วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556

การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน


ผู้แบ่งปัน  นางสาวสุนทรี พลพงษ์  นักวิชาการคลังปฏิบัติการ                                                      
สำนักกำกับและพัฒนาระบบ GFMIS
หลักสูตรฝึกอบรม  การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
หน่วยงานผู้จัด  ศูนย์อาเซียนศึกษา  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC คืออะไร
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations : ASEAN) หรือ ประชาคมอาเซียน เป็นเป้าหมายการรวมตัวกันของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย  พม่า ลาว เวียดนาม  มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และ บรูไน  เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองและขีดความสามารถการแข่งขันของอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงให้อาเซียนมีความแข็งแกร่ง มีภูมิต้านทานที่ดี ในการรับมือกับปัญหาใหม่ๆ ระดับโลก
ประชาคมอาเซียน เปรียบกับการเป็นครอบครัวเดียวกันของประเทศสมาชิกอาเซียน ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2546 พร้อมกับมีการร่วมลงนามในปฏิญญาให้เป็นประชาคมเดียวกันให้สำเร็จภายใน พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) พร้อมกับมีการแบ่งประชาคมย่อยออกเป็น  3 ประชาคม หรือ 3 เสาหลัก ได้แก่
ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political and Security Community – APSC)
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economics Community – AEC)
ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (Asean Socio-Cultural Community – ASCC
เป้าหมายสำคัญของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC มี 4 ด้าน คือ
1. เป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน  (Single Market and Production Base)
2. สร้างขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ (High Competitive Economic Region)
3. สร้างความเท่าเทียมในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Equitable Economic Development)
4. การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก (Fully  Integrated  into  Global Economy)
 ทั้งนี้ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 10 ทุกประเทศย้ำความสำคัญของการดำเนินการต่างๆ เพื่อนำไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนภายในปี 2563 (ค.ศ. 2020) ซึ่งฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดการรวมตัวของอาเซียนให้เร็วขึ้น โดยอาจให้สำเร็จภายในปี 2555 (ค.ศ. 2012) และได้เสนอแนวทางต่างๆ เพื่อช่วยเร่งรัด  การรวมตัว เช่น การใช้วิธีการ Two plus X ซึ่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้เคยเสนอความจำเป็น และแนวทางนี้มาแล้วเมื่อวันที่  7 ตุลาคม 2546 ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 9 ที่บาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ก็ได้สนับสนุนข้อเสนอแนะของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีของไทย ที่ให้เร่งรัดการจัดตั้ง AEC ด้วย
การรวมกลุ่มสินค้าและบริการ 11 สาขานำร่อง
การรวมกลุ่มสินค้าและบริการ 11 สาขานำร่อง ถือว่าเป็นการเปิดเสรีด้านการค้าและบริการ
เพื่อส่งเสริมการแบ่งงานกันผลิตสินค้าและบริการภายในอาเซียนด้วยกัน โดยจะเน้นใช้วัตถุดิบภายในอาเซียนเป็นหลัก ตามความถนัด เนื่องจากแต่ละประเทศมีวัตถุดิบที่ไม่เหมือนกัน ถ้าจะให้ผลิตทุกอย่าง จะเป็นการเพิ่มต้นทุนสินค้าแบบเสียเปล่าสำหรับ 11 สาขานำร่องมี ดังนี้
