ผู้เล่าเรื่อง : นางสาวญาณิศา ศิริวัฒน์ และ นางสาวกรรณิการ์ พรรณวงศ์
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง : นักวิชาการคลังปฏิบัติการ และ นิติกรปฏิบัติการ
หน่วยงาน : สำนักกฎหมาย
หลักสูตรฝึกอบรม : การสัมมนาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กฎหมายศุลกากรที่ออกใช้บังคับใหม่
หน่วยงานผู้จัด : กรมศุลกากร
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร / โครงการฝึกอบรม
เพื่อเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ภาครัฐและผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนให้เข้าใจบทกฎหมายพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2557 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2557 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2557
การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ : การสัมมนาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กฎหมายศุลกากรที่ออกใช้บังคับใหม่
กรมศุลกากรได้ยกร่างแก้ไขกฎหมายศุลกากรและร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านขึ้นตอนทางนิติบัญญัติเรียบร้อยแล้ว จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2557 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2557 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2557 โดยเนื้อหากฎหมายทั้ง 3 ฉบับ มีสาระสำคัญดังนี้
พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2557
1. เพิ่มคำนิยามและบทบัญญัติของการผ่านแดน (Transit) และการถ่ายลำ (Transshipment) ไว้ในกฎหมายศุลกากร เพื่อให้มีกฎหมายชัดเจนเพียงพอและเป็นไปตามมาตรฐานสากล รองรับการเคลื่อนย้ายสินค้าเสรีภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 และเพื่อเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยมาตรฐานพิธีการศุลกากรที่เรียบง่ายและสอดคล้องกัน (อนุสัญญาเกียวโต) ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อปี 2548
2. เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศุลกากรในการตรวจสอบและตรวจค้นสินค้าถ่ายลำ/ผ่านแดน เพื่อมิให้ผู้ทุจริตใช้ช่องทางดังกล่าวในทางที่ผิด เช่น การนำสินค้าด้วยคุณภาพที่มิได้ผลิตในประเทศไทย แต่มีการแสดงเมืองกำเนิดเป็นไทย ส่งผ่านแดนประเทศไทยไปขายยังประเทศที่สาม โดยให้ศุลกากรสามารถตรวจสอบและตรวจค้นของถ่ายลำ/ผ่านแดน และดำเนินการกับของดังกล่าวได้ ซึ่งจะทำให้อุดช่องว่างมิให้มีการสวมเมืองกำเนินเป็นเท็จเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์หรือประโยชน์ทางการค้าบางอย่างลงได้
3. เพิ่มบทบัญญัติของกฎหมายเพื่อให้ผู้นำของเข้าสามารถยื่นคำร้องขอให้มีคำวินิจฉัยล่วงหน้า (Advanced Binding Ruling) ในเรื่องพิกัดอัตราศุลกากร ราคา และถิ่นกำเนิดของสินค้า เพื่อให้เกิดความชัดเจน โปร่งใน คาดหมายและอธิบายได้ และการผ่านพิธีการรวดเร็วขึ้น เพราะสามารถลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากความแตกต่างระหว่างความเห็นของเจ้าหน้าที่ศุลกากรกับผู้นำของเข้าขณะผ่านพิธีการนำเข้าลงได้
4. เพิ่มบทบัญญัติเพื่อให้อธิบดีสามารถจำกัดการใช้อำนาจทางศุลกากรเพื่อตรวจของและป้องกันการลักลอบหนีศุลกากรได้ ทั้งนี้ เพื่อให้การทำงานด้านการตรวจของเฉพาะรายที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้น มีกฎหมายรองรับ และไม่ถูกฟ้องร้องว่าเลือกปฏิบัติ กรณีที่ไม่มีการตรวจของของผู้ประกอบการบางราย
5. เพิ่มบทบัญญัติเพื่อรองรับการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริง และให้มีบทลงโทษกับการกระทำ โดยทางอิเล็กทรอนิกส์ เหมือนการกระทำโดยใช้กระดาษ เพื่อให้เกิดความชัดเจน เนื่องจากการกระทำบางลักษณะเป็นการกระทำทางอาญา จึงต้องมีการกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจนในกฎหมาย มิฉะนั้น อาจขัดรัฐธรรมนูญได้
พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2557
เพิ่มบทบัญญัติเพื่อให้ศุลกากรไปตรวจของในพื้นที่ควบคุมร่วมกันที่ตั้งอยู่นอกประเทศได้ ภายใต้ความตกลง Cross Border Transport Agreement หรือ GMS Agreement
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2557
1. แก้ไขบทบัญญัติในภาค 4 ประเภท 2 เพื่อให้การนำวัตถุดิบออกไปผ่านกระบวนการนอกประเทศ เพื่อลดต้นทุน (ด้านแรงงาน ฯลฯ) แล้วนำกลับเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง ได้รับยกเว้นอากร เฉพาะส่วนที่ได้นำออกไป (Outward Processing) ทั้งนี้ ตามอนุสัญญาเกียวโต (ฉบับแก้ไข)
2. แก้ไขภาค 4 ประเภท 10 เพื่อให้การยกเว้นอากรมิได้ครอบคลุมเฉพาะตามสัญญากับนานาประเทศเท่านั้น แต่ให้รวมถึงสัญญาที่ประเทศไทยมีกับองค์กรระหว่างประเทศด้วย เพื่อให้สอดคล้องรองรับกับวิวัฒนาการทางการค้าโลก ซึ่งมีองค์กรระหว่างประเทศเกิดขึ้นมากมาย เช่น WCO / WTO เป็นต้น
3. แก้ไขภาค 4 ประเภท 12 ให้มูลค่าของที่ได้รับยกเว้นอากรจากเดิม 1,000 บาท เป็oไม่เกินมูลค่าที่อธิบดีกำหนด โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อให้ยืดหยุ่นได้ตามค่าของเงินที่เปลี่ยนแปลงไป