วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2560

โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมกับหน่วยงานตรวจสอบ

ผู้เล่าเรื่อง  :
๑. นางนพรัตน์ พรหมนารท ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาระบบงานตรวจสอบภายใน
๒. นางวัลนา ภู่สำลี                 นักบัญชีชำนาญการพิเศษ
๓. นายสมพล ลิมปมาลัยพร นักบัญชีชำนาญการพิเศษ
๔. น.ส.กชพร รักอยู่                 นักบัญชีชำนาญการพิเศษ
๕. น.ส. จารุวรรณ โชติวัชรมัย นักบัญชีชำนาญการ
๖. น.ส. จุไรรัตน์ รวยดี         นักบัญชีชำนาญการ
๗. น.ส. ฐิติมา พราวศรี                 นักบัญชีปฏิบัติการ
๘. น.ส. นุจรี อ่อนดี                 นักบัญชีปฏิบัติการ
๙. น.ส. ปภาสินี คลอวุฒิเสถียร นักบัญชีปฏิบัติการ
๑๐. น.ส. ศศิวิมล มีเอม                 นักบัญชีปฏิบัติการ
โทรศัพท์เพื่อการปันความรู้  :  ๐๒-๑๒๗-๗๒๘๗
หลักสูตรฝึกอบรม  :โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมกับหน่วยงานตรวจสอบ
หน่วยงานผู้จัด  :  สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร / โครงการฝึกอบรม
๑) เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานขององค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมกับหน่วยงานตรวจสอบ
๒) เพื่อลดปัญหาและอุปสรรค รวมทั้งเพิ่มความคล่องตัวในการปฏิบัติงานระหว่าง
หน่วยตรวจสอบ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กับหน่วยรับตรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
เนื้อหาและหัวข้อวิชาของหลักสูตรการฝึกอบรม  มีดังนี้
ประเด็นหารือในการตีความกฎหมายหรือแนวทางการตรวจสอบ อปท. ของหน่วยงานตรวจสอบ
และการกำหนดแนวทางร่วมกันในอนาคต
ประโยชน์ที่ได้รับจากการฝึกอบรม
ต่อตนเอง  ได้แก่  ทราบวิธีการและแนวทางการปฏิบัติงานของหน่วยงานตรวจสอบ รวมทั้งรับทราบบริบทและสภาพแวดล้อมการปฏิบัติงานของหน่วยงาน อปท.
ต่อหน่วยงาน ได้แก่  นำองค์ความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในงานเสริมสร้างคุณภาพ
งานตรวจสอบภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
แนวทางในการนำความรู้ ทักษะที่ได้รับจากการฝึกอบรมครั้งนี้ ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์แก่หน่วยงานมีดังนี้
1. เพิ่มพูนองค์ความรู้บุคลากรในกองตรวจสอบภาครัฐ      
2. สามารถนำความรู้เพื่อเสนอแนะแนวทางด้านการตรวจสอบภายในในมุมมองของหน่วยตรวจสอบให้แก่ส่วนราชการภาครัฐได้อย่างเหมาะสม
3. สามารถนำบริบทหรือสภาพแวดล้อมการปฏิบัติงานของหน่วยงาน อปท. เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับโครงการเสริมสร้างคุณภาพงานตรวจสอบภายในสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ปัญหาและอุปสรรคที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการนำความรู้  และทักษะที่ได้รับไปปรับใช้ในการปฏิบัติงาน
อปท. เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในด้านการบริหารจัดการในการให้บริการสาธารณะ รวมทั้งเสริมสร้างการมีส่วนร่วม การบูรณาการและการบริหารเครือข่ายในทุกภาคส่วน และการปฏิบัติงานของ อปท.
