ผู้เล่าเรื่อง : นางสาวมนพร เบญจพร..
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง : นักวิชาการคลังปฏิบัติการ
หน่วยงาน : สำนักมาตรฐานค่าตอบแทนและสวัสดิการ
ความรู้ที่แบ่งปันในเรื่อง : งานได้ผล คนเป็นสุข (โดย รศ.นงลักษณ์ สุทธิวัฒนพันธ์)
หลักคิดและแนวทางปฏิบัติในการทำงานให้ได้ผลและคนทำงานมีความสุข แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ประกอบด้วย
๑. งานได้ผล/ความสำเร็จในการทำงาน
การทำงานให้ได้ผล/ประสบความสำเร็จนั้น ต้องอาศัยหลักการหรือกฎแห่งความสำเร็จ ๑๕ ประการ ได้แก่
(๑) มีเป้าหมายที่สำคัญและแน่นอน
(๒) มีความเชื่อมั่นในตนเองว่าจะบรรลุเป้าหมายนั้นได้
(๓) มีนิสัยประหยัดอดออม
(๔) มีความคิดริเริ่มและมีความเป็นผู้นำ
(๕) มีจินตนาการ
(๖) มีความกระตือรือร้น
(๗) มีความฉลาดทางอารมณ์ ควบคุมตนเองได้
(๘) นิสัยทำงานเกินเงินเดือน
(๙) บุคลิกภาพต้องตาต้องใจ
(๑๐) ความคิดถูกต้องเที่ยงตรง
(๑๑) มีความมุ่งมั่น ใจจดจ่อกับสิ่งที่ทำ
(๑๒) มีความสามัคคี
(๑๓) การเอาประโยชน์จากความล้มเหลว ผิดพลาด
(๑๔) ความใจกว้าง ยอมรับผู้อื่น
(๑๕) การใช้กฎทองคำ (คือ จงปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่ท่านอยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อท่าน)
๒. จริยธรรมในการปฏิบัติราชการ/การทำงาน
จริยธรรม หมายถึง แนวทางความประพฤติและปฏิบัติเพื่อความถูกต้องดีงามในสังคม ซึ่งเกี่ยวพันโดยตรงกับศีลธรรมอันเป็นคำสอนของศาสนาที่สังคมนั้นๆ มีอยู่ ส่วนคุณธรรม เป็นมาตรฐานค่านิยมของสังคมที่ให้คุณค่าเป็นสิ่งดีงาม ซึ่งมักเกี่ยวกับความเชื่อในคำสอนของศาสนา
จริยธรรมของข้าราชการคือการทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นผู้รักษาประโยชน์ของส่วนรวม
โดยแบ่งออกเป็น ๒ ประเด็น ได้แก่
(๑) จริยธรรมต่อส่วนรวมในแง่สถาบัน คือ การมุ่งทำงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ดังนั้น พฤติกรรมในการทำงานจึงแยกออกเป็น
สัมพันธภาพกับสังคมภายนอก
- ตอบสนองความต้องการของประชาชน
- อิทธิพลของสังคมที่มีต่อมาตรฐานศีลธรรมของข้าราชการ
สัมพันธภาพในวงการบริหารราชการ
- การปกครองบังคับบัญชาแบบประชาธิปไตย
- พฤติกรรมการบริหารงาน
(๒) จริยธรรมต่อส่วนรวมในแง่บุคคล พิจารณาได้ ๒ ประเด็น
- ความคิดของบุคคลเกี่ยวกับความเข้าใจและทัศนคติในเรื่องศีลธรรมโดยทั่วไปของข้าราชการแต่ละคน ทัศนคติที่มีต่องานของรัฐในรูปของการยอมรับความสำคัญเรื่องส่วนรวม การยอมรับนโยบายของรัฐที่กำหนดขึ้นแล้ว การยอมรับแบบแผนการดำเนินงานของรัฐ ทัศนคติที่ดีต่องานของรัฐ โดยส่วนร่วมและหน้าที่เฉพาะในส่วนของตน
- จิตใจของบุคคล หมายถึง คุณธรรมประจำใจ คุณความดีในใจ จะเป็นแนวทางให้การปฏิบัติงานข้าราชการดำเนินไปอย่างมีคุณธรรม เช่น กล้าตัดสินใจเพื่อประโยชน์ส่วนรวมแทนการรักษาประโยชน์ส่วนตนหรือกลุ่ม
๓. การทำงานอย่างมีความสุข
คนเราจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ถ้ามีความสุขและความพอใจในการทำงาน แต่บางครั้งอาจต้องทำงานที่ไม่ชอบ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็จงชอบงานที่ต้องรับผิดชอบ เพราะผลงานเป็นตัวประเมินหรือตัวชี้วัดถึงความรับผิดชอบและความสามารถของผู้ปฏิบัติงานนั้น
ข้อคิดและวิธีปฏิบัติของคนทำงาน เพื่อให้งานได้ผลคนเป็นสุข มีดังนี้
(๑) เส้นทางสู่ความสุขในชีวิต ก่อนที่จะทำงานอย่างมีความสุข คนเราควรดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขด้วยวิธีคิดและการปฏิบัติตน ดังนี้
(๑.๑) จงเป็นตัวของตัวเอง อย่าเลียนแบบใคร
(๑.๒) ค้นหาตัวเองให้พบ เพื่อแก้ไขข้อบกพร่อง และนำคุณสมบัติที่ดีในตัวมาใช้ให้เป็นประโยชน์
(๑.๓) สร้างนิสัยที่ดีงามในการทำงาน
(๑.๔) ขจัดความเบื่อหน่าย ความเครียด ความวิตกกังวล และความหงุดหงิด
(๑.๕) พักผ่อนให้เพียงพอ
(๑.๖) พอใจงานที่ทำและมีความสุข - สนุกกับงาน
(๒ เคล็ดลับสู่ความสุขและความสำเร็จในการทำงาน การทำงานให้มีความสุขและความสำเร็จนั้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีเคล็ดลับดังต่อไปนี้
(๒.๑) มองโลกและมองคนในแง่ดี
(๒.๒) ดูแลตัวเองให้ดูดีอยู่เสมอ
(๒.๓) ถือว่าการเรียนรู้เป็นเรื่องสำคัญตลอดชีวิต
(๒.๔) เป็นคนใจกว้างยอมรับข้อบกพร่องของตนเอง
(๒.๕) เป็นผู้ที่มีน้ำใจต่อผู้อื่น
(๒.๖) รู้จักถนอมน้ำใจและเกรงใจผู้อื่น
(๒.๗) เป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย
(๒.๘) อย่าหัดเป็นคนคิดมากจนเกินการณ์
(๓) ความสุขในการทำงาน คนเราจะทำงานอย่างมีความสุข ถ้ามีความคิดดังต่อไปนี้
(๓.๑) มีความกระตือรือร้น
(๓.๒) มีเป้าหมายในการทำงานเต็มที่
(๓.๓) รักองค์กร
(๓.๔) ภาคภูมิใจในองค์กรที่ตนทำงานอยู่
(๓.๕) มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
(๓.๖) พอใจชีวิต
(๓.๗) ใช้ชีวิตอย่างมีศิลปะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น