วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2559

การอบรมเชิงปฏิบัติการ แนวปฏิบัติในงานราชพิธี รัฐพิธี และงานพระราชกุศล สร้างคนเป็นศาสนพิธีกร ภายใต้โครงการรวมพลัง บวร สร้างนิยมหลักของคนไทยรับอาเซียน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559



ผู้เล่าเรื่อง  :  นางสาวณัฐยา  ทรงทิมไทย
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง  :  นักวิชาการคลังชำนาญการพิเศษ
ผู้ร่วมเล่าเรื่องนางสาวนัยนา  ชื่นจิตร
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง  :  นักวิชาการคลัง
หน่วยงาน :  สำนักงานคลังจังหวัดสมุทรสงคราม


ชื่อโครงการ/ประชุม/สัมมนา/หลักสูตร  : การอบรมเชิงปฏิบัติการ แนวปฏิบัติในงานราชพิธี รัฐพิธี และงานพระราชกุศล สร้างคนเป็นศาสนพิธีกร ภายใต้โครงการรวมพลัง บวร สร้างนิยมหลักของคนไทยรับอาเซียน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559

วัตถุประสงค์ของโครงการ/ประชุม/สัมมนา/หลักสูตร   เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรม
  1) เพื่อให้ส่วนราชการมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินงานพระราชพิธี งานรัฐพิธี และงานพิธีต่างๆ
  2) เพื่อให้ทุกส่วนราชการมีเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่พิธีกรและดำเนินรายการได้อย่างถูกต้อง
การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ : ตามหัวข้อวิชา หลักสูตร “การอบรมเชิงปฏิบัติการ แนวปฏิบัติในงานราชพิธี รัฐพิธี และงานพระราชกุศล สร้างคนเป็นศาสนพิธีกร”
เรื่องที่ 1 ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานพระราชพิธี งานรัฐพิธี และงานพิธีต่างๆ


งานพระราชพิธี
งานพระราชพิธี เป็นงานที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
เช่น พระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา หรืองานที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นเป็นกรณีพิเศษ เช่น พระราชพิธีอภิเษกสมรส พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ เป็นต้น


งานพระราชกุศล
งานพระราชกุศล เป็นงานที่พระมหากษัตริย์ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล งานพระราชกุศลบางงานต่อเนื่อง กับงานพระราชพิธี เช่น พระราชกุศลมาฆบูชา พระราชกุศลทักษิณานุประทานพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการี พระราชกุศลทรงบาตร เป็นต้น


งานรัฐพิธี
งานรัฐพิธี เป็นงานพิธีที่รัฐบาลหรือทางราชการจัดขึ้นเป็นงานประจำปี โดยกราบทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเป็นประธานประกอบพิธี เช่น รัฐพิธีที่ระลึกวันจักรี รัฐพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ   ซึ่งปัจจุบันทรงรับเข้าเป็นงานพระราชพิธี


การแต่งกายประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์
ในหมายกำหนดการ หรือกำหนดนัดหมายของทางราชการในพระราชพิธี หรือรัฐพิธีต่าง ๆ จะมีข้อความ ระบุการแต่งกายในแต่ละโอกาส เช่น ให้แต่งกายเต็มยศ ครึ่งยศ หรือปกติขาว แล้วแต่ละกรณีผู้แต่งกายต้องตรวจสอบหมายกำหนด หรือข้อความที่ระบุการแต่งกายในกำหนดนัดหมายของทางราชการให้ชัดเจน แล้วแต่งกายแล้วประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้ถูกต้อง ทั้งนี้ การที่จะประดับ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ร่วมกับ  การแต่งกายดังกล่าวตามที่ระบุไว้ได้อย่างถูกต้องนั้น
มีหลักสำคัญที่ควรทราบ ดังนี้
๑.กรณีให้แต่งกายเต็มยศ (เสื้อขาว กางเกงหรือกระโปรงดำ)
๑.๑ ไม่ระบุชื่อสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ให้สวมสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด ที่ได้รับพระราชทานเพียงสายเดียว โดยให้ประดับดาราของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด ที่ได้รับพระราชทาน แต่ละตระกูลตามลำดับเกียรติ
๑.๒ ระบุชื่อสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ให้สวมสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามที่ระบุ ซึ่งแม้ว่าจะได้รับพระราชทานสายสะพาย ที่มีลำดับเกียรติสูงกว่าก็ตาม เช่น ระบุให้สวมสายสะพายมงกุฎไทย 
หากได้รับพระราชทานประถมาภรณ์มงกุฎไทยและประถมาภรณ์ช้างเผือกแล้วก็ให้สวมสายสะพายประถมาภรณ์มงกุฎไทย
 แต่ให้ประดับดาราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของแต่ละตระกูล ที่ได้รับพระราชทานตามลำดับเกียรติ แต่หากมิได้รับพระราชทานสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตามที่ระบุชื่อให้สวมสายสะพาย หรือประดับเครื่องราช อิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด ที่ได้รับพระราชทาน โดยประดับดาราตามลำดับเกียรติ อาทิ หากหมายกำหนดการให้แต่งกายเต็มยศ สวมสายสร้อยจุลจอมเกล้า หรือให้แต่งกายเต็มยศสวมสายสะพายช้างเผือก หรือผู้ได้รับพระราชทานปฐมดิเรกคุณาภรณ์เป็นชั้นสูงสุด ให้สวมสายสะพาย

