วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ความรู้เกี่ยวกับการบริหารงานพัสดุภาครัฐ และความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

ผู้เล่าเรื่อง  :  นางสาวพรรณนภา  เผ่าจินดา
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง  :  นักวิชาการคลังชำนาญการ
หน่วยงาน :  กองกำกับและพัฒนาระบบเงินนอกงบประมาณ
โทรศัพท์เพื่อการปันความรู้  :  0 2127 7439

หลักสูตรฝึกอบรม  :  ความรู้เกี่ยวกับการบริหารงานพัสดุภาครัฐ และความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

หน่วยงานผู้จัด  :  สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร / โครงการฝึกอบรม
1) เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ด้วยวิธีการทางอีเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 รวมทั้งแนวทางปฏิบัติในการจัดหาพัสดุด้วยวิธีตลาดอีเล็กทรอนิกส์ (Electronic Market : e-market) และด้วยวิธีประกวดราคาอีเล็กทรอนิกส์ (Electronic Bidding : e-bidding)
2) เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
3) เพื่อให้ข้าราชการกระทรวงการคลัง มีความชำนาญ มีความพร้อมและสามารถปฏิบัติงานด้านพัสดุภาครัฐได้อย่างมั่นใจ
เนื้อหาและหัวข้อวิชาของหลักสูตรการฝึกอบรม  มีดังนี้  
1) แนวทางปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ
2) แนวทางและหลักปฏิบัติราชการเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิของเจ้าหน้าที่
ประโยชน์ที่ได้รับจากการฝึกอบรม
 ต่อตนเอง  ได้แก่ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารงานพัสดุภาครัฐ และความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ เพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมั่นใจและถูกต้อง
 ต่อหน่วยงาน ได้แก่  การบริหารงานพัสดุภาครัฐ และความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ของบุคลากรในสังกัดกระทรวงการคลัง มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
แนวทางในการนำความรู้ ทักษะที่ได้รับจากการฝึกอบรมครั้งนี้ ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์แก่หน่วยงาน
- นำไปปรับใช้ในการทำสัญญาจ้างที่ปรึกษาการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
   ปัญหาและอุปสรรคที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการนำความรู้  และทักษะที่ได้รับไปปรับใช้ในการปฏิบัติงาน
- รายละเอียดในเชิงเทคนิค
การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ :
1. ความรู้เกี่ยวกับการบริหารงานพัสดุภาครัฐ
    1.1  การบริหารงานพัสดุภาครัฐ  มีระเบียบ/แนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
(1) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม
(2) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ด้วยวิธีการทางอีเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549
(3) ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการจัดหาพัสดุด้วยวิธีตลาดอีเล็กทรอนิกส์ (Electronic Market : e-market) และด้วยวิธีประกวดราคาอีเล็กทรอนิกส์ (Electronic Bidding : e-bidding)
ในการบริหารพัสดุจะต้องยึดหลักการในการดำเนินงาน คือ เปิดเผย โปร่งใส เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม ทั้งนี้ การพัสดุ หมายรวมถึง การจัดทำเอง การซื้อ การจ้าง การจ้างที่ปรึกษา การจ้างออกแบบควบคุมงาน การเช่า การแลกเปลี่ยน โดยผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดหาพัสดุ ได้แก่ เจ้าหน้าที่พัสดุ หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้มีอำนาจอนุมัติสั่งซื้อสังจ้าง คณะกรรมการต่างๆ / ผู้ควบคุมงาน ซึ่งในบางครั้งอาจมีการแบ่งซื้อแบ่งจ้าง (การลดวงเงินที่จะซื้อหรือจ้าง ในครั้งเดียวกันออกเป็นหลายครั้ง) ได้ ทั้งนี้ ต้องไม่มีเหตุผลความจำเป็นและมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยง
วิธีการจัดซื้อจัดจ้าง ได้แก่ (1) วิธีตกลงราคา : วงเงินไม่เกิน 100,000 บาท (2) วิธีสอบราคา : วงเงินเกิน 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 2,000,000 บาท (3) วิธีประกวดราคา (วิธี e-Auction) วงเงินตั้งแต่ 2,000,000 บาท ขึ้นไป (4) วิธีพิเศษ : วงเงินเกิน 100,000 บาท แต่มีเงื่อนไข และ (5) วิธีกรณีพิเศษ : ไม่กำหนดวงเงิน แต่มีเงื่อนไข    โดยก่อนการจัดซื้อจัดจ้างทุกวิธี ต้องทำรายงานขอซื้อขอจ้าง แล้วจึงดำเนินการในขั้นตอนการจัดหา การขออนุมัติ  การทำสัญญา และการตรวจรับ ทั้งนี้ รายละเอียดของรายงานจัดซื้อจัดจ้าง ประกอบด้วย  1) เหตุผลความจำเป็นที่ต้องซื้อหรือจ้าง 2) รายละเอียดของพัสดุ  3) ราคามาตรฐาน หรือราคากลาง หรือราคครั้งหลังสุดไม่เกิน 2 ปีงบประมาณ  4) วงเงินที่จะซื้อ/จ้าง/ระบุวงเงินงบประมาณ เงินกู้ เงินช่วยเหลือ ที่จะซื้อ/จ้างในครั้งนั้น 5) กำหนดเวลาที่ต้องการใช้พัสดุ 6) วิธีจะซื้อ/จ้าง และเหตุผลที่ต้องซื้อ/จ้างโดยวิธีนั้น และ 7) ข้อเสนออื่นๆ (การแต่งตั้งคณะกรรมการ การออกประกาศสอบราคา หรือประกวดราคา)
การแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญา โดยหลักการแล้วห้ามแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญา ยกเว้นกรณีจำเป็น ไม่ทำให้ราชการเสียประโยชน์ หรือกรณีแก้ไขเพื่อประโยชน์ของทางราชการ โดยการแก้ไขดังกล่าวต้องไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของสัญญา กล่าวคือ ต้องอยู่ในขอบวัตถุประสงค์แห่งสัญญาเดิม โดยต้องไม่เป็นการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ ทั้งนี้ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาจะกระทำในช่วงเวลาใดก็ได้ แต่อย่างช้าต้องก่อนตรวจรับงานงวดสุดท้าย เว้นแต่เป็นการแก้ไขเรื่องหลักประกัน  โดยผู้มีอำนาจอนุมัติให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาได้คือหัวหน้าส่วนราชการ (คณะกรรมการตรวจรับเป็นผู้เสนอความเห็น)
การบอกเลิก/ตกลงกันเลิกสัญญาหรือข้อตกลง ในกรณีการบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลง หลักในการบอกเลิก ได้แก่ (1) มีเหตุเชื่อได้ว่า ผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด และ (2) ไม่ปฏิบัติตามสัญญา/ข้อตกลง และค่าปรับจะเกิน 10% ของวงเงินทั้งสัญญา เว้นแต่จะยินยอมเสียค่าปรับ (โดยไม่มีเงื่อนไข) ก็ให้ผ่อนผันได้เท่าที่จำเป็น (กรณีที่งานใกล้จะเสร็จสิ้นแล้ว) และเมื่อบอกเลิกสัญญาแล้วให้ดำเนินการแจ้งผู้รับจ้างรายดังกล่าวเป็น   ผู้ทิ้งงานด้วย ส่วนในกรณีตกลงกันเลิกสัญญาหรือข้อตกลง ทำได้เฉพาะในกรณีที่เป็นประโยชน์ หรือเพื่อแก้ไขข้อเสียเปรียบของราชการหากปฏิบัติตามสัญญา/ข้อตกลงต่อไป
    1.2  ร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ... ซึ่งจะนำมาใช้แทนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้รูปแบบการจัดซื้อจัดจ้างของไทยเป็นไปตามแนวทางที่เป็นมาตรฐานสากล (ร่างพระราชบัญญัตินี้จะไม่กระทบการดำเนินธุรกิจของรัฐวิสาหกิจที่ทำการพาณิชย์) โดยกำหนดหลักการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ ไว้ 4 ประการ คือ  (1) ความคุ้มค่า  (2) ความโปร่งใส (3) มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล  และ (4) ตรวจสอบได้ รวมทั้งกำหนดให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยการจัดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์ขั้นตอนหนึ่งขั้นตอนใดของการจัดซื้อจัดจ้างก็ได้ โดยผู้สังเกตการณ์ต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดซื้อจัดจ้างในครั้งนั้น ๆ และมีการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้มีโอกสเข้ามาตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ไว้ 5 คณะ ได้แก่  (1) คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ  (2) คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการพัสดุภาครัฐ  (3) คณะกรรมการกำกับราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ (4) คณะกรรมการวความร่วมมือป้องกันการทุจริต  และ (5) คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน รวมทั้งกำหนดให้กรมบัญชีกลางทำหน้าที่เป็นองค์กรสนับสนุน ดูแลการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ทั้งนี้ การพิจารณาการคัดเลือกข้อเสนอ กำหนดให้มีเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอ โดยให้พิจารณาคุณภาพประกอบราคา (price performance) ได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ราคาต่ำสุดเสมอไป นอกจากนี้  ได้มีการกำหนดบทกำหนดโทษ โดยกรณีที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้โดยมิชอบ หรือ โดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษจำ 1 ปี ถึง 10 ปี และปรับ 40,000 บาท ถึง 400,000 บาท และผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าว ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
