วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2560

โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมกับหน่วยงานตรวจสอบ

ผู้เล่าเรื่อง  :
๑. นางนพรัตน์ พรหมนารท ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาระบบงานตรวจสอบภายใน
๒. นางวัลนา ภู่สำลี                 นักบัญชีชำนาญการพิเศษ
๓. นายสมพล ลิมปมาลัยพร นักบัญชีชำนาญการพิเศษ
๔. น.ส.กชพร รักอยู่                 นักบัญชีชำนาญการพิเศษ
๕. น.ส. จารุวรรณ โชติวัชรมัย นักบัญชีชำนาญการ
๖. น.ส. จุไรรัตน์ รวยดี         นักบัญชีชำนาญการ
๗. น.ส. ฐิติมา พราวศรี                 นักบัญชีปฏิบัติการ
๘. น.ส. นุจรี อ่อนดี                 นักบัญชีปฏิบัติการ
๙. น.ส. ปภาสินี คลอวุฒิเสถียร นักบัญชีปฏิบัติการ
๑๐. น.ส. ศศิวิมล มีเอม                 นักบัญชีปฏิบัติการ
โทรศัพท์เพื่อการปันความรู้  :  ๐๒-๑๒๗-๗๒๘๗
หลักสูตรฝึกอบรม  :โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมกับหน่วยงานตรวจสอบ
หน่วยงานผู้จัด  :  สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร / โครงการฝึกอบรม
๑) เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานขององค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมกับหน่วยงานตรวจสอบ
๒) เพื่อลดปัญหาและอุปสรรค รวมทั้งเพิ่มความคล่องตัวในการปฏิบัติงานระหว่าง
หน่วยตรวจสอบ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กับหน่วยรับตรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
เนื้อหาและหัวข้อวิชาของหลักสูตรการฝึกอบรม  มีดังนี้
ประเด็นหารือในการตีความกฎหมายหรือแนวทางการตรวจสอบ อปท. ของหน่วยงานตรวจสอบ
และการกำหนดแนวทางร่วมกันในอนาคต
ประโยชน์ที่ได้รับจากการฝึกอบรม
ต่อตนเอง  ได้แก่  ทราบวิธีการและแนวทางการปฏิบัติงานของหน่วยงานตรวจสอบ รวมทั้งรับทราบบริบทและสภาพแวดล้อมการปฏิบัติงานของหน่วยงาน อปท.
ต่อหน่วยงาน ได้แก่  นำองค์ความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในงานเสริมสร้างคุณภาพ
งานตรวจสอบภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
แนวทางในการนำความรู้ ทักษะที่ได้รับจากการฝึกอบรมครั้งนี้ ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์แก่หน่วยงานมีดังนี้
1. เพิ่มพูนองค์ความรู้บุคลากรในกองตรวจสอบภาครัฐ      
2. สามารถนำความรู้เพื่อเสนอแนะแนวทางด้านการตรวจสอบภายในในมุมมองของหน่วยตรวจสอบให้แก่ส่วนราชการภาครัฐได้อย่างเหมาะสม
3. สามารถนำบริบทหรือสภาพแวดล้อมการปฏิบัติงานของหน่วยงาน อปท. เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับโครงการเสริมสร้างคุณภาพงานตรวจสอบภายในสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ปัญหาและอุปสรรคที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการนำความรู้  และทักษะที่ได้รับไปปรับใช้ในการปฏิบัติงาน
อปท. เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในด้านการบริหารจัดการในการให้บริการสาธารณะ รวมทั้งเสริมสร้างการมีส่วนร่วม การบูรณาการและการบริหารเครือข่ายในทุกภาคส่วน และการปฏิบัติงานของ อปท.
จะขึ้นอยู่กับโครงการที่มีความเร่งด่วน ซึ่งมีความแตกต่างจากส่วนราชการภาครัฐ ดังนั้นการดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ อปท. ควรมีการศึกษาบริบท สภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงาน และข้อจำกัดในการปฏิบัติงาน
ให้ครบถ้วน


การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ :
ประเด็นหารือในการตีความกฎหมายหรือแนวทางการตรวจสอบ อปท. ของหน่วยตรวจสอบและการกำหนดแนวทางร่วมกันในอนาคต
หลักคิด/หลักการสำคัญที่เกี่ยวข้อง
๑. เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและการปกครองท้องถิ่นในการให้และชุมชนปกครองตนเอง จัดบริการสาธารณะหรือแก้ไขปัญหาของประชาชนในแต่ละพื้นที่ด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชนท้องถิ่น และให้ อปท. มีอิสระในการดำเนินการภายใต้กรอบและเจตนารมณ์ของกฎหมาย
๒. อปท. ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างสุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและทำงานภายใต้หลักธรรมาภิบาล
๓. การตรวจสอบโดยหน่วยงานตรวจสอบ ต้องไม่ล้ำเส้นจนนำไปสู่ Micro Management
หรือก้าวล่วงไปสู่การใช้อำนาจบริหารปกครองของหน่วยงานรัฐในฝ่ายบริหาร อปท. จนทำให้ อปท. ไม่สามารถดูแลบริการสาธารณะหรือแก้ไขปัญหาของประชาชนได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ประเด็นที่พิจารณาให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้
ประเด็นที่  ๑. กฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติที่รองรับการดำเนินงานของ อปท.
สภาพปัญหา  อปท. มีหน้าที่และความรับผิดชอบตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆ แต่ไม่มีระเบียบรองรับ
แนวปฏิบัติ หรือการดำเนินงาน ขาดการให้อำนาจอย่างเพียงพอ หรือขาดระเบียบรองรับการเบิกจ่าย
ในบางเรื่องหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทย ใช้ได้บางเรื่องแต่บางเรื่องใช้ไม่ได้ ทำให้ถูกทักท้วงจาก สตง. เช่น ปัญหาในการเบิกจ่ายเพื่อการจัดแข่งขันกีฬา การจัดงานเชิงประเพณีกิจกรรมทางศาสนา การเบิกค่าเบี้ยเลี้ยง อปพร. การจ่ายเงินตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษ (เงินโบนัส) การเบิกจ่ายทุนการศึกษาบุคลากร การสอนเสริมพิเศษ ฯลฯ
ประเด็นคำถาม : อำนาจของ สตง.
ข้อ 1. สตง. ใช้หลักเกณฑ์ใดในการตีความกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติและอำนาจหน้าที่ของ อปท.
ข้อ 2. ในกรณีที่ตรวจพบว่าไม่มีกฎหมายหรือระเบียบรองรับในการตรวจตามมาตรา 45 สตง. ควรแจ้งหน่วยงานต้นสังกัดทราบ เพื่อกำหนดมาตรการที่จำเป็น ในกรณีเช่นนี้ สตง. ควรเร่งรัด-ติดตาม
ให้มีการปรับปรุงแก้ไขกับหน่วยงานต้นสังกัดแทนที่จะเป็น อปท. หรือไม่
ข้อ 3. กรณีที่ตรวจพบว่ามีความเสียหายกับหน่วยรับตรวจอันเนื่องมาจากการกระทำการ
โดยมิชอบ สตง. มีอำนาจประเมินความเสียหาย และแจ้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาและคณะรัฐมนตรีทราบเท่านั้น โดยไม่มีอำนาจสั่งการให้คืนเงินใช่หรือไม่ และในกรณีดังกล่าวจะต้องมีการระบุหรือประเมินเฉพาะมูลค่า
ความเสียหายอย่างเป็นระบบ แทนที่จะเป็นการสั่งเรียกเงินคืนเต็มจำนวนใช่หรือไม่
ประเด็นคำตอบ : อำนาจของ สตง.
1. สตง. ใช้หลักการตีความตามกฎหมายหรือระเบียบโดยพิจารณาจากเรื่องที่ตรวจ
หากมีระเบียบกำหนดไว้ชัดเจนสามารถตรวจสอบตามระเบียบนั้นๆ หากระเบียบกำหนดไว้ไม่ชัดเจนจะต้อง
มีการตีความโดยยึดหลักผลประโยชน์ส่วนรวม กล่าวคือจะตีความเข้าข้างผลประโยชน์ของประชาชน
และอาจต้องใช้ดุลยพินิจมาร่วมในการพิจารณาแต่การใช้ดุลยพินิจจะต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย
เช่น การตีความการใช้จ่ายเงินอย่างสมเหตุสมผล การตีความไม่แอบแฝงผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น
กรณีการทักท้วงเรียกเงินคืน สตง. จะตีความตามความสมเหตุสมผลตามกฎหมายการใช้จ่าย
เงินแผ่นดินและตรวจสอบจากหลักฐานเบิกจ่าย
ปปช. วินิจฉัยสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งจากปัจจุบันและสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต และวินิจฉัยจากเจตนา รวมทั้งพยานหลักฐานด้วยความรอบคอบ ทั้งนี้การวินิจฉัยต้องอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับ
2. สตง. ยึดถือกฎหมายและระเบียบเป็นสำคัญ โดยประเมินจากความเสี่ยงและการประเมิน
การควบคุมภายในและถ้าหน่วยรับตรวจใดมีความเสี่ยงสูงจะมีการตรวจสอบเป็นลำดับแรก และ สตง.
มีอัตรากำลังจำนวนจำกัดในขณะที่มีหน่วยรับตรวจทั่วประเทศมีจำนวนมาก อาจทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ครอบคลุมทุกเรื่อง ซึ่ง สตง. จะมีข้อทักท้วงเฉพาะเรื่องที่สามารถตรวจสอบได้เท่านั้น
3. สตง. มีอำนาจในการประเมินความเสียหายตามข้อเท็จจริง และแจ้งให้สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาและคณะรัฐมนตรีรับทราบเพื่อให้ดำเนินการต่อไป ดังนั้นผู้แทนราษฎรต้องมีการบริหารการใช้จ่ายเงิน
ให้รอบคอบและเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด สำหรับความเสียหายที่ สตง. ประเมินนั้นจะยึดถือหลักเหตุผล
อย่างรัดกุม และพิจารณาจากความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ทางราชการ
การกระทำต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม ซึ่งถ้าปฏิบัติงาน
สื่อถึงการไม่รักษาผลประโยชน์ถือว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการอันผิดวินัย
การเรียกเงินคืนจะกระทำตามความสมเหตุสมผล เช่น กรณีหลักฐานการเบิกจ่ายเงิน
ไม่ถูกต้องนั้น สตง. จะให้เรียกเงินคืนทั้งจำนวน เป็นต้น
ประเด็นคำถาม : กฎหมาย/ระเบียบที่รองรับการดำเนินงานหรือการเบิกจ่ายของ อปท.
1. กรณีที่ต้องมีระเบียบรองรับการดำเนินการตามกฎหมายแม่บท จะต้องมีระเบียบจำนวนเท่าใดหรือเรื่องอะไรบ้างถึงเพียงพอ ที่จะให้ อปท. สามารถทำหน้าที่ดูแลแก้ไขปัญหาหรือบริการประชาชนได้ ระเบียบปฏิบัติจะต้องมีทุกๆ เรื่อง หรือมีเฉพาะบางเรื่องที่จำเป็น
2. ใครเป็นคนออกระเบียบ กระทรวงมหาดไทยเท่านั้นกระทรวงที่เป็นผู้รักษาการ/ผู้บังคับใช้กฎหมาย หรือสามารถออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ได้หรือไม่
3. ถ้าเรื่องนั้นจำเป็นต้องมีระเบียบรองรับ แต่ในระหว่างที่ยังไม่มีระเบียบใช้บังคับ สามารถให้อิสระแก่ อปท. มีอิสระในการพัฒนาบุคลากรของตนให้มีทักษะ ความรู้ สำหรับใช้ประโยชน์ในการให้บริการประชาชนตามอำนาจหน้าที่ในเขตพื้นที่ของตน เป็นต้น
4. ในกรณีของการดำเนินภารกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเงิน สามารถให้ อปท. กำหนดข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. เพื่อรองรับการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้หรือไม่
เช่น การกำหนดวิธีปฏิบัติงาน/ทางเลือกในการจัดการศึกษาของ อปท. ในกรณีของการสอนเสริม สอนพิเศษ
การขยายโอกาสทางการศึกษาในลักษณะต่างๆ การส่งเสริมและอนุรักษ์กิจกรรมทางศาสนา ประเพณี
ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น เพื่อให้อิสระแก่ อปท. ในการกำหนดหลักเกณฑ์หรือวิธีการ
ในการดำเนินภารกิจที่เหมาะสมในแต่ละชุมชนท้องถิ่น
ประเด็นคำตอบ : กฎหมาย/ระเบียบที่รองรับการดำเนินงานหรือการเบิกจ่ายของ อปท.
1. การดำเนินงานของท้องถิ่นจะยึดกฎหมายการจัดตั้งฯ ท้องถิ่น สำหรับการใช้จ่ายเงินจะยึด
ตามกฎหมายการจัดตั้งให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยในการวางกฎระเบียบต่างๆ เช่น ระเบียบวิธีการงบประมาณ ระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง ระเบียบการเบิกจ่ายเงิน เป็นต้น และยังมีระเบียบย่อยเฉพาะในแต่ละเรื่อง
ในการออกระเบียบ กระทรวงมหาดไทยพิจารณาจากประเด็น ดังนี้
- อำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน อปท.
- มาตรฐาน โดยกระทรวงมหาดไทยมีการพิจารณาร่วมกับระเบียบของหน่วยงานภาครัฐที่กรมบัญชีกลางเป็นผู้กำหนด
- ความคล่องตัวในการบริหารจัดการ
กฎหมายและระเบียบของหน่วยงาน อปท. อาจยังไม่ครอบคลุมเรื่องของการจัดงานประเพณี
การจัดงานกีฬา โดยกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการกำหนดระเบียบดังกล่าว สำหรับระเบียบที่ล้าสมัย ได้แก่ กฎหมายบำรุงสาธารณะของท้องถิ่น กฎหมายสงเคราะห์ผู้ประสบภัย เป็นต้น
จะดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
การกำหนดระเบียบและแนวทางการปฏิบัติงานที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นมีความเพียงพอแล้ว
แต่ทั้งนี้มีปัญหาการตีความของกฎ ระเบียบ และข้อบังคับต่างๆ ยังไม่ชัดเจนพอและการใช้ดุลยพินิจเป็นสิ่งที่นอกเหนือระเบียบ ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยและผู้ที่เกี่ยวข้องควรมีการกำหนดแนวทางในการดำเนินงาน
ให้ชัดเจน เพื่อทำให้เกิดความชัดเจนและลดปัญหาในการตีความรวมทั้งลดความขัดแย้งระหว่างหน่วยตรวจสอบและหน่วยรับตรวจ เช่น กรมบัญชีกลางเป็นผู้กำหนดระเบียบเพื่อให้ส่วนราชการถือปฏิบัติ โดยจะมีการกำหนดว่าค่าใช้จ่ายอะไรเบิกได้หรือไม่ และสามารถเบิกได้ในอัตราเท่าใดตามความจำเป็นเหมาะสมและประหยัด
เป็นต้น
ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องมีระเบียบในทุกเรื่องแต่อย่างน้อยควรจะมีในเรื่องระเบียบเกี่ยวกับประเพณี กิจกรรมการกีฬา รวมถึงระเบียบด้านการเบิกจ่าย ซึ่งอาจอ้างอิงจากกรมบัญชีกลางหรือสำนักงบประมาณ
ที่กำหนดระเบียบของส่วนราชการส่วนกลาง นอกจากนี้การออกหนังสือสั่งการควรมีเนื้อหาที่มีความสอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบด้วย
2. ผู้ออกระเบียบและแนวทางปฏิบัติ กฎหมายการจัดตั้งฯ ท้องถิ่นให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้กำหนดกฏระเบียบและแนวทางการปฏิบัติงานของ อปท.
3. เรื่องที่ยังไม่มีระเบียบรองรับและระหว่างที่ยังไม่มีระเบียบใช้บังคับ กระทรวงมหาดไทย
จะให้อำนาจแก่ อปท. ในการใช้ดุลยพินิจเพื่อพิจารณาการดำเนินงานต่างๆ ให้มีความเหมาะสม จำเป็น และประหยัด ซึ่งในเรื่องการจัดงานประเพณีหรืองานกีฬาต่างๆ ที่ยังไม่มีระเบียบรองรับนั้น กระทรวงมหาดไทยร่วมกับ
กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเป็นคณะทำงานกำหนดระเบียบและแนวทาง
การปฏิบัติงานต่อไป
