2. นางมนัญญา ธัชแก้วกรพินธุ์
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง : นิติกรชำนาญการ
หน่วยงาน : สำนักความรับผิดทางแพ่ง
หลักสูตรฝึกอบรม : โครงการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงแก้ไขคู่มือการบังคับคดี
หน่วยงานผู้จัด : สำนักงานอัยการสูงสุด
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร / โครงการฝึกอบรม
สำนักงานอัยการสูงสุดได้จัดทำคู่มือการบังคับคดีโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกระบวนงานมาตรฐาน ด้านการบังคับคดีแพ่ง คดีปกครอง และคดีอาญาเฉพาะในส่วนของการยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับตามคำพิพากษา สำหรับใช้เป็นคู่มือของพนักงานอัยการและผู้ปฏิบัติงานชั้นบังคับคดี ทั้งของสำนักงานอัยการสูงสุดและหน่วยงานของรัฐที่เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และเผยแพร่คู่มือดังกล่าวให้แก่หน่วยงานสำนักงานอัยการสูงสุดและหน่วยงานตัวความทั่วประเทศ นับถึงปัจจุบันเป็นเวลา 2 ปีแล้ว จึงได้ดำเนินการจัดโครงการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงแก้ไขคู่มือการบังคับคดี
การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ : โครงการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงแก้ไขคู่มือการบังคับคดี
ประเด็นปัญหาที่สำคัญในการบังคับคดีและข้อเสนอแนะจากสำนักงานอัยการสูงสุดอาจสรุปได้ดังนี้
1. ในขั้นตอนการคัดเลือกผู้เสนอราคาในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ นั้น หน่วยงานของรัฐควรให้ความสำคัญในการตรวจสอบสถานะที่แท้จริงของนิติบุคคลผู้เสนอราคา หากนิติบุคคลผู้เสนอราคาไม่ใช่ผู้รับจ้างที่รับงานเป็นประจำกับทางราชการ ควรตระหนักและตรวจสอบว่า นิติบุคคลดังกล่าวมีตัวตนจริงหรือไม่ เนื่องจากปัญหาที่พบเป็นส่วนใหญ่ในชั้นของการบังคับคดีมักจะตรวจสอบพบว่า นิติบุคคลผู้รับจ้างไม่มีตัวตนอยู่จริง หรือบางกรณีอาคารที่ตั้งสำนักงานเป็นเพียงอาคารเช่า แต่กลับได้รับการคัดเลือกให้ชนะการเสนอราคาในวงเงินงบประมาณเป็นจำนวนมากเกือบหมื่นล้านบาท ดังเช่น ที่ปรากฏตามข่าวคดีจ้างก่อสร้างโรงพักตำรวจ เป็นต้น ซึ่งเมื่อถึงชั้นการบังคับคดีนิติบุคคลเหล่านี้มักจะไม่มีทรัพย์สินให้ดำเนินการยึด อายัด ซึ่งจะสร้างความเสียหายแก่หน่วยงานเป็นเงินจำนวนมาก
2. ในการยึดที่ดิน นั้น หน่วยงานของรัฐควรถ่ายรูปสภาพที่ดิน จัดทำแผนที่ที่ตั้งของที่ดิน ประสานงานกับสำนักงานที่ดินเพื่อขอภาพถ่ายสัญญาจำนองประกอบด้วย ซึ่งในกรณีที่ที่ดินมีเจ้าหนี้รายอื่นยึดไว้แล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งสามารถร้องขอเฉลี่ยทรัพย์พร้อมทั้งขอสวมสิทธิการบังคับคดีไว้ด้วย หากมีกรณีเจ้าหนี้รายอื่นถอนการยึดในภายหลัง แล้วหน่วยงานไม่ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์พร้อมทั้งขอสวมสิทธิการบังคับคดีไว้อาจทำให้ไม่มีคดีเฉลี่ยทรัพย์ได้ ดังนั้น หน่วยงานในฐานะเจ้าหนี้จึงควรแจ้งพนักงานอัยการให้ยื่นคำร้องดังกล่าวข้างต้นไว้ด้วย
