โครงการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ชาวกรมบัญชีกลาง
(CoP : Community of Practice)
กิจกรรมที่ 3 : เล่าเรื่องเร้าพลังชาวกรมบัญชีกลาง (Storytelling) ประจำปีงบประมาณ
พ.ศ. 2556
ผู้เล่าเรื่อง
: นายนัทพล บุญบรรเทิงวัฒน์
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง : นักวิชาการคลังปฏิบัติการ
หน่วยงาน : กลุ่มงานประเมินผล
กองแผนงาน
การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ
: หลักการและแนวทางการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการจัดบริการสาธารณะ
สภาพความจำเป็นและความเป็นไปได้
การสัมมนาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำ
“โครงการศึกษาข้อเสนอการถ่ายโอนภารกิจ การจัดบริการสาธารณะให้ภาคประชาสังคม/ชุมชน”
โดยการถ่ายโอนภารกิจดังกล่าวคือการเปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่นเข้ามาดำเนินการจัดบริการสาธารณะร่วมกับ/ดำเนินการแทนภาครัฐ
ซึ่งเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ (พ.ศ. 2551 – พ.ศ. 2555)
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 คือการปรับรูปแบบการทำงาน ให้มีลักษณะเชิงบูรณาการ
เกิดการแสวงหาความร่วมมือและสร้างเครือข่ายกับฝ่ายต่าง ๆ
รวมทั้งเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
ประเด็นการสัมมนาประกอบด้วยสาเหตุที่ต้องมีการส่งเสริมภาคประชาชนเข้ามา
ภารกิจที่เหมาะสมให้ภาคประชาชนเข้ามาทำ สามารถทำได้ทันที และข้อพึงระมัดระวังในการให้ภาคประชาชนเข้ามา มีรายละเอียดดังนี้
1.
สาเหตุที่ต้องมีการส่งเสริมภาคประชาชนเข้ามา
รัฐสมัยใหม่จะมีบริการสาธารณะที่เพิ่มขึ้นมาก
เช่น ด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ และภารกิจมี
ความหลากหลาย ซับซ้อนมากขึ้น
ซึ่งเป็นเรื่องยากที่หน่วยงานราชการจะสามารถจัดทำได้ทั้งหมด
จึงมีการตั้งรัฐวิสาหกิจ และมีการกำหนดให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบเป็นหน่วยงานมหาชน
เพื่อความคล่องตัว นอกจากนี้
บริการสาธารณะอาจต้องพิจารณาความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ซึ่งเป็นเรื่องยากที่ภาครัฐจะจัดบริการสาธารณะที่ตอบสนองต่อประชาชนในทุกพื้นที่ได้
องค์กรภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคมจะเป็นส่วนที่ช่วยสนับสนุน การจัดบริการสาธารณะให้ครอบคลุมและตอบสนองความต้องการของประชาชนที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้น
เป็นการสนับสนุนให้ประชาชนมีจิตสำนึก มีส่วนร่วมกับการพัฒนาสังคมได้มากขึ้น และภาครัฐสามารถอาศัยทักษะความรู้ของภาคประชาสังคมมาช่วยพัฒนาบริการสาธารณะต่อไปได้
2.
ภารกิจที่เหมาะสมให้ภาคประชาชนเข้ามาทำ สามารถทำได้ทันที
ภาคประชาสังคมสามารถแบ่งได้เป็น
2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มภาคประชาสังคมที่ปฏิเสธ กดดันภาครัฐโดยตรง
ไม่พร้อมมีส่วนร่วมกับภาครัฐ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีประโยชน์ด้านการตรวจสอบภาครัฐ
และกลุ่มภาคประชาสังคมที่ดำเนินการควบคู่กับภาครัฐอยู่แล้ว
ซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถรับภารกิจบริการสาธารณะได้
ตัวอย่างของกลุ่มภาคประชาสังคมที่ดำเนินการควบคู่กับภาครัฐ ได้แก่
องค์กรจัดสวัสดิการและบรรเทาทุกข์ เช่น มูลนิธิ
สาธารณกุศล ธนาคารขยะ สมาคมวิชาชีพ ศูนย์ดูแลคนชรา บ้านเด็กกำพร้า
กิจการเพื่อสังคม (Social
Enterprise ) โดยในอนาคตอาจให้กลุ่มภาคประชาสังคมเหล่านี้รับภารกิจในการจัดบริการสาธารณะโดยภาครัฐจะมีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนหรือประสานงานร่วมกัน
3.
ข้อพึงระมัดระวังในการให้ภาคประชาชนเข้ามา
การให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการสาธารณะมีข้อพึงระวังคือบริการสาธารณะเมื่อให้ภาคประชาสังคมทำจะต้องมีประสิทธิภาพสูงกว่ากรณีที่ภาครัฐทำ
และแนวความร่วมมือควรเป็นไปในทางร่วมดำเนินการหรือดำเนินการแทนมากกว่าการที่ภาครัฐวางแผนการทำงานแล้วให้ภาคประชาชนมาปฏิบัติงานเพียงอย่างเดียว
การถ่ายโอนภารกิจไม่ได้เป็นการยกงานให้ภาคประชาสังคมทำแทนทั้งหมดและไม่ทำให้งานของภาครัฐลดลง
แต่เป็นการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นการประสานงานทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม
การสัมมนาดังกล่าวได้มีข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วม
ข้อเสนอแนะที่สำคัญ ได้แก่
การกำหนดให้มีหน่วยงานกลางตรวจสอบภาคประชาสังคมที่จัดทำบริการสาธารณะเพื่อให้บริการสาธารณะมีประสิทธิภาพและป้องกันการหาผลประโยชน์จากการเข้ามาดำเนินการ
การพิจารณาข้อกฎหมายให้เหมาะสมกับแนวทางการถ่ายโอนภารกิจ การให้องค์ความรู้แก่ภาคประชาสังคม
รวมถึงข้อกังวลเรื่องเป้าหมายของกลุ่มประชาสังคมที่อาจเปลี่ยนแปลงในทางลบเมื่อภาครัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น