จะขึ้นอยู่กับโครงการที่มีความเร่งด่วน ซึ่งมีความแตกต่างจากส่วนราชการภาครัฐ ดังนั้นการดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ อปท. ควรมีการศึกษาบริบท สภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงาน และข้อจำกัดในการปฏิบัติงาน
ให้ครบถ้วน


การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ :
ประเด็นหารือในการตีความกฎหมายหรือแนวทางการตรวจสอบ อปท. ของหน่วยตรวจสอบและการกำหนดแนวทางร่วมกันในอนาคต
หลักคิด/หลักการสำคัญที่เกี่ยวข้อง
๑. เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและการปกครองท้องถิ่นในการให้และชุมชนปกครองตนเอง จัดบริการสาธารณะหรือแก้ไขปัญหาของประชาชนในแต่ละพื้นที่ด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชนท้องถิ่น และให้ อปท. มีอิสระในการดำเนินการภายใต้กรอบและเจตนารมณ์ของกฎหมาย
๒. อปท. ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างสุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและทำงานภายใต้หลักธรรมาภิบาล
๓. การตรวจสอบโดยหน่วยงานตรวจสอบ ต้องไม่ล้ำเส้นจนนำไปสู่ Micro Management
หรือก้าวล่วงไปสู่การใช้อำนาจบริหารปกครองของหน่วยงานรัฐในฝ่ายบริหาร อปท. จนทำให้ อปท. ไม่สามารถดูแลบริการสาธารณะหรือแก้ไขปัญหาของประชาชนได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ประเด็นที่พิจารณาให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้
ประเด็นที่  ๑. กฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติที่รองรับการดำเนินงานของ อปท.
สภาพปัญหา  อปท. มีหน้าที่และความรับผิดชอบตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆ แต่ไม่มีระเบียบรองรับ
แนวปฏิบัติ หรือการดำเนินงาน ขาดการให้อำนาจอย่างเพียงพอ หรือขาดระเบียบรองรับการเบิกจ่าย
ในบางเรื่องหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทย ใช้ได้บางเรื่องแต่บางเรื่องใช้ไม่ได้ ทำให้ถูกทักท้วงจาก สตง. เช่น ปัญหาในการเบิกจ่ายเพื่อการจัดแข่งขันกีฬา การจัดงานเชิงประเพณีกิจกรรมทางศาสนา การเบิกค่าเบี้ยเลี้ยง อปพร. การจ่ายเงินตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษ (เงินโบนัส) การเบิกจ่ายทุนการศึกษาบุคลากร การสอนเสริมพิเศษ ฯลฯ
ประเด็นคำถาม : อำนาจของ สตง.
ข้อ 1. สตง. ใช้หลักเกณฑ์ใดในการตีความกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติและอำนาจหน้าที่ของ อปท.
ข้อ 2. ในกรณีที่ตรวจพบว่าไม่มีกฎหมายหรือระเบียบรองรับในการตรวจตามมาตรา 45 สตง. ควรแจ้งหน่วยงานต้นสังกัดทราบ เพื่อกำหนดมาตรการที่จำเป็น ในกรณีเช่นนี้ สตง. ควรเร่งรัด-ติดตาม
ให้มีการปรับปรุงแก้ไขกับหน่วยงานต้นสังกัดแทนที่จะเป็น อปท. หรือไม่
ข้อ 3. กรณีที่ตรวจพบว่ามีความเสียหายกับหน่วยรับตรวจอันเนื่องมาจากการกระทำการ
โดยมิชอบ สตง. มีอำนาจประเมินความเสียหาย และแจ้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาและคณะรัฐมนตรีทราบเท่านั้น โดยไม่มีอำนาจสั่งการให้คืนเงินใช่หรือไม่ และในกรณีดังกล่าวจะต้องมีการระบุหรือประเมินเฉพาะมูลค่า
ความเสียหายอย่างเป็นระบบ แทนที่จะเป็นการสั่งเรียกเงินคืนเต็มจำนวนใช่หรือไม่
ประเด็นคำตอบ : อำนาจของ สตง.
1. สตง. ใช้หลักการตีความตามกฎหมายหรือระเบียบโดยพิจารณาจากเรื่องที่ตรวจ
หากมีระเบียบกำหนดไว้ชัดเจนสามารถตรวจสอบตามระเบียบนั้นๆ หากระเบียบกำหนดไว้ไม่ชัดเจนจะต้อง
มีการตีความโดยยึดหลักผลประโยชน์ส่วนรวม กล่าวคือจะตีความเข้าข้างผลประโยชน์ของประชาชน
และอาจต้องใช้ดุลยพินิจมาร่วมในการพิจารณาแต่การใช้ดุลยพินิจจะต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย
เช่น การตีความการใช้จ่ายเงินอย่างสมเหตุสมผล การตีความไม่แอบแฝงผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น
กรณีการทักท้วงเรียกเงินคืน สตง. จะตีความตามความสมเหตุสมผลตามกฎหมายการใช้จ่าย
เงินแผ่นดินและตรวจสอบจากหลักฐานเบิกจ่าย
ปปช. วินิจฉัยสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งจากปัจจุบันและสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต และวินิจฉัยจากเจตนา รวมทั้งพยานหลักฐานด้วยความรอบคอบ ทั้งนี้การวินิจฉัยต้องอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับ
2. สตง. ยึดถือกฎหมายและระเบียบเป็นสำคัญ โดยประเมินจากความเสี่ยงและการประเมิน
การควบคุมภายในและถ้าหน่วยรับตรวจใดมีความเสี่ยงสูงจะมีการตรวจสอบเป็นลำดับแรก และ สตง.
มีอัตรากำลังจำนวนจำกัดในขณะที่มีหน่วยรับตรวจทั่วประเทศมีจำนวนมาก อาจทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ครอบคลุมทุกเรื่อง ซึ่ง สตง. จะมีข้อทักท้วงเฉพาะเรื่องที่สามารถตรวจสอบได้เท่านั้น
3. สตง. มีอำนาจในการประเมินความเสียหายตามข้อเท็จจริง และแจ้งให้สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาและคณะรัฐมนตรีรับทราบเพื่อให้ดำเนินการต่อไป ดังนั้นผู้แทนราษฎรต้องมีการบริหารการใช้จ่ายเงิน
ให้รอบคอบและเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด สำหรับความเสียหายที่ สตง. ประเมินนั้นจะยึดถือหลักเหตุผล
อย่างรัดกุม และพิจารณาจากความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ทางราชการ
การกระทำต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม ซึ่งถ้าปฏิบัติงาน
สื่อถึงการไม่รักษาผลประโยชน์ถือว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการอันผิดวินัย
การเรียกเงินคืนจะกระทำตามความสมเหตุสมผล เช่น กรณีหลักฐานการเบิกจ่ายเงิน
ไม่ถูกต้องนั้น สตง. จะให้เรียกเงินคืนทั้งจำนวน เป็นต้น
ประเด็นคำถาม : กฎหมาย/ระเบียบที่รองรับการดำเนินงานหรือการเบิกจ่ายของ อปท.
1. กรณีที่ต้องมีระเบียบรองรับการดำเนินการตามกฎหมายแม่บท จะต้องมีระเบียบจำนวนเท่าใดหรือเรื่องอะไรบ้างถึงเพียงพอ ที่จะให้ อปท. สามารถทำหน้าที่ดูแลแก้ไขปัญหาหรือบริการประชาชนได้ ระเบียบปฏิบัติจะต้องมีทุกๆ เรื่อง หรือมีเฉพาะบางเรื่องที่จำเป็น
2. ใครเป็นคนออกระเบียบ กระทรวงมหาดไทยเท่านั้นกระทรวงที่เป็นผู้รักษาการ/ผู้บังคับใช้กฎหมาย หรือสามารถออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ได้หรือไม่
3. ถ้าเรื่องนั้นจำเป็นต้องมีระเบียบรองรับ แต่ในระหว่างที่ยังไม่มีระเบียบใช้บังคับ สามารถให้อิสระแก่ อปท. มีอิสระในการพัฒนาบุคลากรของตนให้มีทักษะ ความรู้ สำหรับใช้ประโยชน์ในการให้บริการประชาชนตามอำนาจหน้าที่ในเขตพื้นที่ของตน เป็นต้น
4. ในกรณีของการดำเนินภารกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเงิน สามารถให้ อปท. กำหนดข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. เพื่อรองรับการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้หรือไม่
เช่น การกำหนดวิธีปฏิบัติงาน/ทางเลือกในการจัดการศึกษาของ อปท. ในกรณีของการสอนเสริม สอนพิเศษ
การขยายโอกาสทางการศึกษาในลักษณะต่างๆ การส่งเสริมและอนุรักษ์กิจกรรมทางศาสนา ประเพณี
ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น เพื่อให้อิสระแก่ อปท. ในการกำหนดหลักเกณฑ์หรือวิธีการ
ในการดำเนินภารกิจที่เหมาะสมในแต่ละชุมชนท้องถิ่น
ประเด็นคำตอบ : กฎหมาย/ระเบียบที่รองรับการดำเนินงานหรือการเบิกจ่ายของ อปท.