2. ความรู้เกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
กฏหมายที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันตือ พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เดิมคือ ระเบียบว่าด้วยความรับผิดชอบข้าราชการในทางแพ่ง พ.ศ. 2503
ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ แบ่งเป็น  (1) การกระทำละเมิดต่อเอกชนหรือบุคคลภายนอก  และ (2) การกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ
ในกรณีกระทำละเมิดต่อเอกชนหรือบุคคลภายนอก สิทธิในการดำเนินคดีของผู้เสียหาย สามารถฟ้องเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐ และหากฟ้องผิดสามารถฟ้องใหม่ได้ภายใน 6 เดือน นับแต่คำพิพากษาถึงที่สุด (ไม่ต้องดูอายุความ   1 ปี หรือ 10ปี)
อายุความการใช้สิทธิโดยยื่นคำร้องภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้ตัว รู้เหตุ หรือ 10 ปี นับแต่เหตุเกิด คือ รู้เหตุ   แต่ไม่รู้ตัว
ในกรณีที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ  หน่วยงานของรัฐมีสิทธิไล่เบี้ยเจ้าหน้าที่ได้ โดยสิ่งที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ (1) เจ้าหน้าที่กระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง  (2) คำนึงถึงความร้ายแรงแห่งการหำและความเป็นธรรม  (3) หักส่วนความเสียหาย และ (4) ไม่นำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับ ทั้งนี้ อายุความการเรียกชดใช้ค่าเสียหาย คือ 2 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือ 1 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะ 2 ปี หรือ 1 ปี ต้องไม่เกิน 10 ปี นับแต่เหตุเกิด  ทั้งนี้  การกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ โดยการดำเนินการเมื่อหน่วยงานของรัฐเกิดความเสียหาย และต้องรายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับ เพื่อให้มีการสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น   โดยการเต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เพื่อพิจารณาสอบข้อเท็จจริงว่า มีเหตุอันควรเชื่อว่าความเสียหายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ และในกรณีไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่าเกิดจากกระทำของเจ้าหน้าที่   ให้รายงานผู้บังคับบัญชา และหากผู้บังคับบัญชาเห็นด้วยให้ยุติเรื่อง หากไม่เห็นด้วย ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดต่อไป
การชดใช้ค่าเสียหาย
(1)ถ้าเป็นเงิน ต้องชดใช้เป็นเงิน โดยเจ้าหน้าที่สามารถผ่อนชำระได้ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง (ว. 115) หากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้ทำความตกลงกับกระทรวงการคลังเป็นกรณีไป
โดยห้ามฟ้องล้มละลายเจ้าหน้าที่ในกรณีไม่มีเงินผ่อนชำระ เว้นแต่เข้าเงื่อนไขแห่งระเบียบฯ (เช่น หากเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดบอกว่าไม่เงินชำระหนี้ แต่มีพฤติกรรมร้ายแรง เป็นต้น)
(2) ถ้าเป็นสิ่งของ  ต้องชดใช้เป็นสิ่งของที่มีสภาพ คุณภาพ ปริมาณ และลักษณะอย่างเดียวกัน โดยตั้งคณะกรรมการตรวจรับด้วย และในกรณีสิ่งของนั้นมีค่าเสื่อมราคา ต้องคิดค่าเสื่อมราคาด้วย และแจ้งหัวหน้าส่วนราชการรับทราบ
(3) ถ้าต้องซ่อม ให้ทำสัญญารับสภาพหนี้ เพื่อ่ให้อายุความสะดุดหยุดลง พร้อมทำสัญญาตกลงและซ่อมให้เสร็จโดยเร็ว (6 เดือน)
(4) ถ้าชดใช้ต่างจากทรัพย์สินที่เสียหายหรือสูญหาย ต้องทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง