วันจันทร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2557

โครงการฝึกอบรมสัมมนาเพื่อสร้างเครือข่ายพัสดุ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ครั้งที่ 1

ผู้เล่าเรื่อง  :   นางดวงฤทัย        บรรณวิจิตรเลขา    ตำแหน่งเจ้าหน้าที่การคลัง
                     นางปุญญาภา      ศรีราม                  ตำแหน่งเจ้าหน้าที่การคลัง
                     นายปราโมทย์      กิ่งกาหลง ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการ
                     นางสาวธนภร       พันธุโพธิ์ ตำแหน่งเจ้าพนักงานการคลัง
                     นางสาวดวงกมล    โกมลวานิช ตำแหน่งเจ้าพนักงานการคลัง
หน่วยงาน :   สำนักงานเลขานุการกรม
หลักสูตรฝึกอบรม : “โครงการฝึกอบรมสัมมนาเพื่อสร้างเครือข่ายพัสดุ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ครั้งที่ 1”
หน่วยงานผู้จัด  :  สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร / โครงการฝึกอบรม
เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านการพัสดุในทุกระดับของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง รองรับการสับเปลี่ยนตำแหน่ง สร้างความสัมพันธ์ อันดีแก่บุคลากรของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง และสร้างความมั่นใจในการปฏิบัติงานในความรับผิดชอบ รวมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติงานในหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แนวทางในการนำความรู้ ทักษะที่ได้รับจากการฝึกอบรมครั้งนี้ ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์แก่หน่วยงาน มีดังนี้
1) ได้รับการศึกษา ทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกำหนดในการปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการพัสดุ ระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้อง และหนังสือสั่งการต่างๆ รวมทั้งการใช้งานในระบบงาน e-GP ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นใจในการปฏิบัติงานในความรับผิดชอบ รวมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติงานในหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2)  พัฒนาการปฏิบัติงานให้เป็นระบบ และมาตรฐานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับความรู้ จากการแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านการพัสดุ ในทุกระดับของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง
ปัญหาและอุปสรรคที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการนำความรู้  และทักษะที่ได้รับไปปรับใช้ในการปฏิบัติงาน
- เนื่องจากภารกิจงานที่หลากหลายของหน่วยงาน ซึ่งมีความต้องการจัดหาพัสดุที่อาจไม่สามารถดำเนินการให้สอดคล้องตามระเบียบพัสดุได้  ประกอบกับบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญการด้านพัสดุ  มีจำนวนจำกัด อาจส่งผลให้ต้องใช้เวลาในการศึกษา ทำความเข้าใจในการบริหารจัดการพัสดุให้ถูกต้องตามระเบียบและข้อกำหนดอื่นที่เกี่ยวข้อง
- ความต้องการการสนับสนุนจากผู้บังคับบัญชา เพื่อส่งเสริมให้สามารถนำความรู้ ความเข้าใจที่ได้รับไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานให้สัมฤทธิ์ผล ถูกต้องตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง และสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติงานด้านพัสดุ ของบุคลากรในส่วนราชการ/รัฐวิสาหกิจ/หน่วยงานเอกชนอื่น
การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ :
1.  ระเบียบว่าด้วยการพัสดุ
กระบวนการจัดหาพัสดุ ตามระเบียบว่าด้วยการพัสดุ   เริ่มจาก
กำหนดความต้องการ        งบประมาณ        จัดทำแผน        จัดหาพัสดุ         เบิกจ่ายเงิน การบริหารสัญญา     การควบคุมและจำหน่ายพัสดุ
ผู้มีหน้าที่ตามระเบียบพัสดุ ได้แก่ เจ้าหน้าที่พัสดุ หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ คณะกรรมการต่างๆ และผู้ควบคุมงาน
วิธีการจัดซื้อจัดจ้าง 6 วิธี วิธีตกลง สอบราคา ประกวดราคา วิธีพิเศษ วิธีกรณีพิเศษ และวิธีประมูลทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (ตั้งแต่ 2.00 ล้านบาท)
การจัดทำสัญญาตามระเบียบฯ มี 3 แบบ ได้แก่ ทำตามตัวอย่าง (แบบ) ที่ กวพ.กำหนด  ทำข้อตกลงเป็นหนังสือไว้ต่อกันตามข้อ 133 ของระเบียบฯ และไม่ทำเป็นหนังสือไว้ต่อกัน ตามข้อ 133 วรรคท้าย ของระเบียบฯ
การบริหารสัญญา ได้แก่ การแก้ไขและเปลี่ยนแปลงสัญญา ตามข้อ 136  การงด ลดค่าปรับ หรือการขยายเวลาทำการตามสัญญา ตามข้อ 139 ของระเบียบฯ  การบอกเลิก/ตกลงกันเลิกสัญญาหรือข้อตกลง ตามระเบียบฯ   ข้อ137  เป็นดุลยพินิจของหัวหน้าส่วนราชการ

การบริหารด้านการควบคุมพัสดุ  โดยการลงบัญชี/ทะเบียนควบคุมพัสดุ ตามระเบียบฯ ข้อ 151 การตรวจสอบพัสดุประจำปี ตามระเบียบฯ ข้อ 155 และ การจำหน่ายพัสดุ ตามระเบียบฯ ข้อ 157
2.  ระบบงาน e-GP
ข้อควรทราบ และควรระวังในการบันทึกในระบบ e-GP  ได้แก่
•ระบบ e-GP ไม่ได้ป้องกันเรื่องการดึงใบสั่งซื้อและเบิกจ่ายซ้ำ สามารถนำเลขที่โครงการและเลขคุมสัญญาในระบบ e-GP ไปเบิกจ่ายซ้ำ
•เลือกการเบิกจ่าย แหล่งของเงิน พรบ.งบประมาณ ไม่ถูกต้อง สามารถแก้ไขได้โดยไม่ต้องยกเลิกโครงการ
•คู่สัญญา/ผู้รับจ้าง หากยังไม่มีข้อมูลหลักผู้ขายในระบบ GFMIS จะไม่สามารถจัดทำร่างสัญญาในระบบ e-GP ได้
•กรณีเลือกสัญญามาตรฐานหน่วยงาน จะไม่สามารถย้อนกลับมาพิมพ์สัญญาในลูกบอลร่างสัญญาได้
•การเปิดเผยราคากลาง/ราคามาตรฐาน สำหรับงานจัดซื้อจัดจ้างประเภทอื่นที่ไม่ใช่งานก่อสร้าง ตามหนังสือ ว 179 ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2556)
ปัญหาที่พบมากในการบันทึกในระบบ e-GP
•การสร้าง /เพิ่มโครงการไม่ถูกต้อง
•บันทึกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีไม่ถูกต้อง เลือกประเภทผู้ค้าไม่ถูกต้อง
•บันทึกราคาไม่ถูกต้อง
•เลือกประเภทสัญญา/ใบสั่งซื้อจ้างไม่ถูกต้อง
•ระบุวันครบกำหนดส่งมอบงานไม่ถูกต้อง
•ดึงข้อมูลจากระบบ e-GP ไปสร้าง PO ใน Web online ไม่ได้
•ระบุแหล่งของเงิน  และพรบ.งบประมาณ ไม่ถูกต้อง

สรุป
การจัดซื้อจัดหาพัสดุนั้น ผลิตภัณฑ์ต้องสมรรถนะดี ทนทานเหมาะสมกับการใช้งาน สอดคล้องกับความต้องการ ซึ่งการปฏิบัติภารกิจด้านการพัสดุ ให้ถูกต้องสอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง อย่างไรก็ดี การดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว ต้องก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อราชการและหน่วยงานด้วย สะท้อนถึงความประหยัด และความเหมาะสมอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ความเชี่ยวชาญชำนาญการในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่พัสดุ หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จะสามารถพิจารณาทางเลือกในการดำเนินการที่เหมาะสมตามข้อกำหนดของกฎหมายและระเบียบ ตลอดจนการสนองนโยบายของผู้บริหารในทุกระดับในหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โครงการเสวนาทางวิชาการเรื่อง ทิศทางของเศรษฐกิจไทย ในปี 2557 และการลงทุนใน ASEAN

เล่าเรื่อง  : 1. นางสุรีพร ศิริขันตยกุล     ผู้อำนวยการสำนักการเงินการคลัง
         2. นายวรสิทธิ์ ประจันพล     นักวิชาการคลังชำนาญการ
         3. นางสาวจิตติสุดา สายมาลา นักวิชาการคลังชำนาญการ
หน่วยงาน :  สำนักการเงินการคลัง
หลักสูตรฝึกอบรม  :  โครงการเสวนาทางวิชาการเรื่อง ทิศทางของเศรษฐกิจไทย
ในปี 2557 และการลงทุนใน ASEAN
หน่วยงานผู้จัด  :  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร / โครงการฝึกอบรม
1) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการทำประโยชน์ให้แก่สังคม
2) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของภาคธุรกิจเอกชนให้สามารถเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน  เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
3) เพื่อเผยแพร่ ข้อมูล ความรู้ แนวทางปฏิบัติ ด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ตลอดจนประเด็นต่างๆ ที่สะท้อนสภาวะทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนแก่สมาชิกสมาคมสโมสรนักลงทุน นักธุรกิจ นักลงทุน และผู้สนใจทั่วไป

การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ : 
การเสวนาทางวิชาการเรื่อง ทิศทางของเศรษฐกิจไทยในปี 2557 และการลงทุนใน ASEAN มีผู้เข้าร่วมเสวนา 3 ท่าน ได้แก่
1) นางหิรัญญา สุจินัย ที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
2) ดร. สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึงสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
3) นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน)

โดยมีหัวข้อในการเสวนา ดังนี้
1) สถานการณ์เศรษฐกิจการค้าและการลงทุนของไทย
-สถานการณ์เศรษฐกิจโลก
ภายหลังประเทศสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ (Subprime mortgage crisis) หรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ในช่วงปี 2550 ต่อเนื่องถึงปี 2551 ทำให้รัฐบาลของสหรัฐอเมริกาต้องดำเนินมาตรการผ่อนคลายในเชิงปริมาณ หรือ Q.E. (Quantitative Easing) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยปัจจุบันสหรัฐอเมริกาได้ดำเนินมาตรการ Q.E. 3 และลดอัตราการซื้อพันธบัตรลง เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจและตลาดแรงงานสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เงินทุนไหลออกออกจากประเทศไทย และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเซียชลอตัวลง โดยเฉพาะประเทศจีน ประกอบกับผู้นำคนใหม่ของประเทศจีนมีนโยบายที่เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ไม่เน้นตัวเลขอัตราการเติบโต 2 หลักอย่างที่ผ่านมา รวมถึงการหาตลาดส่งออกใหม่
-สถานการณ์เศรษฐกิจไทย
-ภาคเกษตร แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการบริโภค (demand) ของประเทศจีนลดลง ประกอบกับวงจรราคาสินค้าเกษตรที่ผ่านมาอยู่ในช่วงขาขึ้นนานกว่าปกติ ส่งผลให้ช่วงขาลงจะลงอย่างรวดเร็ว
-ภาคอุตสาหกรรม แนวโน้มราคาน้ำมันโลกลดลง ราคาปรับตัวไม่เกิน 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล 
-การบริโภคในประเทศ มีอัตราการขยายตัวต่ำ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาภาระหนี้สินครัวเรือน ความต้องการบริโภคสินค้าคงทนลดลง ได้แก่ รถยนต์
-ภาคธนาคาร แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อลดลง และเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น 
-ภาคอสังหาริมทรัพย์ แนวโน้มการเติบโตชลอตัวลงเนื่องจากความเข้มงวดในการให้สินเชื่อมากขึ้น
-การลงทุน
จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า แนวโน้มมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมในช่วงปี พ.ศ. 2553 มีแนวโน้มสูงขึ้น และสูงที่สุดในปี พ.ศ. 2555 ที่ระดับ 1,182 พันล้านบาท ก่อนลดลงเหลือ 1,110 พันล้านบาท ในปี 2556 หรือคิดเป็นร้อยละ 6 โดยหมวดบริการและสาธารณูปโภคมีมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมสูงสุด 523 พันล้านบาท รองลงมาได้แก่ หมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง (ได้แก่ Eco Car) 254 พันล้านบาท โดยหมวดอุตสาหกรรมเบามีมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมต่ำสุด 16 พันล้านบาท 
โดยประเทศญี่ปุ่นมีมูลค่าการลงทุนสูงเป็นอันดับ 1 จำนวน 283 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54 ของมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด (FDI: Foreign Direct Investment) จำนวน 525 พันล้านบาท รองลงมาได้แก่ หมู่เกาะเคย์แมน (Cayman Island) มีมูลค่าการลงทุน 49 พันล้านบาท (เนื่องจากมีโครงการขนาดใหญ่จากสหรัฐอเมริกาและไต้หวันลงทุนผ่านหมู่เกาะเคย์แมน) ประเทศจีน 43 พันล้านบาท ประเทศมาเลเซีย 29 พันล้านบาท ประเทศสิงคโปร์ 23 พันล้านบาท และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง 20 พันล้านบาท 
2. ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในปี 2557
- ปัจจัยเฉพาะปี 2557
ปัจจัยบวก
ปัจจัยลบ
- การลงทุนจากญี่ปุ่นยังมีอย่างต่อเนื่อง
- อุตสาหกรรมหลักยังมีการลงทุนสูง เช่น ยานยนต์ รวมทั้ง Eco Car รุ่น 2 ประหยัดพลังงานทดแทน ขนส่งทางอากาศ แปรรูปเกษตร
- เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว การส่งออกดีขึ้น
- โครงการ Mega Projects ของรัฐบาล (หากมีการลงทุนเกิดขึ้น)
- อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ
- มาตรการส่งเสริมการลงทุนที่สำคัญจะสิ้นสุดปี 2557 (มาตรการ SMEs และมาตรการให้สิทธิพิเศษในนิคมฯ เขต 2 แหลมฉบัง และระยอง

