทศน์ ปฏิบัติธรรม
2. ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด งดเว้นอบายมุข
3. ศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
4. ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

หลักธรรมสำคัญที่
          การให้ทาน การรักษาศีล และการเจริญจิตภาวนา โดยเฉพาะในครอบครัวผู้นำครอบครัวควรจะนำสมาชิกในครอบครัวไปบำเพ็ญกุศล ทำบุญตักบาตร บริจาคทาน หรือร่วมกันปฏิบัติธรรมที่วัด รักษาศีล ไหว้พระ สวดมนต์ฟังธรรม เจริญภาวนา นอกจากนั้นอาจปรึกษาหารือหาแนวทางในการป้องกันและการแก้ปัญหาในครอบครัว โดยใช้หลักธรรม เช่น ส่งเสริมให้เกิดการลด ละ เลิกอบายมุข เป็นต้น
        ในกรณีที่ไม่เป็นวันหยุดสามารถกระทำได้อย่างง่าย ๆ เช่น ทำบุญตักบาตรกับพระภิกษุทั่วไป ตอนเย็นอาจไปสวดมนต์ไหว้พระที่วัดหรือการร่วมทำบุญให้ทานกับบุคคลที่ด้อย โอกาสเป็นต้น การ ปฏิบัติตนให้เป็นเยี่ยงอย่างเช่นนี้ จะส่งผลให้สมาชิกในครอบครัวได้เรียนรู้ ได้ปฏิบัติตาม เป็นแนวทางที่ส่งผลให้มีจิตใจที่เปี่ยมสุข อย่างน้อยในหนึ่งสัปดาห์เราก็สามารถร่วมทำบุญกุศล เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อตนเอง ครอบครัว เพื่อนร่วมโลก และสรรพสัตว์ทั้งหลาย

เรียนรู้การใช้งาน Windows 8.1 รุ่นที่ 1

ผู้เล่าเรื่อง  :  นางสาวบุศรา  ลำพูน
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง  :  นักวิชาการคลังปฏิบัติการ
หน่วยงาน : สำนักกำกับและพัฒนาระบบการบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์
หลักสูตรฝึกอบรม  : เรียนรู้การใช้งาน Windows 8.1 รุ่นที่ 1 
หน่วยงานผู้จัด  :  สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร / โครงการฝึกอบรม 
เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เรียนรู้ระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่ Windows 8.1 และเข้าใจความแตกต่างระหว่าง Windows 8 และ Windows 8.1

การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ : เรียนรู้การใช้งาน Windows 8.1
ความรู้เบื้องต้นของ Windows 8.1
Start screen  คือ หน้าเริ่มต้นของ Windows 8  จอแสดงผลใหม่ของ Windows 8  ที่ได้รวบรวมสาระสำคัญต่างๆ มาไว้ที่หน้าจอแสดงผล  เพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับความสะดวก  ทั้งในการใช้งาน และการเชื่อมต่อกับบุคคล  แอพ โฟลเดอร์ รูปถ่าย พร้อมข้อมูล Update ใหม่ล่าสุดเสมอ  โดยเน้นการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ (Devices) และเชื่อมต่อสังคมออนไลน์ (Social Network)
Charms  คือ แถบเมนูเสริมที่ซ่อนอยู่ด้านขวา ประกอบด้วย Search , Share , Start , Devices และ Settings โดยสามารถเรียกดูได้ทั้งหน้าจอ Start Screen และ Desktop 
วิธีเปิด Charms สามารถเปิดได้ 3 วิธี ดังนี้
1)      Mouse  -  เลื่อน Mouse ไปที่มุมขวาบน หรือมุมขวาล่าง
2)      Keyboard -  กด 
3)      Touchscreen  -  แตะที่ขอบจอด้านขวามือ แล้วลากมาทางซ้ายมือ
การใช้งาน Icon ต่าง ๆ บน  Charms มีดังนี้
1) Search ใช้ในการค้นหา Apps , Settings และ Files ตามที่เลือก  โดยคลิ๊ก Search แล้ว  หน้าจอจะไปที่ Start Screen ทันที  และจะแสดงช่องว่างเพื่อให้ป้อนคำเพื่อใช้ในการค้นหา  ส่วนบรรทัดถัดมาให้เลือกประเภท  ที่ต้องการให้ค้นหา เช่น Apps , Settings และ Files 
2) Share ใช้ในการ Share ข้อมูล เช่น รูปภาพที่ต้องการให้เพื่อนเห็นในเว็บไซต์  แทนที่การ Save รูปนั้นไว้ในคอมพิวเตอร์แล้ว Upload ขึ้นเว็บไซต์  โดยเปลี่ยนมาใช้ Share รูปภาพนั้นๆ ทันที  รวมถึงการ Share โดยการส่งเมลล์ด้วย  ไปที่ Start Screen เลือก แผนที่  (ตำแหน่งที่ต้องการจะ Share) และเปิด Charms เลือก Share จากนั้นเลือกว่าจะ Share ผ่านจดหมาย (e-mail) หรือ เชื่อมต่อบุคคล  ข้อมูลดังกล่าวจะถูก Share ทันที
3) Start  ใช้ในการสลับไปมาระหว่าง Start Screen กับ Desktop เหมือนกับการกดปุ่ม  Windows
4) Devices  ใช้สำหรับการแสดงผลบนจอภาพที่สอง หรือการแสดงผลบนเครื่องพิมพ์  ในการเปิด Devices Pane เหมือนการกดปุ่ม   Windows + k
5) Settings ใช้สำหรับเปิด Settings Pane เหมือนกับการกดปุ่ม     Windows + I
Tiles  คือ Icon ของโปรแกรมต่างๆ ที่ถูกวางไว้ที่หน้า Start Screen โดยมีลักษณะเป็นรูปสีเหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็ก  ซึ่งสามารถปรับแต่งขนาดให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือมีขนาดใหญ่ขึ้นได้  ตามที่ผู้ใช้งานต้องการ
Apps Control คือ เมนูที่ใช้ในการปรับแต่งและตั้งค่าในการใช้งาน Application ซึ่งแสดงอยู่ในหน้า Start Screen  โดยคลิ๊กขวาบน Apps ใดก็ได้  จะพบ Icon “Apps Control” แสดงที่ด้านล่างของ Start Screen ถ้าคลิ๊กซ้ายที่ Apps ค้างไว้แล้วเลื่อนไปวาง  คือ การย้ายตำแหน่งของ Icon ของโปรแกรมไปวางไว้ในที่ที่ต้องการ  และถ้าคลิ๊กขวาที่ Apps คือ การเลือกโปรแกรมและจะพบ Apps Control แสดงที่ด้านล่าง  และถ้าคลิ๊กขวาที่ Apps ที่เลือกไว้แล้ว  คือ  การยกเลิกการเลือกโปรแกรมนั้นๆ 

