ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง : นิติกรปฏิบัติการ
หน่วยงาน : สำนักกฎหมาย
หลักสูตรฝึกอบรม : โครงการสัมมนา TU – ASEAN Forum ครั้งที่ 10 เรื่อง “อาเซียน ไทย และมหาอำนาจในยุคแห่งการปฏิรูป”
หน่วยงานผู้จัด : ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร / โครงการฝึกอบรม
1. เพื่อเพิ่มองค์ความรู้เกี่ยวกับอาเซียนในประเด็นต่าง ๆ
2. เพื่อให้ทราบถึงยุทธศาสตร์ และเป้าหมายของประเทศมหาอำนาจ อาเซียน และไทย ในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ : ความสัมพันธ์อาเซียน ไทย กับ สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่นในสมัยสงครามเย็น สหรัฐอเมริกาดำเนินยุทธศาสตร์การต่อต้านคอมมิวนิสต์ ความสัมพันธ์ไทย – สหรัฐอเมริกา เป็นไปในลักษณะที่ไทยเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มที่
ต่อมาเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง เมื่อประมาณ 20 ปี ที่ผ่านมา สถานการณ์ในภูมิภาคได้เปลี่ยนไปอย่างมาก โดยมีการผงาดขึ้นมาของ 3 ผงาด ซึ่งส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อภูมิภาคและต่อสหรัฐอเมริกา คือ
ผงาดที่ 1 คือ การผงาดขึ้นมาของจีน (The sise of China)
ผงาดที่ 2 คือ การผงาดขึ้นมาของเอเชีย (The rise of Asis) เพราะว่าเอเชียกำลังจะกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลก จึงเห็นได้ว่า จีนกำลังผงาด และเกาหลี อินเดีย อาเซียน ญี่ปุ่น ล้วนแล้วเป็นประเทศที่อยู่ในเอเซียทั้งหมด
ผงาดที่ 3 คือ การผงาดขึ้นมาของอาเซียน (The rise of ASEAN)
ดังนั้น จะเห็นว่าในเอเชียมีแต่การผงาดขึ้นมา ในทางตรงกันข้ามตะวันตกจะมีแต่การเสื่อมลงหรือตกต่ำลง หรืออาจจะกล่าวได้ว่า เอเชียกำลังเป็นช่วงขาขึ้น ในขณะที่ตะวันตกกำลังเป็นช่วงขาลง จากบริบทดังกล่าวทำให้ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์จีน – อาเซียน จึงกระชับแน่นแฟ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้จีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของอาเซียนและของไทยด้วย ในเรื่องของการท่องเที่ยว การลงทุน โครงสร้างพื้นฐาน สร้างถนน รถไฟ ฯลฯ
จากการพัฒนาดังกล่าวจึงทำให้สหรัฐอเมริกากังวลใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าอิทธิพลของตนในภูมิภาคกำลังจะเสื่อมลง และจะไม่ได้เป็นอันดับหนึ่งอีกต่อไป ดังนั้น ในสมัยรัฐบาลโอบามา ในช่วง 6 ปี ที่ผ่านมาได้วิเคราะห์สถานการณ์และได้ข้อสรุปว่าต้องปรับนโยบายและยุทธศาสตร์ใหม่ ต่อภูมิภาค 4 ยุทธศาสตร์
ดังนี้
1. ความต้องการครองความเป็นเจ้าในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านทหาร เศรษฐกิจ
2. การสกัดกั้น (ถ่วงดุล/ปิดล้อม) การขยายอิทธิพลของจีน
3. การป้องกันไม่ให้ประเทศในเอเชียรวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐอเมริกา
4. เรื่องผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจต่อภูมิภาค
เอเชียจะกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก ดังนั้น ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจึงอยู่ที่เอเชีย จึงเห็นได้ว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 สหรัฐอเมริกาพยายามจะกลับมาโดยมีการเข้าร่วมประชุมสุดยอดกับอาเซียนครั้งแรก เพราะมองว่าอาเซียนกลายเป็นกลุ่มประเทศที่สำคัญที่สุดในภูมิภาค เป็นองค์กรที่สำคัญที่สุดในภูมิภาค เนื่องจาก GDP ของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนรวมกันมีมูลค่า 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คืออันดับ 9 ของโลก
