วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558

กิจกรรมเข้าวัดปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะ (วัดทองเนียม)



ผู้เล่าเรื่อง  :  นางปิยนาถ อุดมชัยเดช
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง  :  นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ
หน่วยงาน :  สำนักบริหารการรับ – จ่ายเงินภาครัฐ (ฝ่ายบริหารทั่วไป)
ชื่อโครงการ     :  กิจกรรมเข้าวัดปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะ (วัดทองเนียม)
หน่วยงานผู้จัด  :  กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม

วัตถุประสงค์ของโครงการ
๑) เพื่อพัฒนาความรู้
๒) เพื่อเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม ให้แก่เพื่อนร่วมงาน
๓) เพื่อให้พุทธศาสนิกชน ได้มีโอกาสเข้าวัดปฏิบัติธรรมในวันธรรมสวนะ
และนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
ความรู้ที่แบ่งปันในเรื่อง : การสมาทานศีล
ความหมายของศีล
ศีล แปลว่า ปกติของสิ่งต่าง ๆ อันเป็นสภาวธรรมที่มีที่เป็นกับสิ่งนั้น ๆ เช่น ดวงอาทิตย์เป็นดวงไฟที่ร้อนและให้แสงสว่าง ความร้อนและความสว่างถือว่าเป็นสภาวะปกติของดวงอาทิตย์ถ้าดวงอาทิตย์ยังร้อน ยังให้แสงสว่างอยู่  ก็กล่าวได้ว่าดวงอาทิตย์ยังมีปกติยังรักษาปกติของตนไว้ได้ หากเมื่อใดดวงอาทิตย์เกิดไม่ร้อนหรือไม่ให้แสงสว่างขึ้นมา เราก็เรียกว่าดวงอาทิตย์ผิดปกติหรือเสียปกติไป


ปกติเป็นความหมายของศีลดังนี้
คนเราโดยทั่วไปก็มีปกติคือมีศีลประจำตัวอยู่ทุกคนแล้ว ปกติของคนคือไม่ฆ่ากัน ไม่เบียดเบียนกัน     ไม่ลักขโมยทรัพย์สินของกันและกัน ไม่ล่วงละเมิดในคู่ครองของกัน ไม่มักมากในกาเมประเวณี ไม่โกหกหลอกลวงกันไม่ทำให้ผู้อื่นเสียผลประโยชน์ด้วยคำพูดของคน ไม่หลงลืมสติ ไม่ติดสิ่งเสพติดมึนเมาให้โทษทุกชนิดนี่คือปกติของคน  หากผู้ใดเป็นคนเหี้ยมโหด ชอบทารุณ ชอบฆ่าคนอื่น ชอบลักขโมยทรัพย์สินของคนอื่น เป็นต้น ผู้นั้นชื่อว่าได้ทำผิดปกติของคนไป คือผิดไปจากคนธรรมดาปกตินั่นเอง ซึ่งการกระทำนั้นแม้ทางบ้านเมืองและสังคมตามปกติก็ไม่ยอมรับ

 

จุดมุ่งหมายในการสมาทานศีล
การสมาทานศีล เรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า การรับศีล ก็เพื่อปฏิญาณตนต่อหน้าพระผู้ให้ศีลและต่อตนเองว่า จะไม่ล่วงละเมิดข้อห้ามนั้น ๆ จะรักษาปกติของตนไว้ เป็นการยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นเป็นเบื้องต้น ด้วยมีความตั้งใจแน่วแน่ด้วยตนเองโดยไม่ต้องบังคับว่าจะงดเว้นจากความชั่วทุจริตผิดปกติของตน อันจะเกิดทางกาย ทางวาจาต่อไป

อานิสงส์ของการสมาทานศีลก่อนให้ทาน
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนแนวทางแห่งการทำบุญให้ทานที่จะได้อานิสงส์มากแก่ผู้กระทำ    สรุปใจความได้ว่า "การให้ทานควรเลือกให้ เลือกทั้งผู้ให้ สิ่งที่ให้ และผู้รับ ทานที่เลือกให้พระองค์ทรงสรรเสริญ และย่อมมีผลมีอานิสงส์มาก เหมือนชาวนาเลือกพันธ์ข้าวดีแล้วหว่านลงในนาดี ย่อมได้ผลมาก ฉะนั้น เมื่อผู้ให้เป็นผู้บริสุทธิ์ ผู้รับก็เป็นผู้บริสุทธิ์ ทานของผู้นั้นย่อมมีผลมีอานิสงส์มาก เพราะบริสุทธิ์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย เมื่อผู้ให้หรือผู้รับมีศีลบริสุทธิ์ฝ่ายเดียว ทานนั้นย่อมมีผลมีอานิสงส์ลดน้อยลงมา เพราะบริสุทธิ์เพียงฝ่ายเดียว เมื่อผู้ให้ก็ไม่บริสุทธิ์ ผู้รับก็ไม่บริสุทธิ์   ทานนั้นย่อมมีผลมีอานิสงส์น้อย เพราะทั้งสองฝ่ายไม่บริสุทธิ์" ดังนี้

ดังนั้น ในการทำบุญให้ทานทุกครั้ง ท่านจึงสอนให้รับศีลเสียก่อน เพื่อให้ตนเองบริสุทธิ์ทางกายวาจาใจ ทานที่ให้หรือบุญที่จะทำจะได้มีผลมีอานิสงส์เต็มเม็ดเต็มหน่วย ท่านผู้ฉลาดในการทำบุญจึงได้ประสบผลบุญตามปรารถนาตลอดมา โดยเมื่อถึงคราวทำบุญก็ทำจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ รักษาปกติกาย วาจาให้เรียบร้อยสมบูรณ์ โดยเวลารับศีลก็เต็มใจรับ รับด้วยความตั้งใจ เวลารักษาศีลก็เต็มใจตั้งใจรักษา ไม่ยอมให้ศีลด่างพร้อยด้วยประการต่าง ๆ โดยเฉพาะในขณะทำบุญ จะประคองศีลของตนให้สะอาดบริสุทธิ์ยิ่งทีเดียว
วิธีสมาทานศีล
การทำตนให้มีศีล โดยปกติมักเข้าใจว่าต้องไปรับกับพระเท่านั้นจึงจะใช้ได้ และจึงจะเป็นศีลถูกต้อง       มีอานิสงส์มาก ความจริงการรักษาศีลหรือทำตนให้มีศีลนั้นมีหลายวิธีด้วยกัน มีทั้งวิธีที่รับกับพระและไม่ได้รับกับพระ แต่จะเป็นวิธีไหนก็ตามล้วนมีผลมีอานิสงส์ทั้งสิ้น

๑.แบบสัมปัตตวิรัติ
แบบนี้ไม่ต้องรับจากพระ ไม่ต้องกล่าววาจาสมาทานใดๆ ทั้งสิ้น เป็นแต่เกิดมีสามัญสำนึกในการ จากความชั่วทุจริตต่าง ๆ เกิดความรู้สึกผิดชอบชั่วดีด้วยตนเอง แล้วเว้นจากการทำผิด เช่น มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ พอที่จะยักยอกหรือฉ้อโกงเอามาได้ แต่ไม่ทำ ทั้ง ๆ ที่ทำได้ ทั้งนี้ เพราะมาคิดว่า การยักยอกฉ้อโกงนี้เป็นบาปทุจริต แม้ยักยอกเอาไปได้ เงินทองนี้อาจจะอำนวยประโยชน์และให้ความสุขได้จริง แต่เป็นความสุขที่เจือด้วยความทุกข์ เพราะต้องหวาดผวาระแวงภัยระวังตัวอยู่เสมอ กลัวเขาจะจับได้ เป็นต้น ทั้งยังจะทุกข์หนักยิ่งกว่าทุกข์เพราะไม่พอกินไม่พอใช้เสียอีก หรือมาคิดว่า การยักยอกฉ้อโกงเขา อย่างนี้เป็นสิ่งไม่เหมาะไม่ควรแก่ตน เราเป็นมนุษย์เป็นผู้มีใจสูงมีวัฒนธรรม เล่าเรียนมาก็สูง มาทำอย่างนี้จะเหมาะหรือถ้าเราทำ ระดับจิตใจของเราก็จะลดระดับต่ำลง ต่อไปจะได้ใจทำซ้ำอีก หนักเข้าก็จะชาชินกับความชั่วอย่างนี้ความเป็นมนุษย์ของเราก็จะลดระดับต่ำลงเรื่อย ๆ ดังนี้เป็นต้น
เมื่อคิดได้ดังนี้แล้วก็เว้นจากการกระทำนั้น ๆ ไม่ยอมทำตามใจปรารถนาที่เกิดขึ้นครั้งแรก ทั้งนี้เพราะมาเกิดสามัญสำนึกอายชั่วกลัวบาปขึ้นมาเอง อย่างนี้ก็เป็นศีลเหมือนกัน แม้การคิดงดเว้นจากการล่วงละเมิดศีลข้ออื่น ๆ นอกจากที่ยกตัวอย่างมานี้ด้วยตนเอง ก็จัดเป็นศีลแบบสัมปัตตวิรัติเช่นกัน ผู้มีศีลแบบนี้ เป็นผู้เอาตัวรอดจากความชั่วเฉพาะหน้าได้

๒.แบบสมาทานวิรัติ
แบบนี้เป็นแบบที่รับกับพระหรือจากผู้มีศีลอื่น คือต้องมีบุคคลอื่นเป็นสักขีพยานเสียก่อน  จึงรักษาได้แบบนี้เป็นแบบที่นิยมใช้กันอยู่ทั่วไป เรียกว่ารักษาศีลด้วยมีเจตนาตั้งใจรับด้วยการสมาทานจากผู้อื่น              ผู้มีศีลแบบนี้อาจล่วงละเมิดศีลของตนได้ง่ายหากไม่มีผู้อื่นเห็น เพราะฉะนั้น จึงต้องระวังใจไม่ให้เผลออีกเหมือนกันเพราะถ้าเผลอเมื่อไร จะล่วงละเมิดศีลข้อนั้น ๆ ทำให้ศีลขาดหรือด่างพร้อยลงทันที
 วีธีฝึกรักษาศีลแบบนี้ เมื่อไม่อาจจะสมาทานจากพระทุกวันได้ จะสมาทานเองก็ได้เหมือนกัน โดยตั้งใจสมาทานเองทุกวันก่อนออกจากบ้านไปทำงาน หรือตอนเช้า ๆ เมื่อตื่นนอน ด้วยการประนมมือเข้าหาพระพุทธรูปบูชาที่บ้านหรือในที่ทำงาน หรือหากแขวนพระแขวนเหรียญไว้ที่คอ ก็กำพระกำเหรียญนั้นขึ้นประนมพร้อมตั้งใจอธิษฐานว่า
ปาณาติปาตา เวระมะณี วันนี้ ข้าพเจ้า จะไม่ฆ่าสัตว์
อะทินนาทานา เวระมะณี วันนี้ ข้าพเจ้า จะไม่ลักทรัพย์
กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี วันนี้ ข้าพเจ้า จะไม่ประพฤติล่วงประเวณี
มุสาวาทา เวระมะณี วันนี้ ข้าพเจ้า จะไม่พูดเท็จ
สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี วันนี้ ข้าพเจ้า จะไม่ดื่มสุรายาเมาทุกชนิด
ทำเช่นนี้ก็ชื่อว่าได้ปฏิญญาว่าจะรักษาศีลแล้ว ต่อไปก็พยายามตั้งใจรักษาปฏิญญานั้นให้ดี ต้องนึกอยู่เสมอว่าตัวเองได้สมาทานศีลมาแล้ว

๓.แบบสมุจเฉทวิรัติ
แบบนี้เป็นแบบที่จะงดเว้นเองหรืองดเว้นเพราะสมาทานก็ได้ แต่สูงกว่าสองแบบแรกโดยมีความตั้งใจ เด็ดเดี่ยวที่จะงดเว้นจากบาปทุจริตต่าง ๆ โดยเด็ดขาด ตั้งใจรักษาศีลตลอดไป เรียกว่า "รักษาศีลตลอดชีพ" แบบนี้เป็นแบบที่เคร่งครัดมาก มีผลอานิสงส์มาก เพราะเป็นแบบของพระอริยะเจ้า ซึ่งคนเราสามารถจะดำเนินรอยตามได้ โดยวิธีตั้งใจงดเว้นทุกวันก่อนนอนหรือก่อนออกไปทำงานนอกบ้านว่า

ปาณาติปาตา เวระมะณี ข้า ฯ จะไม่ฆ่าสัตว์ ตลอดชีวิต
อะทินนาทานา เวระมะณี ข้า ฯ จะไม่ลักทรัพย์ ตลอดชีวิต
กาเมสุมิจฉารา เวระมะณี ข้า ฯ จะไม่ประพฤติล่วงประเวณี ตลอดชีวิต
มุสาวาทา เวระมะณี ข้า ฯ จะไม่พูดเท็จ ตลอดชีวิต
สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี ข้า ฯ จะไม่ดื่มสุรายาเมาทุกชนิด ตลอดชีวิต

ทั้ง 3 แบบนี้ เป็นการทำตนให้มีศีลจากง่ายไปหายาก ผู้หวังความสุขความเจริญในชีวิต ก็อาจฝึกจากวิธีต้นไปหาวิธีปลายได้ และไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ในเพศไหนวัยใด หากทำได้ ย่อมได้รับอานิสงส์เท่าเทียมกันหมด