1. สาขาผลิตภัณฑ์เกษตร      7. สาขาอิเล็กทรอนิกส์
2. สาขาประมง                      8. สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ
3. สาขาผลิตภัณฑ์ยาง          9. สาขาสุขภาพ
4. สาขาสิ่งทอ                      10. สาขาท่องเที่ยว
5. สาขายานยนต์                  11. สาขาการบิน
6. สาขาผลิตภัณฑ์ไม้
อย่างไรก็ตาม ภายหลังได้เพิ่มสาขาที่ 12 ได้แก่ สาขาโลจิสติกส์ เพื่อทำให้การขนส่งวัตถุดิบต่าง ๆ ทำได้สะดวกมากขึ้น
เมื่อแบ่งทั้ง 12 สาขา ตามประเทศที่รับผิดชอบ สามารถแบ่งได้ ดังนี้
1. พม่า สาขาผลิตภัณฑ์เกษตร และสาขาประมง
2. มาเลเซีย สาขาผลิตภัณฑ์ยาง และสาขาสิ่งทอ
3. อินโดนีเซีย สาขายานยนต์ และสาขาผลิตภัณฑ์ไม้
4. ฟิลิปปินส์ สาขาอิเล็กทรอนิกส์
5. สิงคโปร์ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ และสาขาสุขภาพ
6. ไทย สาขาการท่องเที่ยวและสาขาการบิน
7. เวียดนาม สาขาโลจิสติกส์
ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC
1. ขยายการส่งออกและโอกาสทางการค้าจากการยกเลิกอุปสรรคภาษีและที่มิใช่ภาษีจะเปิดโอกาสให้สินค้า  เคลื่อนย้ายเสรี
2. คาดว่าการส่งออกไทยไปอาเซียนจะสามารถขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 18 - 20% ต่อปี
3. เปิดโอกาสการค้าบริการ  ในสาขาที่ไทยมีความเข้มแข็ง  เช่น ท่องเที่ยว โรงแรมและร้านอาหาร  สุขภาพ  ทำให้ไทยมีรายได้จากการค้าบริการไปต่างประเทศเพิ่มขึ้น
4. สร้างเสริมโอกาสการลงทุน เมื่อมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้เสรียิ่งขึ้น อุปสรรคการลงทุนระหว่างอาเซียน จะลดลง อาเซียนจะเป็นเขตการลงทุนที่น่าสนใจทัดเทียมจีนและอินเดีย
5. เพิ่มพูนขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย เมื่อมีการใช้ทรัพยากรการผลิตร่วมกัน/เป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกับอาเซียนอื่น ทำให้เกิดความได้เปรียบเชิงแข่งขัน (Comparative Advantage) และลดต้นทุนการผลิต
6. เพิ่มอำนาจการต่อรองของไทยในเวทีการค้าโลก สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาคมโลก
7. ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ ผลการศึกษาแสดงว่า AEC จะทำให้รายได้ ทีแท้จริงของอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3  หรือคิดเป็นมูลค่า 69 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ผลกระทบของประเทศไทยจากการเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC
1. การเปิดตลาดเสรีการค้าและบริการย่อมจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันต่ำ
2. อุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในประเทศต้องเร่งปรับตัว
ข้อเสนอแนะในการเตรียมตัวของไทยสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC
แนวทางที่ประเทศไทยควรเตรียมพร้อมเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากมีการรวมตัว เป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC คือ ภาครัฐเองไม่ได้นิ่งนอนใจต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะกิจการ/อุตสาหกรรมที่ไม่มีความพร้อมในการแข่งขัน โดยแผนงานรองรับผลกระทบที่ได้มี การดำเนินงานมาแล้ว  ได้แก่
1. การจัดตั้งกองทุนเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรี ทางการค้า (ตามมติคณะรัฐมนตรี  เมื่อวันที่  8  พฤษภาคม  2550)  เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ผลิต และผู้ประกอบการสินค้าเกษตรแปรรูป  สินค้าอุตสาหกรรม  และบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าให้สามารถปรับตัวหรือปรับเปลี่ยนให้สามารถแข่งขันได้