ประถมาภรณ์มงกุฎไทยหรือ สายสะพายปฐม ดิเรกคุณาภรณ์แล้วแต่กรณี
๒. กรณีให้แต่งกายครึ่งยศ (เสื้อขาว กางเกงหรือกระโปรงดำ) จะแต่งกายเช่นเดียวกับเต็มยศโดยประดับ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่ได้รับพระราชทาน เว้นแต่ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย เมื่อประดับดาราชั้นสูงสุดที่ได้รับพระราชทานแต่ละตระกูลแล้ว ไม่ต้องสวมสายสะพาย เฉพาะผู้ได้รับ พระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ (ฝ่ายใน) เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราช  วราภรณ์ (ฝ่ายใน) เครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าและทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ฝ่ายใน) ให้นำดวงตราห้อยกับแพรแถบผูกแมลงปอ ประดับที่หน้าบ่าเสื้อเบื้องซ้าย โดยไม่ต้องประดับดาราของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังกล่าว
๓. กรณีให้แต่งกายปกติขาว (เสื้อขาว กางเกงหรือกระโปรงขาว) ให้ประดับแพรแถบย่อของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตามชั้นตราที่ได้รับพระราชทาน แต่หากระบุให้แต่งกายปกติขาวประดับเหรียญให้ประดับเฉพาะเหรียญ ราชอิสริยาภรณ์ที่อกเสื้อเบื้องซ้าย โดยไม่ประดับดาราหรือสายสะพาย อนึ่ง ในกรณีเป็นงานศพซึ่งมีกำหนดการระบุให้แต่งกายเต็มยศ ครึ่งยศ หรือปกติขาวไว้ทุกข์ ให้สวมปลอกแขนสีดาที่แขนเสื้อข้างซ้าย
๔. ในโอกาสพิเศษบางพิธี อาจมีหมายกำหนดการระบุให้แต่งกายปกติขาวประดับเหรียญ เช่น งานเลี้ยงพระ และสมโภชราชกกุธภัณฑ์ ในการพระราชพิธีฉัตรมงคล ก็ให้แต่งกายปกติขาว แต่ประดับเหรียญราชอิสริยาภรณ์แทนแพรแถบย่อของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และไม่ต้องสวมสายสะพายหรือสวมแพรแถบ สวมคอแต่อย่างใด



เรื่องที่ 2 ความสำคัญของพิธีกร/พิธีการ และการเตรียมตนเป็นพิธีกร โฆษก ศาสนพิธีกร
พิธีกร คือ ผู้บุคคลที่รับผิดชอบด้านพิธีการ  มีหน้าที่ดำเนินรายการให้เป็นไปตามขั้นตอนที่เตรียมไว้ เนื่องจากในงานพิธีต่างๆผู้เข้าร่วมทุกคนจะมุ่งให้ความสนใจไปที่พิธีกร เพราะต้องการทราบว่า พิธีกรจะเริ่มอย่างไร จะดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนอย่างไร ดังนั้นพิธีกรจึงเป็นจุดเด่นของพิธีการนั้นๆ จึงต้องมี



