วันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2557

การใช้ Microsoft PowerPoint 2010

ผู้เล่าเรื่อง  : นาย เอกรัตน์  อัครปรัชญานันท์
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง  :  นักวิชาการคลังปฏิบัติการ
หน่วยงาน : สำนักมาตรฐานค่าตอบแทนและสวัสดิการ
หลักสูตรฝึกอบรม  : การใช้ Microsoft PowerPoint 2010
หน่วยงานผู้จัด  : สำนักปลัดกระทรวงการคลัง

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร / โครงการฝึกอบรม
1. ผู้อบรมสามารถบอกความสามารถและหน้าที่ของ Microsoft PowerPoint 2010 ได้
2. ผู้อบรมสามารถสร้าง/จัดรูปแบบ งานนำเสนอในรูปแบบต่างๆ ได้
3. ผู้อบรมสามารถทำแอนนิเมชั่นให้กับงานนำเสนอได้
4. ผู้อบรมสามารถใช้เครื่องมือต่างๆ และใช้เทคนิคต่างๆ ช่วยในการนำเสนอได้ อย่างมีประสิทธิภาพ

ในยุคปัจจุบันการนำเสนองานด้วยพรีเซนเทชั่นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสูง ซึ่งจะเห็นว่าการประชุม สัมมนา ของหน่วยงานราชการ บริษัทเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษา จึงต้องมีการสร้างสรรค์ข้อมูลที่จะนำเสนอให้น่าสนใจมากขึ้น อาจจะต้องมีทั้งภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหว หรือวิดีโอ เพื่อให้การนำเสนอเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งโปรแกรมที่ใช้สำหรับสร้างภาพพรีเซนเทชั่นที่นิยมกันมาที่สุดคือ โปรแกรม Microsoft PowerPoint

ตั้งแต่ PowerPoint 2007 จนมาถึง PowerPoint 2010 การสร้างพรีเซนเทชั่นดูจะเป็นเรื่องที่ง่ายมากขึ้น เพราะความสามารถใหม่ๆ ที่เพิ่มเข้ามามากมาย เริ่มตั้งแต่การทำงานเบื้องต้นที่ใช้ระบบ Ribbon เข้ามาแทนที่ Menu และ Toolbar แบบเดิม แถมยังปรับเมนู File ให้เป็นการทำงานแบบ BackStage View ที่ให้คุณทำงานและจัดการกับไพล์ในที่เดียว เช่น สร้าง แชร์ จัดเก็บ สั่งพิมพ์ รวมถึงการแปลงสไลด์เป็นไฟล์ Video นอกจากนี้ยังเพิ่มเอฟเฟ็คต์แบบใหม่ในแท็บ Transition ให้คุณเปลี่ยนแผ่นสไลด์ให้ดูน่าสนใจได้จากรอบทิศทาง รวมถึงการสร้าง Animation ให้กับออบเจ็คได้แบบตื่นตาตื่นใจทำให้ภาพเคลื่อนไหวมีชีวิตชีวามากขึ้น การใส่ภาพวิดีโอคลิป (Video) ที่ทำได้ง่ายแถมยังปรับแต่งตัดต่อ ใส่เอ็ฟเฟ็คต์ให้วิดีโอได้อีกด้วย และที่สำคัญคือสามารถดึงวิดีโอจาก Youtube มาแสดงบนหน้าสไลด์ได้แบบอินเทรนด์

