วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2559

ภูมิเศรษฐกิจจังหวัดบุรีรัมย์




ผู้เล่าเรื่อง  :   นางนิโลบล  แวววับศรี
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง  :  ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย
ผู้เล่าเรื่อง  :   นางศุภวรรณ  มาสาร
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง  :  คลังจังหวัดลพบุรี
หน่วยงาน :   กรมบัญชีกลาง
การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ : การศึกษาดูงานภูมิเศรษฐกิจจังหวัดบุรีรัมย์




ข้อมูลทั่วไปของจังหวัดบุรีรัมย์
จังหวัดบุรีรัมย์ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีทิศเหนือติดต่อกับจังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคามและจังหวัดสุรินทร์ ทิศตะวันออกติดกับจังหวัดสุรินทร์ ทิศใต้ติดกับจังหวัดสระแก้ว และประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย และทิศตะวันตกติดกับจังหวัดนครราชสีมา มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 10,393.945 ตารางกิโลเมตร หรือ 6,451,178.125 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 6.11 ของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคิดเป็นร้อยละ 2.01 ของพื้นที่
ประเทศไทย มีประชากรประมาณ 1.5 ล้านคน แบ่งการปกครองออกเป็น 23 อำเภอ จังหวัดบุรีรัมย์หมายถึงเมือง
แห่งความรื่นรมย์ มีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่สำคัญคือ โบราณสถานศิลปะแบบขอมโบราณที่มีกระจายอยู่มากมายในพื้นที่
ทั้งจังหวัด อีกทั้งยังเป็นที่รู้จักในฐานะเมืองเกษตรกรรมและหัตถกรรม โดยเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพดีและเป็นแหล่งทอผ้าไหมที่สวยงามและมีชื่อเสียง ประกอบกับมีอาณาเขตติดกับประเทศเพื่อนบ้านจึงทำให้มีความหลากหลาย
ของเชื้อชาติ ซึ่งก่อให้เกิดความหลากหลายของประเพณีวัฒนธรรมดังคำขวัญของจังหวัดที่ว่า “เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรม”
ข้อมูลด้านเศรษฐกิจ
โครงสร้างทางเศรษฐกิจของจังหวัดบุรีรัมย์ ขึ้นกับการผลิต 4 ภาค คือ
- ภาคการเกษตร เช่น มีพื้นที่เพาะปลูกข้าว 3,056,969 ไร่ มันสำปะหลัง 301,312 ไร่ อ้อย 250,220 ไร่ ยางพารา 173,969 ไร่ และยูคาลิปตัส 61,197 ไร่ และมีแรงงานด้านการเกษตร 556,309 คน
- ภาคอุตสาหกรรม มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวน 516 โรง (ข้อมูลปี 56) เงินลงทุน 13,537 ล้านบาท มีการจ้างงาน 13,250 คน ส่วนใหญ่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น โรงสีข้าว โรงงานน้ำตาล โรงงานผลิตแผ่นยาง ยางแท่ง เป็นต้น รองลงมาได้แก่ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกายและอาหาร เป็นต้น
- ภาคการพาณิชยกรรม รวมถึงการค้าและบริการธุรกิจการค้าที่สำคัญในจังหวัดคือ ธุรกิจค้าส่ง ประเภทวัตถุดิบยานยนต์/ชิ้นส่วนอุปกรณ์ สิ่งทอ วัสดุก่อสร้าง มูลค่าประมาณร้อยละ 60 และธุรกิจค้าปลีก นอกจากนี้ยังมีสินค้า OTOP ที่หลากหลายประเภท เช่น ผ้าไหมที่เป็นลายเอกลักษณ์ของจังหวัดอันได้แก่ผ้าซิ่นตีนแดง ประเภทของใช้ที่เป็นผลิตภัณฑ์จากไม้ หรือจากผักตบชวา ประเภทสมุนไพรถนอมผิว ประเภทอาหาร เช่น ขาหมู กระยาสารท กุนเชียง กุ้งจ่อม เป็นต้น
- ภาคการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดเป็นการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับอารยธรรม
ขอมโบราณ เช่น ปราสาทเขาพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำเขาอังคาร เขาปลายบัด บุรีรัมย์เป็นเมืองภูเขาไฟในอดีตที่ดับแล้วจำนวน 6 แห่ง มีปล่องภูเขาไฟที่ชัดเจนโดยเฉพาะที่เขากระโดง ในเขตอำเภอเมือง ซึ่งกำลังพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว
ที่สำคัญ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติได้แก่ พื้นที่ชุ่มน้ำบุรีรัมย์ (อ่างเก็บน้ำสนามบิน อ่างเก็บน้ำห้วยตลาด และอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ วนอุทยานเขากระโดง มีแหล่งศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตได้แก่ ประเพณี
ขึ้นเขาพนมรุ้งในต้นเดือนเมษายนของทุกปี กลุ่มเตาเผาเครื่องเคลือบพันปี ศูนย์หัตถกรรมอำเภอนาโพธิ์ และศูนย์วัฒนธรรมอีสานใต้ นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างขึ้นได้แก่ สนามฟุตบอลไอโมบาย สเตเดี้ยม สนามแข่งรถบุรีรัมย์ช้างอินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต และจุดผ่อนปรนการค้าช่องสายตะกู

ข้อมูลการวิเคราะห์ด้านศักยภาพของจังหวัดบุรีรัมย์
จุดแข็ง (Strength)
1. ภาคเกษตรกรรมมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ ข้าวหอมมะลิ มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา และปศุสัตว์ที่สำคัญได้แก่ สุกร ไก่เนื้อ โคเนื้อ โคนม และกระบือ
2. มีพื้นที่จำนวนมาก แรงงานจำนวนมาก
3. มีแหล่งท่องเที่ยวที่ศูนย์กลางอารยธรรมขอม แหล่งโบราณสถาน โบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์
แหล่งท่องเที่ยวและศึกษาธรรมชาติที่มีศักยภาพและมีวัฒนธรรมประเพณีที่หลากหลาย เช่น ปราสาทเขาพนมรุ้ง
ซึ่งมีปรากฏการณ์มหัศจรรย์ทางสถาปัตยกรรม (ดวงอาทิตย์ขึ้น-ตก ตรง 15 ช่องประตู) ปราสาทเมืองต่ำ ภูเขาไฟที่ดับแล้วหลายลูกที่มองเห็นปากปล่องภูเขาไฟได้อย่างชัดเจน อุทยานแห่งชาติตราพระยาแล้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง เป็นต้น
4. มีสนามกีฬาที่มีชื่อเสียงและได้มาตรฐาน มีสนามแข่งรถระดับโลก
5. มีผ้าไหมที่เป็นเอกลักษณ์และมีชื่อเสียง
6. มีพื้นที่ตั้งในเส้นทาง Gate Way สู่อินโดจีน (จังหวัดมุกดาหาร) กับเขตประกอบการนิคมอุตสาหกรรม
ภาคตะวันออกและท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี
7. มีปราชญ์ชาวบ้าน/ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่หลากหลายสาขาอาชีพ
8. ความเป็นพหุวัฒนธรรม (ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม)
จุดอ่อน (Weakness)
1. ขาดระบบชลประทานและการบริหารจัดการน้ำเชิงระบบและทรัพยากรดินเสื่อมโทรม
2. มีอัตราการว่างงานสูง แรงงานไม่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ และมีการเคลื่อนย้ายแรงงานสูง
3. ขาดการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวและการลงทุนด้านการท่องเที่ยวและบริการ
4. กีฬาประเภทอื่นไม่ได้รับการสนใจและขาดการสนับสนุน
5. ขาดการลงทุนด้านการตลาดของผลิตภัณฑ์ไหม
6. มีการเคลื่อนย้าย คน สิ่งผิดกฎหมาย แรงงานเถื่อน
7. ความเป็นพหุวัฒนธรรม (ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม)
8. มีผลิตภัณฑ์มวลรวมต่ำ
9. การขยายตัวด้านการลงทุนในพื้นที่ระดับต่ำ
10 หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น
11. การคมนาคมขนส่งระหว่างจังหวัดยังเป็น 2 เส้นทาง
โอกาส (Opportunity)
1. นโยบายของรัฐบาลครอบคลุมการพัฒนาทุกๆ ด้าน เช่น นโยบายการประกันราคาพืชผลทางการเกษตร นโยบายเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหาร นโยบายส่งเสริมให้ปลูกพืชทดแทนพลังงานฯลฯ จากนโยบายดังกล่าวจังหวัดสามารถส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพ และทางเลือกการผลิตสินค้าเกษตรในพื้นที่ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกร
2. มีภูเขาไฟที่ดับแล้วหลายลูก เป็น UNSEEN ที่น่าสนใจของประเทศ สามารถพัฒนาปากปล่องภูเขาไฟให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของประเทศไทย
3. ด้านการคมนาคม สามารถที่จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางขนถ่ายสินค้า หรือจุดรวมสินค้า (Logistic Center)
เพื่อส่งออกตามเส้นทาง GET WAY และอีสเทิร์นซีบอร์ด สู่อินโดจีน (จังหวัดมุกดาหาร)
4. มีผลการวิจัยความพร้อมด้านการพัฒนา
5. มีพื้นที่ชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อบ้าน (กัมพูชา) สามารถพัฒนาด้านการค้าและการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
6. มีชาวต่างชาติที่มาแต่งงานกับคนไทยจำนวนมากที่พำนักในพื้นที่จังหวัด
ข้อจำกัด (Treat)
1. ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไม่แน่นอน
2. ภาวะเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลง ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันชะลอตัวทำให้เกิดปัญหา
การว่างงานในพื้นที่มากขึ้น
3. เป็นจังหวัดที่ประสบปัญหาภัยทางธรรมชาติ เช่น ฤดูน้ำท่วม ฤดูแล้งมาก
4. เส้นทางการคมนาคมหลักของจังหวัดยังคงเป็น 2 ช่องจราจร ซึ่งมีสภาพคับแคบจึงเป็นข้อจำกัดต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจังหวัด
5. นโยบายการต่างประเทศของรัฐบาล มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
6. มีแรงงานอพยพออกนอกพื้นที่จำนวนมาก ทำให้ขาดแคลนแรงงานทุกภาคการผลิต
จากการวิเคราะห์ศักยภาพของจังหวัด พบว่าจังหวัดบุรีรัมย์มีจุดแข็งในด้านต่างๆ ที่เป็นศักยภาพของจังหวัด
เพื่อกำหนดตำแหน่งจุดยืนทางยุทธศาสตร์ได้ ทำให้มองเห็นแนวโน้มของเศรษฐกิจจังหวัดว่าควรจะเน้นการลงทุน
ไปในทิศทางใด โดยจังหวัดบุรีรัมย์ได้พิจารณาเห็นว่าด้านการท่องเที่ยวมีศักยภาพเพียงพอที่จะส่งเสริม จึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาจังหวัดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 – 2560 ว่า “ศูนย์กลางการท่องเที่ยวอารยธรรมขอม เศรษฐกิจมั่นคง สังคมเป็นสุข” และกำหนดจุดยืนทางยุทธศาสตร์ (Positioning) 4 ด้าน คือ
1. พัฒนาศักยภาพศูนย์กลางการท่องเที่ยวอารยธรรมขอม “เขาพนมรุ้ง”
2. ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย
3. ส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ไหม
4. ส่งเสริมการค้าชายแดนเพื่อการค้าและการลงทุน
โดยจะทำให้จังหวัดเป็น “เมืองท่องเที่ยว” โดยใช้ปราสาทพนมรุ้งเป็นศูนย์กลางจุดขาย เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดและเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก และเชื่อมโยงไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ภายในจังหวัดเช่น สนามฟุตบอล สนามแข่งรถ
การส่งเสริมเมืองมวยไทยโลก เป็นต้น ตลอดจนเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับจังหวัดข้างเคียง และประเทศเพื่อนบ้าน นครวัด นครธม ของประเทศกัมพูชา เพื่อเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว และยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเพื่อเชื่อมโยงโอกาสในด้านการท่องเที่ยว โดยได้นำแนวคิดของรูปแบบของตัวแบบระบบการบริหารจัดการรายกรณี
B – CM Model : Buriram Case Management Model มาใช้ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยว
ของจังหวัด ภายใต้ปัจจัยแห่งความสำเร็จ 9 ประการ ประกอบด้วย 1) ด้านที่พัก 2) ด้านสุขภาพ 3) ด้านความพร้อม
ด้านสาธารณูปโภค 4) ด้านพนักงานต้อนรับ 5) ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 6) ด้านของที่ระลึกและสินค้าประณีต 7) ด้านโซนนิ่งสถานบริการ 8) ด้านท่องเที่ยวและการเป็นเจ้าบ้านที่ดี และ 9) ด้านการจัดทำระบบฐานข้อมูลและประเมินผล โดยดำเนินการภายใต้เป้าหมายอันสูงสุดคือ “บุรีรัมย์สันติสุข บนความพอเพียง เพื่ออนาคตลูกหลาน
ชาวบุรีรัมย์ ครอบครัวเดียวกัน”