- วิกฤติการเมืองส่งผลกระทบดังนี้
      - ความไม่ชัดเจของการปรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่
      - ความล่าช้าของ Mega Projects ทั้งโครงการ 2 ล้านล้านบาท และ 3.5 แสนล้านบาท
      - รัฐไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่
      - ผู้บริโภคในประเทศและนักท่องเที่ยว    ขาดความเชื่อมั่น
- ตลาดอิเล็กทรอนิกส์โลกยังไม่ฟื้นตัวดีนัก
- ความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ

- ปัจจัยพื้นฐาน
ปัจจัยบวก
ปัจจัยลบ
- การลงทุนเพื่อรองรับการรวมกลุ่ม AEC (+3   และ +6)
- ความพร้อมของอุตสาหกรรมสนับสนุนสำหรับอุตสาหกรรมหลัก เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ปิโตรเลียม
- ศักยภาพของไทยด้านการเกษตรและธุรกิจบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว บันเทิง การแพทย์และสุขภาพ
- นโยบายรัฐที่เปิดเสรีและเอื้อต่อการประกอบธุรกิจ
- อัตราภาษีเงินได้ที่ลดลงต่ำมาก
- Urbanization ช่วยเพิ่มอำนาจซื้อของชนชั้นกลาง และขยายโอกาสทางธุรกิจ

- ปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขันต่ำ โดยเฉพาะด้านการศึกษา และ S&T
- ขาดแคลนแรงงาน ปัญหาสหภาพแรงงาน  และต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มสูงขึ้น
- การต่อต้านของมวลชน และขาดพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมหนัก
- ขาดความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาว  และต้นทุนพลังงานสูงขึ้น
- ขาดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมานาน โดยเฉพาะขนส่งทางราง การขยายสนามบิน   และท่าเรือ เขื่อนและระบบชลประทาน
- ความเสี่ยงต่ออุทกภัยในพื้นที่อุตสาหกรรม
นอกจากนี้ รัฐบาลควรส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในด้านการบริหารจัดการและนวัตกรรม เน้นการใช้เทคโนโลยีในการบริหาร รวมถึงการหาตลาดภายนอกประเทศด้วย

3. ผลกระทบต่อการลงทุนของประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
- การชักจูงการลงทุนจากต่างชาติ
จุดแข็ง
จุดอ่อน
- ที่ตั้งของประเทศไทยอยู่ในตำแหน่งที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค
- ระบบคมนาคมและสาธารณูปโภคอยู่ในระดับที่ดี เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่ม
- ฐานการผลิตของอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น       ยานยนต์ ปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
- ความโดดเด่นของธุรกิจบริการ เช่น ท่องเที่ยว การแพทย์และสุขภาพ เป็นต้น
- ทักษะฝีมือของแรงงานไทยอยู่ในระดับที่ดี
- ขนาดของตลาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค เป็นรองเพียงแค่อินโดนีเซีย
- ระบบสถาบันการเงินที่มั่นคงและมีความเข้มแข็ง
- ค่าครองชีพต่ำ สภาพแวดล้อมน่าอยู่อาศัย

- ความสามารถในการใช้ภาษาต่างประเทศ     ของคนไทย
- ต้นทุนในการทำธุรกิจที่สูง เช่น ค่าจ้างแรงงาน ค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน เป็นต้น
- การขาดเสถียรภาพทางการเมืองและปัญหาคอรัปชั่น
- ผลิตภาพ (Productivity) และการวิจัย และพัฒนาอยู่ในระดับที่ต่ำ
- ขาดแคลนแรงงานและปัญหาเรื่อง Aging Society
- ปัญหาการละเมิดสิขสิทธิ์


- การลงทุนของไทยในภูมิภาคอาเซียน
จุดแข็ง
จุดอ่อน
- ความรู้และเทคโนโลยีในหลายอุตสาหกรรม มีความก้าวหน้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน
- การเชื่อมโยง Supply Chain กับอุตสาหกรรม   ในประเทศ