2. มาตรการป้องกันผลกระทบก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอจัดทำกฎหมายซึ่งได้ผ่าน สภานิติบัญญัติออกมาเป็น พรบ. มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard  Measure)  ซึ่งหากการดำเนินการตาม AEC Blueprint  ก่อให้เกิดผลกระทบก็สามารถนำกฎหมายนี้มาใช้ได้
3. การจัดตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินการตามแผนงานไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ตามคำสั่ง กนศ. ที่ 1/2550  ลงวันที่  14  มิถุนายน  2550)  เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนงานและเตรียมการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในการดำเนินงานไปสู่การเป็น AEC โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน

ที่ปรึกษาสร้างองค์กรแห่งความสุขด้วย Happy Workplace โครงการสร้างเสริมสุขภาวะองค์กร


ผู้แบ่งปัน    นางสาวรัตน์วดี  ภัทรวิศรุต  นักจัดการงานทั่วไปปฏิบัติการ
สำนักงานคลังเขต 1
เรื่อง ที่ปรึกษาสร้างองค์กรแห่งความสุขด้วย Happy Workplace โครงการสร้างเสริมสุขภาวะองค์กร
หน่วยงานผู้จัด   สภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
การสร้างองค์กรแห่งความสุขและสร้างทีมที่เข้มแข็งด้วย Happy Workplace องค์กรแห่งความสุข
แนวปฏิบัติและหลักการสร้างองค์กรแห่งความสุข
ความจริงวันนี้ ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมที่ยากจะควบคุม รวมทั้งความก้าวหน้าใน การสื่อสารทำให้โลกแคบลงเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายต่อการดำเนินธุรกิจขององค์กร องค์กรวันนี้จึงเหมือนกับภูเขาน้ำแข็งกลางทะเลที่ถูกความรุนแรงของคลื่นลมและกระแสน้ำ กัดเซาะตลอดเวลา ทำให้ภูเขาน้ำแข็งไม่ว่าจะใหญ่โตเพียงใด ก็ย่อมหนีความจริงของธรรมชาติไม่พ้นคือ ค่อยๆ ละลายลงและสูญสลายไปในที่สุด จึงไม่มีองค์กรที่ยิ่งใหญ่ค้ำฟ้า ไม่มีองค์กรอมตะ ดังนั้น เพื่อที่องค์กรจะต้องอยู่ได้นานที่สุด จึงต้องปรับตัวให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่เผชิญอยู่และที่จะเข้ามาในอนาคต องค์กรจึงต้องมุ่งสู่การสร้างความเข้มแข็งขององค์กรผ่านการทำงานด้วยความสุข
องค์กรแห่งความสุขเพราะคนมีความสุขและรักองค์กร
เรื่องความสุขของคนทำงาน ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ วิจัยพบว่าพนักงานส่วนใหญ่ ยังรู้สึกว่าตัวเองความมีสุขในการทำงาน แต่เมื่อเทียบระหว่างความสุขในการทำงานกับความสุขนอกที่ทำงาน พบว่าความสุขนอกที่ทำงานมากกว่าในที่ทำงาน แต่ที่มากกว่านั้น พบว่าวันนี้พนักงานส่วนใหญ่รู้สึกว่า ตนเองมีความสุขที่ยังมีงานทำ มีความก้าวหน้าในการทำงาน มีเพื่อนร่วมงาน และมีหัวหน้างาน มากกว่าความสุขที่ได้ทำงานในองค์กรนี้ องค์กรทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้น องค์กรมีธรรมาภิบาล และมีความรับผิดชอบต่อสังคม หมายความว่าวันนี้พนักงานหรือคนในองค์กรส่วนใหญ่ยัง "รักตนเองมากกว่าองค์กร"นี่คือความท้าทายอย่างยิ่งในการดำเนินการสร้างองค์กรแห่งความสุขจากพื้นฐานของคนมีความสุข ทำอย่างไรให้คนรักองค์กร เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรและมุ่งมั่นไปกับองค์กร เพราะองค์กรเปรียบเหมือนบ้านหลังที่ 2 ของทุกคน องค์กรถึงจะเป็นองค์กรแห่งความสุขอย่างแท้จริง
การสร้างความเป็นเลิศให้องค์กร
องค์กรแห่งความเป็นเลิศ ของ Lawrence M. Miller จากบัญญัติ 8 ประการ มีอยู่ 3 ประการ ที่สำคัญ คือ
1. คุณต้องมีความเชื่อใจในการทำงานร่วมกัน (Happy)
2. คุณต้องมีความรู้ใหม่ๆ ในการทำงานร่วมกัน (Creativity)
3. คุณต้องมีกระบวนการทำงานเป็นทีมร่วมกัน (Teamwork)