ส่วนประกอบของโปรแกรม PowerPoint 2010
พื้นที่การทำงานหลักของ PowerPoint 2010 จะมีองค์ประกอบต่างๆ ดังนี้
แถบ Quick Access Toolbar แถบคำสั่งด่วน เก็บปุ่มคำสั่งที่ใช้งานบ่อยๆ เอาไว้
แถบ Title bar แสดงชื่อโปรแกรมและชื่อไฟล์งานนำเสนอที่ทำงานอยู่
แท็บ Contextual tabs แท็บคำสั่งพิเศษที่จะแสดงเมื่อมีการใช้คำสั่งบางอย่าง เช่น แทรกภาพ แทรกตาราง สร้างกราฟ หรือใส่ SmartArt เป็นต้น
แถบ Status bar แถบแสดงสถานการณ์ทำงานต่างๆ เช่น จำนวนสไลด์ ชื่อเทมเพลต ภาษาของแป้นพิมพ์ ปุ่มเปลี่ยนมุมมองสไลด์ และเปอร์เซ็นต์การปรับย่อ – ขยายมุมมอง เป็นต้น
พื้นที่ว่างที่อยู่รอบๆ สไลด์สามารถใช้เป็นที่พักวางข้อความหรือออบเจ็คที่ยังไม่ใช้ในสไลด์ได้ซึ่งจะไม่ปรากฏเมื่อสไลด์โชว์หรือสั่งพิมพ์
แท็บสลับมุมมอง ใช้สลับการแสดงตัวอย่างสไลด์แบบย่อและแสดงข้อความเค้าร่างในสไลด์แต่ละแผ่น

แถบ Ribbon เป็นกลุ่มของคำสั่งที่ถูกออกแบบมาแทนที่ Menu และ Toolbar แบบเดิม โดยการนำเอาคำสั่งที่ใช้งานมาแบ่งออกเป็น แท็บ(Tab) ต่างๆ เช่น แท็บ Home, Insert, Design, Animations และอื่นๆ ในแต่ละแท็บนั่นจะเก็บคำสั่งที่ใช้งานในลักษณะเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน เช่น แท็บ Insert ก็จะมีคำสั่งที่ใช้สำหรับแทรกองค์ประกอบต่างๆ ลงไปในเอกสาร และจะแบ่งกลุ่มคำสั่งออกเป็นกลุ่มย่อยๆ 


BackStage View ทำงานและจัดการกับไพล์ในที่เดียว เช่น สร้าง แชร์ จัดเก็บ สั่งพิมพ์ รวมถึงการแปลงสไลด์เป็นไฟล์ Video


การค้นหาและนำแม่แบบไปใช้
PowerPoint 2010 ทำให้คุณสามารถนำแม่แบบที่มีอยู่แล้วภายในหรือแม่แบบที่คุณกำหนดเองไปใช้ได้ ตลอดจนค้นหาแม่แบบที่หลากหลายได้จากแม่แบบของนักออกแบบที่มีอยู่บน Office.com
เมื่อต้องการค้นหาแม่แบบใน PowerPoint 2010 ให้ทำดังต่อไปนี้
1. บนแท็บ แฟ้ม ให้คลิก สร้าง
2. ภายใต้ แม่แบบและชุดรูปแบบที่พร้อมใช้งาน ให้เลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
เมื่อต้องการนำแม่แบบที่คุณได้ใช้ล่าสุดไปใช้ใหม่ ให้คลิก แม่แบบล่าสุด คลิกแม่แบบที่คุณต้องการ แล้วคลิก สร้าง
เมื่อต้องการใช้แม่แบบที่คุณได้ติดตั้งไว้แล้ว ให้คลิก แม่แบบของฉัน จากนั้นเลือกแม่แบบที่คุณต้องการ แล้วคลิก ตกลง
เมื่อต้องการใช้แม่แบบที่มีอยู่แล้วภายในแม่แบบใดแม่แบบหนึ่งที่ติดตั้งด้วย PowerPoint ให้คลิก แม่แบบตัวอย่าง คลิกแม่แบบที่คุณต้องการ แล้วคลิก สร้าง
เมื่อต้องการค้นหาแม่แบบบน Office.com ภายใต้ แม่แบบ Office.com ให้คลิกประเภทแม่แบบ แล้วเลือกแม่แบบที่คุณต้องการ จากนั้นคลิก ดาวน์โหลด เพื่อดาวน์โหลดแม่แบบจาก Office.com ลงในคอมพิวเตอร์ของคุณ