1. การดำเนินงานของท้องถิ่นจะยึดกฎหมายการจัดตั้งฯ ท้องถิ่น สำหรับการใช้จ่ายเงินจะยึด
ตามกฎหมายการจัดตั้งให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยในการวางกฎระเบียบต่างๆ เช่น ระเบียบวิธีการงบประมาณ ระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง ระเบียบการเบิกจ่ายเงิน เป็นต้น และยังมีระเบียบย่อยเฉพาะในแต่ละเรื่อง
ในการออกระเบียบ กระทรวงมหาดไทยพิจารณาจากประเด็น ดังนี้
- อำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน อปท.
- มาตรฐาน โดยกระทรวงมหาดไทยมีการพิจารณาร่วมกับระเบียบของหน่วยงานภาครัฐที่กรมบัญชีกลางเป็นผู้กำหนด
- ความคล่องตัวในการบริหารจัดการ
กฎหมายและระเบียบของหน่วยงาน อปท. อาจยังไม่ครอบคลุมเรื่องของการจัดงานประเพณี
การจัดงานกีฬา โดยกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการกำหนดระเบียบดังกล่าว สำหรับระเบียบที่ล้าสมัย ได้แก่ กฎหมายบำรุงสาธารณะของท้องถิ่น กฎหมายสงเคราะห์ผู้ประสบภัย เป็นต้น
จะดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
การกำหนดระเบียบและแนวทางการปฏิบัติงานที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นมีความเพียงพอแล้ว
แต่ทั้งนี้มีปัญหาการตีความของกฎ ระเบียบ และข้อบังคับต่างๆ ยังไม่ชัดเจนพอและการใช้ดุลยพินิจเป็นสิ่งที่นอกเหนือระเบียบ ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยและผู้ที่เกี่ยวข้องควรมีการกำหนดแนวทางในการดำเนินงาน
ให้ชัดเจน เพื่อทำให้เกิดความชัดเจนและลดปัญหาในการตีความรวมทั้งลดความขัดแย้งระหว่างหน่วยตรวจสอบและหน่วยรับตรวจ เช่น กรมบัญชีกลางเป็นผู้กำหนดระเบียบเพื่อให้ส่วนราชการถือปฏิบัติ โดยจะมีการกำหนดว่าค่าใช้จ่ายอะไรเบิกได้หรือไม่ และสามารถเบิกได้ในอัตราเท่าใดตามความจำเป็นเหมาะสมและประหยัด
เป็นต้น
ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องมีระเบียบในทุกเรื่องแต่อย่างน้อยควรจะมีในเรื่องระเบียบเกี่ยวกับประเพณี กิจกรรมการกีฬา รวมถึงระเบียบด้านการเบิกจ่าย ซึ่งอาจอ้างอิงจากกรมบัญชีกลางหรือสำนักงบประมาณ
ที่กำหนดระเบียบของส่วนราชการส่วนกลาง นอกจากนี้การออกหนังสือสั่งการควรมีเนื้อหาที่มีความสอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบด้วย
2. ผู้ออกระเบียบและแนวทางปฏิบัติ กฎหมายการจัดตั้งฯ ท้องถิ่นให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้กำหนดกฏระเบียบและแนวทางการปฏิบัติงานของ อปท.
3. เรื่องที่ยังไม่มีระเบียบรองรับและระหว่างที่ยังไม่มีระเบียบใช้บังคับ กระทรวงมหาดไทย
จะให้อำนาจแก่ อปท. ในการใช้ดุลยพินิจเพื่อพิจารณาการดำเนินงานต่างๆ ให้มีความเหมาะสม จำเป็น และประหยัด ซึ่งในเรื่องการจัดงานประเพณีหรืองานกีฬาต่างๆ ที่ยังไม่มีระเบียบรองรับนั้น กระทรวงมหาดไทยร่วมกับ
กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเป็นคณะทำงานกำหนดระเบียบและแนวทาง
การปฏิบัติงานต่อไป
4. กรณี อปท. ขอดำเนินการออกข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติโดยอาศัยความตาม พ.ร.บ.
เพื่อรองรับการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่นั้น  กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นมีการกำหนด
หลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินการของ อปท. ซึ่งอาจจะต้องรอความชัดเจนมติ ครม. ก่อนจึงจะมีการแจ้ง
ให้หน่วยงาน อปท. รับทราบต่อไป
ประเด็นที่ 2 วิธีตีความเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ อปท.
