ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง : นักวิชาการคลังชำนาญการ
หน่วยงาน : สำนักงานคลังจังหวัดนราธิวาส
หลักสูตรฝึกอบรม : นักบริหารระดับต้น
หน่วยงานผู้จัด : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร / โครงการฝึกอบรม
1) เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในฐานะผู้บังคับบัญชาและมีความพร้อมที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้างาน หรือนักบริหารระดับต้น
2) พัฒนาความรู้ และทักษะด้านการบริหารของการเป็นนักบริหาร หรือผู้กำลังจะเป็นนักบริหารให้มีความพร้อมสามารถปฏิบัติงานได้ตามบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบที่เปลี่ยนแปลง หรือกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3) เสริมสร้างความสามัคคี สามารถที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่นในลักษณะที่เป็นทีมงานมีความสามารถในการคิดและทำงานอย่างเป็นระบบ เพื่อให้งานบรรลุผลตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของหน่วยงาน
4) เสริมสร้างประสบการณ์ให้มีความสามารถปกครองบังคับบัญชาผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยหลักการบริหารที่เหมาะสมและมีทัศนคติที่ดีในการปฏิบัติงาน ตลอดจนเป็นนักบริหารที่มีคุณธรรม
การที่จะเป็นนักบริหารที่ดีนั้น ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และต้องกล้ายืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นคุณสมบัติ 1 ใน 10 ข้อของนักบริหารที่ดี ซึ่งประกอบด้วย
1.ต้องรอบรู้
2.โปร่งใส
3.เป็นผู้นำ
4.เสียสละ อดทน
5.มีมนุษยสัมพันธ์
6.มีความเห็นใจผู้น้อย
7.เที่ยงธรรม
8.ทำงานร่วมกัน
9.รับผิดชอบ
10.กล้ายืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง
โดยนักบริหารจะต้องปฏิบัติงานภายใต้หลักธรรมาภิบาลหรือการบริการกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Governance) ซึ่งมีหลักสำคัญอยู่ 6 ประการ คือ
1.หลักนิติธรรม (Equity)
2.หลักคุณธรรม (Integrity)
3.หลักความโปร่งใส (Transparency)
4.หลักความมีส่วนร่วม (Participation)
5.หลักความรับผิดชอบ (Accountabillity)
6.หลักความคุ้มค่า (Efficiency)
ความหมายของคำว่า คอร์รัปชั่น
การคอร์รัปชั่น คือ การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อบิดเบือนนโยบาย หรือเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ เพื่อประโยชน์ต่อตนเองหรือพวกพ้อง โดยแบ่งความหมายของ การคอร์รัปชั่น ได้ดังนี้
1.การคอร์รัปชั่นขนาดใหญ่ (Grand corruption) เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงเพื่อบิดเบือนนโยบายหรือใช้อำนาจรัฐในทางมิชอบ เพื่อให้ผู้นำหรือผู้บริหารประเทศได้รับผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรของชาติ
2.การคอร์รัปชั่นขนาดเล็ก (Petty corruption) เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับกลาง ระดับล่าง ต่อประชาชนทั่วไป โดยการใช้อำนาจที่ได้รับมอบหมายในทางมิชอบ
3.การติดสินบน (Bribery) เป็นการเสนอให้ สัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์ในรูปของเงิน สิ่งของ และสิ่งตอบแทนต่าง ๆ เพื่อจูงใจให้เกิดการกระทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี
4.การยักยอก (Embezzlement) คือ นำเงินหรือสิ่งของที่ได้รับมอบหมายให้ใช้ในราชการ มาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือกิจกรรมอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง
5.การอุปถัมภ์ (Patronage) การเล่นพรรคเล่นพวก ด้วยการคัดเลือกบุคคลจากสายสัมพันธ์ทางการเมือง (connection) เพื่อเข้ามาทำงานหรือเพื่อให้รับประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงคุณสมบัติและความเหมาะสม
6.การเลือกที่รักมักที่ชัง (Nepotism) เป็นรูปแบบการเล่นพรรคเล่นพวก โดยจะใช้อำนาจที่มีในการให้ผลประโยชน์หรือให้เจ้าหน้าที่การงานแก่เพื่อน ครอบครัว หรือบุคคลใกล้ชิด โดยไม่คำนึงถึงคุณสมบัติและความเหมาะสม
7.ผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest) คือการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวม
รูปแบบของการคอร์รัปชั่น
1.การรับสินบน
2.การใช้อิทธิพลส่วนตัว
3.การใช้ข้อมูลลับ
4.การรับของขวัญ
5.การทำงานนอกเวลา
6.การทำงานหลังพ้นตำแหน่ง
7.การเกี่ยวพันทางเครือญาติ
การเกิดขึ้นของคอร์รัปชั่น
การเกิดขึ้นของคอร์รัปชั่นเกิดจากช่องว่างของอำนาจ กับ การตรวจสอบ กล่าวคือถ้าอำนาจมีมากกว่าการตรวจสอบก็จะส่งผลให้เกิดการคอร์รัปชั่นสูง ในทางกลับกัน หาก อำนาจมีน้อยกว่า การตรวจสอบ ก็จะส่งผลให้คอร์รัปชั่นน้อยลง เมื่อกล่าวถึงการคอร์รัปชั่นโดยใช้อำนาจนั้นเป็นการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ซึ่งมีการใช้อำนาจในทางที่ผิด กล่าวคือใช้อำนาจสูงสุดของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเชิงนโยบายหรือรัฐธรรมนูญ และกระทำการโดยมิได้มุ่งหวังประโยชน์สาธารณะแต่มุ่งหวังประโยชน์ส่วนบุคคลเป็นหลัก เป็นการกระทำเพื่อก่อให้เกิดการทำลายระบบการปกครอง ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม
สาเหตุแห่งการทำผิดของข้าราชการ
สาเหตุแห่งการกระทำผิดของข้าราชการ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
1.เพราะไม่รู้
2.เพราะความจำเป็น
2.1 เพื่อประโยชน์ทางราชการ
2.2 เกรงกลัวอิทธิพลของผู้บังคับบัญชา
3.ทุจริต
การทุจริตต่อหน้าที่ คือ การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งนี้เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย
การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย คือ การกระทำความผิดทางกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของตนเองหรือพวกพ้อง
การตรวจสอบ
การตรวจสอบอำนาจการบริหาร จำเป็นจะต้องตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอกและภายใน เช่น หน่วยงานภายนอก ยกตัวอย่างเช่น สภา พนักงานสอบสวน องค์กรอิสระ ภาคประชาชน หน่วยงานภายใน ยกตัวอย่างเช่น ผู้บังคับบัญชา ผู้ตรวจสอบภายใน เป็นต้น
กฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน
กฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานด้านการคอร์รัปชั่นของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ ดังนี้
1.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (เฉพาะมาตราที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต)
2.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2) พ.ศ. 2554
3.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542
4.พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542
5.พระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543
มาตรการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 19 คระกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(11) เสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล หรือ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม
(13) ดำเนินการเพื่อป้องกันการทุจริตและเสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งดำเนินการให้ประชาชนหรือกลุ่มบุคคลมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
จากพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่งผลให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีภารกิจดำเนินให้ประชาชนหรือกลุ่มบุคคลมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตรวมถึงการเสริมสร้างทัศนคติค่านิยมเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต เช่น การยกย่องผู้ประพฤติตนที่ชอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริต การเสริมสร้างค่านิยมในความซื่อสัตย์สุจริต รวมถึงการจัดเวที เสวนาเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช. กับสื่อมวลชน นักวิชาการ หรือกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ส่งเสริมให้ข้าราชการ มีจริยธรรมในการปฏิบัติงาน