ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง : นักวิชาการคลังปฏิบัติการ
หน่วยงาน : กลุ่มงานอนุมัติพิเศษ สำนักกฎหมาย
หลักสูตรฝึกอบรม : เศรษฐกิจการคลังไทย : ความท้าทาย การปฏิรูป และความยั่งยืน
หน่วยงานผู้จัด : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร / โครงการฝึกอบรม
1) เพื่อนำเสนอผลงานวิชาการดีเด่นในรอบปีของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
2) เพื่อระดมความคิดในการแก้ไขและปฏิรูประบบการคลังของประเทศไทย
การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ : เศรษฐกิจการคลังไทย : ความท้าทาย การปฏิรูป และความยั่งยืน
การนำเสนอผลงานวิชาการ 3 หัวข้อ ดังนี้
- International Headquarters เพื่อผลักดันการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค
ด้วยประเทศไทยมีระบบภาษีที่ซับซ้อนและมีอัตราภาษีที่สูงกว่าหลายๆ ประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ทำให้สำนักงานใหญ่ของหลายๆ บริษัทเลือกที่จะเปิดสำนักงานในประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย มากกว่าที่จะเลือกมาเปิดสำนักงานในประเทศไทย ดังเห็นได้จากสถิติที่ระบุว่า มีการเปิดสำนักงานในกรณีข้างต้นที่ประเทศสิงคโปร์ สูงถึงประมาณ 1,200 แห่ง และในมาเลเซียประมาณ 800 แห่ง ในขณะที่ไทยมีการเปิดสำนักงานแค่ประมาณ 120 แห่งเท่านั้น ซึ่งทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสในการได้รับประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น เงินภาษี การฝึกอบรมคนไทยให้เกิดความเชี่ยวชาญในงานที่ทำ เป็นต้น
ผู้นำเสนองานวิจัย จึงเสนอให้ประเทศไทยสร้างแรงจูงใจ เช่น การปรับลดภาษี เพื่อดึงดูดให้สำนักงานใหญ่ของแต่ละบริษัท เลือกที่จะมาเปิดสำนักงานในไทยเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิได้มีการเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ผู้นำเสนองานวิจัยควรโฟกัสไปที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่เหมาะกับประเทศไทย เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมโรงแรม เป็นต้น
- เงินโอน แก้จน คนขยัน ( Negative Income Tax )
เนื่องจากลักษณะของการใช้จ่ายเงินในโครงการแก้ไขความยากจนของรัฐบาล มีลักษณะเป็นแบบ Universal คือ มีผู้ได้รับประโยชน์เป็นวงกว้าง ไม่ได้มีลักษณะเฉพาะเจาะจง ทำให้เมื่อมีการดำเนินนโยบายจริง จึงพบว่าคนที่ใช้บริการหรือได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว ส่วนใหญ่ไม่ใช่คนยากจนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก โดยมีสถิติชี้ว่า สัดส่วนของคนยากจนที่ใช้งานหรือได้รับประโยชน์จากโครงการแก้ไขความยากจนของรัฐบาล คิดเป็นเพียงประมาณร้อยละ 25 ของคนทั้งหมดที่ใช้บริการหรือได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว
เพื่อให้การใช้เงินงบประมาณตรงตามกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะถือเป็นการบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ และลดภาระทางการคลังของประเทศ ประกอบกับเพื่อสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้องแก่คนยากจน ผู้นำเสนองานวิจัยจึงเสนอโมเดล “เงินโอน แก้จน คนขยัน “ โดยกำหนดให้คนที่ได้เงินไม่ถึง 300 บาทต่อวัน หรือไม่ถึง 80,000 บาทต่อปี และยังทำงานอยู่ จะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิได้มีการเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ผู้นำเสนองานวิจัยควรศึกษาเพิ่มเติมถึงแนวคิดและเงื่อนไขของ Negative Income Tax ที่ใช้อยู่ในแต่ละประเทศ เพื่อปรับปรุงโมเดลที่จะใช้ในประเทศไทยให้มีความสมบูรณ์และรัดกุมมากยิ่งขึ้น
- การเงินยุคใหม่ เข้าถึง เข้าใจ คุ้มครองผู้ใช้บริการ
เนื่องจากในยุคสมัยปัจจุบัน ผู้คนย่อมไม่อาจหลีกหนีจากโลกการเงินได้อีกต่อไป แต่ทางผู้ทำวิจัยพบว่าคนไทยมีปัญหาสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโลกการเงินอยู่ 3 ประการ คือ 1. ปัญหาการเข้าถึงบริการทางการเงิน
2. ปัญหาการขาดความรู้ทางด้านการเงิน และ 3. ปัญหาการขาดการคุ้มครองผู้บริโภค
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น ผู้ทำวิจัยจึงเสนอวิธีการแก้ไขดังนี้
1. ปัญหาการเข้าถึงบริการทางการเงิน – แก้ไข : ให้เพิ่มบทบาท SFIs ( สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ) และเพิ่มผู้ให้บริการสินเชื่อด้วยการจัดให้มี Nano-Finance
2. ปัญหาการขาดความรู้ทางด้านการเงินและปัญหาการขาดการคุ้มครองผู้บริโภค : สนับสนุนให้มีการจัดตั้งสถาบันเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน และออกกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน เพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลภาคการเงินทั้งระบบ ( ธนาคาร , บริษัทหลีกทรัพย์ , ธุรกิจประกัน ) และมีหน้าที่ในการให้ความรู้ทางการเงิน และคุ้มครองผู้บริโภคด้วย 1) กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและระงับข้อพิพาท และ 2) ออกหลักเกณฑ์ Business Conduct