การใช้งาน Windows 8.1 
1. การเปิดเครื่องแล้วต้องการให้จอแสดงผลเป็นหน้า Desktop แบบเดิม (Windows 7) สามารถทำได้ 2 วิธี  ดังนี้
     1.1 ที่หน้าจอเริ่ม คลิกเลือก Desktop
     1.2 กดปุ่มโลโก้ Windows + D บนแป้นพิมพ์ จะเข้าสู่หน้าจอ Desktop
2. การสลับหน้าจอจาก Desktop ไปหน้าจอเริ่ม (Start Screen)สามารถทำได้ 2 วิธี ดังนี้ 
    2.1 กดปุ่มโลโก้ Windows บนแป้นพิมพ์ หรือ 
    2.2 คลิกที่โลโก้ Windows ที่อยู่มุมล่างซ้ายของหน้าจอ 
3. อยากดูโปรแกรมทั้งหมดในเครื่อง  
เข้าสู่หน้าจอเริ่ม (Start Screen) เข้าสู่มุมมองโปรแกรม โดยใช้เมาส์คลิกลูกศร ลง ใกล้กับมุมซ้ายล่างของหน้าจอ จะเห็นโปรแกรมทั้งหมดในเครื่อง
4. การปักหมุดโปรแกรมในหน้าจอเริ่ม (Start Screen) หรือที่ Taskbar  
ทำได้โดยเข้าสู่หน้าจอเริ่ม (Start Screen) เข้าสู่มุมมองโปรแกรม โดยใช้เมาส์คลิกลูกศร ลง ใกล้กับมุมซ้ายล่างของหน้าจอ จะเห็นโปรแกรมทั้งหมดในเครื่อง  คลิกขวาที่โปรแกรมที่ต้องการ จากนั้นเลือก Pin to start หรือ Pin to taskbar เพื่อปักหมุดโปรแกรมในหน้าจอเริ่ม (Start Screen) หรือที่ Taskbar  ส่วนกรณีที่ต้องการถอนหมุดโปรแกรมจากหน้าจอเริ่ม (Start Screen) หรือที่ Taskbar ให้คลิกขวาที่โปรแกรมที่ต้องการในหน้าจอเริ่ม (Start Screen) หรือที่ Taskbar จากนั้นเลือก Unpin from start หรือ Unpin this program from taskbar
5. การจัดการ Account   
กดปุ่มโลโก้ Windows + C จากนั้นเลือก setting คลิกเลือก Change PC settings แล้วคลิกเลือก account แล้วทำการตั้งค่าตามที่ต้องการ 
6. การใช้งาน App Mail  
กรณีที่ต้องการใช้งาน App Mail ผู้ใช้ต้องสมัคร Microsoft Account ก่อน โดยสามารถใช้ account ที่เป็นของ Hotmail, Outlook, live (ให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง) ในการ login เข้าสู่ระบบ ซึ่งสามารถสมัครได้ที่ https://account.live.com  หลังจากสมัครเรียบร้อยแล้ว  เวลาเข้าใช้งานให้ไปที่หน้าจอเริ่ม (Start Screen) คลิกเลือก Application Mail จากนั้นทำการ sign in ด้วย Microsoft Account และทำตามขั้นตอนที่ปรากฏ   เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ใช้ก็จะสามารถอ่าน email ใน App Mail จาก account ที่สมัครไว้ได้ 
7. การดู Application ที่เปิดไว้ก่อนหน้านี้  
วางเมาส์ไว้ที่มุมบนซ้ายของหน้าจอ แล้วลากเมาส์ลงมาด้านล่างของหน้าจอ จะปรากฏ Application     ที่เปิดค้างไว้ จากนั้นคลิกเลือก Application ที่ต้องการเปิด

