วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การเป็นข้าราชการที่ดี รุ่นที่ ๑/๒๕๕๖

โครงการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ชาวกรมบัญชีกลาง (CoP : Community of Practice)
กิจกรรมที่ ๓ : เล่าเรื่องเร้าพลังชาวกรมบัญชีกลาง (Storytelling) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๖

ผู้เล่าเรื่อง  :  นายศิรวุฒิ   เวียงคำ
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง  :  นิติกรปฏิบัติการ
หน่วยงาน :  กลุ่มงานกฎหมายและระเบียบด้านเงินเดือนฯ สำนักกฎหมาย
โทรศัพท์เพื่อการปันความรู้  :  ๐๒-๑๒๗๗๒๖๔
หน่วยงานผู้จัด  :  สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ระยะเวลาจัดหลักสูตร  :  ๒๖ กุมภาพันธ์ – ๗ มีนาคม ๒๕๕๖
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร / โครงการฝึกอบรม
๑) เพื่อให้ข้าราชการบรรจุใหม่ได้รับการปลูกฝังค่านิยมและปรัชญาในการเป็นข้าราชการที่ดี
๒) เพื่อเตรียมความพร้อมและพัฒนาข้าราชการบรรจุใหม่ให้มีความรู้ ความสามารถ มีจิตสำนึกในการปฏิบัติงานเพื่อราชการ มีสมรรถนะและจรรยาที่เหมาะสมในการปฏิบัติงาน

การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ : การเป็นข้าราชการที่ดี
                   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นแบบอย่างในการทรงงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ทรงทุ่มเทพระวรกาย ทรงตรากตรำในการทำงานเพียงเพื่อให้พสกนิกรของพระองค์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตลอดระยะเวลาที่ทรงงานมาจึงหมายถึงการที่ทรงปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์มานานจวบพระชนมายุถึง ๘๑ พรรษา ดังนั้นเหล่าข้าราชการทั้งหลายจึงควรที่จะปฏิบัติตนให้สมกับความหมายของข้าราชการ นั่นก็คือ “ผู้ปฏิบัติงานในหน้าที่ของพระราชา และทำงานต่างพระเนตรพระกรรณ เพื่อประโยชน์สุขของแผ่นดิน” ข้าราชการทั้งหลายจึงควรน้อมปฏิบัติและร่วมกันเรียนรู้เพื่อเจริญรอยตามพระราชจริยาวัตรของพระองค์ เพื่อเป็นข้าราชการที่ดี
                   ข้าราชการที่ดี ควรยึดมั่นปฏิบัติตน และปฏิบัติงานในหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ด้วยหัวใจที่รักประชาชนเพื่อประชาชน ยึดมั่นในหลักธรรมะและพระบรมราโชวาทเป็นหลักตลอดจนแนวทางประพฤติปฏิบัติซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน สังคม ประเทศชาติ โดยขอนำหัวข้อธรรมต่างๆ มาเสนอพอเป็นแนวทางเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติตน และปฏิบัติงาน ดังนี้

