วันจันทร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2557

การเรียนรู้การใช้งาน iPhone รุ่น 1

ผู้เล่าเรื่อง : น.ส.ชัญญา ศรัณย์วงศ์
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง : นักวิชาการคลังชำนาญการ
หน่วยงาน : กลุ่มพัฒนาระบบลูกจ้าง
หลักสูตรฝึกอบรม : การเรียนรู้การใช้งาน iPhone รุ่น 1
หน่วยงานผู้จัด : สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
วัตถุประสงค ของหลักสูตร / โครงการฝEกอบรม
เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้การใช้งาน iPhone ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานโทรศัพท์ ดูแผนที่ GPS
การถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ ดูหนัง ฟังเพลง แชท รับ-ส่ง E-mail ท่องอินเทอร์เน็ต โหลดแอพพลิเคชั่น พร้อมเทคนิคการใช้งาน




โครงการทดสอบความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติข้อมูล ข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ของเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ ประจำปี 2557

ผู้เล่าเรื่อง  :  นางสาวขนิษฐา  วงษ์โพธิ์
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง  :  นักวิชาการคลังชำนาญการ
หน่วยงาน :  สำนักงานคลังจังหวัดชัยนาท
หลักสูตรฝึกอบรม : โครงการทดสอบความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติข้อมูล ข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ของเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ ประจำปี 2557                        
หน่วยงานผู้จัด  :  สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของทางราชการ
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร / โครงการฝึกอบรม
๑) เพื่อประเมินความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ของเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐในระดับกระทรวง กรม และจังหวัด
๒) เพื่อนำผลการประเมิน เป็นข้อมูลในการกำหนดแนวทางการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการสำหรับเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐในภาพรวม

พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540
หมวด  ๑ การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
มาตรา ๗ หน่วยงานของรัฐต้องส่งข้อมูลข่าวสารของราชการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา
(๑) โครงสร้างและการจัดองค์กรในการดำเนินงาน
(๒) สรุปอำนาจหน้าที่ที่สำคัญและวิธีการดำเนินงาน
(๓) สถานที่ติดต่อเพื่อขอรับข้อมูลข่าวสาร หรือคำแนะนำในการติดต่อกับหน่วยงานของรัฐ
(๔) กฎ  มติคณะรัฐมนตรี  ข้อบังคับ  คำสั่ง  หนังสือเวียน  ระเบียบ  แบบแผน นโยบาย
หรือการตีความ  ทั้งนี้ เฉพาะที่จัดให้มีขึ้นโดยมีสภาพอย่างกฎ เพื่อให้มีผลเป็นการทั่วไปต่อเอกชนที่เกี่ยวข้อง
(๕) ข้อมูลข่าวสารอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด
ข้อมูลข่าวสารใดที่ได้มีการจัดพิมพ์เพื่อให้แพร่หลายตามจำนวนพอสมควรแล้ว ถ้ามีการลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาโดยอ้างอิงถึงสิ่งพิมพ์นั้นก็ให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติวรรคหนึ่งแล้วให้หน่วยงานของรัฐรวบรวมและจัดให้มีข้อมูลข่าวสารตามวรรคหนึ่งไว้เผยแพร่เพื่อขายหรือจำหน่ายจ่ายแจก ณ ที่ทำการของหน่วยงานของรัฐแห่งนั้นตามที่เห็นสมควร
มาตรา ๙ ภายใต้บังคับมาตรา  ๑๔  และมาตรา  ๑๕  หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีข้อมูลข่าวสารของราชการอย่างน้อยดังต่อไปนี้ไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้   ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
(๑) ผลการพิจารณาหรือคำวินิจฉัยที่มีผลโดยตรงต่อเอกชน รวมทั้งความเห็นแย้งและคำสั่งที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาวินิจฉัยดังกล่าว
(๒) นโยบายหรือการตีความที่ไม่เข้าข่ายต้องลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา ตามมาตรา  ๗ (๔)
(๓) แผนงาน โครงการ และงบประมาณรายจ่ายประจำปีของปีที่กำลังดำเนินการ
(๔) คู่มือหรือคำสั่งเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีผลกระทบถึงสิทธิหน้าที่ของเอกชน
(๕) สิ่งพิมพ์ที่ได้มีการอ้างอิงถึงตามมาตรา  ๗ วรรคสอง
(๖) สัญญาสัมปทาน สัญญาที่มีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอนหรือสัญญาร่วมทุนกับเอกชนในการจัดทำบริการสาธารณะ
(๗) มติคณะรัฐมนตรี  หรือมติคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยกฎหมาย หรือโดยมติคณะรัฐมนตรี  ทั้งนี้ ให้ระบุรายชื่อรายงานทางวิชาการ รายงานข้อเท็จจริง หรือข้อมูลข่าวสารที่นำมาใช้ในการพิจารณาไว้ด้วย
(๘) ข้อมูลข่าวสารอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด
ข้อมูลข่าวสารที่จัดให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ตามวรรคหนึ่ง  ถ้ามีส่วนที่ต้องห้ามมิให้เปิดเผยตามมาตรา ๑๔ หรือมาตรา  ๑๕ อยู่ด้วย  ให้ลบหรือตัดทอนหรือทำโดยประการอื่นใดที่ไม่เป็นการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้น
บุคคลไม่ว่าจะมีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องหรือไม่ก็ตามย่อมมีสิทธิเข้าตรวจดู ขอสำเนาหรือขอสำเนาที่มีคำรับรองถูกต้องของข้อมูลข่าวสารตามวรรคหนึ่งได้  ในกรณีที่สมควรหน่วยงานของรัฐโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ จะวางหลักเกณฑ์เรียกค่าธรรมเนียมในการนั้นก็ได้   ในการนี้ให้คำนึง ถึงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยประกอบด้วย ทั้งนี้เว้นแต่จะมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
คนต่างด้าวจะมีสิทธิตามมาตรานี้เพียงใดให้เป็นไปตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง มาตรา ๑๑ นอกจากข้อมูลข่าวสารของราชการที่ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว หรือที่จัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้แล้ว หรือที่มีการจัดให้ประชาชนได้ค้นคว้าตามมาตรา ๒๖ แล้ว ถ้าบุคคลใดขอข้อมูลข่าวสารอื่นใดของราชการและคำขอของผู้นั้นระบุข้อมูลข่าวสารที่ต้องการในลักษณะที่อาจเข้าใจได้ตามควร  ให้หน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบจัดหาข้อมูลข่าวสารนั้นให้แก่ผู้ขอภายในเวลาอันสมควร เว้นแต่ผู้นั้นขอจำนวนมากหรือบ่อยครั้งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