8. การปิด Application ที่เปิดค้างไว้  สามารถทำได้ 2 วิธี ดังนี้ 
    1) ใช้เมาส์ลากแอปจากขอบด้านบนของหน้าจอมาไว้ที่ด้านล่างของหน้าจอ
    2) กด Alt + F48.3 วางเมาส์ไว้ที่มุมบนซ้ายของหน้าจอ แล้วลากเมาส์ลงมาด้านล่างของหน้าจอ จะปรากฏ Application ที่เปิดค้างไว้ จากนั้นคลิกขวาที่ Application ที่ต้องการปิด แล้วคลิกเลือก close
9. การแบ่งหน้าจอทำงาน 2 หน้าจอพร้อมๆ กัน
    เป็นการแสดงผลบนหน้าจอ 2 หน้าต่าง  อาจจะเป็น File Explorer วางคู่กัน หรือเปิดใช้งานโปรแกรม Excel 2 Files พร้อมๆ กัน หรืออาจจะใช้งาน Chrome กับ Word คู่กันก็ได้  โดยเลื่อน Mouse ไปที่ Title Bar (แถบบนสุดของโปรแกรมที่เปิดใช้งาน) แล้วคลิ๊กซ้ายค้างไว้  เลื่อนมาจนลูกศร Mouse ชนของทางซ้าย  จะเห็นเงาเลือนๆ แบ่งครึ่งซ้าย  เมื่อปล่อย Mouse หน้าต่างของโปรแกรมนั้นก็จะแสดงผลแค่ครึ่งจอซ้ายแบบกึ่งกลางพอดี  ส่วนทางขวาก็ให้ทำในลักษณะเดียวกัน  หลังจากทำเรียบร้อยแล้วก็จะพบว่าหน้าจอแสดงผล 2 หน้าต่างพร้อมๆ กัน
10. การใช้งาน Control panel สามารถทำได้ 2 วิธี ดังนี้ 
      1) กดปุ่มโลโก้ Windows  + C คลิกเลือก setting แล้วคลิกเลือก control panel 
      2) คลิกขวาที่ Windows  ที่อยู่มุมล่างซ้ายของหน้าจอ จากนั้นคลิกขวาเลือก control panel
11. การใช้งาน System Menu  สามารถเรียกได้โดยเลือกโลโก้ Windows  + X  เมนูนี้จะแสดงขึ้นมาทางมุมล่างซ้ายมือ  เป็นเมนูที่รวมคำสั่งที่จำเป็นในการใช้งาน  และเรียกใช้เป็นประจำ  
12. วิธีดูภาพด้วย Window Photo Viewer 
    ปกติเวลาที่จะเปิดดูรูปภาพ จะพบว่าระบบจะเลือก App Photo ในการ preview ภาพ แต่ถ้าต้องการดูภาพด้วย Window Photo Viewer จะต้องทำการตั้งค่า โดยให้คลิกขวาที่รูปภาพที่ต้องการเปิด คลิกเลือก open with จากนั้นเลือก Choose Default Program คลิกเลือก Window Photo Viewer 
13. ฟังเพลง/ดูวีดีโอ
1)วิธีฟังเพลงผ่าน Apps 
การใช้งานมีลักษณะเหมือนกัน  โดยจะต้องเข้าไปยัง Folder ที่เก็บไฟล์เพลง ไฟล์วีดีโอ ที่ต้องการเล่น  และสร้าง Playlists คล้ายๆ กับระบบ Windows Media Player ใน Version ก่อน
2) วิธีฟังเพลงผ่าน Windows Media Player 
  ปกติเวลาที่จะเปิดฟังเพลง จะพบว่าระบบจะเลือก App Music ในการฟังเพลง แต่ถ้าต้องการฟังเพลงด้วย Window Media Player จะต้องทำการตั้งค่า โดยให้คลิกขวาที่ไฟล์เพลงที่ต้องการเปิด คลิกเลือก open with จากนั้นเลือก Choose Default Program คลิกเลือก Window Media Player
14. วิธีดูไฟล์ PDF ผ่าน Adobe Acrobat
  ปกติเวลาที่จะเปิดดูไฟล์ PDF จะพบว่าระบบจะเลือก App Reader ในการเปิดดูไฟล์ PDF แต่ถ้าต้องการดูไฟล์ PDF ด้วย Adobe Acrobat จะต้องทำการตั้งค่า โดยให้คลิกขวาที่ไฟล์ PDF ที่ต้องการเปิด คลิกเลือก open with จากนั้นเลือก Choose Default Program คลิกเลือก Adobe Acrobat
15. การใช้โปรแกรม SkyDrive
ใช้ในการ Upload ไฟล์เก็บไว้ใน SkyDrive.com (ฟรี) โดยต้อง Sign in เข้าด้วย Microsoft account ซึ่งในระบบ Windows 8.1 สามารถใช้งานได้เลยจากหน้า Start Screen เสมือนมีพื้นที่ในการเก็บข้อมูลแบบ Cloud ที่สามารถทำงานได้ทุกที่ที่มีอินเตอร์เน็ท
15. การปิดเครื่อง  สามารถทำได้ 2 วิธี ดังนี้
      1) กดปุ่มโลโก้ Windows   + C คลิกเลือก Settings แล้วคลิกเลือก Power  จากนั้นคลิกเลือก shut down 
      2) คลิกขวาที่โลโก้ Windows  ที่อยู่มุมล่างซ้ายของหน้าจอ คลิกเลือก Shut Down or sign out แล้วคลิกเลือก shut down          

เรียนรู้และเข้าใจก่อนเข้าสู่โลกของ Cloud Computing กระทรวงการคลัง

ผู้เล่าเรื่อง  :  นางสาวปิยวรรณ์  สกุลพิชัยรัตน์
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง  :  เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน
หน่วยงาน :  สำนักงานเลขานุการกรม
หลักสูตรฝึกอบรม  :  เรียนรู้และเข้าใจก่อนเข้าสู่โลกของ Cloud Computing  กระทรวงการคลัง
หน่วยงานผู้จัด  :  สถาบันพัฒนาบุคลากรด้านการคลังและบัญชีภาครัฐ ร่วมกับกระทรวงการคลัง