การแทรกภาพนิ่งใหม่
เมื่อต้องการแทรกภาพนิ่งใหม่ในงานนำเสนอของคุณ ให้ทำดังต่อไปนี้
บนแท็บ หน้าแรก ในกลุ่ม ภาพนิ่ง ให้คลิกลูกศรด้านล่าง สร้างภาพนิ่ง จากนั้นคลิกที่เค้าโครงภาพนิ่งที่คุณต้องการ


การดูการนำเสนอภาพนิ่ง
เมื่อต้องการดูงานนำเสนอของคุณในมุมมองการนำเสนอภาพนิ่งตั้งแต่ภาพนิ่งแรก ให้ทำดังต่อไปนี้
บนแท็บ การนำเสนอภาพนิ่ง ในกลุ่ม เริ่มการนำเสนอภาพนิ่ง ให้คลิก ตั้งแต่ต้น


เมื่อต้องการดูงานนำเสนอของคุณในมุมมองการนำเสนอภาพนิ่งตั้งแต่ภาพนิ่งปัจจุบัน ให้ทำดังต่อไปนี้
บนแท็บ การนำเสนอภาพนิ่ง ในกลุ่ม เริ่มการนำเสนอภาพนิ่ง คลิก จากภาพนิ่งปัจจุบัน
การพิมพ์งานนำเสนอ
1. คลิกแท็บ แฟ้ม แล้วคลิก พิมพ์
2. ภายใต้ สิ่งที่พิมพ์ ให้เลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
เมื่อต้องการพิมพ์ภาพนิ่งทั้งหมด ให้คลิก ทั้งหมด
เมื่อต้องการพิมพ์เฉพาะภาพนิ่งซึ่งแสดงในปัจจุบันเท่านั้น ให้คลิกที่ ภาพนิ่งปัจจุบัน
เมื่อต้องการพิมพ์ภาพนิ่งเฉพาะบางหน้า ให้คลิก ช่วงของภาพนิ่งแบบกำหนดเอง จากนั้นป้อนรายการภาพนิ่งแต่ละภาพ ช่วง หรือทั้งสองอย่าง
**หมายเหตุ**ใช้เครื่องหมายจุลภาคคั่นระหว่างตัวเลขโดยไม่ต้องเว้นวรรค ตัวอย่างเช่น 1,3,5-12
3. ภายใต้ การตั้งค่าอื่นๆ ให้คลิกรายการ สี และเลือกการตั้งค่าที่คุณต้องการ
4. เมื่อคุณทำการเลือกเรียบร้อยแล้ว ให้คลิก พิมพ์

รู้ไว้ก่อนเริ่มสร้างงานนำเสนอ

การนำเสนออย่างมีประสิทธิภาพนั้นจะนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย อาจใช้กระบวนการ 4 ขั้นตอนที่ได้มีการพิสูจน์มาแล้วว่าสามารถช่วยให้คุณวางแผนก่อนที่จะเริ่มลงมือสร้างงานนำเสนอ ดังนี้
Plan (วางแผน) คือการวางแผนรายละเอียดเกี่ยวกับกลุ่มผู้ฟังและกำหนดวัตถุประสงค์ของคุณที่ว่าต้องการนำเสนออะไร ให้ใครดูหรือฟัง
Perpare (เตรียมการ) คือการเตรียมการทางด้านแนวคิด ข้อมูล วางโครงสร้าง เวลาที่จะใช้ในการนำเสนอ หรือสิ่งจำเป็นต่างๆ ที่คุณคิดว่าต้องการนำเสนอ
Practice (ฝึกฝน) ทบทวนเนื้อหา ทดสอบเอฟเฟ็คต์ ทดสอบการนำเสนอ และขอความคิดเห็นเกี่ยวกับการนำเสนอของคุณ เพื่อสร้างความมั่นใจในการนำเสนอ
Present (นำเสนอ) มุ่งมั่น ชัดเจนกับหัวข้อที่กำลังพูดและสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับผู้ฟังด้วยการดึงความสนใจของผู้ฟังให้เข้าสู่เนื้อหาที่คุณกำลังนำเสนอได้อย่างกลมกลืน