การเสวนาภายใต้หัวข้อ “ เศรษฐกิจการคลังไทย : ความท้าทาย การปฏิรูป และความยั่งยืน
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. อัมมาร สยามวาลา :
ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีระบบการคลังและกระบวนการงบประมาณที่ดีและเข้มแข็ง แต่ในปัจจุบันเริ่มมีช่องโหว่ในส่วนของการที่รัฐบาลใช้เงินนอกงบประมาณผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อนำไปใช้ในโครงการประชานิยมต่าง ๆ เช่น กองทุนหมู่บ้าน ทำให้วินับการคลังของประเทศมีปัญหา ตนจึงเสนอให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นผู้ปิดช่องโหว่ดังกล่าว ด้วยการทำให้การกู้ยืมเงินผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐทำได้ยากยิ่งขึ้น
การแก้ไขกฎหมายภาษีเป็นเรื่องที่ยาก เพราะมีผลกระทบกับหลายคน จึงเห็นควรให้มีการจัดทำภาษีทรัพย์สิน/ที่ดิน เป็นประเด็นหลักในการการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น
ดร. สถิต ลิ่มพงศ์พันธุ์ :
ความท้าทายของนโยบายการคลัง คือ ต้องมี fiscal space ( พื้นที่การคลัง = รายได้ – รายจ่าย ) ที่มากพอจะนำไปใช้พัฒนาประเทศและลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนรวยลงมา 2 เท่า ( จากส่วนต่าง 12 เท่า ให้เหลือส่วนต่าง 6 เท่า ) ได้ ซึ่งตนได้ตั้งเป้าหมาย fiscal space ไว้ที่ 25 %
ตนเสนอให้มีการจัดเก็บ ( จำนวน ) ภาษีให้สูงกว่าเดิม ( เดิมเก็บได้ 17 % ของ GDP ) โดยต้องวางแผนว่าจะทำอย่างไรถึงจะเพิ่มจำนวนผู้เสียภาษีให้มากขึ้น ทั้งในส่วนของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล นอกจากนี้ ตนมองว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีสมควรปรับลดให้สอดคล้องกับอัตราภาษีนิติบุคคลที่ปรับลดแล้วด้วย และตนได้เสนอให้มีการผลักดันภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อสร้างความเป็นธรรม และกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจและเงินที่ใช้ในการบริหารตัวเองมากขึ้น
นอกจากนี้ ตนมองว่ารัฐควรมี พ.ร.บ. การเงินการคลังภาครัฐ เพื่อควบคุมรายจ่ายงบประมาณให้อยู่ในกรอบ และดึงเงินนอกงบประมาณให้กลับเข้ามาอยู่ในระบบงบประมาณ เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบ ทั้งนี้ ตนเห็นควรให้มีการจัดตั้งองค์กรจัดเก็บภาษีขึ้นมา ตามพิมพ์เขียวทบวงภาษีที่มีอยู่แล้ว ซึ่งโมเดลดังกล่าวเป็นโมเดลที่เอามาจากอังกฤษอีกที
นายบัณฑูร ล่ำซำ :
เหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้ภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคธนาคาร และภาคการเงิน ( ธนาคารแห่งประเทศไทย ) มีความระมัดระวังตัวและมีความเข้มแข็งในระดับที่สูงมาก ซึ่งต่างกับภาคราชการที่อยู่ในภาวะล่อแหลม เพราะถูกผู้ที่มีอำนาจทางการเมืองเข้ามาแทรกแซง
สิ่งที่ภาคเอกชนอยากได้จริง ๆ คือ สภาพแวดล้อมที่มีความสงบเรียบร้อยที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ และโครงสร้างต่าง ๆ ของภาครัฐ เช่น ความชัดเจนทางด้านกฎหมาย ภาษี และโครงสร้างทางการศึกษาที่จะสามารถสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบ
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ :
การร่างรัฐธรรมนูญไม่ควรมีมาตรามากเกินไป และควรเอารายละเอียดมาทำเป็นพระราชบัญญัติแทน เพื่อความคล่องตัวในการออกและแก้ไขกฎหมาย
นอกจากนี้ ตนเสนอให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายภาษีโดยด่วน โดยให้ภาครัฐและเอกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการดังกล่าว ในการออกระเบียบให้คนไทยทุกคนเข้าสู่ระบบภาษี เพื่อเพิ่มการเก็บภาษีเข้ารัฐ และเป็นเครื่องมือในการต่อต้านการคอรัปชัน แต่ทั้งนี้ เมื่อกฎหมายทีผลบังคับใช้แล้ว ก็ต้องระวังไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ดุลพินิจมากเกินไป เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาระหว่างรัฐกับเอกชนในอนาคต
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ :
สำนักงานเศรษฐกิจการคลังมีความท้าทายในการทำให้ระบบการคลังเกิดความยั่งยืน ตามกรอบวิสัยทัศน์ปี 2020 ซึ่งมีแผนจะทำให้ประเทศไทยมีรายได้เพิ่งสูงขึ้น และยกขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศให้กลายเป็นผู้นำภูมิภาค และยังเน้นการส่งเสริมให้เกิดโอกาสทางรายได้ และส่งเสริมวินัยทางการเงินการคลัง
ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังมีแผนจะผลักดันนโยบายเดิมที่ยังคั่งค้างอยู่ เช่น พ.ร.บ. หลักประกันทางธุรกิจ หรือกองทุนการออมแห่งชาติ ภายใต้ข้อเสนอแนะบนหลักการที่เป็นไปได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น