คุณลักษณะที่พึงประสงค์ ดังต่อไปนี้
ด้านบุคลิกภาพ ต้องแต่งกายเรียบร้อยสุภาพ ถูกกาลเทศะ ถ้าแต่งเครื่องแบบต้องแต่งให้ได้ครบ และถูกต้องตามระเบียบทุกประการ มีกิริยากระตือรือร้น แต่ไม่ลุกลี้ลุกลน  ใบหน้าเบิกบานแจ่มใส มองผู้อื่นอย่างเป็นมิตร มีท่าทีโอภาปราศรัย และต้อนรับขับสู้ มีความทรงจำดี
ด้านการพูด  ต้องมีความรู้เกี่ยวกับการพูด เช่น การทักที่ประชุม การพูดให้สละสลวย รู้จักการพูดเชื่อมโยง ไม่พูดพล่าม เพ้อเจ้อ หรือวกวน บางโอกาส บางงาน อาจมีลูกเล่น หรือมุกตลกประกอบ ไม่พูดด้วยท่าทีเคร่งเครียดหรือเป็นทางการเกินไป  ต้องไม่มีลักษณะเป็นการอ่านข้อความมากกว่าการพูด


ด้านปฏิภาณไหวพริบและด้านจิตใจ ต้องมีปฏิภาณไหวพริบ และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี ปรับตัวได้
ตามสถานการณ์ มีจิตใจสุขุมเยือกเย็น สามารถควบคุมอารมณ์หรือมีสมาธิดี
ด้านความรู้ความสามารถ ต้องมีความรู้ในเรื่องของพิธีการที่พิธีกรดำเนินการอยู่ทุกขั้นตอน เพื่อให้เกิดความมั่นใจและความเชื่อมั่นไม่ประหม่า และมีความสามารถในเรื่องการบริหารหรือการจัดการ เช่น
การวางแผนงาน การเตรียมงานในระยะสั้น ระยะยาว การเตรียมงานในระยะกระชั้นชิด การมอบหมายให้คนอื่นช่วย การประสานงานในจุดต่างๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการศึกษา แสวงหาความรู้ และสังเกตจากการจัดงานที่แท้จริง แล้วนำมาสรุปเป็นความรู้ของตนเอง

บทบาทหน้าที่ของพิธีกร 
1.เป็นผู้นำด้านพิธีการ เป็นผู้นำเข้าสู่พิธีการ หรือเปลี่ยนบรรยากาศ เข้าสู่บรรยากาศแห่งพิธีการ
2. เป็นผู้ประสาน เป็นผู้ควบคุม เป็นผู้กำกับรายการตามกำหนดการอย่างเคร่งครัด
3. เป็นผู้มีความรู้มากที่สุดในพิธีการนั้นๆ เช่น พิธีกรในงานวางศิลาฤกษ์ ก็ต้องมีความรู้ในพิธีวาง ศิลาฤกษ์มากที่สุดในงาน
4. เป็นผู้มีข้อมูลมากที่สุด เช่น ประธานมาถึงเวลาใด ใครมาร่วมเป็นเกียรติที่เป็นบุคคลสำคัญ
5. เป็นผู้เชื่อมโยงและขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆในพิธีการ เช่น เป็นผู้เชิญให้ประธานกล่าวเชิญมอบ
ของรางวัล
6. เป็นผู้สร้างบรรยากาศ และสร้างอารมณ์ตามระดับของงาน เช่น งานฌาปนกิจศพต้องสงบเรียบร้อย สำรวม  งานมงคลสมรสต้องการความชื่นชมยินดี
7. เป็นผู้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ถึงเวลาวิทยากรยังไม่มา จะทำการอย่างไรเพื่อเป็นการเสริม
ช่องว่างนั้นๆ

สรุป พิธีกร ต้องมีหัวใจ 4 ข้อ คือ ต ป ศ ก
ต คือ การเตรียมการ ทั้งเตรียมตัวเอง  เตรียมงาน  เตรียมบรรยากาศของงาน
ป คือ ประสานงาน ประชุมผู้เกี่ยวข้อง แบ่งงานให้รับผิดชอบ ใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร     ต่อจากใคร
ศ คือ ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เช่น เป็นพิธีกรพิธีพระราชทานเพลิงศพ จะต้องรู้ว่า ขั้นตอนที่ 1 คืออะไร 2-3 คืออะไร อะไรควรทำ อะไรควรละเว้น
ก คือ แก้ไข หลังจากประเมินผลแล้ว ให้งานที่ทำดีขึ้นในครั้งต่อไป ไม่ใช่ทำผิดพลาดซ้ำ