เคล็ดลับสำหรับการสร้างงานนำเสนอที่มีประสิทธิผล
พิจารณาเคล็ดลับต่อไปนี้เพื่อใช้สร้างงานนำเสนอที่โดดเด่นและดึงดูดผู้ชมของคุณ
ใช้ภาพนิ่งจำนวนน้อยๆ
เมื่อต้องการให้ข้อความมีความชัดเจนและทำให้ผู้ชมติดตามและตรึงความสนใจของผู้ชม ให้ใช้จำนวนภาพนิ่งในงานนำเสนอของคุณให้น้อยที่สุด
เลือกขนาดแบบอักษรที่ผู้ชมอ่านได้ง่าย
การเลือกขนาดแบบอักษรที่เหมาะสมจะช่วยให้การสื่อสารข้อความของคุณได้ผลมากยิ่งขึ้น โปรดระลึกไว้อยู่เสมอว่า ผู้ชมต้องสามารถอ่านภาพนิ่งของคุณจากระยะไกลได้ โดยทั่วไป ขนาดแบบอักษรที่เล็กกว่า 30 อาจทำให้มองเห็นได้ยาก
ข้อความในภาพนิ่งของคุณควรเรียบง่าย
คุณต้องการให้ผู้ชมฟังการนำเสนอข้อมูลของคุณแทนที่จะอ่านจากหน้าจอ ใช้สัญลักษณ์แสดงหัวข้อย่อยหรือประโยคแบบสั้น และพยายามให้แต่ละประโยคอยู่ในบรรทัดเดียวกันโดยไม่มีการตัดข้อความ
เครื่องฉายภาพบางเครื่องจะครอบตัดภาพนิ่งที่ขอบ ทำให้ประโยคยาวๆ อาจถูกครอบตัดไปด้วย
ใช้ภาพเพื่อช่วยในการสื่อถึงข้อความของคุณ
รูปภาพ แผนภูมิ กราฟ และ กราฟิก SmartArt ช่วยในด้านการสื่อสารด้วยภาพที่ทำให้ผู้ชมของคุณสามารถจดจำได้ง่าย เพิ่มภาพที่มีความหมายเพื่อส่งเสริมเนื้อหาและข้อความบนภาพนิ่งของคุณ
อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับข้อความ ควรหลีกเลี่ยงการใช้สื่อด้านภาพจำนวนมากเกินไปในภาพนิ่งของคุณ
สร้างป้ายชื่อสำหรับแผนภูมิและกราฟที่เข้าใจได้ง่าย
ใช้ข้อความที่มีความยาวพอเหมาะที่ทำให้สามารถเข้าใจถึงองค์ประกอบป้ายชื่อในแผนภูมิหรือกราฟได้
ใช้พื้นหลังของภาพนิ่งที่เฉียบคมและสอดคล้อง
เลือกแม่แบบหรือชุดรูปแบบที่ดึงดูดและกลมกลืนกันโดยที่ไม่สะดุดตาเกินไป เนื่องจากคุณคงไม่ต้องการให้พื้นหลังหรือการออกแบบดึงความสนใจไปจากข้อความของคุณ
อย่างไรก็ตาม คุณควรเลือกสีของพื้นหลังและสีของข้อความที่ตัดกัน ชุดรูปแบบที่มีอยู่แล้วภายใน PowerPoint 2010 ตั้งค่าความคมชัดระหว่างพื้นหลังสีอ่อนและข้อความสีเข้ม หรือพื้นหลังสีเข้มและข้อความสีอ่อนโดยอัตโนมัติ
ตรวจสอบการสะกดคำและไวยากรณ์
เพื่อให้ได้การยอมรับนับถือจากผู้ชม ให้ตรวจสอบการสะกดและไวยากรณ์ในงานนำเสนอของคุณเสมอ

วันสิทธิมนุษยชน 10 ธันวาคม ประจำปี 2557

ผู้เล่าเรื่อง  :  นางสาวน้ำเพชร  วงษ์ประทีป
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง  :  นักบัญชีชำนาญการ
หน่วยงาน :  สำนกกำกับและพัฒนาการตรวจสอบภาครัฐ
ชื่อโครงการ / ประชุม / สัมมนา /หลักสูตร  : ร่วมงานวันสิทธิมนุษยชน 10 ธันวาคม ประจำปี 2557
หน่วยงานผู้จัด  :  สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