3. หน่วยงานของรัฐควรให้ความสำคัญกับการพิจารณาคำขอผ่อนชำระหนี้ของลูกหนี้ เนื่องจากการพิจารณาอนุมัติให้ลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้ย่อมเป็นหนทางที่ดีกว่าการฟ้องคดีและดำเนินคดีในชั้นศาล ปัจจุบันกระทรวงการคลังมีหลักเกณฑ์ที่กำหนดเกี่ยวกับการผ่อนชำระหนี้ไว้เป็นจำนวนมาก เช่น ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการผ่อนชำระหนี้ของเจ้าหน้าที่ แจ้งตามหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0406.3/ว 115 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2545 เป็นต้น และหากหน่วยงานของรัฐไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ยังสามารถขอทำความตกลงกับกระทรวงการคลังเป็นกรณีพิเศษได้ด้วย
4. เมื่อหน่วยงานของรัฐชนะคดีและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว กระทรวงการคลังกำหนดให้ต้องดำเนินการรายงานผลการสืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้ให้ทราบทุกระยะ 3 เดือน และสืบหาทรัพย์สินตามแนวทางที่กระทรวงการคลังกำหนด
(หนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค 0503.7/ว 107 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2544 และ ที่ กค 0406.2/ว 46 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2546) หากสืบหาทรัพย์สินแล้ว ปรากฏว่า ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินและอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะฟ้องคดีล้มละลายได้ หน่วยงานของรัฐควรส่งเรื่องให้สำนักงานการบังคับคดีก่อนครบกำหนด 10 ปี (ส่งในปีที่ 9) พร้อมหลักฐานการสืบหาทรัพย์สินเพื่อพนักงานอัยการจะรีบดำเนินการฟ้องล้มละลายต่อไป
5. กรณีหน่วยงานสืบหาทรัพย์สินแล้ว พบทรัพย์สินของลูกหนี้ เช่น รถยนต์ หน่วยงานของรัฐอาจจะมีหนังสือแจ้งไปยังลูกหนี้ให้ทราบว่า ทางราชการตรวจสอบพบทรัพย์สินของลูกหนี้ที่อาจนำมาบังคับคดีได้เพื่อขอให้ลูกหนี้เข้ามาพบเจ้าหน้าที่ และดำเนินการเจรจาเกี่ยวกับการขอผ่อนชำระหนี้ ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้ได้ทรัพย์สินซึ่งย่อมดีกว่าการตั้งเรื่องเพื่อดำเนินการบังคับคดี ซึ่งจะทำให้ต้องเสียค่าธรรมเนียม และหากลูกหนี้ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินลูกหนี้ก็จะมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้อันเป็นกฎหมายที่ควบคุมลูกหนี้ไว้อีกทางหนึ่งด้วย
6. กรณีผู้รับจ้างเป็นผู้ทิ้งงานจะมีแนวทางในการตรวจสอบคุณสมบัติอย่างไรนั้น เนื่องจากการทิ้งงานเป็นเหตุการณ์ ในอนาคตที่ไม่อาจคาดหมายได้ ดังนั้น เบื้องต้นจึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่ต้องตรวจสอบโดยละเอียดตั้งแต่ขั้นตอนการเสนอราคาว่า ผู้เสนอราคาเคยมีผลงานก่อสร้างกับทางราชการบ้างหรือไม่และอยู่ในรายชื่อเป็นผู้ทิ้งงานหรือไม่ นอกจากนี้ยังควรต้องตรวจสอบสถานประกอบการ ที่ตั้ง ผู้ถือหุ้น และให้ระมัดระวังเป็นพิเศษในกรณีบริษัทข้ามชาติ ที่มักจะประสบปัญหาไม่สามารถบังคับคดีได้
7. กรณีสืบหาทรัพย์สินแล้วพบที่ดินติดภาระจำนอง หน่วยงานควรดำเนินการอย่างไรนั้น แนวทางดำเนินการเบื้องต้นควรมีหนังสือถึงธนาคารผู้รับจำนองเพื่อขอทราบภาระจำนอง ตรวจสอบราคาประเมินที่ดิน เพื่อให้ทราบว่าจะคุ้มกับค่าใช้จ่ายในการบังคับคดีหรือไม่ จากนั้นจึงเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น