องค์กรแห่งความเป็นเลิศเป็นการสร้างองค์กรเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดของการดำเนินธุรกิจขององค์กร แต่การจะเป็นเลิศที่แท้จริงได้ล้วนมาจากคนที่ร่วมกันเป็นทีมมุ่งมั่นร่วมกัน เป็นทีมที่มีความสุขและ มีพลังในการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้คือหัวใจขององค์กรแห่งความสุข
Happy workplace = Teamwork + Happy + Creativity
เพื่อสร้างองค์กรแห่งความสุข จึงต้องมีระบบการจัดการคนเพื่อให้เกิดทีมในฝัน (Dream Team) คือทีม  ที่มีคนทำงานด้วยความสุขมีความมุ่งมั่น สวยงามเป็นระเบียบ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความก้าวหน้าและพัฒนาขององค์กรอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่องค์กรแห่งความสุขอย่างแท้จริง ซึ่งประกอบด้วยบัญญัติสามประการ คือ
1. เป็นองค์กรที่มีการทำงานเป็นระบบทีม (Teamwork)
2. เป็นองค์กรที่มีความสุขในการทำงานร่วมกัน (Happy 8)
3. เป็นองค์กรที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการอยู่ร่วมกันและมีการพัฒนาร่วมกัน (Creativity)
คนสำคัญ จุดเริ่มต้นขององค์กรแห่งความสุข
จุดเริ่มต้นขององค์กรแห่งความสุข คือการเพิ่มคุณค่าของคนให้เป็นคนสำคัญ เมื่อคนมีคุณค่ามากขึ้นเป็นคนสำคัญขององค์การ การพัฒนาคนจึงต้องสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กร กระบวนการทั้งหมดเราเรียกว่า กระบวนการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในองค์กร สิ่งแรกที่องค์กรต้องทำคือต้องปรับทัศนคติ เปลี่ยนมุมมองต่อคนขององค์กร เพื่อให้เกิดความคิดใหม่ๆ ในการอยู่ร่วมกัน และการพัฒนาองค์กร ให้มีความสุขจากการมาทำงาน
โดยการสร้างกระบวนการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานที่เหมาะสมกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจของ   แต่ละองค์กร เพื่อที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการอยู่ร่วมกันของคนในองค์กร นำไปสู่การเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจขององค์กร ทำให้องค์กรมีความสามารถพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทั้งหมดนี้  ก็คือ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรของตนเอง เพื่อให้เป็นองค์กรที่มีความยั่งยืน เป็นองค์กรที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นองค์กรแห่งความสุขที่แท้จริง
Happy workplace องค์กรแห่งความสุข
Happy workplace หรือองค์กรแห่งความสุข ก็คือกระบวนการพัฒนาคนในองค์กรอย่างมีเป้าหมาย และยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กรเพื่อให้องค์กรมีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงนำพาองค์กรไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
องค์กรแห่งความสุข “คนทำงานมีความสุข ที่ทำงานน่าอยู่ ชุมชนสมานฉันท์"
Happy People - Happy home - Happy teamwork
คนทำงานมีความสุข Happy people คือ ต้องรู้ว่าคนเป็นบุคลากรที่สำคัญขององค์กร มีความเป็น    มืออาชีพ มีความเป็นอยู่ มีครอบครัวที่อบอุ่น มีศีลธรรมอันดีงาม และเอื้ออาทรต่อตนเองและสังคม คนทำงานมีความสุข เพราะมีสุขภาพกายและจิตใจที่ดี มีความมั่นคงในชีวิต ด้านการงาน เศรษฐกิจ และสังคม และนำไปสู่ความสุขในการทำงาน
ที่ทำงานน่าอยู่ Happy Home (House+Human(คน)+ Happy(ความสุข) = Home) ก็ต้องทำให้ที่ทำงานเป็นเหมือนบ้านหลังสองของพนักงาน ปัญหาความขัดแย้งเรื่องงานลดลง มีความรักและสามัคคี          ในองค์กร
ชุมชนสมานฉันท์ Happy Team work ต้องมีความสามัคคีในการทำงานเป็นทีม ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และเอื้ออาทรกับสังคมรอบข้าง
งาน HR วันนี้ต้องมุ่งทำให้คนมีความสุขในการทำงานร่วมกัน