ข้อมูลข่าวสารของราชการใดมีสภาพที่อาจบุบสลายง่าย  หน่วยงานของรัฐจะขอขยายเวลาในการจัดหาให้หรือจะจัดทำสำเนาให้ในสภาพอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ข้อมูลข่าวสารนั้นก็ได้
ข้อมูลข่าวสารของราชการที่หน่วยงานของรัฐจัดหาให้ตามวรรคหนึ่งต้องเป็นข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่แล้วในสภาพที่พร้อมจะให้ได้ มิใช่เป็นการต้องไปจัดทำ วิเคราะห์ จำแนก  รวบรวม  หรือจัดให้มีขี้นใหม่ เว้นแต่เป็นการแปรสภาพเป็นเอกสารจากข้อมูลข่าวสารที่บันทึกไว้ในระบบการบันทึกภาพหรือเสียง  ระบบคอมพิวเตอร์  หรือระบบอื่นใด  ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการกำหนด  แต่ถ้าหน่วยงานของรัฐเห็นว่ากรณีที่ขอนั้นมิใช่การแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้า  และเป็นเรื่องที่จำเป็นเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพสำหรับผู้นั้นหรือเป็นเรื่องที่จะเป็นประโยชน์แก่สาธารณะ  หน่วยงานของรัฐจะจัดหาข้อมูลข่าวสารนั้นให้ก็ได้
บทบัญญัติวรรคสามไม่เป็นการห้ามหน่วยงานของรัฐที่จะจัดให้มีข้อมูลข่าวสารของราชการใดขึ้นใหม่ให้แก่ผู้ร้องขอ หากเป็นการสอดคล้องด้วยอำนาจหน้าที่ตามปกติของหน่วยงานของรัฐนั้นอยู่แล้ว
ให้นำความในมาตรา  ๙ วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่  มาใช้บังคับแก่การจัดหาข้อมูลข่าวสารให้ตามมาตรานี้ โดยอนุโลม
หมวด  ๒ ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ต้องเปิดเผย
มาตรา ๑๕ ข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยก็ได้ โดยคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ  ประโยชน์สาธารณะ  และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกัน
(๑) การเปิดเผยจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ  ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคงในทางเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ
(๒) การเปิดเผยจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ  หรือไม่อาจสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้  ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการฟ้องคดี การป้องกัน การปราบปราม การทดสอบ  การตรวจสอบ  หรือการรู้แหล่งที่มาของข้อมูลข่าวสารหรือไม่ก็ตาม
(๓) ความเห็นหรือคำแนะนำภายในหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการเรื่องหนึ่งเรื่องใด  แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงรายงานทางวิชาการ  รายงานข้อเท็จจริง  หรือข้อมูลข่าวสารที่นำมาใช้ในการทำความเห็นหรือคำแนะนำภายในดังกล่าว
(๔) การเปิดเผยจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยของบุคคลหนึ่งบุคคลใด
(๕) รายงานการแพทย์หรือข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลซึ่งการเปิดเผยจะเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควร
(๖) ข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีกฎหมายคุ้มครองมิให้เปิดเผย  หรือข้อมูลข่าวสารที่มีผู้ให้มาโดยไม่ประสงค์ให้ทางราชการนำไปเปิดเผยต่อผู้อื่น
(๗) กรณีอื่นตามที่กำหนดให้พระราชกฤษฎีกา
คำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดก็ได้  แต่ต้องระบุไว้ด้วยว่าที่เปิดเผยไม่ได้เพราะเป็นข้อมูลข่าวสารประเภทใดและเพราะเหตุใด และให้ถือว่าการมีคำสั่งเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการเป็นดุลพินิจโดยเฉพาะของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามลำดับสายการบังคับบัญชา  แต่ผู้ขออาจอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้
หมวด  ๓ ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล
มาตรา ๒๓ หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลดังต่อไปนี้
(๑) ต้องจัดให้มีระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลเพียงเท่าที่เกี่ยวข้อง และจำเป็นเพื่อการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์เท่านั้น  และยกเลิกการจัดให้มีระบบดังกล่าวเมื่อหมดความจำเป็น
(๒) พยายามเก็บข้อมูลข่าวสารโดยตรงจากเจ้าของข้อมูล  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่จะกระทบถึงประโยชน์ได้เสียโดยตรงของบุคคลนั้น
(๓) จัดให้มีการพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา และตรวจสอบแก้ไขให้ถูกต้องอยู่เสมอเกี่ยวกับสิ่งดังต่อไปนี้
(ก) ประเภทของบุคคลที่มีการเก็บข้อมูลไว้
(ข) ประเภทของระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล
(ค) ลักษณะการใช้ข้อมูลตามปกติ
(ง) วิธีการขอตรวจดูข้อมูลข่าวสารของเจ้าของข้อมูล
(จ) วิธีการขอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูล
(ฉ) แหล่งที่มาของข้อมูล
(๔) ตรวจสอบแก้ไขข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลในความรับผิดชอบให้ถูกต้องอยู่เสมอ
(๕) จัดระบบรักษาความปลอดภัยให้แก่ระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ตามความเหมาะสม  เพื่อป้องกันมิให้มีการนำไปใช้โดยไม่เหมาะสมหรือเป็นผลร้ายต่อเจ้าของข้อมูล
ในกรณีที่เก็บข้อมูลข่าวสารโดยตรงจากเจ้าของข้อมูล  หน่วยงานของรัฐต้องแจ้งให้เจ้าของข้อมูลทราบล่วงหน้าหรือพร้อมกับการขอข้อมูลถึงวัตถุประสงค์ที่จะนำข้อมูลมาใช้  ลักษณะการใช้ข้อมูลตามปกติ  และกรณีที่ขอข้อมูลนั้นเป็นกรณีที่อาจให้ข้อมูลได้โดยความสมัครใจหรือเป็นกรณีมีกฎหมายบังคับ
หน่วยงานของรัฐต้องแจ้งให้เจ้าของข้อมูลทราบในกรณีมีการให้จัดส่งข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลไปยังที่ใดซึ่งจะเป็นผลให้บุคคลทั่วไปทราบข้อมูลข่าวสารนั้นได้  เว้นแต่เป็นไปตามลักษณะการใช้ข้อมูลตามปกติ
มาตรา ๒๔ หน่วยงานของรัฐจะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่อยู่ในความควบคุมดูแลของตนต่อหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นหรือผู้อื่น โดยปราศจากความยินยอมเป็นหนังสือของเจ้าของข้อมูลที่ให้ไว้ล่วงหน้าหรือในขณะนั้นมิได้  เว้นแต่เป็นการเปิดเผยดังต่อไปนี้
(๑) ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานของตน เพื่อการนำไปใช้ตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐแห่งนั้น
(๒) เป็นการใช้ข้อมูลตามปกติภายในวัตถุประสงค์ของการจัดให้มีระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลนั้น
(๓) ต่อหน่วยงานของรัฐที่ทำงานด้วยการวางแผน หรือการสถิติ หรือสำมะโนต่างๆ ซึ่งมีหน้าที่ต้องรักษาข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลไว้ไม่ให้เปิดเผยต่อไปยังผู้อื่น
(๔) เป็นการให้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย โดยไม่ระบุชื่อหรือส่วนที่ทำให้รู้ว่าเป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับบุคคลใด
(๕) ต่อหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร หรือหน่วยงานอื่นของรัฐตามมาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง  เพื่อการตรวจดูคุณค่าในการเก็บรักษา
(๖) ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อการป้องกันการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย  การสืบสวน  การสอบสวน  หรือการฟ้องคดี  ไม่ว่าเป็นคดีประเภทใดก็ตาม
(๗) เป็นการให้ซึ่งจำเป็น เพื่อการป้องกันหรือระงับอันตรายต่อชีวิตหรือสุขภาพของบุคคล
(๘) ต่อศาล และเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลที่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะขอข้อเท็จจริงดังกล่าว
(๙) กรณีอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลตามวรรคหนึ่ง (๓) (๔) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘)  และ (๙) ให้มีการจัดทำบัญชีแสดงการเปิดเผยกำกับไว้กับข้อมูลข่าวสารนั้น  ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๒๕ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕  บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะได้รู้ถึงข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตน  และเมื่อบุคคลนั้นมีคำขอเป็นหนังสือ หน่วยงานของรัฐที่ควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารนั้นจะต้องให้บุคคลนั้นหรือผู้กระทำการแทนบุคคลนั้นได้ตรวจดูหรือได้รับสำเนาข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลนั้น  และให้นำมาตรา ๙ วรรคสอง และวรรคสาม  มาใช้บังคับโดยอนุโลม
การเปิดเผยรายงานการแพทย์ที่เกี่ยวกับบุคคลใด  ถ้ากรณีมีเหตุอันควรเจ้าหน้าที่ของรัฐจะเปิดเผยต่อเฉพาะแพทย์ที่บุคคลนั้นมอบหมายก็ได้
ถ้าบุคคลใดเห็นว่าข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตนส่วนใดไม่ถูกต้องตามที่เป็นจริง ให้มีสิทธิยื่นคำขอเป็นหนังสือให้หน่วยงานของรัฐที่ควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลข่าวสารส่วนนั้นได้ ซึ่งหน่วยงานของรัฐจะต้องพิจารณาคำขอดังกล่าว และแจ้งให้บุคคลนั้นทราบโดยไม่ชักช้า
ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลข่าวสารให้ตรงตามที่มีคำขอ ให้ผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำสั่งไม่ยินยอมแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลข่าวสาร  โดยยื่นคำอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการ  และไม่ว่ากรณีใดๆ ให้เจ้าของข้อมูลมีสิทธิร้องขอให้หน่วยงานของรัฐหมายเหตุคำขอของตนแนบไว้กับข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องได้
ให้บุคคลตามที่กำหนดในกฎกระทรวงมีสิทธิดำเนินการตามมาตรา ๒๓  มาตรา ๒๔ และมาตรานี้แทนผู้เยาว์  คนไร้ความสามารถ  คนเสมือนไร้ความสามารถหรือเจ้าของข้อมูลที่ถึงแก่กรรมแล้วก็
หมวด  ๗ บทกำหนดโทษ
มาตรา ๔๐ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการที่สั่งตามมาตรา  ๓๒   ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน  หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๔๑ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อจำกัดหรือเงื่อนไขที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกำหนดตามมาตรา ๒๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี  หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ

การออม การลงทุน และการวางแผนทางการเงิน

ผู้เล่าเรื่อง  :  นางสาวนันท์ชญาน์ พรพลประชาสิทธิ์ และนางสาวสมศรี  ทรงสุโรจน์
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง  :  นักวิชาการคลังชำนาญการ และเจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน ตามลำดับ
หน่วยงาน :  สำนักกฎหมาย กลุ่มงานกฎหมายและระเบียบด้านการเบิกจ่าย และฝ่ายบริหารทั่วไป
หลักสูตรฝึกอบรม  :  การออม การลงทุน และการวางแผนทางการเงิน
หน่วยงานผู้จัด  :  สำนักนโยบายการออม การลงทุน (สอล.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร / โครงการฝึกอบรม
เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการออม การลงทุน และเตรียมความพร้อมในการวางแผนทางการเงิน
ภาพรวมการออมและการออมเพื่อการเกษียณอายุ
รัฐมีนโยบายในการสนับสนุนการออมเพื่อการเกษียณ โดยการสร้างช่องทางการออมเพื่อการเกษียณ ที่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม และการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนออมและออมต่อเนื่อง ดังนี้
1.กองทุนประกันสังคม สำหรับพนักงานเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ใช่ข้าราชการ
2.กองทุน กบข. สำหรับข้าราชการ
3.กองทุนครูโรงเรียนเอกชน สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชน
4.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำหรับพนักงานเอกชน พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างหน่วยงานราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ใช่ข้าราชการ
5.กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ สำหรับบุคคลทั่วไป
6.ประกันชีวิตแบบบำนาญ สำหรับบุคคลทั่วไป

การเตรียมความพร้อมทางการเงินรับวัยเกษียณ
มี 5 ขั้นตอน ดังนี้
1.กำหนดอายุเกษียณ
2.ประมาณระยะเวลาหลังเกษียณ
3.ประมาณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ
4.ประมาณรายได้หลังเกษียณ
5.วางแผนการออมในปัจจุบัน

ตลาดทุนและตราสารทางการเงิน
ตลาดทุน  คือ ตลาดการเงินที่เป็นแหล่งกลางที่เชื่อมโยงโดยตรงระหว่างผู้ออม ซึ่งต้องการนำเงินกู้ยืม หรือลงทุนระยะยาว  และผู้ลงทุนซึ่งแสวงหาเงินทุนระยะยาว  เพื่อนำไปใช้ในการก่อตั้งกิจการ หรือเพื่อขยายกิจการ
ลักษณะของตลาดทุนเป็นแหล่งเงินกู้ระยะยาว คือ มีระยะเวลาตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป
ความสำคัญของตลาดทุน
1.  เป็นแหล่งระดมเงินทุน
2.  เป็นแหล่งสะสมทุน
3.  ธุรกิจสามารถระดมทุนได้อย่างรวดเร็ว มีจำนวนเพียงพอกับความต้องการ
4.  เป็นแหล่งระดมเงินทุนที่เสียค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการกู้ยืมจากแหล่งอื่น
5.  เป็นประโยชน์ต่อความเจริญเติมโตทางเศรษฐกิจ เช่น ทรัพยากรถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น เกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น สภาพเศรษฐกิจดีขึ้น และป้องกันมิให้เงินออมลดค่าลงอันเนื่องมาจากเงินเฟ้อ

ประเภทของตลาดทุนสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1.  ตลาดแรกหรือตลาดหลักทรัพย์ที่ออกใหม่  คือ แหล่งกลางที่มีการเสนอขาย หรือจำหน่ายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ครั้งแรกแก่ประชาชน หรือนิติบุคคลทั่วไป หลักทรัพย์ที่นำออกจำหน่ายได้แก่ หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ์ หุ้นกู้ หรือพันธบัตร ฯลฯ
2.  ตลาดรองหรือตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ คือ แหล่งกลางในการติดต่อซื้อขายหลักทรัพย์ที่เคยผ่านการซื้อขายในตลาดแรกมาแล้ว  การซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดรองเป็นเพียงการโอนเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นเท่านั้น ตลาดรองไม่ได้ทำหน้าที่ระดมเงินทุนจากประชาชน แต่ทำหน้าที่สนับสนุนการระดมเงินออมจากตลาดแรก และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ที่ซื้อหลักทรัพย์ในตลาดแรกว่าเขาสามารถขายหลักทรัพย์นั้นได้เมื่อต้องการเงินสด หรือเมื่อต้องการได้กำไรจากการขายหุ้น
ตราสารทางการเงิน  คือ  หลักฐานแสดงการถือครองและสิทธิเรียกร้องต่าง ๆ ที่บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์นำออกมาจำหน่ายเพื่อระดมเงินจากผู้ลงทุน และนำมาจดทะเบียนเพื่อให้มีการซื้อขายในตลาดรอง
ตราสารทางการเงินที่ทำการซื้อขายในปัจจุบันสามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
1.  ตราสารทุน  เป็นตราสารที่ให้สิทธิการเป็น “เจ้าของกิจการ” แก่ผู้ลงทุน ดังนั้น ในฐานะเจ้าของกิจการ ผู้ลงทุนจึงมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีถ้ากิจการมีผลการดำเนินงานดี และมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนหรือไม่ได้ผลตอบแทนถ้าผลการดำเนินงานของกิจการไม่เป็นไปตามที่คาดหมาย
2.  ตราสารหนี้  เป็นตราสารที่ให้สิทธิการเป็น  “เจ้าหนี้ของกิจการ” แก่ผู้ลงทุน ซึ่งในฐานะเจ้าหนี้  ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนหรือผลประโยชน์อื่น ๆ ตามที่ได้มีการกำหนดไว้ โดยผู้ออกตราสารหนี้จะระบุอัตราผลตอบแทน กำหนดวันจ่ายดอกเบี้ยและวันครบอายุหรือกำหนดไถ่ถอนตราสารไว้อย่างชัดเจน
3.  หน่วยลงทุน  เป็นตราสารที่ออกจำหน่ายและบริหารการลงทุนโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (บลจ.) เพื่อระดมเงินเข้า “กองทุนรวม” ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อลงทุนตามวัตถุประสงค์และนโยบายการลงทุนที่ระบุไว้ในหนังสือ  ชี้ชวน ผู้ลงทุนมีฐานะเป็น “เจ้าของร่วมในทรัพย์สินของกองทุนรวม”จึงมีส่วนได้ส่วนเสียและได้รับผลตอบแทนตามผลการดำเนินงานของกองทุน ซี่งจุดเด่นของการลงทุนในกองทุนรวมก็คือ การมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุนดูแลการลงทุนให้ จึงเหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ไม่มีเวลาดูแลการลงทุนด้วยตนเอง
4.  ตราสารอนุพันธ์  เป็นสัญญาทางการเงินที่ทำขึ้นในปัจจุบัน เพื่อตกลงซื้อขายหรือให้สิทธิในการ ซื้อขายสินทรัพย์อ้างอิง เช่น หุ้นสามัญ  ดัชนีหลักทรัพย์  อัตราแลกเปลี่ยน  ทองคำ  น้ำมัน ฯลฯ ในอนาคต กล่าวคือ ทำสัญญาตกลงกันวันนี้ว่าจะซื้อหรือขายสินทรัพย์อ้างอิงจำนวนกี่หน่วย ที่ราคาเท่าใด แล้วจะส่งมอบและชำระราคากันเมื่อใด ลักษณะเฉพาะของตราสารอนุพันธ์ คือ  “มีอายุสัญญาจำกัด” เมื่อครบอายุสัญญา มูลค่าของตราสารก็จะหมดลง นอกจากนี้ราคาตราสารอนุพันธ์ก็จะผันผวนไปตามราคาสินทรัพย์อ้างอิง ผู้ลงทุนจึงมักใช้ตราสารอนุพันธ์เป็นเครื่องมือเพื่อป้องกันความเสี่ยง
อย่างไรก็ตาม หลักทรัพย์หรือตราสารทางการเงินแต่ละประเภทมีลักษณะแตกต่างกัน จึงให้ผลตอบแทนและมีความเสี่ยงที่มากน้อยแตกต่างกัน การจะเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ชนิดใด เป็นจำนวนเท่าใดและเมื่อใด  จึงขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการลงทุนระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และความคาดหวังในผลตอบแทนที่จะได้รับของผู้ลงทุนแต่ละคน  ซึ่งมักแปรผันไปตามปัจจัยที่เกี่ยวข้องในแต่ละช่วงเวลา
องค์กรกำกับดูแลระบบการเงินไทย
1.  บทบาทของรัฐบาล
- กำหนดนโยบาย (Establishing the Policy) รัฐบาลมีบทบาททั้งทางตรงและทางอ้อมในระบบการเงินเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพผ่านนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง อาทิเช่น จัดหาเงินทุนให้กับรัฐบาล การบริหารหนี้สาธารณะ และเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ
- การกำกับดูแล (Supervision) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในระบบการเงินของประเทศ โดยผ่านหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อผลลัพธ์ 3 ประการ ได้แก่ การคุ้มครองนักลงทุนรายย่อย   การรักษาเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือในตลาดการเงิน และการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาตลาดเงินตลาดทุน

2.  บทบาทของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
- ดูแลการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ ของบริษัทที่ต้องการกระจายหลักทรัพย์แก่ประชาชน
- กำกับดูแลธุรกิจหลักทรัพย์ เพื่อดูแลผู้ประกอบอาชีพในการเป็นนายหน้าการค้าหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาการลงทุน  กองทุนรวม  กองทุนส่วนบุคคล
- ดูแลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  ซึ่งเป็นตลาดรองสำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์  
- การเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ
- การป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์
3.  บทบาทของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- เสริมสร้างการระดมเงินลงทุนระยะยาว เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
- จัดให้มีระบบการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส
- ดูแลและคุ้มครองผลประโยชน์ผู้ลงทุน
- ส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนโดยรวมของประเทศ

การออมและการวางแผนทางการเงินสำหรับข้าราชการ ( กบข.)
แผนทางเลือกการลงทุน มีให้สมาชิกเลือก 5 แผน ดังนี้
1.  แผนหลัก : การลงทุนในสินทรัพย์มั่นคงสูงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 และมีเป้าหมายผลตอบแทน การลงทุนที่ชนะเงินเฟ้อ ภายใต้ความเสี่ยงที่พอเหมาะสมาชิกที่ไม่ได้แจ้งความประสงค์จะเปลี่ยนแผน กบข. จะนำเงินของท่านมาบริหารอยู่ในแผนหลัก
2.  แผนผสมหุ้นทวี :  การลงทุนมีการกระจายลงทุนในหลักทรัพย์หลายประเภท และด้วยสัดส่วนการลงทุนที่มีตราสารทุน (หุ้น) มาก จึงอาจมีความผันผวนของราคาสูงในแต่ละช่วง (ในระยะสั้นมีโอกาสขาดทุนได้) เพื่อแลกกับโอกาสในการทำกำไรที่สูงในระยะยาวเหมาะสำหรับสมาชิกที่มีอายุน้อยและมีระยะเวลาในการลงทุนยาว
3.  แผนตราสารหนี้ : เลือกลงทุนเฉพาะหลักทรัพย์ประเภทตราสารแสดงสิทธิในหนี้(ระยะสั้นและ   ระยะยาว) เท่านั้น ไม่มีการลงทุนในตราสารทุน ความเสี่ยงจากการลงทุนค่อนข้างต่ำ หมายถึงโอกาสสร้างผลตอบแทน ที่น้อยด้วยเช่นกัน เหมาะสำหรับสมาชิกที่ต้องการความเสี่ยงต่ำ รับได้กับการค่อย ๆ สะสมผลตอบแทน ทีละเล็กทีละน้อย
4.  แผนตลาดเงิน : ลงทุนในตราสารแสดงสิทธิในหนี้ระยะสั้นเท่านั้น ผลตอบแทนจึงน้อยกว่าแผนการลงทุนอื่นทุกแบบ มีโอกาสที่ผลการลงทุนอาจต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ เน้นความปลอดภัยของเงินต้นเป็นสำคัญ มีความเสี่ยงต่ำที่สุดจากแผนเหมาะสำหรับสมาชิกที่เหลือระยะเวลาในการลงทุนน้อยหรือใกล้เกษียณ
5.  แผนสมดุลตามอายุ : เป็นแผนการลงทุนใหม่ที่เปิดตัวเมื่อมีนาคม 2556  มีการปรับลดความเสี่ยงของสินทรัพย์ลงทุนเมื่อสมาชิกอายุเพิ่มขึ้น มีการปรับความเสี่ยงของแผนให้สมาชิกอัตโนมัติ สมาชิกเลือกเปลี่ยนแผนนี้เพียงครั้งเดียวก็ไม่ต้องกังวลต่อไปว่าถึงเวลาเปลี่ยนแผนเพื่อให้สอดคล้องกับอายุที่เพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร
เหมาะสำหรับสมาชิกทุกคน สมาชิกที่อายุราชการมากกว่า 60 ปี ก็สามารถเลือกแผนนี้ได้

การออมเพิ่ม
การบริการที่ กบข. เปิดโอกาสให้สมาชิกแจ้งความประสงค์ออมเงินกับ กบข. ได้มากกว่าอัตราการออมปกติ 3% ของเงินเดือน โดยมีอัตราการออมเพิ่มให้เลือกได้ตั้งแต่ 1% -12% ของเงินเดือน และเมื่อรวมกับอัตราการออมปกติแล้วไม่เกิน 15% ของเงินเดือน โดยรัฐยังคงส่งเงินสมทบในอัตรา 3% และเงินชดเชย 2% ของเงินเดือนสมาชิกเช่นเดิม
การออมต่อการบริหารเงินออมสำหรับสมาชิกที่เกษียณอายุราชการ หรือลาออกจากราชการ และสิ้นสุดสมาชิกภาพจาก กบข. แต่ยังประสงค์จะให้ กบข. บริหารเงินต่อให้เพื่อสร้างผลตอบแทนต่อเนื่อง

GPF Web Service : บริการทันใจ จัดการได้เอง ช่องทางการติดต่อ กบข. ผ่านบริการออนไลน์ ที่สมาชิกสามารถทำรายการต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง ตามขั้นตอนดังนี้
1.  เข้าเว็บไซต์ กบข. www.gpf.or.th และเลือก GPF Web Service
2.  ใส่รหัสประจำตัว (13 หลัก) และรหัสผ่านที่ได้รับจาก กบข. หากไม่ทราบหรือลืมรหัสผ่าน คลิกที่ปุ่ม  “ลืมรหัสผ่าน” เพื่อทำการขอรหัสผ่านใหม่ด้วยตนเอง
3.  กรอกรหัสประจำตัวประชาชน