วัตถุประสงค์ของโครงการ / ประชุม / สัมมนา / หลักสูตร มีดังนี้
 เนื่องในโอกาสวันสิทธิมนุษยชนสากล 10 ธันวาคม ประจำปี 2557 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และองค์กรเครือข่ายได้ร่วมกันจัดงานวันสิทธิมนุษยชนสากลขึ้น  ในวันดังกล่าว หัวข้อ “ปฏิรูปประเทศไทย ต้องเข้าใจสิทธิมนุษยชน”เพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ เรื่องสิทธิมนุษยชนให้ประชาชนได้รับรู้ และเรียนรู้ร่วมกันในวงกว้าง พร้อมทั้งกระตุ้นให้เกิดกระแสสังคมให้ประชาชนสนใจและตระหนักถึงเรื่องสิทธิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน ตลอดจนเพื่อมอบรางวัลให้เป็นขวัญและกำลังใจแก่บุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่น ด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคมสืบไป

การแสดงนิทรรศการของหน่วยงานและองค์กรเครือข่าย มากกว่า 40 หน่วยงาน  อาทิเช่น สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กรมคุ้มครองสิทธิ ศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน สำนักงานศาลปกครอง สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน กรมสุขภาพจิต ฯลฯ  ซึ่งขอรับเอกสารเผยแพร่ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการในภารกิจของหน่วยงานได้ตามอัธยาศัย

เอกสารที่เผยแพร่ในงานด้งกล่าวมีจำนวนมากมาย ซึ่งได้ขอรับและมอบไว้ที่ห้องสมุดกรมบัญชีกลางเพื่อประโยชน์ต่อหน่วยงานในการค้นคว้าอ้างอิงต่อไป ได้แก่
1. วีดีทัศน์ความรู้เชิงสารคดี เรื่องพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551
2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
3. คู่มือผู้บริโภค สคบ.
4. คู่มือการติดต่อหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม
5. คู่มือสิทธิของประชาชนในคดีอาญา
6. พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544
7. พระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ. 2553
8. รวมกฎหมายพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551
9. ศัพท์สิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2555
10. ประมวลศัพท์และความรู้สิทธิมนุษยชน เล่ม 2 ศัพท์สิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนศึกษา
11. หลักกฎหมายระหว่างประเทศทั่วไปเกี่ยวกับสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน “อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี”
12. หลักกฎหมายระหว่างประเทศทั่วไปเกี่ยวกับสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน “อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกประติบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ”
13. หลักกฎหมายระหว่างประเทศทั่วไปเกี่ยวกับสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน “กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง”
14. คู่มือปกป้องสิทธิเสรีภาพ เรื่องจริงที่กรรมสิทธิ์ฯ เล่ม 1 เมื่อ “ฉัน”ถูกละเมิดสิทธิการต่อสู้เพื่อสิทธิจากการเกิดจนถึงตาย
15. คู่มือปกป้องสิทธิเสรีภาพ เรื่องจริงที่กรรมสิทธิ์ฯ เล่ม 2 เมื่อ “ชุมชน” ถูกละเมินสิทธิการต่อสู้เพื่อสิทธิจากชุมชนเล็กถึงชุมชนใหญ่
16. 10 เรื่องเด่นสิทธิมนุษยชนด้านกฎหมายและการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
17. ศาลรัฐธรรมนูญ รายงานประจำปี 2555

โครงการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงแก้ไขคู่มือการบังคับคดี

ผู้เล่าเรื่อง  :  1. นางสาวชลธิชา  นวลน้อย
                    2. นางมนัญญา ธัชแก้วกรพินธุ์
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง  : นิติกรชำนาญการ
หน่วยงาน :  สำนักความรับผิดทางแพ่ง
หลักสูตรฝึกอบรม  :  โครงการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงแก้ไขคู่มือการบังคับคดี
หน่วยงานผู้จัด  :  สำนักงานอัยการสูงสุด

