วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2558

การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน

ผู้เล่าเรื่อง :  นางสาวจันทิมา  ตันติกุลวัฒนา  
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง : นักวิชาการเงินและบัญชีชำนาญการ
หน่วยงาน : กลุ่มงานวิชาการด้านการคลังการบัญชี  สำนักงานคลังจังหวัดนนทบุรี
หลักสูตรฝึกอบรม : โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน”

การสัมมนาเรื่อง “การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน”
การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน หมายถึง การช่วยชีวิตคนหัวใจหยุดเต้น หรือคนที่หยุดหายใจกระทันหันจากระบบไหลเวียนเลือดและระบบหายใจล้มเหลว
ลักษณะของผู้ป่วยที่ต้องทำการฟื้นคืนชีพ
1.หมดสติ  ไม่รู้สึกตัว
2.ไม่หายใจ  หรือหายใจเฮือก

ขั้นตอนการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานให้ผู้ป่วยอายุ 8 ปี ขึ้นไป 
เมื่อท่านพบเห็นผู้ป่วยฉุกเฉินหมดสติให้ปฏิบัติดังนี้


1.ตรวจดูว่าผู้ป่วยรู้สึกตัวหรือไม่  โดยการใช้มือทั้ง 2 ข้างจับบริเวณไหล่ เขย่าให้แรงพอสมควรพร้อมเรียกผู้ป่วยดัง ๆ
2.หากผู้ป่วย  ไม่ตอบสนองให้โทรศัพท์ขอความช่วยเหลือ  ผ่านหมายเลข 1669 ให้เร็วที่สุด
3.ตรวจดูว่าผู้ป่วยหายใจหรือไม่  หากไม่หายใจ หรือหายใจเฮือก ให้ปฏิบัติดังนี้

3.1กดนวดหัวใจ
1)จัดให้ผู้ป่วยนอนหงายบนพื้นแข็งโดยผู้ช่วยเหลือนั่งคุกเข่าอยู่ทางด้านข้างกายของผู้ป่วย
2)างส้นมือลงไป  ขนานกับแนวกึ่งกลางหน้าอก   (กึ่งกลางระหว่างหัวนมทั้งสองข้างของผู้ป่วย) แล้วนำมืออีกข้างมาประกบ  ประสานนิ้วแลบะทำการล็อคนิว  กระดกข้อมือขึ้น  โดยให้ส้นมือสัมผัสกับหน้าอก
เท่านั้น  โน้มตัวมาให้แนวแขนตั้งฉากกับหน้าอกของผู้ป่วย
3)แขนตรงและตึง  ออกแรงกดลงไปโดยใช้แรงจากหัวไหล่  จุดหมุนอยู่ตรงสะโพก  กดให้หน้าอกยุบลงไปอย่างน้อย 5 เซนติเมตร  โดยให้ส้นมือสัมผัสกับหน้าอกผู้ป่วยตลอดการนวดหัวใจ  ส้นมือไม่หลุดออกจากหน้าอกผู้ป่วย  ด้วยความเร็ว 100 ครั้ง/นาที หรืออัตราความเร็วตามจังหวะเพลง “สุขกันเถอะเรา”

3.2เปิดทางเดินหายใจ
1)ถ้าผู้ช่วยเหลือมีเพียงคนเดียว  ให้ทำการกดหน้าอกอย่างเดียวในอัตราอย่างน้อย 100 ครั้ง/นาที  จนกว่าทีมกู้ชีพ 1669 จะมาถึง
2)ถ้ามีผู้ช่วยเหลือมากกว่า 1 คน ให้ทำการเปิดทางเดินหายใจ  โดยการกดหน้าผากและเชยคาง

3.3ช่วยการหายใจ
ถ้าผู้ป่วยเป็นญาติสนิทและมั่นใจว่าไม่เป็นโรคติดต่อใด ๆ ทำการช่วยหายใจโดยการเป่าปากผู้ป่วย 2 ครั้ง  โดยวางปากผู้ช่วยเหลือครอบปากผู้ป่วยให้แนบสนิท บีบจมูกผู้ป่วยให้แนบสนิทและเป่าลมเข้าไป  โดยการเป่าแต่ละครั้งให้ยาว  ประมาณ 1-2 วินาที  จนเห็นหน้าอกผู้ป่วยยกตัวขึ้นพร้อมกับปล่อยให้หน้าอกผู้ป่วยยุบลงมาอยู่ตำแหน่งเดิมก่อนที่จะเป่าครั้งที่ 2  หากไม่มั่นใจให้กดหน้าอกเพียงอย่างเดียวต่อไปเรื่อย ๆ หรือสลับกับผู้ช่วยเหลือคนอื่นเมื่อครบ 2 นาที

สรุปการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน
1)กรณีผู้ช่วยเหลืออยู่คนเดียว  ให้กดหัวใจ 100 ครั้ง/นาที หรือตามจังหวะเพลง “สุขกันเถอะเรา”ต่อเนื่องจนกว่าทีมช่วยเหลือจะมาถึง
2)กรณีผู้ช่วยเหลือมากกว่า 1 คน   ในหนึ่งรอบของการช่วยฟื้นคืนชีพ คือ การปฏิบัติการกดนวดหัวใจ
30 ครั้ง และช่วยหายใจจำนวน 2 ครั้ง  และทำอย่างต่อเนื่องกันทั้งหมด 5 รอบ (ใช้เวลาประมาณ 2 นาที) ทำสลับกันไปจนกว่าจะพบว่าผู้ป่วยมีอาการไอ/ขยับตัว/มีการหายใจ หรือทีมช่วยเหลือมาถึง เราจึงหยุดได้
3)การฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานนั้น จะได้ผลดีต้องกระทำภายใน 4 นาที หลังผู้ป่วยหยุดหายใจ
4)สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี ให้รีบโทรแจ้ง 1669 และปฏิบัติตามคำแนะนำ

ห่วงโซ่ของการรอดชีวิต
1)พบเหตุเร็ว  ประเมินอาการว่าไม่รู้สึกตัว  แจ้งเหตุทางหมายเลข 1669
2)หากไม่ตอบสนอง  ปั๊มหัวใจได้ถูกต้องรวดเร็ว
3)ทีมฉุกเฉินขั้นสูงกว่ามาถึงเร็ว  ให้การช่วยเหลือได้เร็ว  และนำส่งโรงพยาบาลได้เร็วและเหมาะสม