                   ค่านิยมสร้างสรรค์ ๕ ประการ ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐควรถือปฏิบัติ
๑.กล้ายืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง หมายถึง ยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม ชอบธรรม เสียสละ อดทน ยึดหลักวิชาและจรรยาวิชาชีพ ไม่ยอมโอนอ่อนตามอิทธิพลใดๆ
๒.ซื่อสัตย์และมีความรับผิดชอบ หมายถึง ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตรงไปตรงมา มีหลักธรรม แยกเรื่องส่วนตัวออกจากหน้าที่การงาน มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ต่อประชาชน ต่อผลการปฏิบัติงาน ต่อองค์กร และต่อการพัฒนาปรับปรุงระบบราชการ
๓.โปร่งใส ตรวจสอบได้ หมายถึง ปรับปรุงกลไกการทำงานขององค์กรให้มีความโปร่งใส ให้ประชาชนตรวจสอบความถูกต้องได้ เปิดเผยข้อมูลข่าวสารภายใต้กรอบของกฎหมาย
๔.ไม่เลือกปฏิบัติ หมายถึง การบริการประชาชนด้วยความเสมอภาค ไม่เลือกที่รักมักที่ชังในการให้บริการ ปฏิบัติต่อผู้มารับบริการด้วยความมีน้ำใจ เมตตา เอื้อเฟื้อ
๕.มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน หมายถึง ทำงานให้แล้วเสร็จตามกำหนด ทำงานให้เกิดผลดีแก่หน่วยงานและส่วนรวม ใช้ทรัพยากรของทางราชการให้คุ้มค่าเสมือนหนึ่งการใช้ทรัพยากรของตนเอง เน้นการทำงานโดยยึดผลลัพธ์เป็นหลัก
                  หลักธรรมาภิบาลกับการบริหารงานราชการ
ธรรมาภิบาล หมายถึง การบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี เป็นแนวทางสำคัญในการจัดระเบียบให้สังคม รัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีความรู้รักสามัคคีและร่วมกันเป็นพลัง ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นส่วนเสริมความเข้มแข็งหรือสร้างภูมิคุ้มกันแก่สังคม ประเทศชาติ เพื่อบรรเทาป้องกัน แก้ไขเยียวยาภาวะวิกฤติ ภยันตรายที่หากจะมีมาในอนาคต เพราะสังคมจะรู้สึกถึงความยุติธรรม ความโปร่งใส และความมีส่วนร่วม อันเป็นคุณลักษณะสำคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข สอดคล้องกับความเป็นไทย รัฐธรรมนูญ และกระแสโลกยุคปัจจุบัน
การส่งเสริมให้เกิดการสร้างธรรมาภิบาลนั้น มาจากความร่วมมือของทั้งภาครับ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม บทบาทของรับที่สำคัญ คือ รัฐเป็นผู้มีบทบาทในการวางรากฐาน และรักษาระเบียบต่างๆ การสร้างธรรมาภิบาลของรัฐจำเป็นต้องอาศัยระบบการจัดการภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ มีภาระรับผิดชอบภายใต้กฎหมาย และนโยบายที่โปร่งใสตรวจสอบได้
                หลักการพื้นฐานของการสร้างธรรมาภิบาล
๑.หลักนิติธรรม ได้แก่ การตรากฎหมาย กฎ ข้อบังคับต่างๆ ให้ทันสมัยและเป็นธรรม เป็นที่ยอมรับของสังคม ไม่เลือกปฏิบัติ และสังคมยินยอมพร้อมใจปฏิบัติตามกฎหมายและกฎ ข้อบังคับเหล่านั้น โดยถือว่าเป็นการปกครองภายใต้กฎหมาย
๒.หลักความโปร่งใส ได้แก่ การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน โดยมีการให้แบะการรับข้อมูลที่สะดวกเป็นจริง ทันการ ตรงไปตรงมา มีที่มาที่ไปที่ชัดเจนและเท่าเทียม มีกระบวนการตรวจสอบความถูกต้อง
๓.หลักการมีส่วนร่วม ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้ ร่วมคิด ร่วมเสนอความเห็นในการตัดสินใจปัญหาสำคัญของประเทศในด้านต่างๆ เช่น  การแจ้งความเห็น การไต่สวนสาธารณะ การประชาพิจารณ์ การทำประชามติ นอกจากนี้ยังรวมถึงการร่วมตรวจสอบ และร่วมรับผิดชอบต่อผลการกระทำนั้น
๔.หลักความรับผิดชอบตรวจสอบได้ ได้แก่ การสร้างกลไกให้ผู้รับผิดชอบตระหนักในหน้าที่ ความสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม การใส่ใจในปัญหาสาธารณะของบ้านเมือง และกระตือรือร้นในการแก้ปัญหา ตลอดจนเคารพในความคิดที่แตกต่าง กล้าที่จะยอมรับผลของการกระทำ
๕.หลักความคุ้มค่า ได้แก่ การบริหารจัดการและการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม
๖.หลักคุณธรรม ได้แก่ การยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม สำนึกในหน้าที่ของตน มีความซื่อสัตย์สุจริตจริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบวินัย และเคารพในสิทธิของผู้อื่น