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร / โครงการฝึกอบรม
สำนักงานอัยการสูงสุดได้จัดทำคู่มือการบังคับคดีโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกระบวนงานมาตรฐาน ด้านการบังคับคดีแพ่ง คดีปกครอง และคดีอาญาเฉพาะในส่วนของการยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับตามคำพิพากษา สำหรับใช้เป็นคู่มือของพนักงานอัยการและผู้ปฏิบัติงานชั้นบังคับคดี ทั้งของสำนักงานอัยการสูงสุดและหน่วยงานของรัฐที่เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และเผยแพร่คู่มือดังกล่าวให้แก่หน่วยงานสำนักงานอัยการสูงสุดและหน่วยงานตัวความทั่วประเทศ นับถึงปัจจุบันเป็นเวลา 2 ปีแล้ว จึงได้ดำเนินการจัดโครงการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงแก้ไขคู่มือการบังคับคดี

การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ : โครงการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงแก้ไขคู่มือการบังคับคดี
ประเด็นปัญหาที่สำคัญในการบังคับคดีและข้อเสนอแนะจากสำนักงานอัยการสูงสุดอาจสรุปได้ดังนี้
1. ในขั้นตอนการคัดเลือกผู้เสนอราคาในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ นั้น หน่วยงานของรัฐควรให้ความสำคัญในการตรวจสอบสถานะที่แท้จริงของนิติบุคคลผู้เสนอราคา หากนิติบุคคลผู้เสนอราคาไม่ใช่ผู้รับจ้างที่รับงานเป็นประจำกับทางราชการ ควรตระหนักและตรวจสอบว่า นิติบุคคลดังกล่าวมีตัวตนจริงหรือไม่ เนื่องจากปัญหาที่พบเป็นส่วนใหญ่ในชั้นของการบังคับคดีมักจะตรวจสอบพบว่า นิติบุคคลผู้รับจ้างไม่มีตัวตนอยู่จริง หรือบางกรณีอาคารที่ตั้งสำนักงานเป็นเพียงอาคารเช่า แต่กลับได้รับการคัดเลือกให้ชนะการเสนอราคาในวงเงินงบประมาณเป็นจำนวนมากเกือบหมื่นล้านบาท ดังเช่น ที่ปรากฏตามข่าวคดีจ้างก่อสร้างโรงพักตำรวจ เป็นต้น ซึ่งเมื่อถึงชั้นการบังคับคดีนิติบุคคลเหล่านี้มักจะไม่มีทรัพย์สินให้ดำเนินการยึด อายัด ซึ่งจะสร้างความเสียหายแก่หน่วยงานเป็นเงินจำนวนมาก
2. ในการยึดที่ดิน นั้น หน่วยงานของรัฐควรถ่ายรูปสภาพที่ดิน จัดทำแผนที่ที่ตั้งของที่ดิน ประสานงานกับสำนักงานที่ดินเพื่อขอภาพถ่ายสัญญาจำนองประกอบด้วย ซึ่งในกรณีที่ที่ดินมีเจ้าหนี้รายอื่นยึดไว้แล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งสามารถร้องขอเฉลี่ยทรัพย์พร้อมทั้งขอสวมสิทธิการบังคับคดีไว้ด้วย หากมีกรณีเจ้าหนี้รายอื่นถอนการยึดในภายหลัง แล้วหน่วยงานไม่ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์พร้อมทั้งขอสวมสิทธิการบังคับคดีไว้อาจทำให้ไม่มีคดีเฉลี่ยทรัพย์ได้ ดังนั้น หน่วยงานในฐานะเจ้าหนี้จึงควรแจ้งพนักงานอัยการให้ยื่นคำร้องดังกล่าวข้างต้นไว้ด้วย
