ผู้เล่าเรื่อง : นางสาวนภัสภรณ์ มากจริง
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง : นิติกรชำนาญการ
หน่วยงาน : สำนักกฎหมาย
หลักสูตรฝึกอบรม : การปรับปรุงระบบเกษียณอายุของข้าราชการพลเรือนสามัญ
หน่วยงานผู้จัด : สำนักงาน ก.พ.
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร / โครงการฝึกอบรม
เพื่อศึกษาหาความจำเป็นในการปรับปรุงระบบเกษียณอายุของข้าราชการและจัดทำข้อเสนอทางเลือกเกี่ยวกับการปรับปรุงระบบเกษียณอายุของข้าราชการเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและแนวโน้มการขาดแคลนกำลังคนในอนาคต
เนื้อหาและหัวข้อวิชาของหลักสูตรการฝึกอบรม มีดังนี้
1)ความจำเป็นของการขยายอายุเกษียณในภาพรวม
2)ภาคราชการควรขยายหรือไม่ควรขยายอายุเกษียณ เพราะเหตุใด
3)หากจำเป็นต้องขยายอายุเกษียณควรกำหนดแนวทางการขยายอายุเกษียณและรูปแบบการขยายอายุเกษียณอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร
1.สถานการณ์โครงสร้างประชากรโลกและประเทศไทยสำหรับกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นเกณฑ์อายุที่ได้รับการนิยามให้เป็นผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งที่เป็นจำนวนโดยรวมและที่เป็นสัดส่วoเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรทั้งหมดประกอบกับสถานการณ์การลดลงของจำนวนประชากรในวัยเด็กและวัยทำงาน ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการที่จะมาทดแทนประชากรผู้สูงอายุดังกล่าวต่อไปนั้นเป็นลักษณะของโครงสร้างกำลังคนที่ประเทศต่าง ๆในโลกได้เริ่มวางมาตรการเพื่อรองรับแนวโน้มของกำลังคนดังกล่าว โดยประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2547 – 2548 คือ มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 10ของจำนวนประชากรทั้งหมด และสัดส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังพบว่าอายุคาดเฉลี่ยของประชากรไทยมีอายุเพิ่มสูงขึ้นหรือมีอายุยืนขึ้น โดยอายุคาดเฉลี่ยของประชากรไทยที่เกิดในปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป จะมีอายุยืนถึง 72.9 ปี ในขณะที่เมื่อ 50 ปีก่อน (พ.ศ. 2502) จะมีอายุเพียงแค่ 58.4 ปี
2.เมื่อพิจารณาสภาพโครงสร้างอายุข้าราชการในระบบราชการไทยพบว่า ส่วนราชการหลายแห่ง มีอายุเฉลี่ยของข้าราชการสูงขึ้น โดยมี 8 กระทรวงที่มีอายุข้าราชการเฉลี่ยสูงสุด (45 ปี) ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากนี้ภายในระยะเวลาอีก 10 ปี ข้างหน้าจะมีจำนวนข้าราชการเกษียณอายุประมาณ 88,072 คน คิดเป็นร้อยละ 24 ของจำนวน ข้าราชการในปัจจุบัน จึงควรมีการศึกษาวิจัยเพื่อปรับปรุงระบบอายุเกษียณใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และแนวโน้มการขาดแคลนกำลังคน รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากกำลังคนให้เกิดประสิทธิภาพ