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร / โครงการฝึกอบรม
๑) เพื่อให้เข้าใจโลกของ Cloud Computing
๒) เพื่อสร้างฐานการเรียนรู้ในนวัตกรรมของระบบสารสนเทศ

การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ : โลกของ Cloud Computing
เทคโนโลยี Cloud Computing  เป็นนวัตกรรมหนึ่งในโลกสารสนเทศ ซึ่งในปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมและได้รับความสนใจจากบริษัทที่ให้บริการต่างๆ ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต  ประกอบกับปัจจุบันเรื่องของการสร้างเครือข่าย รวมถึงการเชื่อมต่อด้วยความเร็วสูงสำหรับรองรับข้อมูลมัลติมีเดียและสื่อดิจิทัลต่างๆ  ยิ่งทำให้ธุรกิจ Cloud Computing  ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น  หลายหน่วยงานเล็งเห็นความสำคัญในด้านการสำรองข้อมูล และการให้บริการ ดังนั้นการทำความเข้าในถึงเทคโนโลยี Cloud Computing  จึงเป็นเรื่องที่ถือว่ามีความจำเป็นมากในปัจจุบัน

ความหมาย
        Cloud Computing  เป็นการพัฒนาล่าสุดของระบบคอมพิวเตอร์ที่รวมเอาการจัดการระบบที่หลากหลายมาไว้ด้วยกัน  เป็นรูปแบบการให้ความสะดวกในการใช้เครือข่ายตามต้องการ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มทรัพยากรต่างๆ ได้แก่ พื้นที่จัดเก็บข้อมูล  การจัดการข้อมูล  แอพพลิเคชั่นบริการ  ซึ่งผู้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงแค่เชื่อมต่อกับระบบเน็ตเวิร์ค Cloud Computing  จึงเป็นที่ยอมรับและมีการนำไปใช้อย่างแพร่หลายในวงการอุตสาหกรรมไอที มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2009  เช่น Google , Amazon , Yahoo , IBM , Microsoft  รวมถึงผู้ให้บริการทางอินเตอร์เน็ตอื่นๆ ก็มีการนำระบบนี้มาใช้กันเป็นจำนวนมาก
เข้าใจง่ายๆ ก็คือ Cloud Computing หรือ Cloud Service คือเราเข้าอินเตอร์เน็ตให้ได้ และเราก็จะใช้งานโปรแกรมอะไรก็ตามแต่ ผู้ให้บริการบนโลกอินเตอร์เน็ต เขาก็จะเตรียมไว้ให้เราแล้ว
การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ : โลกของ Cloud Computing

เทคโนโลยี Cloud Computing  เป็นนวัตกรรมหนึ่งในโลกสารสนเทศ ซึ่งในปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมและได้รับความสนใจจากบริษัทที่ให้บริการต่างๆ ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต  ประกอบกับปัจจุบันเรื่องของการสร้างเครือข่าย รวมถึงการเชื่อมต่อด้วยความเร็วสูงสำหรับรองรับข้อมูลมัลติมีเดียและสื่อดิจิทัลต่างๆ  ยิ่งทำให้ธุรกิจ Cloud Computing  ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น  หลายหน่วยงานเล็งเห็นความสำคัญในด้านการสำรองข้อมูล และการให้บริการ ดังนั้นการทำความเข้าในถึงเทคโนโลยี Cloud Computing  จึงเป็นเรื่องที่ถือว่ามีความจำเป็นมากในปัจจุบัน

ระบบการทำงานของ Cloud Computing  นั้น สามารถแบ่งออกเป็นประเภทได้หลายประเภท โดยแบ่งตามกลุ่มผู้ใช้ การให้บริการ และประเภทของเทคโนโลยี ดังนี้
1. แยกตามกลุ่มผู้ใช้
1.1 Cloud  ระดับองค์กร เช่น Cloud Library
1.2 Cloud  ระดับบุคคล/บริการ เช่น Gmail
1.3 Cloud  ผสมผสาน เช่น Dropbox