3. หน่วยงานของรัฐควรให้ความสำคัญกับการพิจารณาคำขอผ่อนชำระหนี้ของลูกหนี้ เนื่องจากการพิจารณาอนุมัติให้ลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้ย่อมเป็นหนทางที่ดีกว่าการฟ้องคดีและดำเนินคดีในชั้นศาล ปัจจุบันกระทรวงการคลังมีหลักเกณฑ์ที่กำหนดเกี่ยวกับการผ่อนชำระหนี้ไว้เป็นจำนวนมาก เช่น ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการผ่อนชำระหนี้ของเจ้าหน้าที่ แจ้งตามหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0406.3/ว 115 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2545 เป็นต้น และหากหน่วยงานของรัฐไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ยังสามารถขอทำความตกลงกับกระทรวงการคลังเป็นกรณีพิเศษได้ด้วย
4. เมื่อหน่วยงานของรัฐชนะคดีและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว กระทรวงการคลังกำหนดให้ต้องดำเนินการรายงานผลการสืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้ให้ทราบทุกระยะ 3 เดือน และสืบหาทรัพย์สินตามแนวทางที่กระทรวงการคลังกำหนด
(หนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค 0503.7/ว 107 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2544 และ ที่ กค 0406.2/ว 46 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2546) หากสืบหาทรัพย์สินแล้ว ปรากฏว่า ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินและอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะฟ้องคดีล้มละลายได้ หน่วยงานของรัฐควรส่งเรื่องให้สำนักงานการบังคับคดีก่อนครบกำหนด 10 ปี (ส่งในปีที่ 9) พร้อมหลักฐานการสืบหาทรัพย์สินเพื่อพนักงานอัยการจะรีบดำเนินการฟ้องล้มละลายต่อไป
5. กรณีหน่วยงานสืบหาทรัพย์สินแล้ว พบทรัพย์สินของลูกหนี้ เช่น รถยนต์ หน่วยงานของรัฐอาจจะมีหนังสือแจ้งไปยังลูกหนี้ให้ทราบว่า ทางราชการตรวจสอบพบทรัพย์สินของลูกหนี้ที่อาจนำมาบังคับคดีได้เพื่อขอให้ลูกหนี้เข้ามาพบเจ้าหน้าที่ และดำเนินการเจรจาเกี่ยวกับการขอผ่อนชำระหนี้ ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้ได้ทรัพย์สินซึ่งย่อมดีกว่าการตั้งเรื่องเพื่อดำเนินการบังคับคดี ซึ่งจะทำให้ต้องเสียค่าธรรมเนียม และหากลูกหนี้ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินลูกหนี้ก็จะมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้อันเป็นกฎหมายที่ควบคุมลูกหนี้ไว้อีกทางหนึ่งด้วย
6. กรณีผู้รับจ้างเป็นผู้ทิ้งงานจะมีแนวทางในการตรวจสอบคุณสมบัติอย่างไรนั้น เนื่องจากการทิ้งงานเป็นเหตุการณ์ ในอนาคตที่ไม่อาจคาดหมายได้ ดังนั้น เบื้องต้นจึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่ต้องตรวจสอบโดยละเอียดตั้งแต่ขั้นตอนการเสนอราคาว่า ผู้เสนอราคาเคยมีผลงานก่อสร้างกับทางราชการบ้างหรือไม่และอยู่ในรายชื่อเป็นผู้ทิ้งงานหรือไม่ นอกจากนี้ยังควรต้องตรวจสอบสถานประกอบการ ที่ตั้ง ผู้ถือหุ้น และให้ระมัดระวังเป็นพิเศษในกรณีบริษัทข้ามชาติ ที่มักจะประสบปัญหาไม่สามารถบังคับคดีได้
7. กรณีสืบหาทรัพย์สินแล้วพบที่ดินติดภาระจำนอง หน่วยงานควรดำเนินการอย่างไรนั้น แนวทางดำเนินการเบื้องต้นควรมีหนังสือถึงธนาคารผู้รับจำนองเพื่อขอทราบภาระจำนอง ตรวจสอบราคาประเมินที่ดิน เพื่อให้ทราบว่าจะคุ้มกับค่าใช้จ่ายในการบังคับคดีหรือไม่ จากนั้นจึงเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป