ผู้เล่าเรื่อง : นายโสภณ พวงคุ้ม
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง : ผู้อำนวยการกลุ่มงานค่าตอบแทนและสวัสดิการ
หน่วยงาน : สำนักมาตรฐานค่าตอบแทนและสวัสดิการ
หลักสูตรฝึกอบรม : การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 17 ประจำปี 2558
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร / โครงการฝึกอบรม
๑) เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการและประสบการณ์
๒) นำเสนอข้อมูลภายใต้ฐานของการศึกษาวิจัยในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักนิติธรรม
เนื้อหาและหัวข้อวิชาของหลักสูตรการฝึกอบรม มีดังนี้
๑) หลักนิติธรรมกับประชาธิปไตย
๒) หลักนิติธรรมกับการพัฒนาประชาธิปไตยที่ยั่งยืนในประเทศไทย
๓) หลักนิติธรรม รัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย ... ต่างมุมมอง ต่างความเข้าใจ จุดหมายเดียวกัน ฯลฯ
การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ : หลักนิติธรรมกับประชาธิปไตย
หลักนิติธรรมมีสาระสำคัญอะไรบ้างอย่างไร พอสรุปสาระสำคัญที่มีองค์ประกอบดังนี้
กฎหมายต้องบังคับเป็นการทั่วไป หมายถึง หลักนิติธรรมคือกฎหมายต้องมุ่งหมายบังคับใช้เป็นการทั่วไปกับบุคคลทุกคนอย่างเสมอภาคกันไม่มุ่งเฉพาะเจาะจงกับบุคคลใดคนหนึ่ง
กฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง หมายถึง กฎหมายจะบัญญัติให้การกระทำที่เกิดก่อนที่จะมีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดทางอาญาเพื่อให้ลงโทษบุคคลย้อนหลังสำหรับการกระทำที่เกิดก่อนที่จะมีกฎหมายไม่ได้
การสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาในคดีอาญาเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดของศาล เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาเพื่อให้สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่
หลักความอิสระและเป็นกลางของผู้พิพากษาและตุลาการ เนื่องจากผู้พิพากษาและตุลาการเป็นกลไกในการอำนวยความยุติธรรมขั้นสุดท้ายที่สำคัญ ดังนั้นผู้พิพากษาและตุลากการจะต้องมีความอิสระในการพิพากษาตัดสินคดีจะต้องไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือแม้แต่ฝ่ายตุลาการด้วยกัน รวมทั้งต้องมีความเป็นกลางไม่มีอคติใดๆ
เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องใช้อำนาจได้ภายใต้กฎหมายที่กำหนดไว้ จะใช้อำนาจเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ได้หลักการข้อนี้จะช่วยคุ้มครองสิทธิเสรีของประชาชนทั่วไป
กฎหมายต้องไม่ยกเว้นความผิดให้แก่การกระทำในอนาคต การออกกฎหมายเพื่อรองรับการยกเว้นการกระทำผิดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตไม่สามารถกระทำได้ หลักการนี้ช่วยป้องกันผู้มีอำนาจที่อาจฉ้อฉลใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการป้องกันการกระทำความผิดในภายหน้า