2. แยกตามการให้บริการ
2.1 Public Cloud  การให้บริการเข้าถึงข้อมูลรูปแบบต่างๆ ผ่านทางอินเตอร์เน็ต
2.2 Private Cloud  การใช้งานภายในองค์กร
2.3 Hybrid Cloud  เป็นการผสมผสานระหว่าง Private Cloud และ Public Cloud  เลือกแบ่งการทำงานเป็นส่วนๆ ได้
3. แยกตามประเภทของเทคโนโลยี
3.1 SaaS (Software as a Service)  เป็นรูปแบบการให้บริการใช้ซอฟต์เวร์หรือแอพพลิชั่นบน Cloud
3.1.1 Google Document  ให้บริการโปรแกรมใช้งานในออฟฟิศต่างๆ

3.1.2 ระบบการรับ-ส่งอีเมล์ และบริการซอฟตแวร์ เช่น Hotmail , Yahoo
3.2 IaaS (Infrastructure as a Service) เป็นการให้บริการเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานของระบบ
3.3 PaaS (Platform as a Service ) บริการแพลทฟอร์ม คือ ให้บริการนักพัฒนาในการพัฒนาโปรแกรม โดยผู้รับบริการสามารถพัฒนาโปรแกรมระบบ
ข้อดีและข้อจำกัดของ Cloud Computing  กับการนำมาประยุกต์ใช้กับห้องสมุดดิจิทัล
คำว่า Cloud  ของ Cloud Computing  มาจากสัญลักษณ์รูปเมฆที่ใช้แทนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เมื่อผู้ใช้เริ่มใช้อินเตอร์เน็ต จะสามารถเข้าถึงหรือทำการสืบค้นสารสนเทศได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด  ดังนั้น Cloud  เทียบได้กับเมฆปกคลุมทรัพยากรคอมพิวเตอร์และผู้ใช้จำนวนมหาศาล

Cloud Computing  มีลักษณะเด่นและก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย ได้แก่
1. ลดค่าใช้จ่ายในองค์กร  ประหยัดการลงทุนเรื่องทรัพยากรคอมพิวเตอร์ เพราะเปลี่ยนมาเป็นการเช่าระบบแทน การเสียค่าใช้จ่ายจะคิดตามส่วนที่เปิดใช้งานเท่านั้น ใช้เยอะจ่ายเยอะ ใช้น้อยจ่ายน้อย ถือเป็นจุดแข็งของ Cloud
2. สามารถสร้างระบบและขยายขนาดจัดเก็บได้ตามความต้องการและรวดเร็ว สามารถสร้างระบบใหม่ขึ้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว ระบบจะทำการตั้งค่าการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยระบบอัตโนมัติ
3. บริการสารสนเทศ (Information) ทำได้ง่ายขึ้น สามารถเข้าถึงข้อมูลได้จากทุกที่ทุกเวลา เพียงมีอินเตอร์เน็ตสำหรับเชื่อมต่อ
4. ขจัดปัญหาเรื่องการดูแลระบบทรัพยากรสารสนเทศ เป็นการลดจำนวนบุคลากรที่ต้องจ้างมาเพื่อดูแลระบบ
5. มีความปลอดภัยและเชื่อถือได้ ในการใช้บริการ Cloud Computing  จะได้รับการบริการเสริม มีระบบรักษาปลอดภัย มาตรการป้องกันระบบล่ม เพื่อให้ระบบพร้อมให้บริการตลอดเวลา สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ประโยชน์ของ Cloud Computing  ยังเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อน ซึ่งมีเครื่องมือหลากหลายประเภทที่ให้บริการเพื่อลดภาวะโลกร้อน ได้แก่
1. ประเภท Sync&Share เช่น Live Mesh, Yousendit , Dropbox
2. ประเภท Post&&Publish เช่น Word Press , Slideshare , Flickr
3. ประเภท Collaborate&Create เช่น Wetpaint , PBWorks , Google Docs
4. ประเภท Connect&Convere เช่น Facebook , Google Talk , Meebo

ข้อจำกัดบางประการสำหรับผู้ใช้บริการต้องคำนึงถึง ได้แก่
1. บริษัทผู้ใช้บริการต้องสามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ตลอดเวลา
2. มีการกำหนดราคาที่แตกต่างกันในแต่ละผู้ให้บริการ และมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างซับซ้อน
3. การขาดมาตรฐานเปิด (Open Standard) ระหว่าง Cloud Computing  ผู้ให้บริการซึ่งต่างคนต่างมี Application Programming Interfaces (API) เป็นของตนเอง ซึ่งนำไปสู่การผูกขาด
4. ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว เมื่อข้อมูลและแอพพลิเคชั่นถูกส่งไปยังกลุ่ม Cloud ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

5. ความน่าเชื่อถือของบริษัท เช่น  บริษัทผู้ให้บริการ Cloud  ยังคงให้บริการต่อไปได้อีกนานหรือไม่  ควรมีความระมัดระวังในการเลือกผู้ให้บริการ

จากข้อดีและข้อเสียดังกล่าว ห้องสมุดดิจิทัลสามารถนำ Cloud Computing  มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เนื่องจากห้องสมุดดิจิทัลมีลักษณะที่สำคัญคือ การนำเอาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีเครือข่ายมาใช้ ในปัจจุบันรูปแบบของหนังสือเริ่มเปลี่ยนไปเป็นการอ่านสื่อออนไลน์มากขึ้น ซึ่งเป็นวิธีประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยเทคโนโลยีการเชื่อมต่อแบบไร้สายระหว่างอุปกรณ์ปลายทางและต้นทาง สามารถเชื่อมต่อได้ตลอดเวลา เป็นการลดพื้นที่ในการจัดเก็บให้มีขนาดเล็กลง ช่วยลดการใช้พลังงาน และลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง สามารถรองรับการขยายตัวของทรัพยากรและจำนวนผู้ใช้ที่เข้าใช้บริการ
Cloud Computing  สนับสนุนระบบการสืบค้นข้อมูลและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการเพิ่มความสามารถในการแชร์ข้อมูลข่าวสารรวมถึงแหล่งที่มาของทรัพยากรได้อย่างมีศักยภาพ

บทสรุป
หลังจากที่ได้ศึกษาเรื่องเทคโนโลยี Cloud Computing  มีแนวโน้มว่าห้องสมุดดิจิทัลจะนำประโยชน์ของ Cloud Computing มาช่วยเสริมในเรื่องการให้บริการแก่ผู้ใช้เพิ่มมากขึ้น ได้แก่ การเก็บข้อมูลที่เป็นดิจิทัล แล้วนำไปเก็บไว้ใน Cloud  ซึ่งมีพื้นที่คลังจัดเก็บและการประมวลผลข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานได้ตามความต้องการของผู้ใช้ สามารถรองรับการเข้าใช้งานได้จำนวนมาก ยังสามารถนำมาใช้ในบริการสืบค้นทรัพยากรสารสนเทศ บริการยืมระหว่างห้องสมุด เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกันไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก เพียงแค่มีการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตก็สามารถเข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศได้
การนำ Cloud Computing  มาใช้กับงานห้องสมุดดิจิทัล มีทั้งประโยชน์ที่จะช่วยสนับสนุนระบบงานของห้องสมุดดิจิทัล ทำให้ลดต้นทุนการผลิต ลดงบประมาณ ลดการใช้พื้นที่ มีการประกันความเสี่ยง ประหยัดพลังงานไฟฟ้า ลดภาวะโลกร้อน ลดภาระงานที่ซ้ำซ้อน และข้อมูลที่ถูกแปลงเป็นดิจิทัลมีการใช้งานอย่างคุ้มค่า ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน Cloud Computing  ก็ยังมีข้อกำจัดบางประการและสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบคือ การเลือกใช้บริการจาก Cloud Computing  ต้องพิจารณาผู้ให้บริการให้ดี เพื่อป้องกันความเสี่ยงของข้อมูลที่อาจถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