การจัดการทรัพยากรมนุษย์ไม่จำกัดแต่เรื่องการคัดคนการจัดคนต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่“Human Relationship to Happy Relationship” คือ มุ่งสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของคนในองค์กรนำไปสู่การอยู่ร่วมกันทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข งานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงต้องใช้ความคิดสร้างสวรรค์ในการทำงานมากขึ้น นำไปสู่ทุกคนต้องมี “HR Mind” คือมีความตระหนักและสามารถในการบริหารจัดการคนได้
“สมดุลของชีวิต” จุดเปลี่ยนสู่องค์กรแห่งความสุข
การจัดการทรัพยากรมนุษย์ต้องสามารถทำให้คนในองค์กรเข้าใจคำว่า “สมดุลของชีวิต” เพราะมนุษย์ไม่ได้เก่งอย่างเดียว แล้วจะสามารถทำงานได้ดี จะต้องมี “Work Skill” คือทักษะการทำงานที่ดี และจะต้องมี “Life skill” คือ ทักษะการใช้ชีวิตที่ดี ควบคู่กันไป พูดง่ายๆ คือมี IQ และ EQ สมดุลกัน ทำให้สามารถบริหารความสามารถในการทำงานและการชีวิตของตนเองได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น องค์กรต้องเพิ่มคุณค่าของคนให้เกิดความสามัคคีทำงานเป็นทีม มุ่งให้เกิดความสุขในการอยู่ร่วมกัน มีความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานร่วมกัน  เป็นองค์กรที่มีการทำงานเป็นระบบทีม (Teamwork) เป็นองค์กรที่มีความสุขในการทำงานร่วมกัน (Happy B) และเป็นองค์กรที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการอยู่ร่วมกัน และมีการพัฒนาร่วมกัน (Creativity)
วัฒนธรรมองค์กรแห่งความสุข
การให้ความสำคัญกับคน มีนโยบายและกิจกรรมสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่แท้จริง นำไปสู่องค์กรแห่งความสุขจากพื้นฐานให้ .”คนเป็นคนสำคัญ” และมีขบวนการหรือรูปแบบ   ที่เหมาะสมกับองค์กรของตนเอง ให้เกิดการทำงานเป็นทีมและมีความสุขในการทำงาน ให้คิดถึงองค์กรและส่วนรวม เกิดเป็น Teamwork, Happy และ Creativity
บทบาทหน้าที่ของคนในองค์กรกับการสร้างองค์กรแห่งความสุข
ผู้บริหารจะต้องรับรู้ เข้าใจ และสนับสนุนหัวหน้างานขึ้นไปต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถปฏิบัติได้ พนักงานจะต้องรับรู้ เข้าใจ ในการเปลี่ยนแปลงขององค์กรและ มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
เมื่อเป็นผู้นำของทีมแล้วทุกคนจะต้องมี “HR Mind” คือ มีความรู้ความเข้าใจพร้อมที่จะบริหารจัดการคนในทีม ดูแลคนในทีมได้ และบริหารตนเองได้ โดยองค์กรต้องสร้างรูปแบบผู้นำให้เหมาะสมสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กรเพื่อสร้างความยั่งยืนของการพัฒนาคนในองค์กรนำไปสู่องค์กรเข้มแข็งและมีความสุขอย่างแท้จริง สร้างสายใยของวัฒนธรรมขององค์กรและสร้างจุดเชื่อมต่อวัฒนธรรมที่มีความสุข ให้เกิดวัฒนธรรมแห่งความสุข
ดังนั้นกิจกรรมต่างๆ ที่องค์กรทำอยู่ก็เพื่อสร้างความสุขให้กับทุกคนในองค์กร และจะกลายเป็นองค์กรที่มีความสุขอย่างแท้จริง โดยสร้างความเป็นหนึ่ง การรวมกันให้เป็นทีมเดียวกัน จะทำให้เกิด Team work และเป็น Team work ที่มีความสุข และมีความคิดสร้างสรรค์ที่ทำให้เกิดองค์กรพัฒนาและยั่งยืน




การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขยายผลระบบการบริหารจัดการกำลังคนคุณภาพ สำหรับข้าราชการไทย (ระบบข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง)


ผู้แบ่งปัน   นายชวยศ  จุยประเสริฐ  นักทรัพยากรบุคคลปฏิบัติการ   
กองการเจ้าหน้าที่
เรื่อง  การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขยายผลระบบการบริหารจัดการกำลังคนคุณภาพ  สำหรับข้าราชการไทย (ระบบข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง)
หน่วยงานผู้จัด  สำนักงาน ก.พ. 