- ทักษะด้านภาษาของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs
- ขาดความรู้ ความเข้าใจ และข้อมูลที่จำเป็น  ในการทำธุรกิจในกลุ่ม AEC
- ขาดแคลนแหล่งเงินทุน
- ความสนใจของผู้ประกอบการไทยยังต่ำ
- การสนับสนุนจากภาครัฐยังไม่เพียงพอ เช่น  การเก็บภาษีซ้ำซ้อน การอำนวยความสะดวกและให้ข้อมูลแก่เอกชนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนใน AEC เป็นต้น

การร่างกฎหมายการให้ความเห็นทางกฎหมายและดำเนินคดีปกครอง รุ่นที่ 9


ผู้เล่าเรื่อง  :  นายโสภณ   พวงคุ้ม
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง  :  นิติกรชำนาญการ
หน่วยงาน :  สำนักมาตรฐานค่าตอบแทนและสวัสดิการ
หลักสูตรฝึกอบรม : การร่างกฎหมายการให้ความเห็นทางกฎหมายและดำเนินคดีปกครอง รุ่นที่ 9
หน่วยงานผู้จัด  :  สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร / โครงการฝึกอบรม
1) เพิ่มพูนความรู้ ทักษะด้านการยกร่างกฎหมายแก่นักกฎหมายของรัฐ
2) เพิ่มพูนความรู้ ทักษะด้านการให้ความเห็นทางกฎหมายแก่นักกฎหมายของรัฐ

การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ : ระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งในการฟ้องคดี

ในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองนั้น มีเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งที่ผู้ฟ้องคดีจะต้องให้ความสำคัญ เพราะอาจมีผลทำให้ศาลปกครองรับหรือไม่รับคดีนั้นไว้พิจารณา เงื่อนไขสำคัญดังกล่าวนั้นคือ ระยะเวลาในการฟ้องคดี
การฟ้องคดีต่อศาลปกครอง มีระยะเวลาในการฟ้องคดีที่แตกต่างกันจำแนกตามประเภทคดีได้ดังนี้ คือ
1. คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือกระทำการอื่นใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น กรณีผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเจ้าพนักงานท้องถิ่นปฏิเสธไม่ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือกรณีผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้บังคับบัญชามีคำสั่งลงโทษทางวินัยโดยไม่เป็นธรรม
ผู้ฟ้องคดีต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี
2. คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล้าเกินสมควร เช่นกรณีเจ้าพนักงานท้องถิ่นละเลยต่อหน้าที่ ไม่ตรวจตราและออกคำสั่งให้เจ้าของอาคารรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างหรือต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาต
ในกรณีที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่หน่วยงานละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร กรณีเช่นนี้จะเริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีตั้งแต่วันที่พ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงาน
หรือหากผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือชี้แจงจากหน่วยงานแต่เห็นว่าเป็นคำชี้แจงที่ไม่มีเหตุผล กรณีเช่นนี้จะเริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีตั้งแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือชี้แจง
3. คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่ง หรือจากการละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร เช่น การที่เจ้าพนักงานที่ดินออกคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายดังกล่าว หรือการฟ้องเรียกค่าทดแทนการเวนคืน หรือการรอนสิทธิจากการวางท่อประปา หรือตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูง เป็นต้น
ผู้ฟ้องคดีต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ระยะเวลา 1 ปีนั้น จะต้องไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี และจะต้องฟ้องภายในระยะเวลา 10 ปีนั้น
4. คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง เช่น ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างเอกชนก่อสร้างถนน สะพาน อาคารเรียน หรือ ข้อพิพาทเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าสัมปทานตามสัญญาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลน เป็นต้น
ผู้ฟ้องคดีต้องยื่นฟ้องภายใน 5 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีแต่ระยะเวลา 5 ปีนั้น จะต้องไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี และจะต้องฟ้องภายในระยะเวลา 10 ปีนั้น
5. คดีพิพาทเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เช่น การฟ้องคดี ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับหนองน้ำสาธารณะ
6. คดีพิพาทเกี่ยวกับสถานะของบุคคล เช่น การฟ้องคดีเกี่ยวกับสัญชาติของบุคคล
กรณี 5 และ 6 กฎหมายกำหนดไว้ว่าผู้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองเมื่อใดก็ได้
7. การฟ้องคดีปกครองที่ยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนดการฟ้องคดีแล้วถ้าศาลปกครองเห็นว่าคดีที่ยื่นฟ้องนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่น ศาลปกครองอาจรับไว้พิจารณาก็ได้