สภาพปัญหา  มีกรณีที่เกิดขึ้นและเป็นปัญหาการตีความว่า อปท. มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการภารกิจต่างๆหรือไม่
ประเด็นคำถาม :
1. ในกรณีแรก เป็นกรณีที่ สตง. นำเอาวิธีการดำเนินงานหรือวัสดุเครื่องมือที่ อปท. จัดซื้อ/จัดหามาเป็นเหตุผลว่า อปท. ดำเนินการไม่ได้เพราะไม่มีอำนาจหน้าที่ระบุไว้ในกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติต่างๆ แต่แท้จริงแล้วการจัดหาวัสดุเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือวิธีการดำเนินงานต่างๆ เป็นเพียงเครื่องมือที่นำไปสู่
การบรรลุเป้าหมายตามภารกิจอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด เช่น การจัดกวดวิชา การสอนเสริมให้เด็ก
การพัฒนาทักษะเฉพาะเพื่อความเป็นเลิศ การจัดการแข่งขันกีฬา ฯลฯ เป็นวิธีการในการดำเนิน “ภารกิจ
ด้านการศึกษา” “การขยายโอกาสทางการศึกษา” หรือการส่งเสริมกีฬา การออกกำลังกาย และนันทนาการ การจัดรถรับส่งนักเรียน ฯลฯ หรือการจัดซื้อเครื่องมือตรวจสารเสพติด การวัดแอลกอฮอล์ การฉีดวัคซีนป้องกัน
พิษสุนัขบ้า ฯลฯ เพื่อการทำหน้าที่ในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในชุมชน/การป้องกันโรคระบาด เป็นต้น ในกรณีเช่นนี้ จะใช้วิธีตีความหมายหรือขอบเขตภารกิจ โดยดูจาก “วัตถุประสงค์หรือผลลัพธ์ของการดำเนินโครงการ” หรือนำเอา “วิธีการบรรลุภารกิจหรือเครื่องมือวัสดุในการดำเนินงาน” มาเป็นกรอบตีความอำนาจหน้าที่ของ อปท. ใช่หรือไม่
2. ในกรณีที่ภารกิจถ่ายโอนไม่สมบูรณ์ แม้จะระบุไว้แล้วในแผนการกระจายอำนาจฯ
แต่ส่วนราชการไม่ยอมถ่ายโอนภารกิจ ถ่ายโอนเพียงบางส่วน ไม่มอบอำนาจดำเนินการไม่แต่งตั้ง อปท.
เป็นเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานตามกฎหมายหรือไม่แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เรียบร้อย ทำให้ อปท. ไม่มีอำนาจดำเนินการโดยสมบูรณ์ในแต่ละกรณี ดังนี้
2.1 อปท. ดำเนินการได้เลยหรือไม่ตามขอบเขตภารกิจในกฎหมายจัดตั้ง หรือกฎหมายกำหนดแผนขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ เนื่องจากมีกฎหมายระดับ พ.ร.บ. ระบุภารกิจไว้แล้ว โดยตีความว่า อปท. มีอิสระในกรอบของกฎหมาย เป็นการดำเนินภารกิจที่ไม่ทับซ้อนระหว่างรัฐ (ส่วนราชการ) กับ อปท.
แต่เป็นการดำเนินการที่สนับสนุนกันในการจัดบริการสาธารณะและ / หรือการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน
และ อปท. อาจไม่จำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนหรืออำนาจดำเนินการจากส่วนราชการเดิมอีก
2.2 ตีความได้หรือไม่ว่า อปท. ดำเนินการร่วมกับส่วนราชการที่เป็นเจ้าของภารกิจเดิม
โดยเป็นองค์กรรัฐในสังกัดฝ่ายบริหารที่ร่วมมือในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ดังเช่นกรณีการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพของประชาชนในพื้นที่จังหวัดตรัง ซึ่ง อบจ. ตรัง ดำเนินการร่วมกับ สสจ. ตรัง และโรงพยาบาลตรัง เป็นต้น
3. ในกรณีที่มีความไม่ชัดเจนในการแบ่งบทบาทหน้าที่ระหว่าง อปท. ระดับบนกับ อปท.
