ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง : นิติกรปฏิบัติการ
หน่วยงาน : สำนักกฎหมาย
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร / โครงการฝึกอบรม
1. เพื่อพัฒนาการดำเนินคดีปกครองทั้งในด้านขั้นตอน วิธีการ การปฏิบัติงาน รวบรวมข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน ตรวจสอบสำนวน ตลอดจนเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินคดี อันจะส่งผลให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินคดีตามภารกิจในศาลให้มากขึ้น
2. นิติกรและผู้ประสานงานในคดีภายนอกองค์กรสามารถพัฒนาความรู้ความเข้าใจระบบการดำเนิน คดีปกครองและมีความเข้าใจกระบวนการที่สำคัญได้ง่ายขึ้น สามารถสรุปข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานส่งเรื่องให้พนักงานอัยการได้ถูกต้อง ครบถ้วนและทันเวลา ทำให้เกิดแนวทางร่วมกันที่ดีและความร่วมมือระหว่างองค์กร
๑. เอกสารที่ต้องมีการจัดทำสำหรับคดีทุกเรื่อง
โดยที่การดำเนินคดีของศาลปกครองใช้ระบบไต่สวน ซึ่งการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของศาลปกครอง มีการไต่สวนพยานบุคคลน้อยมาก พยานเอกสารจึงมีความสำคัญยิ่ง เมื่อหน่วยงานตัวความส่งเรื่องให้พนักงานอัยการดำเนินคดี ไม่ว่าจะเป็นกรณีว่าต่างหรือแก้ต่าง การรวบรวมเอกสารและพยานหลักฐานของหน่วยงาน หากตัวความสามารถรวบรวมเอกสารหลักฐานได้ครบถ้วนและรวดเร็ว พนักงานอัยการก็สามารถดำเนินคดีได้รวดเร็ว สามารถแก้ต่างคดีได้ครบถ้วนในทุกประเด็นส่งผลดีต่อการดำเนินคดีในชั้นศาล เพื่อประโยชน์ของทางราชการ จึงควรจัดเตรียมเอกสารดังนี้
(๑)จัดทำบันทึกสรุปข้อเท็จจริงความเป็นมาในคดีให้ครบถ้วนคือเกี่ยวกับฐานะทางกฎหมายของหน่วยงานตัวความเกี่ยวกับข้อพิพาทที่เกิดขึ้น เหตุที่ทำให้เกิดอำนาจฟ้อง เหตุที่ถูกฟ้องเหตุแห่งการต่อสู้คดี กฎหมาย ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรี การระบุข้อสัญญาที่คู่กรณีปฏิบัติไม่ถูกต้องให้ชัดเจน
(๒)เอกสารหลักฐานในคดีที่ส่งให้พนักงานอัยการต้องทำการรับรองสำเนาถูกต้องทุกหน้าทุกแผ่นสำเนาเอกสารที่ปิดอากรแสตมป์ต้องถ่ายให้ปรากฏอากรแสตมป์ที่ขีดฆ่าไว้ด้วยรวมถึงกรณีที่เป็นสำเนาเอกสารมหาชนจะต้องรับรองความถูกต้องโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจทำและออกเอกสารโดยปกติจัดชุดได้แก่ เอกสารสำหรับพนักงานอัยการติดสำนวน ๑ ชุด แนบท้ายคำฟ้องหรือท้ายคำให้การ ๑ ชุด และสำหรับคู่ความซึ่งเป็นคู่กรณี คนละ ๑ ชุด ตามจำนวนผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดี
(๓)ในกรณีที่เป็นหน่วยงานที่ไม่ได้รับการยกเว้นตามประมวลรัษฎากรต้องจัดให้มีการปิดอากรแสตมป์ให้ถูกต้องครบถ้วนพร้อมขีดฆ่าให้เรียบร้อย
(๔) ดำเนินการตรวจสอบสถานภาพการล้มละลายของคู่กรณี
(๕)เอกสารที่เกี่ยวข้องในการดำเนินคดี เช่น หนังสือมอบอำนาจให้ดำเนินคดี คำสั่งมอบอำนาจ คำสั่งแต่งตั้งการดำรงตำแหน่งของผู้มอบอำนาจและของผู้รับมอบอำนาจหลักฐานบัตรประจำตัวของผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจในกรณีผู้มอบอำนาจเป็นคณะบุคคลไม่ได้จัดส่งมติที่ประชุมของคณะบุคคลดังกล่าว
(๖)จัดทำบัญชีระบุเอกสารที่นำส่งพนักงานอัยการ
(๗) แบบรับรองการทะเบียนราษฎร์ หรือหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล ฉบับที่เจ้าหน้าที่/นายทะเบียนออกให้ไม่เกิน ๑ เดือน นับแต่วันออกหนังสือจนถึงวันยื่นฟ้องต่อศาล
๒. พยานหลักฐานและเอกสารที่ต้องรวบรวมส่งพนักงานอัยการในการดำเนินคดีแต่ละประเภท
๒.๑ คดีว่าต่างและแก้ต่างกรณีผิดสัญญาทางปกครอง
(๑)การจัดส่งคำแปลพร้อมมีผู้รับรองคำแปล กรณีสัญญาพิพาทเป็นภาษาต่างประเทศ
(๒)หนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้อง หรือหนังสือรับสภาพหนี้ที่คู่กรณีซึ่งจะถูกฟ้องคดี และทำไว้กับธนาคารหรือสถาบันการเงิน
(๓) เอกสารที่เกี่ยวด้วยเหตุที่ผิดสัญญา เช่น คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ หรือการตรวจจ้าง หนังสือแจ้งสงวนสิทธิการเรียกค่าปรับ กรณีเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๘๑ หนังสือแจ้งเลิกสัญญา หนังสือโต้ตอบคู่กรณีทุกฉบับ พร้อมหลักฐานการรับหนังสือ/ใบตอบรับทางไปรษณีย์
(๔) เอกสารเกี่ยวกับจำนวนเงินที่เรียกให้ชดใช้ค่าทดแทนและค่าเสียหาย หลักฐานซึ่งแสดงที่มาของการคำนวณเงินต่าง ๆ เช่น ประกาศอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ยื่นฟ้อง โดยคำนวณค่าเสียหายหรือจำนวนเงินที่เรียกร้องเป็นเงินสกุลบาท เพื่อระบุจำนวนทุนทรัพย์
(๕) หลักฐานที่จะพิสูจน์ว่าหน่วยงานตัวความได้รับความเสียหายจากการผิดสัญญาของคู่สัญญาอย่างไร เนื่องจากในกรณีที่หน่วยงานตัวความฟ้องเรียกค่าปรับ จะต้องพิสูจน์ความเสียหายให้ปรากฏในชั้นพิจารณาของศาลว่าจำนวนค่าปรับที่เรียกเหมาะสมกับความเสียหาย
๒.๒ คดีว่าต่างและแก้ต่างกรณีละเมิดทางปกครอง
(๑) เอกสารเกี่ยวกับเนื้อหาคดีซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ เช่น รายงานการสอบข้อเท็จจริง ความรับผิดทางละเมิด ความเห็นของหน่วยงาน ฯลฯ
(๒)เอกสารแสดงความเสียหาย เช่น หลักฐานเกี่ยวกับค่าเสียหายที่เป็นตัวเงิน กรณีที่ค่าเสียหายไม่แน่นอน ต้องชี้แจงว่าจำนวนเงินที่ขอให้เรียกร้องนั้นอ้างอิงจากค่ามาตรฐานหรือราคากลางตามเอกสารใด รายงานเกี่ยวกับอุบัติเหตุและความเสียหาย ฯลฯ
(๓)แจ้งผลการดำเนินคดีอาญาพร้อมส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องในคดีอาญาทั้งหมด เช่น สำเนาคำให้การชั้นสอบสวน สำเนาสรุปข้อเท็จจริงและความเห็นของพนักงานสอบสวน สำเนาคำพิพากษา โดยผู้ประสานคดีต้องติดตามและรายงานผลการดำเนินคดีอาญาต่อพนักงานอัยการจนกว่าคดีอาญาจะถึงที่สุด
๒.๓ คดีฟ้องขับไล่ เรียกค่าเสียหาย (กรณีไม่มีสัญญาเช่าแต่อยู่โดยบุกรุก และอยู่โดยละเมิด)
(๑) หลักฐานเกี่ยวกับทรัพย์สิน และหลักฐานที่แสดงว่าหน่วยงานตัวความนั้นมีอำนาจฟ้องขับไล่
(๒) เอกสารแสดงการได้มาซึ่งที่ดิน
(๓) หลักฐานการส่ง –รับขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุ หรือหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง
(๔) หลักฐานแสดงแนวเขตที่ชัดเจนของที่ดินส่วนที่บุกรุก จำนวนเนื้อที่ดินถูกบุกรุก
(๕) หลักฐานแสดงการบุกรุกหรือการใช้พื้นที่
(๖) เอกสารหรือหลักฐานแสดงราคาประเมินทรัพย์สินว่ามีราคาเท่าใด และส่วนที่บุกรุก มีราคาประเมินเท่าใด หากนำออกให้เช่าอาจให้เช่าได้ในราคาเท่าใด
(๗) สำเนาหนังสือแจ้งให้ผู้บุกรุกพร้อมบริวารออกจากพื้นที่ และหลักฐานการรับหนังสือ/ ใบตอบรับทางไปรษณีย์
(๘) หลักฐานที่แสดงว่าขณะยื่นฟ้อง ผู้บุกรุกและบริวารยังคงยึดถือครอบครองทรัพย์สินอยู่
(๙) การคิดคำนวณค่าเสียหาย พร้อมหลักเกณฑ์ที่นำมาใช้ในการคำนวณ
(๑๐) หากมีการดำเนินคดีอาญา ให้ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีอาญา ผลคดี คำพิพากษาคดีอาญา
๒.๔ การดำเนินคดีเกี่ยวกับที่ดิน
(๑) เอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการแสดงสิทธิในที่ดิน โดยให้ถ่ายเอกสารจากต้นฉบับเต็มทุกหน้า โดยเฉพาะสารบัญหน้าสุดท้ายที่มีชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์รายล่าสุด และให้ถ่ายติด วัน เดือน ปี ที่ทำนิติกรรม
(๒) หลักฐานเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิ
(๓) หลักฐานเกี่ยวกับการทำนิติกรรม
(๔) หลักฐานเกี่ยวกับสภาพที่ตั้งของที่ดิน
(๕) หลักฐานเกี่ยวกับราคาที่ดิน
(๖) กรณีเป็นที่ราชพัสดุ ไม่จัดส่งหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีจากกระทรวงการคลัง
(๗) หลักฐานอื่น ๆ เช่น สำเนากฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ที่เกี่ยวข้องในคดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น