วันพุธที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2557

การศึกษารายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมของภาครัฐและเอกชนในภาพรวมของประเทศ

ผู้เล่าเรื่อง  :  น.ส.เฉลิมรัตน์ เรืองวราคม
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง  :  นักวิชาการคลังชำนาญการ
หน่วยงาน :  กลุ่มงานสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ
ชื่อโครงการ / ประชุม / สัมมนา / หลักสูตร  :  การศึกษารายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมของภาครัฐและเอกชนในภาพรวมของประเทศ
หน่วยงานผู้จัด  :  คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ หาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วัตถุประสงค์ของโครงการ / ประชุม / สัมมนา / หลักสูตร
1) เพื่อศึกษาและวิเคราะห์รายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมที่ดำเนินการโดยรัฐ องค์การเอกชน อาสาสมัคร เปรียบเทียบต่อ GDP โดยเปรียบเทียบในแต่ละปี
2) เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดนโยบาย และวางแผนการจัดสรรงบประมาณด้านการจัดสวัสดิการสังคม ให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนโดยแท้จริง

ความรู้ที่แบ่งปันในเรื่อง : การศึกษารายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมของภาครัฐและเอกชนในภาพรวมของประเทศ
1. ความเป็นมา
เป็นการศึกษาในเบื้องต้นเกี่ยวกับรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมของภาครัฐและเอกชนในภาพรวมของประเทศ โดยพิจารณาถึงสภาพเศรษฐกิจและประชากรของประเทศ และสถานการณ์งบประมาณรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมของประเทศ ซึ่งรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมข้างต้นสามารถแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้
(1) สวัสดิการด้านการศึกษา
(2) สวัสดิการด้านสุขภาพ
(3) สวัสดิการเด็ก เด็กด้อยโอกาส และครอบครัว
(4) สวัสดิการคนพิการ
(5) สวัสดิการผู้สูงอายุ
(6) สวัสดิการที่อยู่อาศัย
(7) สวัสดิการประกันสังคม
(8) สวัสดิการด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน
(9) สวัสดิการขับเคลื่อนสวัสดิการสังคมผ่านกองทุนด้านสังคม 5 กองทุน ได้แก่ กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม กองทุนคุ้มครองเด็ก กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กองทุนผู้สูงอายุ และกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
รวมทั้งประเมินผลการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายดังกล่าว ทั้งในภาพรวมระดับประเทศและระดับจังหวัด เพื่อพิจารณาว่าการจัดสรรงบประมาณมีความเหมาะสม ต่อเนื่อง ครอบคลุม และคุ้มค่า หรือไม่อย่างไร

2. วิธีการศึกษา
ผู้ศึกษาได้ดำเนินการวิจัยเรื่องดังกล่าวโดยใช้การสอบถามข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ (เทคนิคเดลฟาย) โดยให้ผู้เชี่ยวชาญกรอกข้อมูลรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมของภาครัฐและเอกชนในภาพรวม รวมทั้งการประมาณการแนวโน้มรายจ่ายฯ ในระบบปัจจุบัน และระหว่างปี 2557 – 2560 พร้อมทั้งตั้งสมมติฐานประกอบการประมาณการค่าใช้จ่าย

3. ผลการศึกษา
ผลการประเมินผลการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมของภาครัฐและเอกชนในภาพรวมของประเทศ ในเบื้องต้นพบว่าแนวโน้มการจัดสรรงบประมาณไม่สอดคล้องกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เกิดการกระจุกตัวของงบประมาณอยู่ในภาคกลาง และการจัดสรรงบประมาณมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เด็ก ซึ่งขัดแย้งกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศ อีกทั้งการจัดสรรงบประมาณยังขาดความต่อเนื่องและยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และเมื่อพิจารณารายละเอียดของรายจ่ายฯ แต่ละด้าน ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า
(1) สวัสดิการด้านการศึกษา ควรคงจำนวนรายจ่ายดังกล่าวไว้เท่าเดิมแต่เน้นเพิ่มประสิทธิภาพ และควรปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรทางการศึกษา
(2) สวัสดิการด้านสุขภาพ เนื่องจากอัตราการใช้บริการเพิ่มขึ้นมากในกลุ่มผู้ป่วยเฉพาะโรค เช่น ไตวายเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน หัวใจ และโรคมะเร็ง จึงต้องปรับเพิ่มงบประมาณรายจ่ายนี้ ซึ่งคาดว่าประมาณ 200,000 ล้านบาท ในปี 2560
(3) สวัสดิการเด็ก เด็กด้อยโอกาส และครอบครัว ไม่มีสมมติฐานแต่อย่างใด
(4) สวัสดิการคนพิการ ไม่มีสมมติฐานแต่อย่างใด
(5) สวัสดิการผู้สูงอายุ ไม่มีสมมติฐานแต่อย่างใด
(6) สวัสดิการที่อยู่อาศัย ไม่มีสมมติฐานแต่อย่างใด
(7) สวัสดิการประกันสังคม ควรปรับเพิ่มรายจ่ายเกี่ยวกับกรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพและพิการ สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และกรณีว่างงาน และควรขยายรายจ่ายไปยังแรงงานที่อยู่นอกระบบด้วย
(8) สวัสดิการด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน ไม่มีสมมติฐานแต่อย่างใด
(9) สวัสดิการขับเคลื่อนสวัสดิการสังคมผ่านกองทุนด้านสังคม 5 กองทุน ไม่มีสมมติฐานแต่อย่างใด

4. ข้อเสนอแนะ
ผู้ศึกษามีข้อเสนอแนะต่อการปรับปรุง/พัฒนารายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมของภาครัฐและเอกชนในภาพรวม ดังนี้
(1) ควรมีการประเมินเกี่ยวกับประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า ของการลงทุนรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคม
(2) ควรสร้างเกณฑ์การประเมินประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของรายจ่าย โดยพิจารณาถึง
- ความยั่งยืนของโครงการ
- ความครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย
- ความสอดคล้องกับนโยบาย สภาวการณ์ทางสังคมในปัจจุบันและอนาคต
(3) ภาครัฐควรเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษา ด้านบริการสังคมทั้งงบบุคลากรและงบอุดหนุนต่างๆ
(4) ภาครัฐควรส่งเสริมระบบการสมทบงบประมาณการจัดสวัสดิการสังคม โดยเน้นให้ภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนจัดบริการต่างๆ เพิ่มขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น