ระดับล่าง หรืออาจมีความทับซ้อนกันในการดำเนินภารกิจระหว่าง อบจ. กับเทศบาลตำบล/ อบต. สามารถ
ให้ อปท. ในแต่ละจังหวัดกำหนดวิธีจัดแบ่งภารกิจระหว่างกัน มีการแบ่งปันหรือแลกเปลี่ยนทรัพยากร
ที่เหมาะสมและจัดทำ MOU ความร่วมมือในการจัดบริการสาธารณะตามประกาศของ ก.ก.ถ. ได้หรือไม่
โดยอาจแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ตามลักษณะภารกิจ วิธีการดำเนินการ หรือบริบทของชุมชน อาทิ
3.1 ภารกิจที่ต้องทำร่วมกันใกล้ชิด เช่น การจัดการขยะสิ่งแวดล้อม การจัดการภัยพิบัติ ทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งน้ำ สถานที่ท่องเที่ยว เป็นต้น
3.2 ภารกิจที่แบ่งตามความยาก/ความซับซ้อนในเทคนิคการดำเนินการ/ขั้นตอน
การปฏิบัติงานหรือแบ่งตามวงจรห่วงโซ่ของการดำเนินการ เช่น งานด้านโครงสร้างพื้นฐาน
ระบบสาธารณูปโภค/สาธารณูปการ การจัดการประเด็นปัญหาทางสังคม สาธารณสุข คุณภาพชีวิต
การจัดการศึกษา การจัดระเบียบชุมชน/ การรักษาความเรียบร้อยภายในชุมชน การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน
การส่งเสริมอาชีพและพัฒนารายได้ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชุมชน ฯลฯ โดย อปท. ระดับล่างรับผิดชอบภารกิจขั้นต้นหรือในงานที่ไม่ซับซ้อน ส่วน อบจ. ดูแลกระบวนการขั้นปลายน้ำหรือในภารกิจที่มีความซับซ้อน เป็นต้น
3.3 ภารกิจที่แบ่งตามขนาดของการดำเนินการ เช่น งานด้านโครงสร้างพื้นฐาน
การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ฯลฯ โดยที่ถ้าหากเป็นกิจกรรมขนาดเล็ก มีขนาดที่เหมาะสมในพื้นที่ อปท. ใด ก็ให้ อปท. นั้นๆ รับผิดชอบ แต่ถ้าขนาดของการดำเนินการในแต่ละพื้นที่เล็กเกินไป
จนเกิดความไม่คุ้มค่าหรือไม่เกิดประโยชน์ที่ อปท. แต่ละแห่งจะดำเนินการเองโดยตรง ในกรณีเช่นนี้
อาจกำหนดให้ อบจ. มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการผ่านข้อตกลงร่วมกันระหว่าง อปท. ต่างๆ ในพื้นที่ เป็นต้น
ประเด็นคำตอบ
สตง. ให้คำตอบในประเด็นนี้คือ ในการตรวจสอบนั้นจะใช้วิธีตีความหมายหรือขอบเขตภารกิจ โดย สตง. จะพิจารณาจาก ประเด็นต่างๆ ดังนี้
1. อำนาจหน้าที่  ตามหลักการมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือกฎหมายอื่นได้กำหนดอำนาจหน้าที่ให้หน่วยงานสามารถปฏิบัติได้หรือไม่ ซึ่งก็มีข้อที่พึงระวังในการพิจารณาคือมีอำนาจหน้าที่โดยตรงหรือส่งเสริมสนับสนุน ซึ่ง สตง. จะใช้ดุลพินิจในการพิจารณา
2. ข้อปฏิบัติ  ตามหลักการคำนึงถึงระเบียบข้อบังคับ ซึ่งมีข้อพึงระวังคือไม่มีระเบียบข้อบังคับกำหนดไว้ว่าหน่วยงานสามารถกระทำได้
3.  แนวปฏิบัติซักซ้อม  ตามหลักการพิจารณาจากคำสั่ง หนังสือเวียน ซึ่งมีข้อพึงระวัง
ในการพิจารณาคือถ้าไม่มีก็ต้องพิจารณาถึงความสุจริตในการปฏิบัติ
4.  ดุลพินิจ  ตามหลักการการใช้ดุลพินิจต้องชอบด้วยกฎหมาย (ไม่มีส่วนได้เสีย ไม่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกัน ข้อพึงระวังในการใช้ดุลพินิจคือ ความจำเป็น (ต้องพิจารณาด้วยว่าเป็นการเบิกจ่าย
ที่ตั้งในโครงการ และเป็นการเบิกจ่ายในระเบียบ)  ความเหมาะสมและประหยัด (ต้องพิจารณาว่า
เป็นไปตามระเบียบหรือไม่ ถ้าไม่เป็นไปตามระเบียบเรียกคืนเงินที่เบิกจ่ายทั้งหมด กรณีที่จ่ายถูกต้อง
ตามระเบียบแต่มีส่วนเกิน ให้เรียกคืนส่วนที่เกินระเบียบ)
5.  งบประมาณ (เงินที่ได้รับ)
6.  ประโยชน์สูงสุดในการดำเนินโครงการ งาน แผนงาน
7.  การดำเนินงานโปร่งใส/ตรวจสอบได้
ทั้งนี้มีการอภิปรายการตรวจสอบโครงการต่าง ๆ เช่น  การตรวจสอบโครงการเริ่มจาก
การตั้งโครงการเพื่อของบประมาณ ดังนี้
- โครงการทำบุญตักบาตรซึ่งมีการตั้งงบประมาณที่ต้องใช้ในการนิมนต์พระสงฆ์กี่รูป
และดำเนินการเป็นไปตามนั้นหรือไม่ แต่ให้ยกเว้นการซื้อข้าวสารอาหารแห้ง เนื่องจากไม่ได้กำหนดรายการ
ในโครงการ
- โครงการอบรมสัมมนาที่มีการเลี้ยงอาหารกลางวันนั้นสามารถเบิกได้ตามที่ระเบียบกำหนด
- กรณีการจัดอาหารกลางวันให้กับผู้ร่วมโครงการมูลค่าที่เบิกนั้นได้ตามระเบียบกำหนด
- กรณีที่ผู้ร่วมงานมาไม่ครบตามเป้าหมาย ถ้าเป็นการอบรมให้บุคคลภายนอกมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นให้พิจารณาว่ามีความจำเป็นต้องจ่ายหรือไม่ (เป็นค่าใช้จ่ายที่มีความจำเป็นต้องจ่ายเพื่อเตรียมการ)
ถ้าเป็นการอบรมให้บุคคลภายในหน่วยงานบุคคลที่ไม่ได้เข้าอบรมต้องมีการลาป่วย หรือไปปฏิบัติราชการ
ที่ได้รับคำสั่งด่วน ถ้าไม่เช่นนั้นต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบกรณีที่ไม่สามารถเข้าอบรมได้
- กรณีที่มีการจัดสอนแก่เด็กด้อยโอกาส สตง. ได้ทักท้วงว่าจะต้องพิจารณากิจกรรม
หรือภารกิจ “ด้วยระเบียบเบิกจ่ายกำหนดเงินสนับสนุนไว้ ถ้าระเบียบเบิกจ่ายมีความแตกต่างในเงินที่ใช้อาจต้องพิจารณาในการเบิกจ่ายอีกครั้ง”
- กรณี อบต. ซื้อเครื่องสูบน้ำเพื่อใช้ในการบรรเทาภัยแล้ง จะพิจารณาว่า อบต. มีการดำเนินการเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากการดูแลเรื่องภัยแล้งนั้นเป็นหน้าที่ของหน่วยงานราชการอื่น ไม่ใช่ภารกิจที่ปรากฏ
ในระเบียบที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของ อบต. ทำให้เป็นการปฏิบัติหน้าที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานราชการอื่น
ซึ่ง สตง. พิจารณาว่าหน่วยงานมีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติงานนั้นหรือไม่ ถ้ามีอำนาจอย่างหนึ่งแต่กระทำอย่างหนึ่งนั้นทำไม่ได้ ตามมาตรา 12 (25)
สรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยแบ่งเป็นแผนระยะสั้น และแผนระยะยาว ดังนี้
แผนระยะสั้น (อาศัยกระบวนการตัวกลางในการบริหารจัดการ)
- กำหนดให้ ก.ก.ถ. ตั้งคณะอนุกรรมการกลางเพื่อจัดระบบบริการสาธารณะระหว่างหน่วยงานรัฐกับหน่วยงานท้องถิ่น และระหว่างท้องถิ่นด้วยกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติหน้าที่
ในภารกิจหรือพื้นที่ในการจัดกิจกรรมที่ทับซ้อนกัน
- กำหนดให้มีระบบประสานแผนงานระหว่างหน่วยงาน และผู้ปฏิบัติงานอย่างชัดเจน
แผนระยะยาว
- แก้ไขกฎหมายจัดตั้ง อปท. เพื่อกำหนดอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นให้ชัดเจน
- แก้ไขกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ เพื่อแบ่งอำนาจหน้าที่ระหว่างท้องถิ่นกับส่วนราชการให้ชัดเจน