สำหรับไทย ในช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกากำลังกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียนมากขึ้นนั้น เป็นช่วงเวลาที่ไทยกำลังตกต่ำ วุ่นวายและมีการรัฐประหารในปี ค.ศ. 2006 ทำให้สหรัฐอเมริกาหยุดความสัมพันธ์กับไทย เพราะเป็นกติกา ที่สหรัฐอเมริกาจะไม่เจรจากับรัฐบาลทหาร ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ความสัมพันธ์ไทย – สหรัฐอเมริกา จืดจางลงเรื่อย ๆ เพราะปัญหาการเมือง โดยให้ไทยเดินหน้ากลับคืนสู่ประชาธิปไตย และให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว สหรัฐอเมริกาจึงใช้วิธีย้ายไปที่อื่น เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และมาเลเซีย
รัฐบาลปัจจุบัน (พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้ตัดสินใจหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นการตัดสินใจแบบเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการฑูต ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่ผ่านมาที่ไทยพยายามมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกมหาอำนาจ ซึ่งทำให้สหรัฐอเมริกากดดันไทยอย่างหนัก และเนื่องจากโลกกำลังเปลี่ยนจากระบบขั้วอำนาจเดียวเป็นระบบหลายขั้วอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนที่มีอำนาจและบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้น รัฐบาลไทยได้พยายามเข้าหาจีน และมีการตัดสินใจ มีข้อสรุปอย่างรวดเร็วในเรื่องที่จีนจะเข้ามาช่วยสร้างทางรถไฟเชื่อมจากกรุงเทพฯ - เวียงจันทน์ และไปถึงคุนหมิง
หลังจากนั้นญี่ปุ่นเห็นว่าจีนกำลังทำอะไรอยู่ จึงคิดว่าต้องรีบเข้ามาหาไทยเพื่อที่จะไม่เพลี่ยงพล้ำต่อการรุกคืบของจีน โดยเสนอว่าอยากจะมาช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ไทย และไทยจึงเสนอให้ญี่ปุ่นเข้ามาช่วยสร้างท่าเรือน้ำลึกนิคมอุตสาหกรรมที่ทวาย และทางรถไฟ โดยเชื่อมจากทวาย – กาญจนบุรี – กรุงเทพฯ – กัมพูชา และเวียดนามซึ่งเรียกว่าระเบียงเศรษฐกิจใต้ หรือ southern economic corridor รวมทั้งเส้นระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก หรือ east – west economic corridor จากเมียวดี – แม่สอด – พิษณุโลก – ขอนแก่น – มุกดาหาร – สะหวันนะเขต – ดานัง ต่อมาเกาหลีสนใจและพยายาติดต่ออยากจะเข้ามาติดต่อเพื่อเข้ามามีบทบาทในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้ไทย นอกจากนี้รัสเซียเริ่มขยับเข้ามากระชับความสัมพันธ์กับไทยมากขึ้น โดยขณะนี้รัสเซียมีปัญหากับสหรัฐอเมริกา และตะวันตกในเรื่องยูเครน จึงต้องการหาพันธมิตร เพราะถูกตะวันตกปิดล้อม และไทยก็ต้องการหาพันธมิตรเพราะกำลังถูกสหรัฐอเมริกากดดัน ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับไทยจึงเป็นลักษณะที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน
จากที่กล่าวมาข้างต้น ในขณะนี้ไทยจึงเน้นเข้าหาจีน เกาหลี รัสเซีย และอาเซียน เพราะประเทศในเอเชียไม่ได้มีปัญหากับไทย และแยกออกระหว่างเรื่องการเมืองภายในและเรื่องการต่างประเทศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น