4. กรณี อปท. ขอดำเนินการออกข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติโดยอาศัยความตาม พ.ร.บ.
เพื่อรองรับการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่นั้น  กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นมีการกำหนด
หลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินการของ อปท. ซึ่งอาจจะต้องรอความชัดเจนมติ ครม. ก่อนจึงจะมีการแจ้ง
ให้หน่วยงาน อปท. รับทราบต่อไป
ประเด็นที่ 2 วิธีตีความเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ อปท.
สภาพปัญหา  มีกรณีที่เกิดขึ้นและเป็นปัญหาการตีความว่า อปท. มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการภารกิจต่างๆหรือไม่
ประเด็นคำถาม :
1. ในกรณีแรก เป็นกรณีที่ สตง. นำเอาวิธีการดำเนินงานหรือวัสดุเครื่องมือที่ อปท. จัดซื้อ/จัดหามาเป็นเหตุผลว่า อปท. ดำเนินการไม่ได้เพราะไม่มีอำนาจหน้าที่ระบุไว้ในกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติต่างๆ แต่แท้จริงแล้วการจัดหาวัสดุเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือวิธีการดำเนินงานต่างๆ เป็นเพียงเครื่องมือที่นำไปสู่
การบรรลุเป้าหมายตามภารกิจอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด เช่น การจัดกวดวิชา การสอนเสริมให้เด็ก
การพัฒนาทักษะเฉพาะเพื่อความเป็นเลิศ การจัดการแข่งขันกีฬา ฯลฯ เป็นวิธีการในการดำเนิน “ภารกิจ
ด้านการศึกษา” “การขยายโอกาสทางการศึกษา” หรือการส่งเสริมกีฬา การออกกำลังกาย และนันทนาการ การจัดรถรับส่งนักเรียน ฯลฯ หรือการจัดซื้อเครื่องมือตรวจสารเสพติด การวัดแอลกอฮอล์ การฉีดวัคซีนป้องกัน
พิษสุนัขบ้า ฯลฯ เพื่อการทำหน้าที่ในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในชุมชน/การป้องกันโรคระบาด เป็นต้น ในกรณีเช่นนี้ จะใช้วิธีตีความหมายหรือขอบเขตภารกิจ โดยดูจาก “วัตถุประสงค์หรือผลลัพธ์ของการดำเนินโครงการ” หรือนำเอา “วิธีการบรรลุภารกิจหรือเครื่องมือวัสดุในการดำเนินงาน” มาเป็นกรอบตีความอำนาจหน้าที่ของ อปท. ใช่หรือไม่
2. ในกรณีที่ภารกิจถ่ายโอนไม่สมบูรณ์ แม้จะระบุไว้แล้วในแผนการกระจายอำนาจฯ
แต่ส่วนราชการไม่ยอมถ่ายโอนภารกิจ ถ่ายโอนเพียงบางส่วน ไม่มอบอำนาจดำเนินการไม่แต่งตั้ง อปท.
เป็นเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานตามกฎหมายหรือไม่แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เรียบร้อย ทำให้ อปท. ไม่มีอำนาจดำเนินการโดยสมบูรณ์ในแต่ละกรณี ดังนี้
2.1 อปท. ดำเนินการได้เลยหรือไม่ตามขอบเขตภารกิจในกฎหมายจัดตั้ง หรือกฎหมายกำหนดแผนขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ เนื่องจากมีกฎหมายระดับ พ.ร.บ. ระบุภารกิจไว้แล้ว โดยตีความว่า อปท. มีอิสระในกรอบของกฎหมาย เป็นการดำเนินภารกิจที่ไม่ทับซ้อนระหว่างรัฐ (ส่วนราชการ) กับ อปท.
แต่เป็นการดำเนินการที่สนับสนุนกันในการจัดบริการสาธารณะและ / หรือการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน
และ อปท. อาจไม่จำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนหรืออำนาจดำเนินการจากส่วนราชการเดิมอีก
2.2 ตีความได้หรือไม่ว่า อปท. ดำเนินการร่วมกับส่วนราชการที่เป็นเจ้าของภารกิจเดิม
โดยเป็นองค์กรรัฐในสังกัดฝ่ายบริหารที่ร่วมมือในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ดังเช่นกรณีการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพของประชาชนในพื้นที่จังหวัดตรัง ซึ่ง อบจ. ตรัง ดำเนินการร่วมกับ สสจ. ตรัง และโรงพยาบาลตรัง เป็นต้น
3. ในกรณีที่มีความไม่ชัดเจนในการแบ่งบทบาทหน้าที่ระหว่าง อปท. ระดับบนกับ อปท.
ระดับล่าง หรืออาจมีความทับซ้อนกันในการดำเนินภารกิจระหว่าง อบจ. กับเทศบาลตำบล/ อบต. สามารถ
ให้ อปท. ในแต่ละจังหวัดกำหนดวิธีจัดแบ่งภารกิจระหว่างกัน มีการแบ่งปันหรือแลกเปลี่ยนทรัพยากร
ที่เหมาะสมและจัดทำ MOU ความร่วมมือในการจัดบริการสาธารณะตามประกาศของ ก.ก.ถ. ได้หรือไม่
โดยอาจแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ตามลักษณะภารกิจ วิธีการดำเนินการ หรือบริบทของชุมชน อาทิ
3.1 ภารกิจที่ต้องทำร่วมกันใกล้ชิด เช่น การจัดการขยะสิ่งแวดล้อม การจัดการภัยพิบัติ ทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งน้ำ สถานที่ท่องเที่ยว เป็นต้น
3.2 ภารกิจที่แบ่งตามความยาก/ความซับซ้อนในเทคนิคการดำเนินการ/ขั้นตอน
การปฏิบัติงานหรือแบ่งตามวงจรห่วงโซ่ของการดำเนินการ เช่น งานด้านโครงสร้างพื้นฐาน
ระบบสาธารณูปโภค/สาธารณูปการ การจัดการประเด็นปัญหาทางสังคม สาธารณสุข คุณภาพชีวิต
การจัดการศึกษา การจัดระเบียบชุมชน/ การรักษาความเรียบร้อยภายในชุมชน การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน
การส่งเสริมอาชีพและพัฒนารายได้ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชุมชน ฯลฯ โดย อปท. ระดับล่างรับผิดชอบภารกิจขั้นต้นหรือในงานที่ไม่ซับซ้อน ส่วน อบจ. ดูแลกระบวนการขั้นปลายน้ำหรือในภารกิจที่มีความซับซ้อน เป็นต้น
3.3 ภารกิจที่แบ่งตามขนาดของการดำเนินการ เช่น งานด้านโครงสร้างพื้นฐาน
การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ฯลฯ โดยที่ถ้าหากเป็นกิจกรรมขนาดเล็ก มีขนาดที่เหมาะสมในพื้นที่ อปท. ใด ก็ให้ อปท. นั้นๆ รับผิดชอบ แต่ถ้าขนาดของการดำเนินการในแต่ละพื้นที่เล็กเกินไป
จนเกิดความไม่คุ้มค่าหรือไม่เกิดประโยชน์ที่ อปท. แต่ละแห่งจะดำเนินการเองโดยตรง ในกรณีเช่นนี้
อาจกำหนดให้ อบจ. มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการผ่านข้อตกลงร่วมกันระหว่าง อปท. ต่างๆ ในพื้นที่ เป็นต้น
ประเด็นคำตอบ
สตง. ให้คำตอบในประเด็นนี้คือ ในการตรวจสอบนั้นจะใช้วิธีตีความหมายหรือขอบเขตภารกิจ โดย สตง. จะพิจารณาจาก ประเด็นต่างๆ ดังนี้
1. อำนาจหน้าที่  ตามหลักการมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือกฎหมายอื่นได้กำหนดอำนาจหน้าที่ให้หน่วยงานสามารถปฏิบัติได้หรือไม่ ซึ่งก็มีข้อที่พึงระวังในการพิจารณาคือมีอำนาจหน้าที่โดยตรงหรือส่งเสริมสนับสนุน ซึ่ง สตง. จะใช้ดุลพินิจในการพิจารณา
2. ข้อปฏิบัติ  ตามหลักการคำนึงถึงระเบียบข้อบังคับ ซึ่งมีข้อพึงระวังคือไม่มีระเบียบข้อบังคับกำหนดไว้ว่าหน่วยงานสามารถกระทำได้
3.  แนวปฏิบัติซักซ้อม  ตามหลักการพิจารณาจากคำสั่ง หนังสือเวียน ซึ่งมีข้อพึงระวัง
ในการพิจารณาคือถ้าไม่มีก็ต้องพิจารณาถึงความสุจริตในการปฏิบัติ
4.  ดุลพินิจ  ตามหลักการการใช้ดุลพินิจต้องชอบด้วยกฎหมาย (ไม่มีส่วนได้เสีย ไม่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกัน ข้อพึงระวังในการใช้ดุลพินิจคือ ความจำเป็น (ต้องพิจารณาด้วยว่าเป็นการเบิกจ่าย
ที่ตั้งในโครงการ และเป็นการเบิกจ่ายในระเบียบ)  ความเหมาะสมและประหยัด (ต้องพิจารณาว่า
เป็นไปตามระเบียบหรือไม่ ถ้าไม่เป็นไปตามระเบียบเรียกคืนเงินที่เบิกจ่ายทั้งหมด กรณีที่จ่ายถูกต้อง
ตามระเบียบแต่มีส่วนเกิน ให้เรียกคืนส่วนที่เกินระเบียบ)
5.  งบประมาณ (เงินที่ได้รับ)
6.  ประโยชน์สูงสุดในการดำเนินโครงการ งาน แผนงาน
7.  การดำเนินงานโปร่งใส/ตรวจสอบได้
ทั้งนี้มีการอภิปรายการตรวจสอบโครงการต่าง ๆ เช่น  การตรวจสอบโครงการเริ่มจาก
การตั้งโครงการเพื่อของบประมาณ ดังนี้
- โครงการทำบุญตักบาตรซึ่งมีการตั้งงบประมาณที่ต้องใช้ในการนิมนต์พระสงฆ์กี่รูป
และดำเนินการเป็นไปตามนั้นหรือไม่ แต่ให้ยกเว้นการซื้อข้าวสารอาหารแห้ง เนื่องจากไม่ได้กำหนดรายการ
ในโครงการ
- โครงการอบรมสัมมนาที่มีการเลี้ยงอาหารกลางวันนั้นสามารถเบิกได้ตามที่ระเบียบกำหนด
- กรณีการจัดอาหารกลางวันให้กับผู้ร่วมโครงการมูลค่าที่เบิกนั้นได้ตามระเบียบกำหนด
- กรณีที่ผู้ร่วมงานมาไม่ครบตามเป้าหมาย ถ้าเป็นการอบรมให้บุคคลภายนอกมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นให้พิจารณาว่ามีความจำเป็นต้องจ่ายหรือไม่ (เป็นค่าใช้จ่ายที่มีความจำเป็นต้องจ่ายเพื่อเตรียมการ)
ถ้าเป็นการอบรมให้บุคคลภายในหน่วยงานบุคคลที่ไม่ได้เข้าอบรมต้องมีการลาป่วย หรือไปปฏิบัติราชการ
ที่ได้รับคำสั่งด่วน ถ้าไม่เช่นนั้นต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบกรณีที่ไม่สามารถเข้าอบรมได้
- กรณีที่มีการจัดสอนแก่เด็กด้อยโอกาส สตง. ได้ทักท้วงว่าจะต้องพิจารณากิจกรรม
หรือภารกิจ “ด้วยระเบียบเบิกจ่ายกำหนดเงินสนับสนุนไว้ ถ้าระเบียบเบิกจ่ายมีความแตกต่างในเงินที่ใช้อาจต้องพิจารณาในการเบิกจ่ายอีกครั้ง”
- กรณี อบต. ซื้อเครื่องสูบน้ำเพื่อใช้ในการบรรเทาภัยแล้ง จะพิจารณาว่า อบต. มีการดำเนินการเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากการดูแลเรื่องภัยแล้งนั้นเป็นหน้าที่ของหน่วยงานราชการอื่น ไม่ใช่ภารกิจที่ปรากฏ
ในระเบียบที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของ อบต. ทำให้เป็นการปฏิบัติหน้าที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานราชการอื่น
ซึ่ง สตง. พิจารณาว่าหน่วยงานมีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติงานนั้นหรือไม่ ถ้ามีอำนาจอย่างหนึ่งแต่กระทำอย่างหนึ่งนั้นทำไม่ได้ ตามมาตรา 12 (25)
สรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยแบ่งเป็นแผนระยะสั้น และแผนระยะยาว ดังนี้
แผนระยะสั้น (อาศัยกระบวนการตัวกลางในการบริหารจัดการ)
- กำหนดให้ ก.ก.ถ. ตั้งคณะอนุกรรมการกลางเพื่อจัดระบบบริการสาธารณะระหว่างหน่วยงานรัฐกับหน่วยงานท้องถิ่น และระหว่างท้องถิ่นด้วยกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติหน้าที่
ในภารกิจหรือพื้นที่ในการจัดกิจกรรมที่ทับซ้อนกัน
- กำหนดให้มีระบบประสานแผนงานระหว่างหน่วยงาน และผู้ปฏิบัติงานอย่างชัดเจน
แผนระยะยาว
- แก้ไขกฎหมายจัดตั้ง อปท. เพื่อกำหนดอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นให้ชัดเจน
- แก้ไขกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ เพื่อแบ่งอำนาจหน้าที่ระหว่างท้องถิ่นกับส่วนราชการให้ชัดเจน

วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2559

โครงการให้ความรู้เรื่องราววางแผนทางการเงินและการลงทุนปี 2560


ผู้เล่าเรื่อง  :  นางสาววัลภา  แซ่ก๊วย
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง  :  นักวิชาการ ชำนาญการ
หน่วยงาน :  กองสวัสดิการรักษาพยาบาล

โทรศัพท์เพื่อการปันความรู้  : โทร. ๔614
หลักสูตรฝึกอบรม  :  โครงการให้ความรู้เรื่องราววางแผนทางการเงินและการลงทุนปี 2560
หน่วยงานผู้จัด  :  กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร / โครงการฝึกอบรม
เพื่อสมาชิก กบข. เกิดการตระหนักในสถานะหนี้สิน ระยะเวลาในการบริหารเงินเพื่อชำระหนี้สิน และสถานะความพอเพียงของเงินใช้ในวัยเกษียณ โดยใช้โปรแกรมประมาณการความเพียงพอเงินใช้หลังเกษียณ ซึ่งสมาชิกสามารถ Download Program ได้ที่เว็บไซต์ กบข. www.gpf.or.th
วิธีการ
1. สมาชิกระบุหนี้สิน ประมาณการค่าใช้จ่ายในอนาคต เงินเฟ้อ การขึ้นเงินเดือนและผลตอบแทนการลงทุน กบข. ในอนาคต โดย กบข. มีการระบุข้อมูลปัจจุบันประกอบการกำหนดตัวเลข
2. โปรแกรมประเมินเงิน กบข. ณ เกษียณภายใต้สมมุติฐานออมตามกฎหมาย และผลตอบแทนการลงทุนที่สมาชิกกำหนด
3. โปรแกรมคำนวณสรุปให้เห็นถึงสถานะการเงินในวัยเกษียณ และแนะนำให้สมาชิกลองเปลี่ยนสัดส่วนออมเพิ่มเพื่อเพิ่มความมั่งคั่ง
เนื้อหาและหัวข้อวิชาของหลักสูตรการฝึกอบรม  มีดังนี้
1) วางแผนการเงินด้วย “โปรแกรมประมาณการความเพียงพอเงินใช้หลังเกษียณ”
2) เข้าใจหน่วยลงทุน......  ไม่กลัวขาดทุน
3) การลงทุน กบข. และเปรียบเทียบผลตอบแทน
4) บริการ กบข.
- ออมเพิ่ม
- ออมต่อ
- แผนทางเลือกการลงทุน
5) ช่องทางการติดต่อ กบข.
6) Workshop เกมลงทุน
ประโยชน์ที่ได้รับจากการฝึกอบรม
เพื่อให้รู้จักวิธีการออมว่า มีหลายวิธีตามความสามารถของแต่ละบุคคล เข้าใจการลงทุนใน กบข. และการลงทุนในสถาบันอื่นๆ ว่า การลงทุนมีธรรมชาติของการลงทุน มีความเสี่ยงของการลงทุน เช่น ความผันผวน ความไม่แน่นอน ภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงการลงทุนระยะสั้นและระยะยาว และที่สำคัญที่สุด คือ เป็นข้อมูลในการวางแผน การใช้เงินเมื่อข้าราชการเกษียณอายุไปแล้ว
แนวทางในการนำความรู้ ทักษะที่ได้รับจากการฝึกอบรมครั้งนี้
1)ทดลองจัดพอร์ตลงทุนโดย “วิเคราะห์” ข้อมูลจากข่าว
2)ทำความเข้าใจ “ธรรมชาติ” ของสินทรัพย์เพื่อการลงทุน
3)รู้จักและเข้าใจคำศัพท์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในฐานะนักลงทุนสถาบัน เช่น กบข.
4)รู้จักและเข้าใจ “ธรรมชาติของการลงทุน” (ความผันผวน การลงทุนระยะสั้น ระยะยาว)
การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ :
1.Financial Literacy
-เข้าใจหน่วยลงทุน... ไม่กลัวขาดทุน
-โปรแกรมประมาณการความเพียงพอเงินใช้หลังเกษียณ
-การลงทุน กบข. และเปรียบเทียบผลตอบแทน
-บริการจาก กบข.
oออมเพิ่ม
oออมต่อ
oแผนทางเลือกการลงทุน
2.การลดค่าใช้จ่ายบางอย่าง...  เพื่อให้เหลือเงินออม
3.เกษียณ “หยุดทำงาน อย่างหยุดทำเงิน”
4.เรื่องรู้การลงทุน




วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ความรู้เกี่ยวกับการบริหารงานพัสดุภาครัฐ และความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

ผู้เล่าเรื่อง  :  นางสาวพรรณนภา  เผ่าจินดา
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง  :  นักวิชาการคลังชำนาญการ
หน่วยงาน :  กองกำกับและพัฒนาระบบเงินนอกงบประมาณ
โทรศัพท์เพื่อการปันความรู้  :  0 2127 7439

หลักสูตรฝึกอบรม  :  ความรู้เกี่ยวกับการบริหารงานพัสดุภาครัฐ และความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

หน่วยงานผู้จัด  :  สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร / โครงการฝึกอบรม
1) เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ด้วยวิธีการทางอีเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 รวมทั้งแนวทางปฏิบัติในการจัดหาพัสดุด้วยวิธีตลาดอีเล็กทรอนิกส์ (Electronic Market : e-market) และด้วยวิธีประกวดราคาอีเล็กทรอนิกส์ (Electronic Bidding : e-bidding)
2) เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
3) เพื่อให้ข้าราชการกระทรวงการคลัง มีความชำนาญ มีความพร้อมและสามารถปฏิบัติงานด้านพัสดุภาครัฐได้อย่างมั่นใจ
เนื้อหาและหัวข้อวิชาของหลักสูตรการฝึกอบรม  มีดังนี้  
1) แนวทางปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ
2) แนวทางและหลักปฏิบัติราชการเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิของเจ้าหน้าที่
ประโยชน์ที่ได้รับจากการฝึกอบรม
 ต่อตนเอง  ได้แก่ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารงานพัสดุภาครัฐ และความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ เพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมั่นใจและถูกต้อง
 ต่อหน่วยงาน ได้แก่  การบริหารงานพัสดุภาครัฐ และความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ของบุคลากรในสังกัดกระทรวงการคลัง มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
แนวทางในการนำความรู้ ทักษะที่ได้รับจากการฝึกอบรมครั้งนี้ ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์แก่หน่วยงาน
- นำไปปรับใช้ในการทำสัญญาจ้างที่ปรึกษาการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
   ปัญหาและอุปสรรคที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการนำความรู้  และทักษะที่ได้รับไปปรับใช้ในการปฏิบัติงาน
- รายละเอียดในเชิงเทคนิค
การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับ :
1. ความรู้เกี่ยวกับการบริหารงานพัสดุภาครัฐ
    1.1  การบริหารงานพัสดุภาครัฐ  มีระเบียบ/แนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
(1) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม
(2) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ด้วยวิธีการทางอีเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549
(3) ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการจัดหาพัสดุด้วยวิธีตลาดอีเล็กทรอนิกส์ (Electronic Market : e-market) และด้วยวิธีประกวดราคาอีเล็กทรอนิกส์ (Electronic Bidding : e-bidding)
ในการบริหารพัสดุจะต้องยึดหลักการในการดำเนินงาน คือ เปิดเผย โปร่งใส เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม ทั้งนี้ การพัสดุ หมายรวมถึง การจัดทำเอง การซื้อ การจ้าง การจ้างที่ปรึกษา การจ้างออกแบบควบคุมงาน การเช่า การแลกเปลี่ยน โดยผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดหาพัสดุ ได้แก่ เจ้าหน้าที่พัสดุ หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้มีอำนาจอนุมัติสั่งซื้อสังจ้าง คณะกรรมการต่างๆ / ผู้ควบคุมงาน ซึ่งในบางครั้งอาจมีการแบ่งซื้อแบ่งจ้าง (การลดวงเงินที่จะซื้อหรือจ้าง ในครั้งเดียวกันออกเป็นหลายครั้ง) ได้ ทั้งนี้ ต้องไม่มีเหตุผลความจำเป็นและมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยง
วิธีการจัดซื้อจัดจ้าง ได้แก่ (1) วิธีตกลงราคา : วงเงินไม่เกิน 100,000 บาท (2) วิธีสอบราคา : วงเงินเกิน 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 2,000,000 บาท (3) วิธีประกวดราคา (วิธี e-Auction) วงเงินตั้งแต่ 2,000,000 บาท ขึ้นไป (4) วิธีพิเศษ : วงเงินเกิน 100,000 บาท แต่มีเงื่อนไข และ (5) วิธีกรณีพิเศษ : ไม่กำหนดวงเงิน แต่มีเงื่อนไข    โดยก่อนการจัดซื้อจัดจ้างทุกวิธี ต้องทำรายงานขอซื้อขอจ้าง แล้วจึงดำเนินการในขั้นตอนการจัดหา การขออนุมัติ  การทำสัญญา และการตรวจรับ ทั้งนี้ รายละเอียดของรายงานจัดซื้อจัดจ้าง ประกอบด้วย  1) เหตุผลความจำเป็นที่ต้องซื้อหรือจ้าง 2) รายละเอียดของพัสดุ  3) ราคามาตรฐาน หรือราคากลาง หรือราคครั้งหลังสุดไม่เกิน 2 ปีงบประมาณ  4) วงเงินที่จะซื้อ/จ้าง/ระบุวงเงินงบประมาณ เงินกู้ เงินช่วยเหลือ ที่จะซื้อ/จ้างในครั้งนั้น 5) กำหนดเวลาที่ต้องการใช้พัสดุ 6) วิธีจะซื้อ/จ้าง และเหตุผลที่ต้องซื้อ/จ้างโดยวิธีนั้น และ 7) ข้อเสนออื่นๆ (การแต่งตั้งคณะกรรมการ การออกประกาศสอบราคา หรือประกวดราคา)
การแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญา โดยหลักการแล้วห้ามแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญา ยกเว้นกรณีจำเป็น ไม่ทำให้ราชการเสียประโยชน์ หรือกรณีแก้ไขเพื่อประโยชน์ของทางราชการ โดยการแก้ไขดังกล่าวต้องไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของสัญญา กล่าวคือ ต้องอยู่ในขอบวัตถุประสงค์แห่งสัญญาเดิม โดยต้องไม่เป็นการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ ทั้งนี้ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาจะกระทำในช่วงเวลาใดก็ได้ แต่อย่างช้าต้องก่อนตรวจรับงานงวดสุดท้าย เว้นแต่เป็นการแก้ไขเรื่องหลักประกัน  โดยผู้มีอำนาจอนุมัติให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาได้คือหัวหน้าส่วนราชการ (คณะกรรมการตรวจรับเป็นผู้เสนอความเห็น)
การบอกเลิก/ตกลงกันเลิกสัญญาหรือข้อตกลง ในกรณีการบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลง หลักในการบอกเลิก ได้แก่ (1) มีเหตุเชื่อได้ว่า ผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด และ (2) ไม่ปฏิบัติตามสัญญา/ข้อตกลง และค่าปรับจะเกิน 10% ของวงเงินทั้งสัญญา เว้นแต่จะยินยอมเสียค่าปรับ (โดยไม่มีเงื่อนไข) ก็ให้ผ่อนผันได้เท่าที่จำเป็น (กรณีที่งานใกล้จะเสร็จสิ้นแล้ว) และเมื่อบอกเลิกสัญญาแล้วให้ดำเนินการแจ้งผู้รับจ้างรายดังกล่าวเป็น   ผู้ทิ้งงานด้วย ส่วนในกรณีตกลงกันเลิกสัญญาหรือข้อตกลง ทำได้เฉพาะในกรณีที่เป็นประโยชน์ หรือเพื่อแก้ไขข้อเสียเปรียบของราชการหากปฏิบัติตามสัญญา/ข้อตกลงต่อไป
    1.2  ร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ... ซึ่งจะนำมาใช้แทนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้รูปแบบการจัดซื้อจัดจ้างของไทยเป็นไปตามแนวทางที่เป็นมาตรฐานสากล (ร่างพระราชบัญญัตินี้จะไม่กระทบการดำเนินธุรกิจของรัฐวิสาหกิจที่ทำการพาณิชย์) โดยกำหนดหลักการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ ไว้ 4 ประการ คือ  (1) ความคุ้มค่า  (2) ความโปร่งใส (3) มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล  และ (4) ตรวจสอบได้ รวมทั้งกำหนดให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยการจัดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์ขั้นตอนหนึ่งขั้นตอนใดของการจัดซื้อจัดจ้างก็ได้ โดยผู้สังเกตการณ์ต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดซื้อจัดจ้างในครั้งนั้น ๆ และมีการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้มีโอกสเข้ามาตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ไว้ 5 คณะ ได้แก่  (1) คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ  (2) คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการพัสดุภาครัฐ  (3) คณะกรรมการกำกับราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ (4) คณะกรรมการวความร่วมมือป้องกันการทุจริต  และ (5) คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน รวมทั้งกำหนดให้กรมบัญชีกลางทำหน้าที่เป็นองค์กรสนับสนุน ดูแลการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ทั้งนี้ การพิจารณาการคัดเลือกข้อเสนอ กำหนดให้มีเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอ โดยให้พิจารณาคุณภาพประกอบราคา (price performance) ได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ราคาต่ำสุดเสมอไป นอกจากนี้  ได้มีการกำหนดบทกำหนดโทษ โดยกรณีที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้โดยมิชอบ หรือ โดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษจำ 1 ปี ถึง 10 ปี และปรับ 40,000 บาท ถึง 400,000 บาท และผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าว ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
2. ความรู้เกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
กฏหมายที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันตือ พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เดิมคือ ระเบียบว่าด้วยความรับผิดชอบข้าราชการในทางแพ่ง พ.ศ. 2503
ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ แบ่งเป็น  (1) การกระทำละเมิดต่อเอกชนหรือบุคคลภายนอก  และ (2) การกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ
ในกรณีกระทำละเมิดต่อเอกชนหรือบุคคลภายนอก สิทธิในการดำเนินคดีของผู้เสียหาย สามารถฟ้องเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐ และหากฟ้องผิดสามารถฟ้องใหม่ได้ภายใน 6 เดือน นับแต่คำพิพากษาถึงที่สุด (ไม่ต้องดูอายุความ   1 ปี หรือ 10ปี)
อายุความการใช้สิทธิโดยยื่นคำร้องภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้ตัว รู้เหตุ หรือ 10 ปี นับแต่เหตุเกิด คือ รู้เหตุ   แต่ไม่รู้ตัว
ในกรณีที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ  หน่วยงานของรัฐมีสิทธิไล่เบี้ยเจ้าหน้าที่ได้ โดยสิ่งที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ (1) เจ้าหน้าที่กระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง  (2) คำนึงถึงความร้ายแรงแห่งการหำและความเป็นธรรม  (3) หักส่วนความเสียหาย และ (4) ไม่นำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับ ทั้งนี้ อายุความการเรียกชดใช้ค่าเสียหาย คือ 2 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือ 1 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะ 2 ปี หรือ 1 ปี ต้องไม่เกิน 10 ปี นับแต่เหตุเกิด  ทั้งนี้  การกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ โดยการดำเนินการเมื่อหน่วยงานของรัฐเกิดความเสียหาย และต้องรายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับ เพื่อให้มีการสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น   โดยการเต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เพื่อพิจารณาสอบข้อเท็จจริงว่า มีเหตุอันควรเชื่อว่าความเสียหายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ และในกรณีไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่าเกิดจากกระทำของเจ้าหน้าที่   ให้รายงานผู้บังคับบัญชา และหากผู้บังคับบัญชาเห็นด้วยให้ยุติเรื่อง หากไม่เห็นด้วย ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดต่อไป
การชดใช้ค่าเสียหาย
(1)ถ้าเป็นเงิน ต้องชดใช้เป็นเงิน โดยเจ้าหน้าที่สามารถผ่อนชำระได้ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง (ว. 115) หากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้ทำความตกลงกับกระทรวงการคลังเป็นกรณีไป
โดยห้ามฟ้องล้มละลายเจ้าหน้าที่ในกรณีไม่มีเงินผ่อนชำระ เว้นแต่เข้าเงื่อนไขแห่งระเบียบฯ (เช่น หากเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดบอกว่าไม่เงินชำระหนี้ แต่มีพฤติกรรมร้ายแรง เป็นต้น)
(2) ถ้าเป็นสิ่งของ  ต้องชดใช้เป็นสิ่งของที่มีสภาพ คุณภาพ ปริมาณ และลักษณะอย่างเดียวกัน โดยตั้งคณะกรรมการตรวจรับด้วย และในกรณีสิ่งของนั้นมีค่าเสื่อมราคา ต้องคิดค่าเสื่อมราคาด้วย และแจ้งหัวหน้าส่วนราชการรับทราบ
(3) ถ้าต้องซ่อม ให้ทำสัญญารับสภาพหนี้ เพื่อ่ให้อายุความสะดุดหยุดลง พร้อมทำสัญญาตกลงและซ่อมให้เสร็จโดยเร็ว (6 เดือน)
(4) ถ้าชดใช้ต่างจากทรัพย์สินที่เสียหายหรือสูญหาย ต้องทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง

วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2559

" Digital Government Transformation in Action "

ผู้เล่าเรื่อง
นางนพรัตน์ พรหมนารท
ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนา
ระบบงานตรวจสอบภายใน










นางสาวกชพร รักอยู่
นักบัญชีชำนาญการพิเศษ










นางสาวน้ำเพชร  วงษ์ประทีป
นักบัญชีชำนาญการ










นางสาวปภาสินี คลอวุฒิเสถียร
นักบัญชีปฏิบัติการ











หน่วยงาน :  กองตรวจสอบภาครัฐ
หลักสูตรฝึกอบรม  :  การสัมมนา Digital Government Transformation in Action
หน่วยงานผู้จัด  :  สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์กรมหาชน) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ความรู้ที่แบ่งปัน
การบรรยายพิเศษ หัวข้อ " Digital Government Transformation in Action "  
โดย ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด   ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์

การผลักดันภาครัฐสู่รัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลตามวิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” โดยแผนพัฒนาในประเทศไทยระยะ 3 ปี (ปี 2559 – 2561) แบ่งเป็น 4 ยุทธศาสตร์หลัก ประกอบด้วย 18 มาตรการ

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถรองรับการไปสู่รัฐบาลดิจิทัล
มาตรการที่ 1 การบูรณาการข้อมูลผ่านระบบเชื่อมโยงข้อมูลกลาง เพื่อบรูณาการข้อมูลประชาชนและ   นิติบุคคลจากหลากหลายหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเป็นภาพเดียว อันจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพ   ของงานบริการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โดยใช้เลข 13 หลัก รวมทั้งมีมาตรการในการรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลบุคคล
มาตรการที่ 2 การยืนยันตัวตนและบริหารจัดการสิทธิโดยใช้ Smart Card หรือ ผ่านบัญชีผู้ใช้อิเล็กทรอนิกส์กลาง สำหรับทำธุรกรรมภาครัฐทุกประเภทผ่านช่องทางออนไลน์ โดยใช้บัตรประชาชนในการยืนยันตัวตน
มาตรการที่ 3 การให้ทุกข้อมูลงานบริการผ่านจุดเดียวโดยมีผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ประชาชนทราบถึงขั้นตอนในการให้บริการภาครัฐ และการให้ข้อมูลรายบุคคลแก่ประชาชน เช่น ข้อมูลบุคคล และสิทธิสวัสดิการสังคมที่พึงได้รับ
มาตรการที่ 4 การแก้ไขเรื่องร้องเรียนและการเข้าถึงความต้องการในเชิงรุก เพื่อยกระดับประสิทธิภาพและการใช้งานของศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ 1111 ให้เป็นระบบกลางที่สามารถเชื่อมโยง เรื่องร้องเรียนทุกประเภทของทุกหน่วยงานได้
มาตรการที่ 5 โครงสร้างพื้นฐานการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานกลางด้าน ICT ของภาครัฐเพื่อรองรับบริการภาครัฐในรูปแบบดิจิทัล
มาตรการที่ 6 ยกระดับศักยภาพบุคลากรภาครัฐ เพื่อให้บุคลากรภาครัฐได้รับการพัฒนาให้มีความสามารถตามมาตรฐานและตรงตามความต้องการในยุคดิจิทัล

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
มาตรการที่ 7 การให้บริการความช่วยเหลือแบบบรูณาการในเชิงรุก เป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและผู้ที่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากภาครัฐ เช่น เบี้ยยังชีพคนพิการ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
มาตรการที่ 8 การบรูณาการตลาดแรงงานแบบครบวงจร เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน และส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงาน อันจะนำไปสู่การเพิ่มผลิตภาพแรงงานไทย

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันภาคธุรกิจ
มาตรการที่ 9 การเกษตรแบบครบวงจรรายบุคคลผ่านการบูรณาการ โดยครอบคลุมการวางแผน             การรวบรวมปัจจัยการผลิต การปลูกและดูแลรักษา การรับมือภัยธรรมชาติ ตลอดจนการเก็บเกี่ยวและ       การขายผลผลิต
มาตรการที่ 10 การบรูณาการด้านการท่องเที่ยว เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวในการค้นหาข้อมูล วางแผนและจัดซื้อสินค้า และบริการเพื่อการท่องเที่ยวผ่านช่องทางออนไลน์
มาตรการที่ 11 การบรูณาการงานบริการด้านการลงทุนข้ามหน่วยงาน เพื่อเริ่มต้นธุรกิจ โดยครอบคลุม     การจดทะเบียนธุรกิจ การขอรับสิทธิ ประโยชน์ด้านการลงทุน และการขอใบอนุญาตอื่น ๆ
มาตรการที่ 12 การบรูณาการนำเข้าส่งออกแบบครบวงจร เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกรรม           ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าส่งออกแบบครบวงจรกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ณ จุดเดียว ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยลดความซ้ำซ้อนในการป้อนข้อมูลและส่งเอกสาร
มาตรการที่ 13 การส่งเสริม SME แบบบูรณาการเชิงรุกเพื่อส่งเสริมการเติบโต เป็นระบบที่บรูณาการเพื่อให้ข้อมูล ความรู้ และคำปรึกษา เพื่อประกอบธุรกิจแก่ SME  แบบครบวงจร ณ จุดเดียว และภาครัฐสนับสนุนระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้ผู้ประกอบการใช้ประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มาตรการที่ 14 ระบบภาษีบรูณาการข้ามหน่วยงานแบบครบวงจร  เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและภาคธุรกิจในการยื่นแบบและชำระภาษีแก่ภาครัฐ โดยครอบคลุมการลงทะเบียนผู้เสียภาษี การยื่นแบบภาษี การชำระ/ขอคืนภาษี และการตรวจสอบภาษี

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การยกระดับความมั่นคงและเพิ่มความปลอดภัยของประชาชน
มาตรการที่ 15 การรักษาความปลอดภัยสาธารณะในเชิงรุกโดยใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก           โดยบรูณาการข้อมูลจากกล้องวงจรปิด เพื่อเฝ้าระวังและตรวจจับความเสี่ยงก่อนเกิดเหตุ เพื่อบริหารจัดการผ่านระบบศูนย์บัญชาการ และใช้ระบบดิจิทัลสนับสนุนการดำเนินงานของการสืบสวนและดำเนินคดี
มาตรการที่ 16 การประเมินความเสี่ยงผู้โดยสารข้ามแดนล่วงหน้าและพิสูจน์ตัวตนผ่านช่องทางอัตโนมัติ เพื่อขยายผลระบบพิสูจน์ตัวตนด้วยลายนิ้วมือให้ครอบคลุมทุกด่าน สามารถรองรับพลเมืองและชาวต่างชาติที่มีการลงทะเบียนล่วงหน้า รวมถึงให้มีการประเมินความเสี่ยงของผู้โดยสารข้ามแดนล่วงหน้า
มาตรการที่ 17 การบรูณาการข้อมูลเพื่อป้องกันภัยธรรมชาติ เป็นการติดตามเฝ้าระวังความเสี่ยงของ         การเกิดภัยธรรมชาติ การบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อลดผลกระทบของการเกิดภัยธรรมชาติ รวมถึง
การเตรียมความพร้อมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการรับมือ โดยบรูณาการข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลประชากรและภูมิศาสตร์ ข้อมูลน้ำ หรือข้อมูลดิบจากเซ็นเซอร์ต่างๆ เพื่อใช้ในการติดตามและบริหารจัดการภัยธรรมชาติ
มาตรการที่ 18 การบรูณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบริหารจัดการในภาวะวิกฤต             โดยครอบคลุมการแจ้งเตือน การค้นหาและการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติภายหลังการเกิดภัยพิบัติ เช่น ข้อมูลภูมิศาสตร์ ข้อมูลสถานพยาบาล ข้อมูลที่ตั้งหน่วยกู้ภัยเป็นการให้บริการสำหรับประชาชนผ่านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ทางเว็บไซต์ โดยศูนย์กลางบริการภาครัฐสำหรับประชาชน โดยการบริการแบบออนไลน์ประมาณกว่า 800 รายการ ได้แก่
1.ในการเป็นศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ ผ่านเว็บไซต์ biz.govchannel.go.th ของ                 การเริ่มต้นธุรกิจ โดยลดการยื่นเอกสารซ้ำซ้อน ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ของรัฐได้จาก   จุดเดียว (One Stop Service) ผ่านช่องทางออนไลน์  โดยระบบจะใช้เลขนิติบุคคล 13 หลัก เป็นชื่อบัญชีผู้ใช้งานสำหรับล็อกอิน และส่งรหัสผ่านไปยังโทรศัพท์มือถือ หรืออีเมลที่ผู้ประกอบการแจ้งต่อนายทะเบียน
2.ศูนย์รวมข้อมูล เพื่อติดต่อราชการ โดยผ่านเว็บไซต์ info.go.th และ แอปพลิเคชัน  “คู่มือประชาชน”
3.ระบบสื่อสารออนไลน์สำหรับหน่วยงานภาครัฐ (Government Secure Chart) เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลและความลับทางราชการ รองรับการใช้งาน Mobile Device, เครื่องคอมพิวเตอร์ และผ่าน Web-based โดยดาวน์โหลดผ่านเว็บไซต์ gchat.apps.go.th
4.ข้อมูล และบริการภาครัฐ เพื่อประชาชน โดยแอปพลิเคชัน แจ้งข้อมูลข่าวสารและบริการภาครัฐ กับ
G-News

ในปัจจุบันมีตู้ในการให้บริการ 11 จุด ที่เป็นแหล่งชุมชนหนาแน่นในกรุงเทพมหานคร และในปี 2560 จะขยายผลทั่วประเทศประมาณ กว่า 100 ตู้ และอยู่ในบริเวณชุมชนหนาแน่นของแต่ละพื้นที่
การเสวนา : การดำเนินงานของส่วนราชการภายใต้พระราชบัญญัติอำนวยความสะดวกตามนโยบายรัฐบาลผ่านศูนย์กลางบริการภาครัฐสำหรับประชาชน (GovChannel)
-Government Smart Kiosk : ความร่วมมือและประโยชน์ของการเข้าร่วมโครงการ
-เว็บไซต์ info.go.th และแอปพลิเคชัน “คู่มือประชาชน”

ผู้ร่วมเสวนา
นายเผด็จ เจริญศิวกรณ์
ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่
บ. ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ



นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร
ผอ.อาวุโส ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่
ธนาคารไทยพาณิชย์













นายแพทย์จิรพงษ์  ศุภเสาวภาคย์
นายแพทย์ปฏิบัติการ
กลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
โรงพยาบาลราชวิถี











นายวิบูลย์ ภัทรพิบูล
ผอ.ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ
สนง.รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
(องค์กรมหาชน)













การเสวนา : ภาครัฐกับการบรูณาการเพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกอบการในการเริ่มต้นธุรกิจ (Doing Business Platform) ตั้งแต่เวลา 13.00 – 14.30 น.
ผู้ร่วมเสวนา
นางสาวปาจรีย์ ซาลิมี     ผู้ช่วยผู้ว่าการ (เทคโนโลยีสารสนเทศ) การประปานครหลวง          
นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข   ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ                            
นายบุญสม  โมจนกุล     ผู้อำนวยการกองทะเบียนธุรกิจ   กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
นางสาวอัญชลี  นาคนิศร ผู้ช่วยผู้อำนวยการการฝ่ายพัฒนาระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศการไฟฟ้านครหลวง                    
ดร.อาศิส อัญญะโพธิ์      ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและจัดการแอปพลิเคชัน สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์  (องค์กรมหาชน)

การประปานครหลวง : มีฐานข้อมูลผู้ใช้น้ำเก็บอยู่ในระบบ โดยมีบริการฝากมิเตอร์น้ำ ซึ่งในการเก็บค่าบริการ   หากชำระเกินเวลาที่กำหนด จะเสียค่าปรับ สามารถดำเนินการได้โดยยื่นคำร้อง จะลดระยะเวลาเดินทางในการติดต่อต้องการใช้น้ำ โดยผ่านเว็บไซต์ใน 24 ชั่วโมง

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ  :  มีการผลักดันโดยให้รางวัลแก่หน่วยงานที่ให้บริการจุดเดียว แต่ได้รับบริการที่หลากหลาย จากพระราชบัญญัติอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 เป็นการเปิดบริการแบบออนไลน์ ซึ่งอาจใช้ระยะเวลา 12 ปี แบบดิจิทัลที่มีการเชื่อมโยง ซึ่งในการดำเนินการเพื่อยกระดับการอำนวยความสะดวกในการบริการ ได้มีการศึกษาดูงานที่ประเทศนิวซีแลนด์ โดยมี Agency ใหญ่ในการรับเรื่อง เป็นตัว Gateway  แบบช่องทางเดียวในการให้บริการเพื่อความสะดวก โดยในระยะที่ 1 มีการดำเนินการเชื่อมโยงในเรื่องธุรกิจการค้า โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (การจดทะเบียนการค้า) กรมสรรพากร (ด้านภาษี) กระทรวงแรงงาน (ประกันสังคม) จะใช้ข้อมูลโดยทำการเชื่อมโยงระหว่างกัน และเป็นการให้บริการประชาชน สำหรับในระยะที่ 2 มีการขยายผลในด้านการก่อสร้าง (ประปา ไฟฟ้า รวมถึงธุรกิจส่งออก)

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า : ได้มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อลดระยะเวลา และขั้นตอนในการให้บริการ

การไฟฟ้านครหลวง : ลดจำนวนเอกสารเน้นการเข้าใช้บริการผ่านระบบ การทำธุรกรรมผ่าน Website รวมถึงการชำระค่าบริการ

สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์  : ได้ร่วมดำเนินการกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเพื่ออำนวยความสะดวกต่อประชาชน ซึ่งให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสรรพากร และกระทรวงแรงงาน (ประกันสังคม) สำหรับด้านสาธารณูปโภค คือ ประปา ไฟฟ้า ซึ่งดำเนินการเชื่อมโยงแล้ว และสำหรับด้านโทรคมนาคม (โทรศัพท์) กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ

วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2559

หลักสูตร “นักบริหารระดับกลาง” ประจำปี พ.ศ. 2559

ผู้เล่าเรื่อง  :  นางนวลอนงค์   พงศ์นภารักษ์
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง  :  นักวิชาการเงินและบัญชีชำนาญการ
หน่วยงาน :  สำนักงานคลังจังหวัดอุตรดิตถ์
โทรศัพท์เพื่อการปันความรู้  :  0 5541 1223  ต่อ 306

ส่วนที่ 1 : การรายงานผล
ชื่อโครงการสัมมนา  :  หลักสูตร “นักบริหารระดับกลาง” ประจำปี พ.ศ. 2559
หน่วยงานผู้จัด  :  มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง
วัตถุประสงค์ของโครงการสัมมนา  :
1) เพื่อเตรียมความพร้อมของบุคลากรผู้ที่ดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการหรือเทียบเท่าขึ้นไป ให้มีความรู้ความเข้าใจและมีทักษะด้านการบริหารที่เหมาะสมกับบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ ตลอดจนแนวคิดและประสบการณ์ สามารถนำไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม
2) กระตุ้นให้มีการปรับตัว สามารถรองรับภารกิจการพัฒนาการปฏิบัติราชการทั้งในปัจจุบัน                 และอนาคต ให้ทันต่อสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วทั้งทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคม
3) เพื่อให้นักบริหารระดับกลางมีความรู้ ความเข้าใจแนวนโยบายแห่งรัฐ มีความคิดริเริ่ม มีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ในด้านการวางแผน การค้นคว้าวิจัย การบริหาร สามารถเสนอความคิดเห็นและแก้ปัญหาอันเกิดจากการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4) เพื่อพัฒนาทัศนคติค่านิยมและพฤติกรรมการบริหาร โดยมุ่งเน้นคุณธรรม จริยธรรม และ              มุ่งผลสัมฤทธิ์ถึงประชาชน
5) เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ ความสามัคคี ความร่วมมือระหว่างกัน ตลอดจนได้มีโอกาสและเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นและประสบการณ์ซึ่งกันและกัน
ประโยชน์ที่ได้รับจากการฝึกอบรม
ต่อตนเอง  ได้แก่ สามารถนำประสบการณ์ด้านการบริหารและองค์ความรู้ต่างๆที่ได้รับ ไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานให้บรรลุตามเป้าหมายขององค์กรต่อไป
ต่อหน่วยงาน ได้แก่
       1) เกิดความสามัคคี มีความร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สามารถประสานประโยชน์ในการปฏิบัติงานภายในกระทรวงการคลังให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
       2) มีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์จากการฝึกอบรมในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้นเพื่อพัฒนางานในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
แนวทางในการนำความรู้ / ทักษะที่ได้รับไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์แก่หน่วยงาน  มีดังนี้
       1)  เทคนิคการทำงานเป็นทีม ซึ่งก่อให้เกิดความรักความสามัคคีและความร่วมมือในหน่วยงาน ส่งผลให้การปฏิบัติงานขององค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  
       2)  ภาวะผู้นำ  ทำให้มีการคิดอย่างเป็นระบบ  มีการแก้ปัญหาและตัดสินใจอย่างเป็นระบบ  ส่งผลให้การแก้ปัญหาและตัดสินใจในการปฏิบัติงานเป็นไปอย่างถูกต้อง ก่อให้เกิดประโยชน์แก่หน่วยงาน
ปัญหาและอุปสรรคที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการนำความรู้  และทักษะที่ได้รับไปปรับใช้ในการปฏิบัติงาน
                              -ไม่มี-
ความต้องการการสนับสนุนจากผู้บังคับบัญชา เพื่อส่งเสริมให้สามารถนำความรู้และทักษะที่ได้รับไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานให้สัมฤทธิ์ผล คือ    
ส่งเสริมและสนับสนุนแนวทางและวิธีการในการสร้างความสามัคคีให้กับบุคลากรภายในองค์กรเพื่อสร้างความผาสุกในการทำงาน รวมพลังเป็นหนึ่งเดียว  สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเข้มแข็งและแก้ไขปัญหาอุปสรรค           ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การดำเนินงานขององค์กรบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ และเป็นองค์กรแห่งความสุข
ส่วนที่ 2 : การแบ่งปันความรู้
        การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี  (Good Governance GG ) เป็นพระราชกฤษฎีกาบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 ปรกอบด้วยหลักสำคัญ 6 ประการคือ (1)หลักนิติธรรม (2) หลักคุณธรรม (3) หลักความโปร่งใส (4) หลักการมีส่วนร่วม (5) หลักความรับผิดชอบ และ (6) หลักความคุ้มค่า
        การบริหารงานแบบมุ่งผลสำฤทธิ์   โดยที่ผลสัมฤทธิ์ (result)  ประกอบด้วยผลผลิต (output) และผลลัพธ์ (outcome) โดยที่ในการประเมินผลการปฏิบัติราชการแนวใหม่ ได้มีการนำเครื่องมือ  KPI มาใช้ในการวัดผลผลิตและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นและถูกบรรจุเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งในคำรับรองการปฏิบัติราชการ
        สมรรถนะ (Competency)   เป็นองค์ประกอบรวมของบุคคลที่ถูกนำมาใช้ในการผลักดันเพื่อสร้างความสำเร็จในการทำงาน  และเพื่อให้บุคลากรในองค์กรมีสมรรถนะที่สูงขึ้น  มุ่งพัฒนาสมรรถนะให้ครอบคลุม 3 ประเภท คือ (1) สมรรถนะหลัก (Core Competency) (2) สมรรถนะทางการบริหาร (Managerial Competency) และ (3) สมรรถนะตามหน้าที่ (Functional Competency)
        การจัดการความรู้ (Knowledge Management) มีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ เพื่อให้ข้าราชการได้มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและมีการแบ่งปันความรู้ระหว่างกันในองค์กร ในการจัดการความรู้ในองค์กร ขั้นตอนแรกที่สำคัญที่สุดคือ การบ่งชี้ความรู้ ซึ่งเป็นความรู้ที่จำเป็นของข้าราชการในส่วนราชการนั้นๆ
        ความเสี่ยงและการควบคุมภายใน  เพื่อให้การบริหารราชการของไทยเป็นไปตามเป้าประสงค์ที่กำหนดไว้ ก.พ.ร. ได้นำแนวคิดของการบริหารความเสี่ยง (Resk Management)    มาใช้ โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ มุ่งหาทางให้ความเสี่ยงขององค์กรอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และเพื่อให้เกิดการทำงานที่มีความโปร่งใสได้มีการนำเรื่องการควบคุม
ภายใน (Internal Audit) มาใช้ โดยให้ความสำคัญต่อ 4 องค์ประกอบ ได้แก่  (1  สภาพแวดล้อมของการควบคุม  (2) กิจกรรมการควบคุม  (3) สารสนเทศและการสื่อสาร (4) การประเมินความเสี่ยง
        การพัฒนาคุณภาพของการบริหารการจัดการภาครัฐ (PMQA) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้การบริหารราชการของไทยมีระบบการบริหารที่ได้มาตรฐานสากล โดยมีการกำหนดเกณฑ์การบริหารจัดการเพื่อความเป็นเลิศ จำแนกออกเป็น 7 หมวด    ได้แก่ (1) การนำองค์กร (2) การวางแผนยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ (3) การให้บริการและคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย (4) การวัด การวิเคราะห์และการจัดการความรู้ (5) การบริหารทรัพยากรบุคคล (6) การจัดการกระบวนการ (7) ผลการปฏิบัติงาน
        การบริหารทรัพยากรบุคคลสมัยใหม่  การพัฒนาองค์กรสมัยใหม่มุ่งไปสู่การเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้(Learning  Organization) และเป็นที่ที่ซึ่งคนสามารถเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างต่อเนื่อง จะมีคุณลักษณะสำคัญ 5ประการ คือ (1) เป็นผู้รอบรู้และใฝ่รู้ (Personal Mastery (2) มีแบบแผนทางความคิด (Mental Model) (3) มีวิสัยทัศน์ร่วม                                  
(Shared  Vision) (4) มีการเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม (Term  Learning) และ (5) มีความคิดเชิงระบบ      (System Thinking)
        กฎหมายปกครองกับการบริหารงานภาครัฐ  ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ได้ให้ความหมายของคำว่า “คำสั่งทางปกครอง” ว่า หมายถึง (1) การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้น (2) การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่ผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล
        นโยบายของกระทรวงการคลังด้านรายได้  ผลกระทบของนโยบายรัฐบาลต่อรายได้รัฐบาลมี 4 เรื่องใหญ่คือ (1) การกระจายอำนาจทางการคลัง (2) การลดลงของรายได้ภาษีศุลกากร (3) การก้าวเข้าสู่รัฐสวัสดิการ (4)การใช้นโยบายภาษีสนับสนุนด้านต่างๆๆ ส่วนแนวนโยบายการคลังในระยะยาว จะให้ความสำคัญ ใน 3ประเด็นสำคัญ คือ
(1) การสร้างความยั่งยืนด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ (2)การสร้างความยั่งยืนทางการคลัง (3) การสร้างความเท่าเทียมในการกระจายรายได้
        ระบบงบประมาณของไทย เป็นระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานตามยุทธศาสตร์ โดยมีความเชื่อมโยงจากระดับชาติ ระดับกระทรวง และระดับส่วนราชการ

โครงการสำหรับข้าราชการพลเรือนสามัญที่อยู่ระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ (ข้าราชการบรรจุใหม่) หลักสูตร การเป็นข้าราชการที่ดี รุ่นที่ 1/2559

ผู้เล่าเรื่อง  :   นางสาวบัวสอน   บัวลา              
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง  :  นักวิชาการคลังปฏิบัติการ
หน่วยงาน :  สำนักงานคลังจังหวัดอำนาจเจริญ      
โทรศัพท์เพื่อการปันความรู้  :  045-523154        


ชื่อโครงการ / ประชุม / สัมมนา / หลักสูตร  :
โครงการสำหรับข้าราชการพลเรือนสามัญที่อยู่ระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ (ข้าราชการบรรจุใหม่) หลักสูตร การเป็นข้าราชการที่ดี รุ่นที่ 1/2559                                        .
หน่วยงานผู้จัด  :  สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง                                                                            
ความรู้ที่แบ่งปันในเรื่อง : ข้อคิดที่ได้จากการฟังการบรรยายของท่านวิทยากร เรื่องการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท    
ท่านวิทยากรที่ได้มาบรรยายในหัวข้อการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท คือท่านอาจารย์วุฒิชัย บุญครอง (ครูอ๊อฟ) ซึ่งการถ่ายทอดของท่านวิทยากรจะเป็นไปด้วยความสนุกสนานแต่ก็แฝงไปด้วยแนวคิดที่ควรนำมาใช้ในการทำงานเพื่อประโยชน์ต่อตัวของข้าพเจ้าเองและต่อองค์กรที่ข้าพเจ้าทำงานด้วย ซึ่งเรื่องที่ท่านวิทยากรได้ถ่ายทอดให้ฟังจะแบ่งเป็นสองเรื่องใหญ่ๆ ได้แก่
เรื่องที่หนึ่ง เรื่องของการเป็นยอดคน ซึ่งยอดคนก็สามารถแบ่งได้เป็น                                                            
1.1 เมื่อยังเป็นผู้น้อย เราก็ต้องรู้จัก อ่อนน้อม ถ่อมตน                                                              
1.2 เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เราต้องรู้จักการอำนวยความสะดวก และรู้จักการใช้อำนาจแต่ทั้งสองอย่างนี้ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบ และความกตัญญูจึงจะได้ชื่อว่าเป็นยอดคน            
ความกตัญญู คือการที่เราจะต้องให้เวลากับคนที่เรารักมากที่สุด การใส่ใจและการดูแลอย่างสม่ำเสมอ ถ้าทำได้อย่างนี้แล้ว ก็ถือว่าเราได้เป็นยอดคนคนหนึ่ง                                                                                                      
ส่วนเรื่องที่สอง ที่ท่านวิทยากรได้แนะนำไว้คือ                                                                                      
มากเรื่อง มากเรื่องในที่นี้ก็คือ การทำตัวให้เป็นที่รัก ได้แก่                                                            
2.1 การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในองค์กร ซึ่งจะทำให้เกิดความรักความสามัคคีในหมู่คณะ                          
2.2 การรีบประสบความสำเร็จในชีวิต ซึ่งสามารถทำได้โดยการเรียนรู้และค้นหาสิ่งที่ตัวเองชอบ แล้วนำความรู้เหล่านั้นมาพัฒนาเพื่อให้เติบโต โดยต้องประกอบไปด้วยคุณธรรม และจริยธรรม
2.3 การเลี้ยงครอบครัวได้ เลี้ยงตนเองได้ คือการเป็นคนดีและคนเก่ง
นอกจากนี้ท่านวิทยากร ยังสอนให้ข้าพเจ้าได้เข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยพระยุคลบาท ซึ่งประกอบไปด้วย
 - ความพอประมาณ ไม่มากไป ไม่น้อยไป พอดี พอเพียง
 - ความมีเหตุผล  จะทำอะไรต้องมีเหตุผลไม่ทำตามความรู้สึกของตัวเองเพียงอย่างเดียว
 - มีภูมิคุ้มกันที่ดี  ซึ่งจะประกอบไปด้วยสองส่วน ได้แก่ มีความรู้ และ มีคุณธรรม
และสุดท้ายท่านวิทยากรได้ฝากข้อคิดที่น่าสนใจเอาไว้อย่างหนึ่งว่า
 “ทุกๆ การเปลี่ยนแปลง จะต้องมีการฝืนเสมอ
 ถ้าเมื่อใดที่เราทำอะไรแล้วไม่มีการฝืน
 การเปลี่ยนแปลงย่อมไม่มีทางเกิดขี้นได้เลย
 แต่ถ้าหากมีการฝืนเกิดขึ้นเมื่อไหร่
 เมื่อนั้นย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงเสมอ”

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“Caught in a Trap? Asia and the Pacific’s Middle-Income Countries at a Crossroads”

ผู้เล่าเรื่อง  :  นางสาวมนพร เบญจพร..
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง  :  นักวิชาการคลังปฏิบัติการ
หน่วยงาน :  กองสวัสดิการรักษาพยาบาล
โทรศัพท์เพื่อการปันความรู้  :  6850



ส่วนที่ ๑ : การรายงานผล
ชื่อโครงการ / ประชุม / สัมมนา / หลักสูตร  : บรรยาย เรื่อง “Caught in a Trap? Asia and the Pacific’s Middle-Income Countries at a Crossroads”
หน่วยงานผู้จัด  :  คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Independent Evaluation ADB
ส่วนที่ ๒ : การแบ่งปันความรู้
ความรู้ที่แบ่งปันในเรื่อง : บรรยาย เรื่อง “Caught in a Trap? Asia and the Pacific’s Middle-Income Countries at a Crossroads”
กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia and Pacific’s Middle-Income countries) โดยเฉพาะ lower middle-income economies ยังคงเผชิญกับกับดักความยากจนและความท้าทาย  ในด้านต่างๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม การขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะ การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศซึ่งทำให้เกิดการขาดแคลนทรัพยากรและพลังงาน เป็นต้น ซึ่งการจะก้าวผ่านกับดักดังกล่าว จะต้องมีการพัฒนา/ปรับปรุงในด้านต่างๆ ดังนี้
1. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยพัฒนาระบบการศึกษา สร้างบุคลากรที่มีความรู้และทักษะความสามารถที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน เช่น บุคลากรทางสาขาวิทยาศาสตร์ เพื่อให้มีการสร้างผลงานที่เป็นนวัตกรรมมากขึ้น
2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ระบบขนส่งสินค้า ระบบขนส่งมวลชน การพัฒนา ด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม
3. การพัฒนาพลังงานสะอาด พัฒนาการผลิตที่ประหยัดพลังงานและใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดการใช้ทรัพยากร ลดต้นทุนการผลิต/การขนส่ง ลดความสูญเสีย/การขาดแคลนจากปัญหาสิ่งแวดล้อม
4. การพัฒนาด้าน Social Protection เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนที่อ่อนแอ/ด้อยโอกาส เช่น คนยากจน กลุ่มผู้สูงอายุ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ช่วยให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
5. การพัฒนาและเพิ่มบทบาทของภาคเอกชน โดยพัฒนาระเบียบ หลักเกณฑ์ ให้เอื้อต่อการลงทุน/ การดำเนินงานของภาคเอกชน ลดอุปสรรคทางการค้าและด้านต่างๆ รวมทั้งสนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnership: PPP)
6. การพัฒนาความร่วมมือในระดับภูมิภาคในด้านต่างๆ เช่น ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการค้าและการลงทุน ด้านระบบการเงิน ด้านพลังงาน ด้านสุขภาพ และด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
7. การกระจายอำนาจ/การพัฒนาการปกครองระดับท้องถิ่น การพัฒนาระบบการจัดเก็บรายได้และการบริหารจัดการให้ท้องถิ่นมีรายได้เพียงพอสำหรับการพัฒนาที่สอดคล้องกับความจำเป็นของท้องถิ่น