ระบบข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง หรือ HiPPs (Performance & Potential system)   เป็นระบบบริหารทรัพยากรบุคคลที่สำนักงาน ก.พ. พัฒนาขึ้นเพื่อสร้างความพร้อมให้กับข้าราชการ  ผู้มีศักยภาพสูงอย่างเป็นระบบ โดยเน้นที่การเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง (Workplace Learning) พร้อมกลไกการสับเปลี่ยนหมุนเวียนงาน การสอนงาน และการเรียนรู้ผ่านการฝึกอบรม เพื่อให้ข้าราชการกลุ่มดังกล่าวได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ ส่งผลให้สามารถดำรงตำแหน่งในระดับสูงได้อย่างมีคุณภาพ   ในเวลาที่เหมาะสม โดยระบบ HiPPs เป็นระบบที่มุ่งพัฒนาข้าราชการในระดับปฏิบัติการ (ระดับ 4 – 5 เดิม) ให้เป็นข้าราชการระดับชำนาญการพิเศษ (ระดับ 8 เดิม) ที่มีคุณภาพสูง ได้ในเวลาเพียง 7 – 8 ปี โดยกำหนดระบบที่มีกลไกการคัดกรองอย่างเข้มข้น ซึ่งข้าราชการผู้สมัครเข้าสู่ระบบนี้จะต้องผ่านการคัดเลือกจากส่วนราชการต้นสังกัด และสำนักงาน ก.พ. เพื่อให้มั่นใจได้ว่าข้าราชการผู้นั้นมีคุณภาพ และคุณสมบัติของข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูงได้ ทั้งนี้ส่วนราชการแห่งหนึ่งจะมีข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูงได้ไม่เกิน   ร้อยละ 1 ของจำนวนข้าราชการทั้งหมด
วัตถุประสงค์หลักของระบบ HiPPs โดยหลักมีดังนี้
1. เพื่อดึงดูด และรักษาคนดี คนเก่งมีผลงานเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะให้อยู่ในส่วนราชการ
2. เพื่อพัฒนาข้าราชการพลเรือนให้เป็นผู้มีศักยภาพสูงอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ
3. เพื่อเตรียมผู้นำที่มีคุณภาพ และประสบการณ์ในจำนวนที่เพียงพอสำหรับการเป็นนักบริหารระดับสูง
โดยระบบ HiPPs มีเครื่องมือสำคัญที่ช่วยกำหนดแนวทางการพัฒนา คือ กรอบการสั่งสมประสบการณ์ (Experience Accumulation Framework : EAF) โดยเครื่องมือดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้น   เพื่อช่วยกำหนดแนวทางการพัฒนา การสับเปลี่ยนหมุนเวียนงาน การมอบหมายงาน และกำหนดเส้นทางอาชีพไว้อย่างกว้างๆ ซึ่ง EAF จะกำหนดงานและภารกิจที่สำคัญขององค์กร ที่ข้าราชการในระบบ HiPPs จำเป็นต้องเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม และเชื่อมโยงกับสมรรถนะ ทักษะที่ข้าราชการในระบบ HiPPs จะต้องพัฒนาควบคู่กันไประหว่างปฏิบัติราชการตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย โดยอาจจะกล่าวได้ว่ากรอบการสั่งสมประสบการณ์ หรือ EAF นั้น เป็นเสมือนกับเข็มทิศในการพัฒนาบุคลากรที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไปในแต่ละองค์กร
ในส่วนของขั้นตอนการดำเนินของระบบ HiPPs ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนโดยหลัก ดังนี้
1. ขั้นตอนการเตรียมการ และการทบทวนระบบ HiPPs ของส่วนราชการ ในขั้นนี้ ส่วนราชการจะดำเนินการทบทวนผลการดำเนินการในปีที่ผ่านมา และพิจารณาว่าจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนในรายละเอียดของกรอบการดำเนินการภายใต้ระบบ HiPPs และกรอบการสั่งสมประสบการณ์หรือไม่
2. ขั้นตอนการคัดเลือกเข้าสู่ระบบ HiPPs  ขั้นตอนนี้ เป็นการคัดเลือกข้าราชการเพื่อเข้าสู่ระบบ HiPPs โดยส่วนราชการ  จะดำเนินการคัดเลือกในเบื้องต้นและเสนอรายชื่อข้าราชการผู้ผ่านการคัดเลือกไปยังสำนักงาน ก.พ. เพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกในขั้นตอนสุดท้ายต่อไป
3. ขั้นตอนการพัฒนา  เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด โดยข้าราชการที่เข้าสู่ระบบ HiPPs จะถูกมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในกรอบสั่งสมประสบการณ์ และเสริมด้วยกลไกการพัฒนาอื่นๆ ซึ่งถูกจัดทำเป็นแผนพัฒนาเฉพาะรายบุคคล (Individual Development)
โอกาสในการพัฒนาของข้าราชการที่ได้รับคัดเลือกเข้าสู่ระบบ HiPPs 
1. โอกาสการพัฒนาและเส้นทางความก้าวหน้าที่กำหนดเอาไว้อย่างชัดเจน ภายใต้กรอบการสั่งสมประสบการณ์ โดยข้าราชการระดับปฏิบัติการ (ระดับ 4 เดิม) จะสามารถเลื่อนเพื่อดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการพิเศษ (ระดับ 8 เดิม) ได้ในระยะประมาณ 7 – 8 ปี 
2. โอกาสในการได้รับมอบหมายงานที่มีความท้าทายและเหมาะสมกับศักยภาพ  และการสร้างเครือข่าย (Networking)
3. โอกาสในการพัฒนาเพิ่มเติมทักษะ ความรู้ ความสามารถ ในหลากหลายรูปแบบ  เช่น การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) การพัฒนาตนเองตามแนวทางที่กำหนด (Self directed Development) และการฝึกอบรมที่ดำเนินการโดยสำนักงาน ก.พ. และส่วนราชการต่างๆ  และคณะทำงานพิเศษ เป็นต้น
4. โอกาสในการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษ ด้วยโควตากลางที่  คณะรัฐมนตรีอนุมัติ
ในส่วนของกรมบัญชีกลางได้ดำเนินการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกไว้ ดังนี้
1. เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการหรือระดับชำนาญการ
1.1 กรณีบรรจุและแต่งตั้งด้วยคุณวุฒิปริญญาตรีหรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกัน ต้องมีอายุราชการไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือ
1.2 กรณีบรรจุและแต่งตั้งด้วยคุณวุฒิปริญญาโทหรือปริญญาเอก หรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกัน ต้องมีอายุราชการไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือ
1.3 กรณีได้รับคุณวุฒิปริญญาโทหรือปริญญาเอกที่ตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งเพิ่มขึ้น ต้องมีอายุราชการไม่น้อยกว่า 1 ปี
2. ต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการในกรมบัญชีกลางอย่างน้อย 1 ปี
3. มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ เป็นที่ยอมรับของผู้บังคับบัญชา และเพื่อนร่วมงาน และมีผลการปฏิบัติราชการ โดยเฉลี่ยในระดับดีมากขึ้นไป
4. มีความรู้ และทักษะทางภาษาอังกฤษในระดับดีมาก และทางคอมพิวเตอร์ในระดับที่ใช้งานได้ดี 
5. เป็นผู้ที่มีศักยภาพที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนา
6. เป็นผู้มีความประพฤติดี ปฏิบัติตนอยู่ในจรรยาและระเบียบวินัย
ทั้งนี้ จะต้องผ่านการทดสอบภาษาอังกฤษ ซึ่งมีผลคะแนนดังนี้
-  ผลคะแนนภาษาอังกฤษ CU-TEP จากศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ไม่ต่ำกว่า ๖๐ คะแนน หรือ
-  ผลคะแนนภาษาอังกฤษ TOEFL ไม่ต่ำกว่า 500 คะแนน (paper-based) หรือ ๑๗๓ คะแนน (Computer- based) หรือ ๖๑ คะแนน (internet- based) หรือ
-  ผลคะแนนภาษาอังกฤษ IELTS ไม่ต่ำกว่าระดับ 6 หรือ
-  ผลคะแนนภาษาอังกฤษของสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ (DVIFA) ประเภท Practical Test ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60
ซึ่งผลคะแนนข้างต้น  จะต้องมีอายุไม่เกิน 2 ปี นับถึงวันที่สมัครเข้ารับการคัดเลือกเข้าสู่ระบบ HiPPs
ประกอบกับการทดสอบสมรรถนะและความรู้ความสามารถพื้นฐาน ด้วยการนำเสนอผลงานในงานที่ตนเองปฏิบัติเพื่อเชื่อมโยงแผนยุทธศาสตร์ของหน่วยงาน และสัมภาษณ์ โดยคณะกรรมการ   จะพิจารณาประเมินศักยภาพ สมรรถนะจากประวัติในใบสมัครและเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง 
ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นกระบวนการคัดเลือกข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูงของกรมบัญชีกลางที่ดำเนินการคัดเลือกภายในอย่างเข้มข้น ก่อนส่งผลการคัดเลือกข้าราชการที่ผ่านเกณฑ์เบื้องต้นไปยังสำนักงาน ก.พ. เพื่อทดสอบสมรรถนะ และความรู้ ความสามารถในระดับสูงต่อไป